Skip to main content
sharethis

โลกร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น คลื่นลมแรง นั่นสิ่งที่สังคมไทยถูกอธิบายว่า เป็นสาเหตุสำคัญของการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรง


 


ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่ การสำรวจพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ครั้ง ระบุชัดเจนว่า โครงสร้างสิ่งก่อสร้างชายฝั่งทะเล มีส่วนสัมพันธ์กับการกัดเซาะอย่างรุนแรงอย่างสำคัญคือ


 


ครั้งแรกระหว่างเดือนธันวาคม 2549 - มกราคม 2550 ซึ่งเป็นการสำรวจพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งในฤดูมรสุม บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงจังหวัดปัตตานี


 


ครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 6 - 18 สิงหาคม 2550 เป็นการสำรวจแนวชายฝั่งทะเล สภาพการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และโครงสร้างชายฝั่งทะเล โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยใช้อากาศยาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


โครงสร้างสิ่งก่อสร้างดังกล่าวบางแห่ง สร้างขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว และเกิดการกัดเซาะมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่กระแสโลกร้อนจะได้รับความสนใจจากสังคมไทยอย่างมากมายขณะนี้ด้วยซ้ำ


 


ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ส่งผลกระทบรุนแรงถึงขนาด มีชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ฟ้องศาลปกครองสงขลา เรียกร้องให้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ในฐานะรับผิดชอบดูแลและอนุญาตให้มีการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำถึง 200 ล้านมาแล้ว แม้ศาลไม่รับฟ้องในประเด็นขอค่าชดเชย เพราะหมดอายุความแล้ว


 


แล้วมีวิธีใดที่จะป้องกันการกัดเซาะได้อย่างได้ เพราะล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไส้กรอกทรายป้องกันชายฝั่งบางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานครก็ยังพังทลาย


 


เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงษ์ อาจารย์ประจำแผนกวิศวกรรมสมุทรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้อธิบายถึงความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง และเกี่ยวอย่างไรกับสภาวะโลกร้อน


 


เขาอธิบายว่า ความเสียหายการพังทลายของชายฝั่งอ่าวไทยภาคใต้ตอนล่าง สาเหตุหลักเกิดจาก คลื่นลมในทะเลก่อให้เกิดกระแสน้ำในทะเลชายฝั่งมีทิศทางสุทธิไปทางทิศเหนือ และมันจะพัดพาตะกอนทราย ชายฝั่ง ชายหาดให้เคลื่อนที่สุทธิไปทางเหนือเช่นกัน


 


ดังนั้นเมื่อมีการสร้างสิ่งกีดขวางเกิดขึ้น บริเวณชายฝั่ง เช่นเขื่อนกันทรายและคลื่น ปากคลองต่างๆ ตะกอนที่เคลื่อนที่ไปทางเหนือนี้ก็จะตกสะสมกับเขื่อนกันทรายและคลื่นนั้นทางด้านทิศใต้ ทำให้ทางด้านทิศเหนือของเขื่อนกันทรายและคลื่นขาดตะกอนไปหล่อเลี้ยง ทำให้ชายหาดนั้นถูกกัดเซาะไปอย่างรวดเร็วในทุกๆ ปี แล้วก็ลุกลามต่อเนื่องไปเป็นระยะทาง ไม่สิ้นสุด


 


ในกรณีที่สร้างเขื่อนกันคลื่นริมชายฝั่ง เขื่อนก็จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการหยุดนิ่งของกระแสน้ำด้านหลังเขื่อน เขื่อนกันคลื่นนี้จะไปยับยั้งไม่ให้คลื่นเข้าหาฝั่ง เมื่อคลื่นไม่เข้าหาฝั่ง ด้านหลังเขื่อน กระแสน้ำก็จะไม่ไหลเวียน พวกตะกอนทรายต่างก็จะมาตกด้านหลังเขื่อนกันคลื่นนั้น และกีดขวางไม่ให้ทรายเคลื่อนที่ไปตามธรรมชาติได้


 


นั่นคือ จะเกิดการสะสมทรายทางด้านใต้ของเขื่อนกันคลื่น ทำให้ทางด้านเหนือของเขื่อนกันคลื่น ขาดแคลนทราย ทำให้ทางด้านทิศเหนือถูกกัดเซาะไปอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมไม่ต่างจากกรณีการสร้างเขื่อนกันทรายที่ปากแม่น้ำ


เช่นเดียวกับการสร้างคันดักทราย หรือตัวรอ กรณีเช่นนั้น จะเกิดการดักทรายทางด้านทิศใต้ ส่วนด้านทิศเหนือจะไม่มีทรายไปหล่อเลี้ยง ก็จะเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน


 


โดยสรุป กระบวนการธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีการรุกล้ำชายฝั่งของภาคใต้ อ่าวไทยตอนล่าง ซึ่งมีลักษณะเป็นชายหาดที่เรียบตรง และยาว ลักษณะเช่นนี้ไม่ว่าสร้างสิ่งใดๆ ก็ตามลงไปบริเวณชายฝั่ง ชายหาด ย่อมทำให้เกิดความเสียหายทางด้านทิศเหนืออย่างรุนแรงเสมอไป


 


ส่วนพื้นที่อื่น ๆอย่างชายฝั่งอันดามัน จะเป็นเว้าๆ โดยธรรมชาติ จึงมีลักษณะต่างจากอ่าวไทยตอนล่าง อย่างสงขลา - ปากพนัง ตรงยาวไปเลยเป็นร้อยกิโลเมตร ลักษณะเช่นจึงไม่สามารถที่จะไปรุกล้ำได้เลย เพราะฉะนั้นประโยชน์ของอ่าวไทยตอนล่างที่มนุษย์จะใช้ คือ เป็นสถานที่พักผ่อน การค้าชุมชนตามชายหาด การประมง การฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่วนอ่าวไทยตอนบนบางแห่ง เช่น ชลบุรี ก็จะเป็นเว้า เหมือนฝั่งอันดามัน


 


ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมสังคมไทยจึงถูกทำให้เข้าใจว่าฝั่งพังเพราะโลกร้อนนั้น ประเด็นหลักของการแก้ปัญหาชายหาดของไทยคือ ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่าโลกร้อนได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพังทลายของชายหาด


 


ทั้งนี้ เพราะว่าชายหาดเกิดจากการที่คลื่นพัดทรายขึ้นไปกองไว้เหนือระดับน้ำทะเลเสมอ ดังนั้น ไม่ว่าระดับน้ำทะเลจะอยู่ที่ตำแหน่งไหน มันต้องมีหาดทุกครั้งไป ไม่มีส่วนทำให้หาดหายไปได้


 


เพราะฉะนั้นโลกร้อนหรือน้ำทะเลสูงขึ้นนั้น ในประเทศไทยไม่พบหลักฐานว่า น้ำทะเลสูงขึ้น ขณะเดียวกันถ้ามันจะขึ้นบ้างซัก 1 - 2 เซนติเมตร มันก็ไม่มีผลทำให้ชายฝั่งพังได้เลย เพราะคลื่นย่อมจะพัดพาตะกอนขึ้นไปไว้เหนือระดับน้ำเสมอ


 


ทรายบนหาดทรายต้องอยู่เหนือผิวน้ำ เมื่อน้ำขึ้นไปทรายก็ต้องอยู่ข้างบน หาดก็ต้องมีอยู่เหมือนเดิม มีการทำอย่างเดียวที่จะทำให้ชายหาดพังได้ คือ พาทรายหายไปเลย นำทรายออกจากระบบ นั่นคือ ไปกีดกั้นมันไว้ หรือขุดมันออกไป นั่นเป็นกรณีเดียวที่จะทำให้ชายหาดพังทลายได้


 


สิ่งที่เกิดขึ้นในชายฝั่งอ่าวไทย คือ การสร้างสิ่งกีดขวางเป็นหลัก ที่เจออีก คือการขุดทรายออกจากหาดไปเลย เพราะฉะนั้นโลกร้อนไม่มีส่วนทำให้ประมาณทรายหายไป โลกร้อนน้ำสูงขึ้น แต่ทรายไม่ได้หายไป ถึงจะขึ้นสูงเท่าไหร่ ก็เอาทรายขึ้นไปกองไว้เหมือนเดิม ก็เป็นหาดเหมือนเดิม


 


"ตอนนี้เขามองว่า โลกร้อนทำให้เกิดพายุ เขาไม่ได้กลัวทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น แต่เขากลัวทำให้เกิดพายุใหญ่ พายุมากขึ้น อากาศแปรปรวน เขาก็อ้างไปเรื่องอื่น ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว จะเกิดหรือไม่เกิดพายุก็ตาม เกิดมากน้อยก็ตาม เมื่อพายุสงบ ทะเลก็จะพาทรายกลับมาเหมือนเดิม"


 


แล้วทางออกอย่างไรในมุมมองของรองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ เป็นอย่างไรนั้น เขามองว่า มีทางเดียวที่จะเกิดขึ้นได้ คือ ต้องเอาทรายที่เก็บกักไว้ทางต้อนใต้ของเขื่อนริมทะเลถ่ายคืนมา ไม่มีทางอื่น


 


ถ้ารื้อให้โครงสร้างไปเลยก็เป็นไปได้


 


"ปัญหาคือ ใครจะยอม กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ไปแล้ว จะยอมหรือ แล้วหน่วยงานที่ทำไปแล้ว เขาจะกล้ารับผิดชอบหรือ เหมือนกำปั้นทุบดิน คือ เมื่อมันเสียหายไปแล้ว ก็รื้อออกไปเสีย แต่ไม่ง่ายอย่างนั้น ถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำแล้วคุณทำไปได้อย่างไร มีความผิดตามกฎหมายทันที ถ้านักการเมืองสร้าง นักการเมืองก็เสียคะแนนทันที จึงเป็นทางเลือกที่ทำจริงไม่ได้"


 


ดังนั้น ทางออกมีทางเดียวคือต้องถ่ายเททรายนั้นกลับมา การถ่ายเททรายกลับมีหลายวิธี เช่น การสูบใส่ท่อแล้วพ่นมาอีกฝั่ง หรือใช้เรือตักมาถม


 


แน่นอนมันต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มันไม่คุ้มเลย


 


"ก็เพราะธรรมชาติคือของจริง คลื่นที่พาทรายเข้ามา ถ้าตีเป็นพลังงาน เท่ากับนิวเคลียร์หลายร้อยลูก แล้วอยู่ๆ คุณไปบอกว่า ไม่เอาแล้ว จะเอาเงินไปทำเอง มันก็พังอย่างที่เป็นอยู่"


 


"พระอาทิตย์ ส่งแสงลงมาให้พลังงานแก่โลกแล้วเกิดคลื่น ให้พาทรายมาไว้บนหาดให้สวยงาม แล้วคุณบอกไม่เอา คุณจะเอาเงินมาขุดเอง แล้วย้ายกันเอง เจ๊ง เป็นการกระทำที่โง่ที่สุด เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าจะย้ายทราย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ในประเทศไทยแล้ว ไม่มีทาง"


 


ส่วนการที่กรมขนส่งทางน้ำฯ เคยเสนอโครงการถมทราย แต่สำนักงบประมาณไม่อนุมัติ เพราะสำนักงบประมาณ ถามว่าทำไปทำไม ถมทรายลงแล้วมันก็กัดเซาะอีก เสียงบประมาณเปล่า


 


"สำนักงบประมาณ ทำถูกแล้ว ถ้าอนุมัติก็โง่ตาย นี่คือเรื่องจริง"


 


ดังนั้น ต้องถามกรมขนส่งทางน้ำฯ ว่า แล้วทำเขื่อนไปทำไม ทำเขื่อนแล้วมาของบประมาณอีก ทำอย่างนี้ก็เท่ากับเป็นโครงการหาประโยชน์ เรื่องอะไรที่สำนักงบประมาณจะให้เสียเงินไปทุกปีกับเรื่องอย่างนี้


 


จากการที่ตนศึกษาเพียงจุดเดียว คือ ที่ชายฝั่งตำบลสะกอมที่ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง ถ้าต้องใช้วิธีถมทรายคืน ต้องใช้งบถึง 20 ล้านต่อปี แล้วถ้าทำกันทั้งประเทศแล้ว จะใช้งบประมาณเท่าไหร่


 


ถึงแม้กรมขนส่งทางน้ำฯ จะใช้วิธีการถมหินแล้วถมทรายทับลงไปด้วย อย่างที่กำลังทำอยู่ที่ชายฝั่งจังหวัดระยอง มันเอาไม่อยู่อยู่ดี


 


"ที่จริงไม่ต้องถมทรายหรอก เพราะถ้าสร้างเขื่อนแล้ว ทรายจะมาอยู่เองทางด้านหลังเขื่อน เพราะน้ำนิ่งทรายก็จะตกลงตรงนั้น แต่พื้นที่ถัดไป ก็พังอีก เพราะถูกกัดเซาะ มันก็ไม่จบอยู่ดี มันก็ต้องทำทั้งประเทศเหมือนเดิม"


 


นี่คือคำตอบว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควรไปยุ่งกับธรรมชาติ สมดุลนี้อัศจรรย์มาก สมดุลนี้ธรรมชาติสร้างมาดีแล้ว ไม่ให้เล่น สรุปแล้วคือ เราต้องยอมเสียชายฝั่งไปทั้งหมด หาดทรายกลายเป็นหาดหิน แล้วการไประเบิดภูเขาเอาหินมาถม มันก็ไม่ถูกต้องอีกเพราะเป็นการทำลายทรัพยากรต้นน้ำ


 


"ถ้าบอกว่าตอนทำโครงการช่วงแรกๆ ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างนี้ ไม่ได้ ตัวรอดักทรายตัวแรกที่ทำคือที่ปากพนัง เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ทำโดยกรมชลประทาน แล้วก็เห็นแล้วว่าผลเป็นอย่างไร แต่ก็ยังมีการทำรอเพิ่มอีก แล้วทำใหญ่กว่าเดิมอีก ปัญหามันก็คงเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ"


 







รายงานการสำรวจแนวชายฝั่งทะเล สภาพการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และโครงสร้างชายฝั่งทะเล โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยใช้อากาศยาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 6 - 18 สิงหาคม 2550


ตามที่ สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำ "โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยใช้อากาศยาน" ขึ้น โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจแนวชายฝั่งทะเล สภาพการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และโครงสร้างชายฝั่งทะเล ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของไทยระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร


โดยเป็นชายฝั่งอ่าวไทยประมาณ 2,000 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 1,000 กิโลเมตร ในระหว่างวันที่ 6 - 18 สิงหาคม 2550 นั้น


ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มอบหมายให้ นายปริทัศน์ เจริญสิทธิ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7ว. นายวีระพันธุ์ ทองมาก เจ้าหน้าที่บริหารงานประมง 6 นายอรุณกิจ สิทธิไชย และ นายส.กรกช ยอดไชย เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สังกัดสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นคณะทำงานปฏิบัติการร่วมในการสำรวจแนวชายฝั่งทะเล


ผลจากการสำรวจแนวชายฝั่งทะเล สภาพการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และโครงสร้างชายฝั่งทะเล สรุปได้ดังนี้


 


แนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย


 


1. จังหวัดนราธิวาส


แนวชายฝั่งทะเลจังหวัดนราธิวาสระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่บริเวณชายฝั่งเป็นหาดทรายทั้งหมด ยาวต่อเนื่องกันในแนวเหนือ - ใต้


พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบเป็นแนวต่อเนื่อง เริ่มต้นบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่งทะเล ที่สร้างบริเวณปากแม่น้ำและคลองที่มีขนาดใหญ่ทุกแห่ง ประเภทเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ (Jetty) ลักษณะเป็นแนวเขื่อนหินทิ้ง ถมยื่นออกไปในทะเล ยาว 100 - 300 เมตร


โดยพบ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำโก - ลก (แนวพรมแดนไทย - มาเลเซีย) และเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำบางนรา


แนวชายฝั่งทะเลที่มีการกัดเซาะพบตลอดแนว ตั้งแต่ปากแม่น้ำโก - ลก ต่อเนื่องถึงชายหาดหน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อ่าวมะนาว ขึ้นไปถึงเขตตัวเมืองนราธิวาส


 


2. จังหวัดปัตตานี


แนวชายฝั่งทะเลระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นชายฝั่งประเภทหาดทรายต่อเนื่องมาจากชายฝั่งจังหวัดนราธิวาส และหาดโคลนบริเวณด้านในอ่าวปัตตานี มีแหลมตาชี


พื้นที่กัดเซาะพบมากบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่ง ประเภทเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ (Jetty) บริเวณปากแม่น้ำ และกำแพงริมตลิ่ง ประเภทเขื่อนหินทิ้ง ยกเว้นในอ่าวปัตตานีพบการเพิ่มขึ้นของพื้นที่หาดเลน และการถมพื้นที่ภายในอ่าว


เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ พบ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำในอำเภอไม้แก่นและอำเภอสายบุรี ส่วนที่อำเภอปานาเระมี 2 แห่ง (คลองมะหวดและคลองปานาเระ) อำเภอหนองจิก 2 แห่ง (คลองตันหยงเปาว์ และคลองราพา)


กำแพงริมตลิ่ง ประเภทเขื่อนหินทิ้ง พบ 3 บริเวณ ได้แก่ บริเวณบ้านบางตาวา บริเวณหาดรัชดาภิเษก และบริเวณชายฝั่งบ้านตันหยงเปาว์


 


3. จังหวัดสงขลา


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร มีลักษณะเรียบตรงยาวแนวเหนือ - ใต้ พื้นที่กัดเซาะพบบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่งประเภทต่างๆ เนื่องจากขาดตะกอนทรายมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป เนื่องจากการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายจากอิทธิพลของกระแสน้ำชายฝั่ง


โดยเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ (Jetty) พบ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกันทรายปากคลองเทพา อำเภอเทพา เขื่อนกันทรายปากคลองสะกอม บ้านบ่อโชน อำเภอจะนะ เขื่อนกันทรายปากคลองนาทับ อำเภอจะนะ และเขื่อนกันทรายปากทะเลสาบสงขลาบริเวณด้านใต้ของเขตจังหวัดขึ้นมาจนถึงปากทะเลสาบสงขลา และพบรอดักทรายอีก 2 แห่งบริเวณบ้านเก้าเส้ง และบริเวณเทศบาลบ่อตรุ


 


4. จังหวัดนครศรีธรรมราช


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 235 กิโลเมตร ลักษณะเรียบตรงยาวในแนวเหนือ - ใต้ ส่วนใหญ่เป็นหาดทราย พบหาดโคลนบริเวณในอ่าวปากพนัง ปลายแหลมตะลุมพุกจนถึงเขตอำเภอท่าศาลา และหาดหินบริเวณด้านเหนือของจังหวัดบริเวณอำเภอขนอม


พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบเป็นแนวต่อเนื่องบริเวณโครงสร้างชายฝั่งทะเล ทั้งเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ (Jetty)กำแพงริมตลิ่งจำนวนมาก


พบการกัดเซาะชายฝั่งเกือบทุกตำบล โดยเฉพาะในเขตอำเภอหัวไทรและปากพนัง (เขตต่อเนื่องจากจังหวัดสงขลา) โดยพบบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่งประเภทต่างๆ เนื่องจากการขาดตะกอนทรายมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป เนื่องจากการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายจากอิทธิพลของกระแสน้ำชายฝั่ง


เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ พบ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกันทรายปากระวะ ตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร เขื่อนกันทรายปากคลองระบายน้ำชะอวด - แพรกเมือง ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร เขื่อนกันทรายปากคลองฉุกเฉิน ตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง เขื่อนกันทรายปากน้ำท่าศาลา เขื่อนกันทรายปากน้ำกลาย และเขื่อนกันทรายปากน้ำสิชล


กำแพงริมตลิ่ง พบมากด้านเหนือของเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ เนื่องจากได้รับผลการกัดเซาะซึ่งเป็นอิทธิพลต่อเนื่องมา โดยพบกำแพงริมตลิ่งขนาดใหญ่ 2 บริเวณ ได้แก่ บริเวณท่าเทียบเรือเทศบาลหัวไทร และบริเวณริมถนนในเขตตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง


 


5. จังหวัดสุราษฎร์ธานี


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ในแนวตะวันออก - ตะวันตก เป็นมุมหักจากเขตภูเขาสูงในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่เป็นหาดโคลน ส่วนเขตหาดทรายจะพบตอนบนของเขตจังหวัดบริเวณรอยต่อกับจังหวัดชุมพร


พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบบริเวณเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่งทะเลจากป่าชายเลนเป็นบ่อกุ้งจำนวนมาก


 


6. จังหวัดชุมพร


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร ในแนวเหนือ - ใต้ ส่วนใหญ่เป็นหาดทราย เป็นอ่าวเล็กๆ ต่อเนื่องกัน เนื่องจากมีภูเขาริมทะเลจำนวนมาก มีหาดโคลนบริเวณอ่าวทุ่งคา - สวี และบริเวณตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว


พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบไม่มาก เนื่องจากชายฝั่งเป็นอ่าวต่อเนื่องกัน พื้นที่กัดเซาะจึงไม่ขยายตัวต่อเนื่องไปบริเวณอื่น


โครงสร้างชายฝั่งทะเล ที่พบได้แก่ เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ (Jetty) 3 แห่ง คือ เขื่อนกันทรายปากน้ำหลังสวน เขื่อนกันทรายท่าเทียบเรือด่านสวี และเขื่อนกันทรายปากน้ำชุมพร


 


7. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 246 กิโลเมตร ในแนวเหนือ - ใต้ ส่วนใหญ่เป็นหาดทรายเรียบตรง ด้านใต้ของเขตจังหวัดยังไม่มีโครงสร้างชายฝั่งมากนักและยังคงความเป็นธรรมชาติของชายฝั่งไว้ได้มากที่สุด


พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบไม่มาก เนื่องจากไม่มีโครงสร้างชายฝั่งขนาดใหญ่บริเวณแนวชายฝั่งที่เรียบตรง แต่พบอยู่ในช่องเขา ซึ่งจะส่งผลกระทบน้อยกว่า ได้แก่ เขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือโรงงานเหล็กสหวิริยา อำเภอบางสะพาน การก่อสร้างท่าเทียบเรือในอำเภอทับสะแก เขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือคลองวาฬ อำเภอเมือง เขื่อนกันทรายปากน้ำสามร้อยยอด และเขื่อนกันทรายปากน้ำปราณบุรี นอกจากนี้ พบกำแพงริมตลิ่งจำนวนมากในเขตอำเภอเมือง ปราณบุรี และหัวหิน


 


8. จังหวัดเพชรบุรี


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร แบ่งเป็นหาดทรายประมาณ 46 กิโลเมตร พบตอนใต้ของจังหวัด ตั้งแต่ปลายแหลมผักเบี้ยลงไป เหลืออีก 44 กิโลเมตร ตั้งแต่ปลายแหลมผักเบี้ยขึ้นมา เป็นหาดโคลน ชายฝั่งทะเลจังหวัดเพชรบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ได้แก่ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน หาดชะอำ หาดปึกเตียน หาดเจ้าสำราญ และแหลมหลวง


พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบเป็นแนวต่อเนื่อง มีการสร้างโครงสร้างชายฝั่งทะเล (เขื่อนหินทิ้ง) เพื่อป้องกันตลอดแนวชายฝั่ง ทำให้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ สูญเสียพื้นที่หน้าหาดไป นอกจากนี้พบเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำขนาดใหญ่ (Jetty) ที่ปากน้ำชะอำ แหลมหลวง และเขื่อนกันคลื่นที่ปลายแหลมผักเบี้ย


 


9. จังหวัดสมุทรสงคราม


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ทั้งหมดเป็นหาดโคลน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะกอนปากแม่น้ำหลายสาย โดยมีแม่น้ำสายหลักได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง


 


10. จังหวัดสมุทรสาคร


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ทั้งหมดเป็นหาดโคลน แนวชายฝั่งเดิมเป็นป่าชายเลน ต่อมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและนาเกลือมากว่า 30 ปี ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน และกำลังขุดลอกดินออกจากบ่อกุ้งจำนวนมาก ซึ่งเท่ากับการขุดดินในพื้นที่ชายฝั่งออกไป


พบพื้นที่ถูกกัดเซาะเป็นแนวยาว มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือบริเวณขอบชายฝั่งเล็กน้อย บางแห่งพบการกัดเซาะเข้ามาถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีการป้องกันชายฝั่ง ได้แก่ การสร้างเขื่อนหินทิ้งบริเวณเขตชุมชนและบ่อกุ้ง การปักแนวไม้ไผ่ รวมทั้งการสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบไส้กรอกทราย


 


11. กรุงเทพมหานคร


แนวชายฝั่งบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งหมดเป็นหาดโคลน ต่อมาพัฒนาพื้นที่เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พบการกัดเซาะชายฝั่งเป็นแนวยาว มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือบริเวณขอบชายฝั่งเล็กน้อย บางแห่งพบกัดเซาะเข้ามาถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนการป้องกันชายฝั่ง พบการสร้างเขื่อนหินทิ้งเพื่อกันคลื่นนอกชายฝั่ง


 


12. จังหวัดสมุทรปราการ


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ทั้งหมดเป็นหาดโคลน แนวชายฝั่งเดิมเป็นป่าชายเลน ต่อมาพัฒนาเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเขตอุตสาหกรรม


พบพื้นที่ถูกกัดเซาะเป็นแนวยาว มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือบริเวณขอบชายฝั่งเล็กน้อย บางแห่งพบการกัดเซาะเข้ามาถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีการป้องกันชายฝั่ง ได้แก่ การสร้างเขื่อนหินทิ้งบริเวณเขตชุมชนและพื้นที่อุตสาหกรรม บ่อกุ้ง การปักแนวไม้ไผ่ เสาไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบไส้กรอกทราย


 


13. จังหวัดฉะเชิงเทรา


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ทั้งหมดเป็นหาดโคลน แนวชายฝั่งเดิมเป็นป่าชายเลน ต่อมาพัฒนาเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พบพื้นที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งเป็นแนวยาว โดยมีการป้องกันชายฝั่ง ได้แก่ การสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบไส้กรอกทรายนอกฝั่ง


 


14. จังหวัดชลบุรี


แนวชายฝั่ง ระยะทางประมาณ 175 กิโลเมตร ในแนวเหนือ - ใต้ มีภูเขาริมทะเล ทำให้แนวชายฝั่งเป็นอ่าวขนาดเล็กต่อเนื่องกันจนไปสุดเขตจังหวัดที่อำเภอสัตหีบตอนบน จนสุดปลายแหลมเขาสามมุก อำเภอเมือง เป็นหาดโคลน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะกอนปากแม่น้ำบางปะกงมีพื้นที่ป่าชายเลนงอกสะสมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังถมทะเลเพิ่มเพื่อขยายตัวเมือง ส่วนแนวชายฝั่งที่เหลือลงไปทางใต้เป็นหาดทรายทั้งหมด


แนวชายฝั่งมีการใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค ชุมชน และท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง มีเฉพาะบางพื้นที่พบการกัดเซาะในบริเวณที่ก่อสร้างรุกล้ำทะเล เช่น พัทยา หาดจอมเทียน ตำบลนาจอมเทียน อำเภอบางละมุง


 


15. จังหวัดระยอง


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 102 กิโลเมตร ในแนวตะวันออก - ตะวันตก มีลักษณะเป็นอ่าวขนาดใหญ่เล็กต่อเนื่องกัน ชายฝั่งทะเลตะวันตกเป็นหาดทราย ส่วนชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นหาดโคลน แนวชายฝั่งมีการใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค ชุมชน ท่าเทียบเรือ และพื้นที่ถมทะเลเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงบริเวณหาดแสงจันทร์ต่อเนื่องไปจนถึงปากน้ำระยองระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร


 


16. จังหวัดจันทบุรี


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 98 กิโลเมตร ในแนวเหนือ - ใต้และมีความหลากหลายทางภูมิสัณฐานชายฝั่ง พบทั้งหาดทรายส่วนใหญ่ปนโคลน หาดหิน หน้าผา หาดทราย และหาดโคลน ไม่ระบุว่าพบพื้นที่ถูกกัดเซาะหรือไม่


 


17. จังหวัดตราด


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร ในแนวเหนือ - ใต้ ส่วนใหญ่เป็นหาดโคลนและหาดทรายปนโคลน ส่วนด้านใต้เป็นหาดทรายที่มีชื่อหลายแห่ง เช่น หาดทรายเงิน หาดทรายแก้ว หาดทรายงาม หาดราชการุณย์ หาดทับทิม หาดไม้รูด และหาดบานชื่น สำหรับแนวชายฝั่งบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา เป็นหาดโคลน


 


 


แนวชายฝั่งทะเลอันดามัน


 


1 แนวชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูล


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 155 กิโลเมตร เป็นหาดโคลนและทรายปนโคลนเป็นส่วนใหญ่ และเป็นพื้นที่ป่าชายเลน มีท่าเทียบเรือหลายแห่ง แต่ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่งจากโครงสร้างเหล่านี้ พบพื้นที่กัดเซาะเพียงเล็กน้อย อาจเกิดจากคลื่นลมตามฤดูกาล โดยมีการสร้างแนวเขื่อนเล็ก ๆ กันคลื่นบริเวณหน้าที่อยู่อาศัยในชุมชนที่ติดทะเล เช่นบริเวณบ้านตำมะลัง เป็นต้น แนวเขื่อนกันคลื่นมีอยู่บริเวณ อำเภอละงู ช่วงรอยต่อกับอุทยานแห่งชาติทุ่งหว้า สำรวจพบการกัดเซาะตลิ่งเพียงเล็กน้อย


 


2. จังหวัดตรัง


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 136 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ได้แก่บริเวณ อำเภอปะเหลียน และบริเวณปากแม่น้ำ อำเภอกันตรัง ดังนั้นแนวชายฝั่งจึงเป็นหาดโคลนและทรายปนโคลน ส่วนตอนเหนือของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นหาดทรายและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จังหวัดตรังมีท่าเทียบเรือหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในปากแม่น้ำ หรือคลองไม่พบการกัดเซาะชายฝั่ง โดยรวมพบพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งเพียงเล็กน้อย


 


3. จังหวัดกระบี่


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 216 กิโลเมตร ด้านทิศใต้ของจังหวัดเป็นป่าชายเลนปากแม่น้ำ ดังนั้นจึงเป็นชายฝั่งประเภทหาดโคลนและทรายปนโคลน ตอนกลางของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นหาดทราย เช่น หาดนพรัตน์ธารา อ่าวนาง อ่าวไร่เลย์ ส่วนตอนบนของจังหวัดเป็นป่าชายเลนและหาดเลนเป็นส่วนใหญ่


จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ เป็นภูเขาตลอดแนวชายฝั่ง จึงมีชายฝั่งประเภทหิน หน้าผา เกาะต่าง ๆ เป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติ ชายหาดมีลักษณะเว้าแหว่ง จึงไม่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมากนัก


 


4. จังหวัดพังงา


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร ในอ่าวพังงามีลักษณะชายฝั่งดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงเกิดเป็นป่าชายเลนปากคลองขนาดใหญ่ ดังนั้นแนวชายฝั่งบริเวณนี้ จึงเป็นหาดโคลนและทรายปนโคลน ส่วนบริเวณทิศตะวันตกที่ติดทะเลอันดามันโดยตรงส่วนใหญ่จะเป็นหาดทรายยาวไปตลอดแนวชายฝั่ง ส่วนตอนบนเป็นพื้นที่ป่าชายเลน และชายฝั่งหาดโคลนเป็นส่วนใหญ่


จังหวัดพังงาได้รับผลกระทบจากสึนามิ มีผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นสึนามิ ในหลายพื้นที่ เช่น หาดท้ายเหมือง หาดเขาหลัก เกาะคอเขา เกาะพระทอง โดยพื้นที่หาดท้ายเหมืองภายหลังมีการสร้างกำแพงป้องกันคลื่นและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดทราย สูงประมาณ 2 เมตร ยาวจนถึงเขตอุทยานหาดท้ายเหมือง


จากการสำรวจพบว่ามีทรายมาทับถมบริเวณกำแพงเหล่านี้จนเกือบจะเท่าความสูงของกำแพง และพื้นที่บริเวณหาดเขาหลักเริ่มมีการก่อสร้างโรงแรมหลายแห่ง บางแห่งพบว่ามีการกัดเซาะบ้างจากถมดินขยายพื้นที่ลงมาในพื้นที่ชายหาด


 


5. จังหวัดภูเก็ต


แนวชายฝั่งรอบเกาะประมาณ 205 กิโลเมตร เป็นหาดทรายส่วนใหญ่ มีแหลมและอ่าวเล็ก ๆ จำนวนมาก เช่น หาดกะตะ หาดกะรน หาดป่าตอง หาดกมลา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต และได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิโดยตรง ส่วนฝั่งตะวันออกของเกาะเป็นหาดทรายและป่าชายเลน พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งยังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นแหลมหินและอ่าวกำบังคลื่น ลม


 


6. จังหวัดระนอง


แนวชายฝั่งระยะทางประมาณ 187 กิโลเมตร ด้านทิศใต้เป็นหาดทราย ตั้งแต่ อำเภอกะเปอร์ขึ้นไปเป็นหาดโคลนและป่าชายเลน ไม่พบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ชัดเจน แต่พบการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น และแนวไม้กันคลื่นด้านหน้าป่าชายเลนบ้างบางพื้นที่

เอกสารประกอบ

ภาพประกอบข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net