Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2551 เวลา 13.30 น. เครือข่ายลดโลกร้อนด้วยโลกที่เป็นธรรม (Thai Working Group on Climate Justice) จัดการฉายหนังและเสวนาเรื่อง "จากบริโภคนิยมสู่ทางรอดโลกร้อน" โดยในช่วงต้นได้เปิดสารคดี ความยาวประมาณ 20 นาที เรื่อง The Story of Stuff with Annie Leonard (โลก 5 ใบ ให้นายเอาไปหมดเลยกับแอนนี่ เลนนาร์ด) ซึ่งดำเนินเรื่องโดยภาพการ์ตูนลายเส้น ส่วนบทและผู้บรรยายคือ แอนนี่ เลนนาร์ด


 


เนื้อหาในสารคดีเกี่ยวกับการเดินทางของข้าวของ ที่มีขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง โดยเรียงลำดับจากการสกัด ไปสู่การผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการกำจัด ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า "เศรษฐกิจวัตถุ" เป็นเหตุให้ทรัพยากรกำลังจะหมดโลก เพราะเราใช้ข้าวของมากเกินไป การบริโภคกันอย่างจริงจัง ทำให้ข้าวของที่ออกมากลายเป็นขยะภายในเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งบรรทัดฐานของระบบที่ออกแบบให้สินค้ากลายเป็นขยะและใช้งานภายในเวลารวดเร็วที่สุดเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อ และสื่อต่างๆ มีบทบาทมากในการซื้อข้าวของ


 


ปัญหาต่อมาก็คือ ข้าวของที่ซื้อมามีจำนวนมากจนไม่รู้จะกำจัดอย่างไร หากเผาหรือฝังดิน สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดสารพิษที่มากขึ้น มนุษย์จึงเป็นคนสร้างปัญหาทั้งหมด แต่ก็ยังสามารถแก้ไขได้โดยเริ่มจากการอนุรักษ์ป่าไม้ การผลิตข้าวของโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ รอบด้าน คนงานได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการค้าที่เป็นธรรม บริโภคอย่างมีจิตสำนึก และ ที่สำคัญคือการยึดรัฐบาล ให้รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง


 


หลังจากฉายสารคดี มีการพูดคุยกันต่อในหัวข้อ จากบริโภคนิยมสู่ทางรอดโลกร้อน ผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว, ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร A Day, ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ดำเนินรายการ


 


ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวถึงสารคดีว่า แม้เนื้อหาที่พูดถึงจะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่รู้กันอยู่แล้ว แต่เรื่องเดิม เมื่อเอามาพูดใหม่ สามารถทำให้เห็นภาพรวมที่กระชับและให้รายละเอียดมากขึ้นด้วย


 


นอกจากนี้ ดร.สรณรัชฎ์ ได้กล่าวถึงวิถีการบริโภคนิยมของคนกรุงเทพด้วย ซึ่งวิถีการบริโภคนิยมนี้เป็นเพียงการตอบสนองกิเลสง่ายๆ ของผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบว่า ตลอดทาง เราสะสมวัตถุ แต่ขณะนี้เกิดการสะสมมากเกินไป ประชากรมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนมาก และคนกรุงเทพใช้ทรัพยากรมหาศาล ถ้าดูจากการใช้ไฟฟ้าของศูนย์การค้า 3 ห้างในกรุงเทพ คือ สยามพารากอน, มาบุญครอง และ เซ็นทรัลเวิลด์ ใช้ไฟจากเขื่อนที่ภาคอีสานมากกว่า 3 เขื่อนคือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร และเขื่อนปากมูล ซึ่งคนกรุงเทพไม่ตระหนักถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของชาวบ้านซึ่งต้องสูญเสียอาชีพและที่ทำกิน จนเกิดปัญหาการแตกแยกของสังคมขึ้น ดังนั้น เราต้องแก้ไขจุดนี้ก่อน


 


"เราต้องเอารัฐของเราคืนมา ปัญหาไม่ใช่แค่ว่าปิดไฟ 1 ชั่วโมงแล้วพอ แต่ปัญหาก็คือเราต้องช่วยกันร่วมวิเคราะห์ร่วมกันรณรงค์ เพื่อให้ได้แผนพัฒนาพลังงานของประเทศที่ตอบสนองกับการแก้ปัญหาโลกร้อนจริงๆ ไม่ใช่แค่มองว่าตอนนี้พลังงานต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเศรษฐกิจกำลังจะโตขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีไฟสำรองมากกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นต้องมีนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นมา พลังงานทางเลือกอย่าไปสนใจเพราะมันเล็กน้อยมาก ทั้งที่จริงมันเป็นแนวโน้มที่ควรจะคิดมากขึ้น"


 


"ตอนนี้เราควรจะรับรู้รับข่าวสารให้เร็วที่สุด ทำอย่างไรให้ประชาคมแข็งแรง อย่างน้อยเราต้องช่วยกันเอง และตระหนักว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวขนาดไหน เราต้องทำใจว่าเราทำลายโลกขนาดนี้ ไม่มีอะไรที่จะกลับมาเหมือนเดิม ต้องมีความหวังว่าเราต้องลดคาร์บอนได้ ต้องพยายามใช้ถุงผ้า การปิดไฟ ลดทุกอย่าง เราควรจะสร้างสรรค์เพื่อลดการใช้พลังงานและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวโดยสรุป


 


ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวหลังจากได้ชมสารคดีว่า สิ่งที่นำเสนอนั้นสั้นและเข้าใจง่ายขึ้น ประเด็นที่สำคัญคือมันเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยากให้หลายคนเริ่มคิดเรื่องนี้กัน และต้องคิดต่อไปว่าเราจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างไร ต่อไปเราคงไม่ต้องบอกว่าโลกโดนทำร้ายอย่างไรบ้าง แต่หลังจากนี้เราจะทำอย่างไรกันต่อ


 


ผศ.สุรัตน์ กล่าวอีกว่าสารคดีเรื่องนี้อาจจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงปัญหาสังคมอเมริกาได้ในบางประเด็น การที่จับแต่สหรัฐฯ อย่างเดียวว่าเป็นตัวสร้างปัญหาทั้งหมด คิดว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ถูกและผิดในเวลาเดียวกัน ส่วนที่ถูกต้อง คือ วิธีการบริโภคของสหรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนของประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรอยู่เหมือนกัน ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนระบบรัฐบาล เศรษฐกิจ การเมืองใหม่ ในระบบที่มีสวัสดิการสังคม ซึ่งหมายความว่าจะเปิดโอกาสทำให้ประชาชนคิด ทำให้ประชาชนกลับมามีพลังความแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง


 


"เศรษฐกิจการเมืองเป็นแบบนี้แล้ว เราไม่อยากโทษรัฐบาลอย่างเดียว รัฐไม่ได้คิดถึงสิ่งแวดล้อม คิดถึงแต่อยู่ถึง 4 ปีไปวันๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัจจัยหลักของพวกนักการเมืองเลย ซึ่งการบริโภคนิยมคือเสรีภาพ แม้แต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ยังสามารถปกครองประเทศได้เลย ตราบใดที่สามารถปล่อยบรรยากาศบริโภคนิยมอยู่ในประชาชนได้ มันเหนือกว่าเรื่องของสิทธิ ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ปกครองแบบเผด็จการ แต่สุดท้าย GDP มันสูง บริโภคได้มีเสรีภาพในการเลือก นี่คือจิ๊กซอว์ของปัญหาทั้งหมด"


 


"เรื่องพลังงานทางเลือก รัฐเห็นว่าเป็นกระแสแฟชั่นเท่านั้น แต่แท้ที่จริงมันปัญหารากเหง้าทั้งหมด และภายใต้ความเจ็บปวดของโลกก็ยังมีคนใช้ความบริโภคนิยมได้อีก คนขายพัดลมขายได้ คนขายไอติมขายได้ แต่โลกกำลังพัง โลกกำลังแย่อยู่ ตรรกะในการตอบคำถามนี่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคนิยมทำมา หรืออินเทอร์เน็ตที่เราใช้ในทางการสื่อสารขณะเดียวกันที่เกิดขึ้นว่านักวิชาการกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยว่าโลกร้อน ซึ่งกลายเป็นสื่อเสรีภาพที่เลวร้ายที่สุด สุดท้ายแล้วเสรีภาพกลายเป็นดาบมาฟันเรา เถียงกันว่าทำไมโลกร้อน แต่เรื่องที่เขาเถียงกันคือวิถีที่จะพัง มันพังแบบไหน ซึ่งปัญหาต่างๆ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข"


 


ทางด้าน ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร A Day กล่าวหลังจากชมสารคดีว่า การสื่อสารของสารคดีเป็นการเล่าเรื่อง แต่ข้อมูลไม่ได้ใหม่ เป็นการเล่าเรื่องง่ายๆ มีการเท้าความอย่างมีเหตุมีผล บ่งบอกถึงรากของปัญหา และประเด็นอยู่ที่ว่า "เราจะช่วยได้อย่างไรบ้าง"


 


ทรงกลด ได้กล่าวถึงวัยรุ่นยุคนี้ว่ากลัวความแตกต่าง กลัวที่จะไม่เหมือนคนอื่น และกล้าที่จะออกมาทำสิ่งที่ดีๆ กันน้อย แต่เทรนด์ตอนนี้ รู้สึกว่าเทรนด์จะเหวี่ยงกลับ คนทำงานเพื่อสังคมจะดีขึ้น เด็กที่อเมริกาหันมาสนใจทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นเท่กว่าฮิพฮอพ เท่กว่าร็อคสตาร์ ในเมืองไทยน่าจะเป็นไปได้ถ้ามีคนแรกหรือกลุ่มแรกในการทำงานเหล่านี้ให้น่าสนใจการจับรวมกันในเครือข่ายอาจจะเป็นเทรนด์ได้


 


พร้อมกันนี้ บรรณาธิการนิตยสาร A Day กล่าวถึงทางแก้ปัญหาโลกร้อนว่ามองเป็นเรื่องของเทรนด์ เทรนด์ คือ "การมา" และ "ไป" ยกตัวอย่างเช่นโครงการหาร 2 เปิดตัวสวยงามเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คนในบ้านเมืองสนใจ เมื่อ 5 ปีผ่านไปคนก็พูดข้อมูลเดิม คนฟังก็ฟังแต่ข้อมูลเดิม คนฟังก็เบื่อ ถ้าพูดถึงโครงการหาร 2 ก็เชยมาก เป็นข้อมูลที่น่าเบื่อมาก จึงกลัวว่าถ้าวันหนึ่งคนเริ่มเบื่อ และไม่สนใจจะเกิดอะไรขึ้น


 


"สิ่งที่ผมมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีคนอยากมาช่วยมาก ส่วนหนึ่งอยากช่วย แต่กลับเป็นการสร้างภาพให้ตัวเองมากกว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง เรื่องที่สองทุกวันนี้เราอาจจะพูดมากกว่าทำ พูดกันหมดว่าจะทำ สื่อก็ด้วย ว่าจะทำอะไรบางอย่าง พูดแล้วใครทำ อีกเรื่องคือเราทำน้อยกว่าที่เราทำได้ เราใช้ถุงผ้า ปิดไฟคนละดวง ปลูกต้นไม้คนละต้น ซึ่งมันเล็ก คือเราควรออกกฎบางอย่างที่ทุกคนต้องร่วมกันปฏิบัติ"


 


นอกจากนี้ ทรงกลด ยังกล่าวอีกว่า โลกซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกัน เรื่องโลกร้อนก็เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากว่าจะต้องแก้อย่างไร ซึ่งทุกๆ ปัญหาจะมีผู้ร้ายเสมอ ปัญหาโลกร้อนใครจะรับผิดชอบ เรามักจะไม่คิดว่าเราเป็นหนึ่งผู้ก่อปัญหา ทุกคนจะมองว่าไม่ใช่ฉัน ความคิดนี้อันตรายมาก คิดแบบนี้จะไม่มีทางแก้ใดๆ เลย ต้องมองว่าเราเป็นปัญหาซึ่งเราต้องเป็นคนแก้  และเราต้องแก้ให้ได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net