สัมภาษณ์ ธีระ สุธีวรางกูร : สมควรยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 หรือไม่





 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ "ประชาไท" ได้รับอนุญาตจาก อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร (ผู้ให้สัมภาษณ์) ให้นำมาเผยแพร่ต่อ

 

 

โดย กล้า สมุทวนิช

 

"ธีระ สุธีวรางกูร" เป็นหนึ่งในรายชื่อของกลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนห้าคนที่มักจะตกเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยอยู่เสมอ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

 

หากทว่าเป็น "สียงข้างน้อย" ที่ชัดเจนในจุดยืน คือ ไม่เอา และ ไม่เห็นด้วย ทั้งกับการรัฐประหารและการตีความกฎหมายที่ไม่เคารพต่อหลักนิติธรรม ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นเสียงข้างน้อยแบบไม่มองหน้าคนว่าเป็นใครหรือฝ่ายใด จนทำให้หลายครั้งที่บทบาทของเขากับบรรดาเพื่อนอาจารย์ ถูกกลุ่ม "ทักษิณโฟเบีย" มองเอาแบบง่ายๆ ว่ามีความเห็นเหมือนเป็นการ "เอื้อประโยชน์" ให้กับกลุ่มอำนาจเก่า  

 

ในฐานะของคนที่เคยออกแถลงการณ์คัดค้านและประณามการรัฐประหาร และในฐานะของคนสอนกฎหมายซึ่งเคยเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ วันนี้ เมื่อจะมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ท่ามกลางการตอบรับแบบปฏิเสธจากบางฝ่าย ผมจึงขอเวลาที่เขามีไม่ค่อยมากนักให้มาตอบคำถามผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เพื่อทราบจุดยืนของเขาอีกครั้ง

 

ตกลงว่าอาจารย์เห็นควรสนับสนุนให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309

บทความของผมที่เขียนขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ก่อนมีการออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นคำตอบที่ชัดเจนอยู่ในตัวของมัน และความจริงไม่ใช่เฉพาะแต่ผม กลุ่มเพื่อนอาจารย์ของผมที่ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต่างก็เห็นเหมือนกันว่ามาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ มันทำลายหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ และทำลายหลักความเสมอภาคต่อการที่จะได้รับความคุ้มครองให้เสมอเหมือนกันกับคนอื่นของผู้ที่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรานี้อย่างน่าเกลียด  และถ้าคุณยังไม่ทราบ ผมควรบอกคุณด้วยว่าก็เพราะมาตรานี้นี้เอง ที่ทำให้อาจารย์ผู้ใหญ่ในคณะผมคนหนึ่งต้องประกาศตัวอย่างเปิดเผยผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่าไม่อาจจะสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญต่อไปได้ ตราบใดที่ยังมีมาตรานี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ

 

เท่าที่สังเกต อาจารย์ดูเหมือนจะมีปัญหากับรัฐธรรมนูญมาตรานี้มากกว่าเรื่องที่กำลังโด่งดังอย่างมาตรา 237 มาตรานี้มันไม่ดียังไงในสายตาของอาจารย์

คำตอบของผมเมื่อสักครู่นี้ก็บอกไว้ชัดเจนแล้วไม่ใช่หรือถึงความไม่เหมาะสมของมัน 

 

ขอแบบชัดเจนเห็นภาพสักนิดครับ

ความจริงแล้ว เรื่องนี้ใช้วิธีการเขียนด้วยภาษาเทคนิคทางกฎหมายมาก แต่ถ้าถอดนั่งร้านทางวิชาการที่รุงรังด้วยภาษากฎหมายออกไปแล้ว ว่ากันตามเนื้อหา มันก็คือการรับรองบรรดาประกาศ คปค.ทุกฉบับ  คำสั่งของหัวหน้า คปค.ทุกฉบับ รวมตลอดไปจนถึงการปฏิบัติตามประกาศคำสั่งเหล่านี้ของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของรัฐ ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั่นเอง 

 

การรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมันหมายความว่ายังไง? มันก็หมายความว่า ประกาศ คำสั่ง หรือการปฏิบัติตามประกาศคำสั่งเหล่านี้ ไม่ว่ามันจะมีเนื้อหาที่ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังไง ต่างก็ถูกเหมาให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเสียทั้งหมด เหมาเข่งให้ชอบโดยไม่แยกแยะอย่างเดียวไม่พอ กลับสร้างเงื่อนเวลาให้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศคำสั่งเหล่านี้ มันมีผลทั้งในอดีต ปัจจุบัน รวมไปถึงอนาคตซึ่งไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไหร่อีกด้วย

 

แล้วตรงไหนครับอาจารย์ที่มันทำลายหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม 

ในฐานะที่คุณก็เรียนกฎหมาย คุณรู้ดีว่าภายใต้หลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมนั้น การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐทุกองค์กร หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ต้องถูกตรวจสอบได้ถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความชอบด้วยกฎหมายเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบจากองค์กรตุลาการหรือศาล 

 

กรณีนี้ เมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนมาตรา 309 รับรองให้ประกาศ คปค.คำสั่งหัวหน้า คปค.และการกระทำตามประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด ก็เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งศาลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ต่างก็ต้องใช้อำนาจภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เหตุอย่างนี้ แม้โดยเนื้อหาของประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้นมันจะไม่ชอบ แต่ศาลที่ไหนจะสามารถไปวินิจฉัยให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ ในเมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนบังคับเอาไว้แล้วว่าให้มันชอบ

 

ผลจากการนี้ แม้จะมีการฟ้องคดีไปที่ศาลว่าประกาศ คปค.ฉบับหนึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลก็ไม่อาจทำอะไรได้เลย นอกจากวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นไปว่าไม่อาจรับคดีนี้ไว้ตรวจสอบ เพราะมีการรับรองเอาไว้แล้วว่ามันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญให้มีผลเป็นการตัดอำนาจการตรวจสอบของศาลหรือ และเมื่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เป็นปริยายไม่ให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค. คำสั่ง คปค.หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว กรณีอย่างนี้ หรือคุณคิดว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้มันยังสอดคล้องกับหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม

 

ผมอยากพูดต่อไปด้วยว่า เมื่อผู้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวไม่อาจขอใช้สิทธิทางศาลโดยปริยายได้ ขณะที่คนอื่นๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นตาสีตาสา คณะกรรมการ คตส.หรือแม้กระทั่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เอง  ต่างก็ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญที่จะสามารถขอใช้สิทธิทางศาลเพื่อปกป้องตัวเองให้พ้นจากการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐ โดยข้อเท็จจริงแบบนี้ หรือคุณคิดว่ามันยังมีความเสมอภาคในการปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามรัฐธรรมนูญของผู้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของประกาศ คปค.หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค.เมื่อเทียบกับคนไทยคนอื่นๆ

 

ผมเข้าใจกับคำอธิบายของอาจารย์ ไม่ว่ายังไง อาจารย์ไม่ห่วงหรือว่าคนบางกลุ่มจะมองเอาว่าอาจารย์เป็นพวกกลุ่มไทยรักไทยหรือพยายามอธิบายกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนกลุ่มนี้

ผมไม่เห็นประโยชน์ของการตอบคำถามในลักษณะนี้ สิ่งที่ผมพยายามอธิบายก็เป็นเพียงเหตุผลในทางกฎหมายเท่านั้น แต่หากว่ามีใครพยายามจะลากให้ผมเป็นพวกใครหรือไม่เป็นพวกใคร  ผมก็จนปัญญาที่จะไปห้ามความคิดเขา

 

แต่หลายคนก็มีสิทธิกลัวได้ใช่ไหมครับว่าถ้ายกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 แล้ว  อาจเท่ากับเป็นการยกเลิก คตส.ด้วย คนที่เขาคิดว่าโกงชาติก็จะลอยนวล

ถ้าเขาห่วงอย่างนั้นโดยสุจริต ไม่ใช่พยายามบิดเบือน ผมถือว่านั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนซึ่งผมควรจะอธิบายความคิดของผมในอีกทางหนึ่งให้เขาทราบ

 

ถ้าคุณดูมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ เอาแค่ในฐานะนักเรียนกฎหมาย คุณคงจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้มีเนื้อหาเป็นเพียงการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้กับประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค.และการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น รัฐธรรมนูญมาตรานี้ไม่ได้มีสาระเป็นการก่อตั้งองค์กรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหน แต่อย่างใดเลย 

 

สำหรับ คตส.เองนั้น กฎหมายที่ก่อตั้ง คตส.คือประกาศของคปค.ฉบับหนึ่ง ตราบใดที่ประกาศ คปค.ฉบับนี้ ยังไม่ถูกยกเลิกไป คตส.ก็ยังคงมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐอยู่ได้จนกว่าจะถูกยกเลิกตามเงื่อนเวลาสิ้นสุดของมัน ฉะนั้น จากคำถามของคุณ ผมยืนยันได้ว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ไม่ได้มีผลให้เป็นการยกเลิก คตส.แต่อย่างใด แต่การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรานี้ แน่นอนว่าจะทำให้ประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค.และการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลุดพ้นจากการเกาะระบบอภิสิทธิ์แบบไร้เหตุผล เพื่อเข้ามาอยู่ภายใต้การตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอเหมือนกันกับกฎหมายอื่นหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นๆ นี่แหละคือความเสมอภาคโดยแท้ภายใต้กรอบบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และนี่แหละคือหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม

 

งั้นผมคิดสถานการณ์สมมติหน่อยว่า หากรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ถูกยกเลิกไป และมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ก่อตั้ง คตส.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ด้วยเหตุผลว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป เพียงแต่บัญญัติขึ้นเพื่อบังคับใช้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใดอย่างเฉพาะเจาะจง หากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถูกคลายพันธนาการออกจากมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ได้วินิจฉัยว่าประกาศ คปค.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญจริง ซึ่งมีผลให้ใช้บังคับไม่ได้ อย่างนี้เราไม่ถือว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 อาจเป็นการเปิดช่องให้ยกเลิก คตส.โดยปริยายหรือ

ในความเป็นจริง ผมคิดว่า คตส.คงจะหมดวาระไปก่อนที่รัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขสำเร็จ แต่ถ้าให้ตอบตามหลักการ หากศาลรัฐธรรมนูญเกิดมีคำวินิจฉัยอย่างที่คุณว่าจริง มันก็คงมักง่ายเกินไปในทางความคิดที่จะสรุปว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 มันจะมีผลให้เป็นการยกเลิก คตส.โดยปริยาย และจึงต้องคัดค้านไม่ให้แก้ไขมาตรานี้ไว้ก่อน

 

ความจริงแล้ว ผู้ที่คัดค้านก็ไม่น่าจะกังวลเกินไปกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพราะการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ผลของมันก็มีเพียงแค่เปิดโอกาสให้ศาลได้เข้ามาตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค.คำสั่งหัวหน้า คปค.และการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งเหล่านี้เท่านั้น  ศาลจะวินิจฉัยให้การเหล่านี้ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร เราก็ยังไม่รู้ แต่ไม่ว่ายังไง  หลักที่เราควรยึดไว้ก็คือ เราจะต้องทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับเข้ามาสู่ระบบการตรวจสอบแบบเสมอหน้ากัน  โดยไม่มีกฎหมายใดหรือการกระทำใดมีเอกสิทธิ์อย่างไม่ชอบธรรมที่จะหลุดพ้นจากการตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

 

สุดท้ายครับอาจารย์  มีบางคนพูดว่าหากปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ มาตรา 309 ได้  ต่อไปอาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประเทศไทยใช้ระบบประธานาธิบดีหรืออะไรอย่างอื่น

... ( หยุดคิด )...เรื่องนี้เกินความรู้ของผม ผมไม่ทราบจริงๆ ผู้รับข่าวสารต้องใช้วิจารณญานในการหาคำตอบเอาเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท