Skip to main content
sharethis




กลุ่มละครมะขามป้อมหรือมูลนิธิสื่อชาวบ้านจัดงานเปิดตัวหนังสือ Art of Peace เขียนโดย ดร.ริชาร์ด  บาร์เบอร์  ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน  เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา


 


ภายในงานได้ฉายวีดีทัศน์ "บทบันทึกจากพื้นที่รวมประสบการณ์ก่อนมาเป็นหนังสือ" ซึ่งเป็นภาพกิจกรรมเพื่อสร้างสันติวัฒนธรรมสำหรับเยาวชน ที่ได้ทำมาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และในพื้นที่พักพิงชั่วคราวชายแดนไทยพม่า และรวบรวมจากประสบการณ์ของมะขามป้อมจนมาเป็นหนังสือคู่มือการจัดกิจกรรม มีภาคภาษาไทยและอังกฤษ


 


จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ "บทบาทของศิลปะกับการสร้างสันติ" ดำเนินรายการโดย นิรมล เมธีสุวกุล โดย รศ.ดร.ฉันทนา  บรรพศิริโชติ  หวันแก้ว อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นปัญหาเก่าแก่ที่ยังแก้ไม่ได้ สิ่งที่น่าสังเกตว่ามีช่วงขึ้นๆ ลงๆ ของการใช้ความรุนแรง ก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปี เหมือนจะสงบได้ แต่ก็กลับมาอีก โดยปัจจุบัน มีการเรียกร้องให้จัดการกับปัญหานี้มากขึ้น


 


วิธีการในการเจรจาต่อรองคือยอมรับปัญหาการกระทบกระทั่ง แก้ไขความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ซึ่งเหล่านี้อาจจะมาจากปัญหาการเมือง การใช้อำนาจ ปัญหามีความสลับซับซ้อนมากของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


สิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ แก้ไขความคับข้องใจ ความคับแค้นใจของประชาชนเป็นหลัก และเลิกใช้ความรุนแรง ต่อปัญหาความแตกต่างของภาษา วัฒนธรรม คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะคนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ แต่ทางใต้เขาคิดว่าคนไทยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน ดังนั้นสังคมไทยควรจะมีช่องว่างที่จะดูแลแก้ไขคนที่มีความต่างให้อยู่ในสังคมได้ ชุมชนและทุกคนต้องเข้าใจ ปรับทัศนคติว่าคนที่มีความแตกต่างสามารถจะอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องแสวงหาความรุนแรง


 


รศ.ดร.ฉันทนา  กล่าวต่อว่า  ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีคนหรือกิจกรรมเข้ามาร่วมมือและสร้างพื้นที่ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนกล้าเข้ามามันต้องค่อยเป็นค่อยไปในการเยียวยา เรื่องของการใช้ความรุนแรงนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐเหมือนกัน ต้องเยียวยาและไม่เลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใส จริงใจ ชัดเจนที่จะให้ประชาชนเชื่อ มีความหวังว่าจะมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติในการคุ้มครอง และถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่ได้รับความรู้มากขึ้น ไม่พยายามให้เกิดความหวาดระแวง ก็จะเป็นตัวที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้


 


ถ้าสังคมยังยืนยันใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหารับรองจะเหมือนศรีลังกา แต่ไทยยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ถ้ายังใช้ความรุนแรงอยู่และไม่สามารถสร้างกระบวนการความยุติธรรมได้จะทำให้ความรุนแรงขยายตัวมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่กำกับรัฐบาลหรือหยุดยั้งการใช้ความรุนแรง จะบานปลาย รัฐบาลมักจะอ้างว่าใช้สันติวิธีเกือบทุกรัฐบาล ต้องไปดูว่าสันติวิธีที่ว่าคืออะไร และต้องมีการประเมินอย่างจริงจังมากขึ้น


 


รศ.ดร.ฉันทนา  กล่าวถึงว่า ต้องนำงานศิลปะมาใช้ในสังคมไทยมากขึ้น เพราะกระบวนการศิลปะเป็นทักษะในการชีวิตว่าเราจะอยู่ในโลกได้ไหม กลายเป็นเรื่องสำคัญทางจิตใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นศิลปะต้องทำคู่กับสันติภาพ


 


ด้านพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนอาจจะเพราะความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา จนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม คนสมัยก่อนอยู่กันอย่างสันติอยู่กันได้ด้วยการยอมรับความแตกต่าง แต่ตอนนี้เริ่มมีปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ถูกเน้นมากเกินไปจนมองกันและกันเป็นคนละพวก เป็นปฏิปักษ์ ตอนที่เริ่มเกิดขึ้นยังไม่หนัก แต่มีความระแวงกันอยู่ ตรงนี้แก้ไขกันได้ คือคนในชุมชนต้องร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกันอาจจะเป็นเรื่องศาสนาหรือสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันระหว่างพุทธและมุสลิม การร่วมมือกันแบบนี้จะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น


 


สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น มันจะนำไปสู่ความรุนแรงซึ่งอาจจะนำไปสู่สงคราม ถ้าเราเกี่ยวข้องอย่างถูกต้องเราอาจจะมีพื้นที่หายใจมีพื้นที่ของตังเองได้  ซึ่งสังคมไทยยังเปิดพื้นที่ตรงนี้ไม่เพียงพอ ประเทศไทยต้องเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างให้มากขึ้น ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องปรับทัศนคติยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติและมอบสิทธิการศึกษา สวัสดิการด้านสาธารณสุขให้เท่าเทียมกัน


 


พระไพศาล กล่าวถึงเรื่องศิลปะที่นำผู้คนที่มีความแตกต่างกันให้มาเข้าใจกันว่า เราจะทำอะไรก็ได้เพื่อเชื่อมคนที่แตกต่างกันไม่ว่า คนไทย มลายู มุสลิม มาอยู่ใกล้กันในลักษณะทำอะไรร่วมกัน โดยพูดถึงความทุกข์ความในใจร่วมกัน ศิลปะจะดึงคนให้เข้ามาเข้าใจกันได้ ทำให้คนมองเลยพ้นจากความเป็นเชื้อชาติให้เห็นถึงความเป็นแก่นแท้ของมนุษย์ ซึ่งศิลปะไม่ใช่แค่เฝ้าดูแต่เป็นการใช้ชีวิตร่วมกัน ทำอะไรก็ตามให้ทุกคนเชื่อมเข้าหากัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดสันติทางศาสนา วัฒนธรรม เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันได้


 


ส่วน ดร.ริชาร์ด  บาร์เบอร์  ผู้เขียนหนังสือ Art of Peace และผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน กล่าวว่า บทบาทการทำงานของมะขามป้อมทำในสิ่งที่เล็กๆ ธรรมชาติของนักละครงานละครที่แสดงจะสะท้อนเรื่องความขัดแย้งสะท้อนในเรื่องบทบาทการนำเสนอทางเลือกของชุมชนและเสนอความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม นักละครทำงานเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอยู่แล้ว ยกตัวอย่างที่เห็นจากลิเกของเรา ล้วนแล้วมีเนื้อหาจากความขัดแย้งหรือปัญหาทางสังคมอยู่ ในละครที่นักละครเล่น เราเล่นมากกว่าเนื้อเรื่องอีกเหมือนกับเราอินกับเนื้อเรื่องและต่อเติมบทแสดงความรู้สึกมากขึ้น


 


ดร.ริชาร์ด  กล่าวว่า หลักการของมะขามป้อมจะใช้หลักการทุกอย่างผ่านการเล่นละครเป็นหลักโดยใช้การเล่นค้นหาความขัดแย้ง ใช้ในการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหา ใช้การเล่นเป็นเครื่องมือในการพูดคุยนำไปสู่ความเข้าใจกัน สิ่งที่เราเห็นที่นำละครให้เด็กเล่นมันจะมีสัญชาติญาณ ความสนุก ตัวตน สิ่งที่เรากังวลอยู่ปลดปล่อยออกมา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นหลุดออกมาจากพื้นที่ที่เราคิดว่าปลอดภัย


 


ส่วนที่เราได้รับเชิญ หรือได้รับการเรียกร้องจากหน่วยงานที่ให้เราไปจัดกิจกรรม ส่วนมากเราไปทำงานเชิงปฏิบัติให้เกิดการพูดคุยและความเข้าใจกัน ในกระบวนการของมะขามป้อม ณ ตอนนี้เราไม่ได้หวังจะแก้ปัญหา แต่เราเน้นที่ตัวบุคคลตัวชาวบ้านเราเน้นการสนุกสนาน และคนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะแสดงความรู้สึกตัวตนที่แท้จริงออกมาซึ่งจะนำไปสู่การพูดจาประสานความเข้าใจและนำไปสู่ภาวการณ์ไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net