Skip to main content
sharethis

"องอาจ เดชา"


 


 


 







 


เป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งว่ากันว่า นโยบายรัฐบาล "สมัคร1" นั้นก็เป็นการถอดแบบมาจากนโยบายในยุคสมัยเมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง โดยได้มีการหยิบเอาความเป็น "ไทยรักไทย"  ความเป็น "ประชานิยม" ให้กลับมารื้อฟื้นอีกครั้งหนึ่ง


 


โดยในส่วนของ "นโยบายการกระจายอำนาจ" ของรัฐบาลสมัคร 1 นั้น ได้ระบุในหนังสือคำแถลงไว้ว่า...ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่น เร่งรัดดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของราชการส่วนกลางให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ


 


แน่นอนว่า เรื่องนโยบายการกระจายอำนาจ ที่จะมีการถ่ายโอนภารกิจให้กับท้องถิ่น ในหลายๆ พื้นที่ของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ของภาคอีสานและภาคเหนือนั้น เราจะพบความเป็นจริงว่า ประชานิยม ที่ไทยรักไทย และรัฐบาลทักษิณได้โปรยหว่านเอาไว้ ยังคงครองใจคนชนบทส่วนใหญ่เอาไว้อย่างแน่นหนา จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่า "ระบอบทักษิณ ประชานิยม การกระจายอำนาจ และความคาดหวังของคนท้องถิ่น" นั้นมีความสอดคล้อง แยกจากกันไม่ออก จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลยทีเดียว


 


จนนำไปสู่การตั้งคำถามกันว่า...ทำไมระบอบทักษิณ หรือนโยบายประชานิยม จึงยังคงผูกขาดและกุมหัวใจชาวบ้านอยู่กระทั่งถึงทุกวันนี้ !?


 


ล่าสุด "ประชาไท" ได้ลงพื้นที่ของ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานวิจัยภายใต้ชื่อ "โครงการวิจัยการกระจายอำนาจกับโครงสร้างการเมืองท้องถิ่น" ที่มี "ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์" คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งแน่นอนว่า ในพื้นที่ภาคเหนือนั้นเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีพัฒนาการและจุดเปลี่ยนทางโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นได้ชัดเจนที่สุด


 


เราลองมาฟังเสียงคนท้องถิ่น และเสียงของนักวิชาการ พูดถึง "ประชานิยม การกระจายอำนาจ และความคาดหวัง" ว่าพวกเขาคิดเห็นว่าที่ผ่านมามันไปถึงไหนและสะดุดตรงไหน และที่กำลังเป็นไปในปัจจุบันและอนาคต และจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็น "รัฐสวัสดิการ" ในอนาคตได้หรือไม่ อย่างไร!?


 


 


นายพิพัฒพงศ์ เดชา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าในภาพรวมของการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด


 


"ในความคิดของผม หลังจากมีการกระจายอำนาจทำให้การพัฒนาการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนดีขึ้น เพราะว่าอย่างน้อยก็ในเรื่องการส่งเสริมระบบประชาธิปไตย สอง พี่น้องประชาชนสามารถเลือกตัวแทนท้องถิ่น สามารถกำหนดตัวแทนของชุมชนได้ สาม ก็คือความคล่องตัวในการพัฒนา แทนที่จะรอเบื้องบน เสนองบประมาณในการพัฒนาซึ่งล่าช้ามาก แต่พอมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ส่วนนี้ก็ช่วยขึ้นได้เยอะ แล้วที่สำคัญเรามีการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของประชาชนคือการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ กำหนดแผนพัฒนาฯในชุมชน ซึ่งเป็นความต้องการของชาวบ้านจริงๆ"  


 


 


 


พิพัฒพงศ์ เดชา


นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปิงโค้ง


 


นายพิพัฒน์พงศ์ กล่าวถึงข้อดีของการกระจายอำนาจว่า เป็นการกำหนดจากข้างล่าง คือเมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มี อบต.จะรู้เลยว่าเป็นการกำหนดมาจากข้างบน บอกว่าเอาก็ต้องเอา ซึ่งเป็นการยัดเยียดโครงการต่างๆ มาให้ ชาวบ้านไม่พร้อมก็จำเป็นต้องเอา เพราะรัฐบาลเอามาให้


 


และเมื่อถามถึงข้อเสียของการมีการกระจายอำนาจ นายก อบต.ปิงโค้ง บอกว่าในส่วนข้อเสีย หลังจากมีการกระจายอำนาจ มี อบต.แล้ว ทำให้ชาวบ้านเกิดความเคยชินว่าเคยได้ก็ต้องได้ เพราะฉะนั้น หมายถึงว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลชาวบ้านดีเกินไป คือพอเดือดร้อนก็เข้าไปหาชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านรอรับอย่างเดียว นอกจากนั้น การอนุมัติตัดสินใจหลายๆ โครงการยังขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจจากนายอำเภออยู่


 


ด้านนายสวัสดิ์ อัศจรรย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม ต.ปิงโค้ง มองว่า การมีรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นดี เพราะว่าอยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน อย่างน้อยๆ ชาวบ้านก็ควบคุมกันอยู่ จะคอยดูว่าถ้าตัวแทนฯ ทำผิดสมัยหน้า ก็จะไม่ได้เลือก ไม่ได้เป็น


 


"และดีก็ตรงที่มันตอบสนองชาวบ้านในเรื่องการบรรเทาทุกข์ เช่น การมีภัยธรรมชาติ อย่างกรณีชาวบ้านถูกน้ำท่วม ทาง อบต.ก็จะเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะว่างบประมาณอยู่ใน อบต. อยู่แล้ว ก็ถือว่าดีกว่าสมัยก่อนเยอะ ถ้าพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ"


 


ในขณะที่นายสุนทร เทียนแก้ว ผู้ใหญ่บ้านแม่ป๋าม บอกว่า ไม่มีอะไรจะดีเท่ากับการปกครองตนเอง นั่นคือการกระจายอำนาจ การปกครองกันเองในตำบล เพราะเราสามารถบอกว่าจะช่วยสร้างถนนที่ไหน จะช่วยเรื่องของชาวบ้านได้อย่างไร มีการทำเป็นประชาคม ร่วมจัดทำแผน 1 ปี 3 ปี 5 ปี ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านออกเสียงและเรียงลำดับความสำคัญ อยากได้อะไรบอก อบต.แล้วทางสมาชิกอบต.ก็เอาเข้าไปเสนอบรรจุไว้ในแผนพัฒนาตำบล 


 


"อย่างกรณีตำบลปิงโค้งมี 16 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านก็จะมีตัวแทนสมาชิก 2 คนแล้วผู้บริหารก็สามารถเห็นปัญหาได้ทั่ว อบต.จะต้องเห็นปัญหาในพื้นที่ เพราะเป็นคนของพื้นที่ ว่าบกพร่องตรงไหนจะแก้ตรงไหน แล้วก็เอาไปเสนอในสภานี้เป็นเรื่องที่ดีมาก"


 


 


ยังสับสน ไม่เข้าใจ เรื่องการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนการศึกษาให้กับท้องถิ่น


ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม ยังได้หยิบยกประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า ที่ผ่านมายังเกิดปัญหาอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.การขาดการสร้างความเข้าใจในหมู่สมาชิกครู และ 2.ผู้นำท้องถิ่นยังสับสนเรื่องการโอนย้ายข้าราชการ


 


"คือเมื่อจะโอนครูไปกำกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ครูหรือแม้กระทั่งสาธารณะสุขก็พากันหนี ทำไมไม่ประชาสัมพันธ์ว่า เมื่อคุณไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว คุณจะได้สวัสดิการเหมือนเดิมเงินเดือนอะไรก็เหมือนเดิมอันนี้คือตัวข้าราชการเองก็ยังขาดความเข้าใจเรื่องนี้อยู่"


 


เมื่อหันไปมองอีกฟากฝั่งหนึ่งขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต.หรือ อบจ.โดยเฉพาะผู้บริหาร ก็ยังขาดความเข้าใจเรื่องนี้กันอยู่เช่นกัน


 


"ยกตัวอย่าง สมมุติว่าเขาจะโอนครูไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บอกว่า เงินเดือนครูคนละ 3 หมื่นกว่าบาท ทางนายก อบต.กลับบอกว่า ถ้าอย่างนี้เงิน อบต.มี 15 ล้านบาท มันก็หมดไปกับการจัดการศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะว่าหากข้าราชการครูโอนมาสังกัด อบต.เงินเดือนข้าราชการครู รัฐบาลยังเป็นคนจ่ายอยู่ ทาง อบต.ไม่ต้องจ่าย เพียงแต่โอนด้านการบริหาร การจัดการและการดูแลสถานที่เท่านั้นเอง ซึ่งตรงนี้หลายพื้นที่เขายังไม่รู้ นี่คือความเข้าใจคลาดเคลื่อน"


 


ซึ่ง ผอ.โรงเรียนบ้านแม่ป๋าม ได้วิเคราะห์และชี้ให้เห็นว่า หากมีการศึกษาให้ชัดเจนจะพบว่า การโอนโรงเรียนมาให้ อบต.และชุมชนจัดการดูแลนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะว่า 1.การบังคับบัญชาก็ง่าย 2.ผู้บังคับบัญชาไม่ซับซ้อน 3.เป็นความต้องการของหมู่บ้าน ของชุมชนอย่างแท้จริง


 


"แต่ปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไขก็คือ ต้องให้ความรู้แก่ข้าราชการที่จะรับโอนไป และต้องให้ความรู้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไปพร้อมกันด้วย ผมเห็นว่าถ้าโอนมาสู่ท้องถิ่นได้จะดีมากเลย เพราะจะสามารถทำอะไรเพื่อท้องถิ่นได้อีกมาก เราอาจจะจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดึงวัฒนธรรมท้องถิ่นมาแล้วให้ท้องถิ่นมาจัดการศึกษาร่วมกัน ผมจะไม่หนีท้องถิ่น ถ้า อบต.มีการโอนเมื่อไหร่ ผมคนแรกที่จะไป" ผอ.โรงเรียนบ้านแม่ป๋าม บอกย้ำ


 


 


ชี้ระบบการศึกษาปัจจุบันผิดพลาด ใช้เด็กเป็นเครื่องทดลอง


ผอ.โรงเรียนบ้านแม่ป๋าม ยังชี้ให้เห็นถึงนโยบายการศึกษาของไทย รวมถึงเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่ผ่านมา ว่า มีความผิดพลาดหมดเลย  คือทำเด็กกลายเป็นเครื่องทดลอง ไล่มาตั้งแต่หลักสูตร 2521, 2523 แล้วก็หลักสูตร 2544 เอาเด็กเป็นหนูทดลองหมด แล้วก็ส่งเสริมให้เด็กจบปริญญาตรี เสร็จแล้วไม่มีงานรองรับ ทั้งๆ ที่ประเทศของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม


 


"เราลองเอาแบบนี้สิ ในทุกอำเภอมีโรงเรียนเกษตรกรรม 1 แห่ง เรียนแล้วก็มาทำงานด้านการเกษตรสิ ส่งสินค้าเกษตรไปขายทั่วโลกสิ ไม่มี! มีแต่ส่งเสริมให้เด็กเรียนจบ ป.ตรี แล้วได้อะไรบ้าง อย่างจบคุรุศาสตร์ บรรจุครู 5คน มีคนสมัคร 2 หมื่น ตนเห็นว่านี่มันเป็นความผิดพลาดของนโยบายด้านการศึกษาของเรา เมื่อส่งเด็กไปเรียนแล้ว โดยที่เด็กก็ยังไม่รู้จุดหมายปลายทาง คือจบปริญญา ใช่...แต่จบแล้วจะกลับมาทำอะไรได้บ้าง เจอแต่ความมืด คือผลิตออกมาเพื่อออกไปข้างนอก แต่กลับมาทำงานในหมู่บ้านไม่ได้ มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ซึ่งถือว่ายิ่งเจริญยิ่งอ่อนแอ"


 


อบต. เน้นพัฒนาวัตถุ ไม่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตจิตใจ


เมื่อสอบถามความเห็นจุดอ่อนของ อบต.หรือเทศบาล ในแต่ละแห่งของ อ.เชียงดาว ตัวแทนชาวบ้านบอกว่า อบต. หรือเทศบาลทุกแห่งส่วนใหญ่ไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่เห็นภาพ คือ จะเน้นโครงสร้างวัตถุ แต่ไม่ได้เน้นด้านจิตใจ ไม่ค่อยเน้นการพัฒนาคน ทุกส่วนยังเพียงแค่คิด แต่ไม่กล้าจะทำอย่างจริงจัง เพราะยังห่วงการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังห่วงคะแนนเสียง ต้องเน้นแต่โครงการที่เน้นวัตถุ


 


ในขณะที่นายสุนทร เทียนแก้ว ผู้ใหญ่บ้านแม่ป๋ามได้เสนอให้ทาง อบต.เร่งออกข้อบัญญัติเรื่องการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น โดยได้หยิบยกกรณีตัวอย่างของ อบต.แม่ทา กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ที่ได้ออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพยากรจัดการป่าขึ้นมา


 


"ทาง อบต. แม่ทา เขาออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพยากรจัดการป่าขึ้นมาแล้ว และผมคิดว่าก่อนที่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน จะออกมา เราต้องรีบผลักดันให้ อบต.มีนโยบายในการจัดการป่า  เพราะถ้าพ.ร.บ.ป่าชุมชนออกมาซึ่งมีแต่เปลือกแต่เนื้อในมันลายเป็นใบมืดโกนจะมาบาดชาวบ้าน"


 


 


นักวิจัยทิ้งคำถาม ระบอบทักษิณ = การฉกชิงองค์กรปกครองท้องถิ่น!?


ด้าน ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งทีมทำงานวิจัยภายใต้ชื่อ "การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น" โดยได้เลือกพื้นที่ภาคเหนือ เป็นพื้นที่เป้าหมายในงานวิจัยชุดนี้ ได้กล่าวภายหลังจากลงพื้นที่ว่า หลังจากได้นั่งฟังข้อมูลปัญหาต่างๆ จากชาวบ้าน, ผู้บริหาร อบต.แล้ว พบว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยเดิม และอยู่ในเครือข่ายส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทักษิณ ซึ่งก็เหมือนพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือกับภาคอีสาน ซึ่ง อบต.ที่เราไปกัน ไม่ค่อยมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพราะยังเป็นลักษณะแบบชุมชน อยู่กันตามวัฒนธรรมประเพณีเดิม ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจมากนัก


 


"ประเด็นปัญหาที่เราพบทันทีจากการที่คุยกับชาวบ้านแล้วไปคุยกับผู้บริหาร อบต.ก็คือเรายังไม่เห็นกระบวนการที่จะนำเอาความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริง ที่เข้าไปสู่การบริหารงานของอบต. แม้ว่าโครงสร้างเชิงสถาบันจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม แต่ในทางปฏิบัติผู้บริหารก็ไม่ได้เปิดโอกาส


ชาวบ้านก็ไม่ได้สู้เพื่อใช้โอกาสนั้น อยู่กันไปแบบเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เงินที่จะใช้ในพื้นที่มีมากพอสมควร เท่าที่เราเห็น จะเห็นว่ามันยังเป็นการพัฒนาสถาบันใหม่ที่ไปอย่างช้าๆ ถ้าเป็นพื้นที่ที่ความขัดแย้งจะชัดเจนกว่านี้ การแข่งขันกันเพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมใน อบต.คงเข้มข้นกว่านี้"


 


เมื่อถามถึง 'ประชานิยม' ในมุมมองของชาวบ้าน ผศ.เวียงรัฐ บอกว่า ไม่แตกต่างกัน อะไรที่ให้ประโยชน์ชาวบ้านชอบทั้งนั้น ส่วนใครจะได้ประโยชน์อย่างไรเป็นเรื่องของคนอื่นคิด แต่คิดจากมุมมองของชาวบ้านแล้วถ้าได้ประโยชน์ก็ชอบ


 


เมื่อถามว่า "ระบอบทักษิณ" มีส่วนช่วยให้การเมืองท้องถิ่นเติบโตหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ?


 


ผศ.เวียงรัฐ กล่าวว่า คือกำลังตั้งคำถามแบบนี้เหมือนกันว่าในพื้นที่ที่ระบอบทักษิณสถาปนาได้อย่างมั่นคงนั้น จริงๆ แล้วระบอบทักษิณ (ถ้ามี) เป็นการฉกชิงองค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นสถาบันใหม่มาเป็นฐานอำนาจให้กับพรรคการเมือง หรือจริงๆแล้วเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น


ด้วยการทำให้เป็นอิสระจากระบบราชการได้เร็วขึ้น


 


"คำถามนี้จะตอบได้ก็ต้องเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น หากองค์กรปกครองท้องถิ่นอยู่ภายใต้อำนาจของราชการมากกว่าพื้นที่ของ "ระบอบทักษิณ" ก็แสดงว่าระบอบทักษิณของคุณเขาทำให้การเมืองท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น"


 







 


ด้าน นายโอฬาร อ่องฬะ อดีตสมาชิก อบต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ปัจจุบัน เป็นคณะทำงานศึกษารูปแบบการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมและกำลังศึกษาวิจัยกระบวนการ-รูปแบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ภายใต้โครงการAPI-fellowships 2007 Thailand ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" ล่าสุด, จึงขอนำมาลงอย่างละเอียด ตรงนี้...


 


 


 


 


โอฬาร อ่องฬะ


คณะทำงานศึกษารูปแบบการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม


 


 


การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เข้าไปมีโอกาสเข้าไปร่วมกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแท้จริงหรือ ?


ประการแรก มองว่าอาจต้องอธิบายถึงปรากฏการณ์ในมิติการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น ว่าอยู่ในรูปแบบ ลักษณะอย่างไรด้วย แบบมีส่วนร่วมหรือแบบให้ความร่วมมือ แน่นอนครับ ถ้าอธิบายในแนวทางของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมที่ถูกกำหนดไว้ คงจะเป็นกลไกของ "ประชาคม" ที่มีหลายระดับ ไม่ว่ากลไกประชาคมในระดับหมู่บ้าน กลไกประชาคมในระดับตำบลและระดับอำเภอ เนื่องจากกลไกนี้เองได้กำหนดถึงบทบาท หน้าที่ในการจัดทำและเสนอแผนพัฒนาในระดับชุมชนรวมถึงในระดับองค์กรปกครองสวนท้องถิ่นด้วย


 


แต่ที่ผ่านมา กลไกเหล่านี้มิได้มีความคล่องตัว และขยับตัวไปในแนวทางการมีส่วนร่วมสักเท่าไรนัก ในทางกลับกันนั้นเอง กลไกประชาคม กลับถูกทำให้มีเพียงแค่หน้าที่ในการรับรองแผนพัฒนาท้องถิ่น เป็นตราประทับความชอบธรรมของแผนกิจกรรมต่างๆ ไมว่าจะเป็นการเปิดซองประมูล การตรวจรับการจ้าง เท่านั้นเอง


 


แต่ก็น่าสนใจนะครับ ถ้ากลไกภาคประชาชนจะเข้ามาใช้พื้นที่แบบนี้ในการผลักดันกลไกการมีส่วนร่วมที่มากไปกว่าแค่การรับรองแผนพัฒนา เช่น ใช้กลไกเวทีประชาคม ในการถกเถียง วิเคราะห์แนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือใช้กลไกประชาคมเป็นช่องทางในการผลักดันการแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยปกครองท้องถิ่น


 


ประการที่สอง ผมมองว่ากระบวนการที่เราผลักดันมีลักษณะเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นที่มิใช่จำกัดอยู่แค่ขอบเขตของการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นเพียงแค่นั้น แต่หมายรวมถึงการเข้าร่วมในการกำหนด ติดตาม หนุนเสริมการทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ด้วย


 


ยกตัวอย่าง เช่น การสถาปนากลไกสภาประชาชน การเมืองภาคประชาชน ที่ทำหน้าที่หนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่น การผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีความเป็นอิสระในการจัดการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของงบประมาณ การบริหารจัดการ การวางแผนพัฒนาท้องถิ่น ให้มากขึ้นและให้หน่วยของอำเภอ และจังหวัดเปลี่ยนบทบาทจากการกำกับ ควบคุม สั่งการ มาเป็นการหนุนเสริมและให้การปรึกษา   


 


ประการสุดท้าย ที่ผ่านมา ระเบียบข้อบังคับ กฎหมายของท้องถิ่น มีข้อจำกัดมากในการให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ เช่น ชุมชนร่วมกันในการจัดการทรัพยากรในรูปแบบป่าชุมชน ภายใต้การผลักดันร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจต้องใช่ช่องทางของ พระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ปี 2542 ประเด็นสำคัญในพระราชบัญญัตินี้อยู่ที่ว่า ชุมชนร่วมกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบังคับ กฎหมายในระดับท้องถิ่นได้


 


แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ข้อบัญญัติท้องถิ่นจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เช่น ชาวบ้านจะมีการจัดการป่าในรูปแบบป่าชุมชน ทั้งชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลต่างเห็นชอบที่ให้มีการจัดการป่าชุมชน แต่ปรากฏว่าพื้นที่ป่าชุมชนได้ถูกกรมป่าไม้ต่อมาเป็นกรมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ได้ประกาศพื้นที่ป่าในบริเวณนั้นเป็นป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีกฎหมายที่ใช้อยู่แล้ว


 


"คำถามมีอยู่ว่า การออกข้อบัญญัติตำบลในการจัดการป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และนี่เองเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่เป็นข้อจำกัด อุปสรรคทางกฎหมายท้องถิ่น ที่ทำให้การใช้สิทธิของชุมชนและการสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่อนข้างลำบาก"


 


แล้วจะทำอย่างไรถึงจะให้ อบต.หรือเทศบาล เปลี่ยนบทบาท ปรับทัศนคติกันใหม่ โดยหยุดการคิดเพียงแค่เข้ามาทำงานเพื่อตัวเองและพวกพ้อง แต่หันมาคิดและลงมือทำเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้าน ชุมชนได้จัดการดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง?


เชื่อว่าการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นจะเป็นแนวทางในการบริหารจัดการท้องถิ่นที่สามารถตอบสนองแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกทางหนึ่ง และประเด็นนี้เองจึงเป็นสิ่งที่น่าท้าทายต่อแนวทางการทำงานในระดับท้องถิ่นในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทางตรงหรือแนวทางที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งอาจต้องใช่เวลาพอสมควรในการผลักดัน


 


แต่ก็ต้องพยายามร่วมมือกันในหลายๆ ฝ่าย เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นรูปแบบในการกระจายอำนาจและเป็นหน่วยการปกครองที่มีพลัง มีงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่ในแง่ของกฎหมาย รวมถึงการให้การบริการต่างๆแก่ชุมชนและที่สำคัญอยู่ใกล้ชิดกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน ซึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายๆแห่งด้วยกันได้พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ในการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจำนวนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังกล่าวอาจจะมีไม่มากนัก แต่นั่นก็ทำให้เห็นว่าพัฒนาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เริ่มขยับตัวและพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมไปมากขึ้นกว่าเดิม


 


เมื่อเราย้อนมองกลับไปถึงพัฒนาการการเติบโตของการปกครองในส่วนท้องถิ่นเมือประมาณ 14-15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยเป็นสภาตำบล หรือสุขาภิบาล จนมาเป็นรูปแบบขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล โดยช่วงแรกสมาชิกสภามาจากเลือกตั้งและผู้บริหารมาจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จนมาถึงในช่วงที่เรียกว่า "ห้ามสวมหมวกสองใบ" คือถ้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะลงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องลาออกก่อน แล้วหลังจากนั้นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งก็จะมาคัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วยกันเพื่อไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารที่เรียกว่า ประธานกรรมการบริหารท้องถิ่น หลังจากนั้นเมื่อ 4-5ปีที่ผ่านมา จึงนำมาสู่รูปแบบการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นทางตรงหรือที่เรียกกันว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล/ส่วนจังหวัด หรือนายกเทศมนตรี


 


แน่นอนครับ ว่าพัฒนาการในการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นในช่วงที่ผ่านมาอาจจะประสบกับปัญหาต่างๆมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งของระบบราชการส่วนภูมิภาค ที่สร้างกำแพง สร้างกรอบกฎหมายเพื่อให้การเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจจากระบบราชการ มาให้ชาวบ้านในระดับท้องถิ่นยากขึ้น หรือแม้แต่การผลิตซ้ำระบบอุปถัมภ์จากนักการเมืองระดับชาติที่มุ่งหวังกอบโกยทรัพยากรต่างๆในระดับท้องถิ่น จนนำไปสู่การสร้างวาทะกรรมต่างๆ ขึ้นในระดับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบต. หมายถึง อมทุกบาท ทุกสตางค์ หรือ ภาษาถิ่นภาคเหนือบอกว่า...เอาบ่าแต้ หมายถึง เอาไม่จริง


 


ถ้ายังเป็นแบบนี้ เราจะผลักดันได้อย่างไร?


ผมมองว่ากระบวนการผลักดัน 3 ประการกว้างๆ เพื่อที่จะยกระดับ ศักยภาพ องค์ความรู้ เพื่อที่จะนำไปสู่การ ปรับเปลี่ยนบทบาท ทัศนคติใหม่ๆ ในการบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ประการที่หนึ่ง กระบวนการเข้าช่วงชิงพื้นที่การเมืองในระดับท้องถิ่น


 


และนั่นเอง คงต้องมองดูถึงกระบวนการก่อนการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะการสร้างและผลักดันผู้นำ/แกนนำที่มีความคิดก้าวหน้าขึ้นมาเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางเมืองในระดับท้องถิ่นผ่านกลไกการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ว่าได้มีพลังแค่ไหนและได้หนุนเสริมกันมากน้อยอย่างไร


 


ซึ่งแน่นอนว่าการเลือกใช้พื้นที่เคลื่อนไหวแบบนี้ ในบางพื้นที่หรือบางตำบลมีอาจมีความขัดแย้งกับกลุ่มนักการเมืองแบบเก่า(Traditional Political Elite) ที่มีแนวทางในการสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเองสูง แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองในระดับท้องถิ่น และเมื่อมองย้อนมองในช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มาจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบต่างๆ หรือมาจากกลุ่มคนที่มีความคิดก้าวหน้า ได้เข้าสู่พื้นที่การเมืองแบบนี้มากขึ้นและได้ผลักดัน สร้างกลไกการมีส่วนร่วมได้มากขึ้นในระดับท้องถิ่น 


 


ประการที่สอง การยกระดับศักยภาพองค์กรชาวบ้าน สถาปนากลไกการเมืองภาคประชาชนในระดับท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ผลักดัน ติดตามตรวจสอบ หนุนเสริมการทำงานรวมกัน สร้างพื้นที่ในการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรวมถึงเข้าใจข้อจำกัดและผลักดันร่วมกัน อย่างจริงจัง เนื่องจากบทเรียนในหลายๆพื้นที่ ที่ได้ผลักดันผู้นำของตนเองเข้าไปสู่กลไกการเมืองท้องถิ่น ด้วยความคาดหวังและฝากความหวังในการแก้ไขปัญหาไว้ที่ผู้นำของตนเองว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ 


 


แต่ก็อย่างว่า เพราะจากบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น ระบบอำนาจราชการส่วนภูมิภาคที่ทรงพลัง นักการเมืองระดับชาติต่างๆ เหล่านี้ ทำให้การเคลื่อนตัวทำได้ลำบาก ในขณะเดียวกันก็ถูกกดดันจากชุมชน องค์กรชาวบ้าน ในหลายๆพื้นที่ผู้นำที่เจอสถานการณ์แบบนี้ จึงเกิดความล้าถอย ท้อแท้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานติดตามร่วมกันอย่างใกล้ชิด ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน


 


ประการที่สาม การสร้างพื้นที่รูปธรรมการเรียนรู้ ภายใต้ทิศทางในการบริหารจัดการท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและถอดสรุปบทเรียน ประสบการณ์แกนนำ ผู้นำ ที่ได้เข้าสู่กลไกการเมืองในระดับท้องถิ่น เพื่อยกระดับเป็นหลักสูตรเพื่อใช้พัฒนาศักยภาพผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นต่อไปเพื่อให้เท่าทันและเตรียมความพร้อมในการทำงาน


 


ซึ่งในประเด็นนี้ อาจต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกันที่เรียกว่า พหุภาคีเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยการประสานความร่วมมือในหลายภาคส่วนทั้งในระดับนโยบาย ระดับเครือข่ายรวมถึงระดับชุมชน/ท้องถิ่น เข้าด้วยกัน


 


 


 







 


ในขณะที่ "นายเจษฎา กิจโชติภิวาทย์" นักวิชาการ "กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ"(ปรส.) ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็น "ประชานิยม" ว่ามันส่งผลต่อชาวบ้านอย่างไร พร้อมกับวิเคราะห์ต่อไปว่า ในอนาคต รัฐไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้นำไปสู่ความเป็น "รัฐสวัสดิการ" เพื่อเป็นระบบทางสังคมที่รัฐให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม อย่างแท้จริง!


 


 


 



เจษฎา กิจโชติภิวาทย์


กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.)


 


 


นายเจษฎา กล่าวว่า ถึงปัจจุบันนี้แล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะคนจน สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายประชานิยม และพรรคการเมืองแทบทุกพรรคนำเสนอนโยบายประชานิยมในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ตลอดทั้งรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร คมช. ก็นำนโยบายประชานิยมมาปรับใช้ แม้จะเรียกชื่ออื่นก็ตาม


 


ในอีกด้านหนึ่ง ก็ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า คนจนจำนวนมากในสังคมไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐไทยในด้านชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานมาก่อนเลย จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดเมื่อมีนโยบายประชานิยมคนจนจึงไม่ต่อต้าน เหมือนคนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ได้ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานเหมือนเช่นคนจน


 


นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมเฉพาะประเด็น เฉพาะส่วน จำนวนไม่น้อย มักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมด้วยความห่วงใยว่า เป็นนโยบายซื้อเสียงคนจน ก่อให้เกิดความเคยชินของคนจนแบบแบมือขอ ถูกอุปถัมภ์ค้ำจุนโดยนักการเมือง หรือทำให้การเงินของประเทศไร้ระเบียบแบบแผนการเงินการคลัง  


 


แต่แท้ที่จริงแล้ว การที่คนจนชื่นชมนโยบายประชานิยมนั้น พวกเขากลับมองว่าเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้พื้นฐานในฐานะมนุษย์ในสังคม ที่คนไม่มีเงินเก็บมากมายอย่างพวกเขาเมื่อเจ็บไข้ไม่สบาย มีโอกาสไปโรงพยาบาล ไปหาหมอได้ แม้ว่าเขาจะมีสตางค์เพียงแค่ 30 บาทก็ตาม


 


และแน่นอนว่า พวกเขาพร้อมจะหยิบยืมเงินกองทุนเงินล้านทั้งๆ ที่รู้ว่า นำไปลงทุนเพียงน้อยนิด พวกเขาต้องพบกับภาวะขาดทุนอยู่ร่ำไป หรือนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตด้านอื่นๆก็ตาม แต่ถ้าพวกเขากู้เงินนอกระบบ ดอกเบี้ยย่อมสูงกว่าหลายเท่านัก 


 


ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมของผู้ปรารถนาดีอย่างไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงนั้น ย่อมทำให้คนจนไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา


 


อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยม นั้น หาได้เป็นทางออกในการสร้างความเสมอภาค เท่าเทียมให้กับผู้คนในสังคมได้ไม่ เพราะนโยบายนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเนื้อที่ชนชั้นปกครองไทย ที่หยิบยื่นให้กับคนจนเท่านั้นเอง   


 


แต่สิ่งที่คนจนต้องการในการมีสิทธิพื้นฐานในฐานะมนุษย์ที่อยู่ร่วมในสังคมนั้นคือ การมี "รัฐสวัสดิการ"


 


นายเจษฎา ยังได้อธิบายความหมายและคุณค่าของ "รัฐสวัสดิการ หรือ Welfare state เอาไว้ด้วยว่า เป็นระบบทางสังคมที่รัฐให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ทั้งในด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น หลักประกันด้านสุขภาพ ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการป้องกันและรักษาโรคฟรี หลักประกันด้านการศึกษา ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถโดยได้รับทุนการศึกษาฟรีจนทำงานได้ตามความสามารถในการเรียน หลักประกันด้านการว่างงาน รัฐต้องช่วยให้ทุกคนได้งานทำ ใครยังหางานไม่ได้รัฐต้องให้เงินเดือนขั้นต่ำไปพลางก่อน หลักประกันด้านชราภาพ รัฐให้หลักประกันด้านบำนาญสำหรับผู้สูงอายุทุกคน หลักประกันด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน เป็นต้น


 


"ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการ เขาจะใช้ระบบการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า คือเก็บภาษีจากคนรวยใน % ต่อรายได้สูงกว่าคนจนมาก เก็บจากชนชั้นกลางในระดับพอประมาณ และเก็บจากคนจนน้อยหรือไม่เก็บเลยถ้าจนมาก นอกจากนั้น อาจมีการเก็บเบี้ยประกันสังคมจากคนที่มีงานทำตามอัตราเงินเดือน เงินที่เก็บได้ทั้งหมดรัฐก็จะนำมาใช้จ่ายสำหรับบริการทางสังคมทั้งหมดในระบบรัฐสวัสดิการ ระบบนี้จึงเป็นการ "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข" คนที่มีรายได้ดีต้องช่วยจ่ายค่าบริการทางสังคมส่วนหนึ่งแก่คนที่ยากจนกว่า"


 


นักวิชาการ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐสวัสดิการ จะเน้นไปที่ภาษีทางตรง คือเก็บจากรายได้ มากกว่าภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอย่างหลังจะถูกบวกในราคาสินค้า รวมถึงสินค้าจำเป็นอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะคนรวยคนจนก็บริโภคสิ่งจำเป็นพอๆกัน ทำให้คนจนเสียภาษีทางอ้อมใน % ที่มากกว่าคนรวย


 


"อย่างไรก็ตาม การก่อเกิด รัฐสวัสดิการในหลายๆ ประเทศนั้น หาได้เกิดจากการที่ชนชั้นปกครองหยิบยื่นให้แต่อย่างใด แต่เกิดจากการต่อสู้ของชนชั้นคนจน เช่น พรรคการเมืองไทยทุกพรรคและระ

บอบอำมาตยาธิปไตยไทย ล้วนไม่มีนโยบายรัฐสวัสดิการ เพราะจะทำให้พวกเขาเหล่านั้น ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น


 


 


เมื่อฟังเสียงของชาวบ้าน คนท้องถิ่นและนักวิชาการกลุ่มนี้แล้ว ทำให้นึกไปถึงบทความ "กองทุนหมู่บ้าน = การกระจายเบี้ยให้ไพร่?" ของ "วิทยากร บุญเรือง" ที่บอกว่า ถึงแม้นโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้ด้วยการอัดฉีดเงินสู่รากหญ้าผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้าน SML และอื่นๆ จะถือได้ว่าเป็นความตั้งใจที่ดีในการสร้างโอกาสให้กลุ่มคนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้


 


แต่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้จะเกิดผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรจะต้องสร้างโอกาสด้านการศึกษา ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และพัฒนาคนให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน (ปฏิรูปการศึกษา)


 


รวมทั้ง การให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสในด้านเงินทุน (Financial Capital) และนโยบายประชานิยมที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยจนนั้นนั้น จะต้องใช้เครื่องมือในการช่วยลดความแตกต่างของรายได้ที่ชัดเจน เช่น ภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดก เป็นต้น


 


วิทยากร ยังบอกอีกว่า "นโยบายประชานิยมนี้เพิ่งเริ่มต้น คือเป็นเพียงการลดความไม่พอใจของคนยากจน และปฏิเสธไม่ได้ถึงเรื่องการผูกติดนโยบายที่กินได้นี้กับฐานเสียงทางการเมือง เช่นเดียวกับประชานิยมที่เกิดขึ้นในอดีต


 


ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมได้ทำให้ทักษิณได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างสูง เหมือนเขาเป็นวีระบุรุษทุนนิยมที่นำเงินมาให้ไพร่ใช้จับจ่าย แต่ไม่ใช่การให้เปล่า เป็นการหยิบยืมเพื่อให้ไปเกิดการบริโภคการลงทุน แนวคิดแบบนี้มันไปไม่ได้กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม


 


เพราะในด้านหนึ่งความคิดของศักดินา ชนชั้นสูง อาจมองว่านโยบายนี้เป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นของตน ที่เป็นผู้ให้ที่แสนดี และไพร่ควรได้รับความเมตตาจากตนมากกว่านายทุน"


 


สอดคล้องกับที่ เกษียร เตชะพีระ ที่พูดถึง "รัฐสวัสดิการ สังคมประชาธิปไตย และนิเวศประชาธรรม" ว่า ถ้าคุณอยากสร้างเครือข่ายแล้วชิงคนจากทักษิณ คุณจะต้องมีนโยบายที่ดีกว่าประชานิยม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะสนใจนโยบายรัฐสวัสดิการ เพื่อวางหลักประกันพื้นฐานให้คนไทยที่เกิดในเมืองไทยมีชีวิตที่ไม่ต่ำไปกว่านี้ ให้คนที่จนที่สุด แย่ที่สุด มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องอดแล้วยกมือไหว้ขอข้าวคนอื่นกิน ถ้าคนไทยมีศักดิ์ศรีนี้เป็นพื้นฐาน มีหลักประกันสวัสดิการเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะตกงาน กำพร้า หรือล้มเหลวมาจากตลาดเสรี ฟองสบู่แตก ชีวิตคุณจะไม่แย่ไปกว่านี้ อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นไปพึ่งแต่ห่วงชูชีพของทักษิณ หรือคนอื่นๆ


ดังนั้น เรื่อง "รัฐสวัสดิการ" ที่นักวิชาการหลายๆ ท่านนำมาเสนอกันอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ จะเป็นทางออกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมไทยหรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป


 


 


 


 


 


 


ข่าวประกอบ


รายงาน : "ประชานิยม การกระจายอำนาจ และความคาดหวังของคนท้องถิ่น" (1)


รายงาน : กองทุนหมู่บ้าน = การกระจายเบี้ยให้ไพร่?


เกษียร เตชะพีระ : รัฐสวัสดิการ สังคมประชาธิปไตย และนิเวศประชาธรรม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net