Skip to main content
sharethis

 



โดย ชมรมแพทย์ชนบท

-------------------------------------------------------


ชื่อบทความเดิม : จากซีแอล สู่ การถอดถอนรัฐมนตรีไชยา


                         (บทความอย่างยาว สำหรับการทำความเข้าใจเรื่องซีแอล)


 


 


 


 


 


นับตั้งแต่ นายไชยา สะสมทรัพย์ รับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  สิ่งแรกที่รัฐมนตรีประกาศคือ ความเห็นที่ส่งเสริมการทำลายสุขภาพประชาชนหลายเรื่อง อาทิ การยกเลิกซีแอลยามะเร็ง  การบอกให้เครือข่ายผู้ป่วยเอดส์ไปกินดอกไม้จันทน์แทนยาต้านเอดส์  การสนับสนุนการโฆษณาเหล้า การจะแก้กฎกระทรวงให้สูบบุหรี่ในผับในบาร์ได้  รวมทั้งการโยกยย้ายข้าราชการระดับสูงอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งล้วนแสดงถึงความไม่มีวิสัยทัศน์ที่ควรค่าแก่การนำกระทรวงสาธารณสุขแม้แต่น้อย  และเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวทางสังคมอีกระลอกใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข  จากการยกเลิกซีแอลนำไปสู่การถอดถอนรัฐมนตรีในขณะนี้


 


ซีแอลคืออะไร


สิทธิบัตร  เป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งที่รัฐออกให้แก่ผู้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้  โดยกฎหมายไทยซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกให้สิทธิผูกขาดเป็นเวลา 20 ปี นับจากวันยื่นจดสิทธิบัตร  แต่เนื่องจากสิทธิการผูกขาดอาจทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร ยา ของประชาชน  หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ  โดยเฉพาะยามฉุกเฉินหรือสงคราม  กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ และกฎหมายสิทธิบัตรไทย   จึงกำหนดให้มีมาตรการยืดหยุ่นที่จะให้ผู้อื่นหรือรัฐ ใช้สิทธิแทนผู้ทรงสิทธิได้ เป็นมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร เรียกว่า CL เป็นคำย่อในภาษาอังกฤษว่า Compulsory Licensing  ในเมืองไทยเรารู้จักแค่มาตรการบังคับใช้สิทธิที่ใช้กับยา แต่จริงๆ แล้วมาตรการบังคับใช้สิทธิสามารถไปใช้กับอะไรก็ได้


 


ในต่างประเทศก็ใช้มาตรการนี้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อจัดการกับปัญหายาราคงแพงและคนเข้าไม่ถึง อย่างในแคนาดา ตั้งแต่ปี 1969-1993 มีการประกาศบังคับใช้สิทธิกับยา 619 ชนิด ทำให้อุตสาหกรรมยาพัฒนาไปได้ ทุกวันนี้ยาในแคนาดาจึงขายถูกกว่าอเมริกามาก


 


ทำไมไทยต้องประกาศ ซีแอล


ส่วนเหตุผลสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขต้องประกาศใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ CL ก็เนื่องจากตั้งแต่ พ.. 2544 รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีการออก พ...หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี พ.. 2545 รวมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงยาที่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยในระยะแรกได้ยกเว้นยากลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ไว้ก่อนเพราะยามีราคาแพงมากและผู้ป่วยต้องใช้ยาตลอดชีวิต ทำให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอ


 


ต่อมาก็ได้มีการประกาศนโยบายการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์อย่างถ้วนหน้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ซึ่งรัฐบาลได้พยายามจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขให้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี พ.. 2550 งบประมาณด้านสาธารณสุขรวมกันถึงประมาณ 170,000 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 11 ของงบประมาณทั้งประเทศ และมีงบประมาณเพื่อการรักษาผู้ป่วยเอดส์ถึงกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2547 ถึงกว่า 5 เท่า แต่ถึงแม้ว่ามีงบประมาณเพิ่มขึ้นมากแล้วก็ตาม รัฐก็ยังไม่สามารถจัดบริการให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ทุกรายการ เนื่องจากยาหลายรายการมีราคาสูงมาก เพราะเป็นยาที่มีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว ไม่มีการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะยาที่มีสิทธิบัตรทั้งหลาย


 


ในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กว่า 500,000 คน ในประเทศนั้น กว่า 70% ของผู้ป่วย 120,000 คนที่ต้องใช้ยาสูตรพื้นฐานไม่มีโอกาสเข้าถึงยา Efavirenz ได้ และในจำนวนผู้ป่วยกว่า 10,000 คนที่ต้องการใช้ยาสูตรขั้นที่ 2 เช่น Lopinavir/Ritonavir นั้น มีไม่ถึง 15% ที่มีโอกาสใช้ยาดังกล่าว และในส่วนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันจำนวนประมาณ 300,000 คน นั้นมีไม่ถึง 10% ที่มีโอกาสเข้าถึงยา Clopidogrel


 


ดังนั้น ยา 3 ตัวที่ประกาศซีแอลสมัยรัฐมนตรีนายแพทย์มงคล ณ สงขลา  ได้แก่


1.       ยาต้านไวรัสเอชไอวี "เอฟาวิเรนซ์"  (Efavirenz)  หรือชื่อการค้าว่า "สต๊อคคริน" ของบริษัท เมิร์ค ชาร์ป แอนด์ โดห์ม จำกัด (Merck Sharp & Dohme)


2.       ยาต้านไวรัสเอชไอวี "โลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์" (Lopinavir + Ritonavir) หรือชื่อการค้าว่า        "คาเลตร้า"   ของบริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (Abbott Laboratories Limited)


3.       ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจ "โคลพิโดเกรล"  (Clopidogrel)  หรือชื่อการค้าว่า "พลาวิกซ์"  ของบริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด


การดำเนินการใช้สิทธิโดยรัฐของกระทรวงสาธารณสุขต่อยาที่มีสิทธิบัตร จึงเป็นการดำเนินการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ที่จะต้องจัดหายาจำเป็นตามบัญชียาหลักแห่งชาติให้แก่คนไทยทุกคนที่ใช้สิทธิตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกทั้งเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและถูกหลักมนุษยธรรม


 


เอฟฟาไวเรนซ์ ยาตัวแรกของการทำ ซีแอล


โรคเอดส์ได้เปลี่ยนจากโรคที่เป็นแล้วสิ้นหวังรอความตาย  มาเป็นโรคที่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แม้จะไม่หายขาดก็ตาม  โดยยาต้านไวรัสเอดส์ตัวสำคัญที่เปิดประตูสู่การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์คือ  ยาจีพีโอเวียร์ซึ่งเป็นยาสามตัวผสมกัน ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ราคาอยู่ที่ 1,200 บาทต่อเดือน  แต่ 30% ของคนที่กินจีพีโอเวียร์จะแพ้ตัวยาที่เรียกว่าเนวิราปีน  ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนเป็นกินเอฟาไวเรนซ์ ซึ่งตัวเดียวก็มีราคา 1,400 บาทต่อเดือนไปแล้ว  ยังต้องกินกับยาอีกสองตัว รวมๆ แล้ว2,000 กว่าบาทต่อเดือน  ซึ่งเป็นภาระทางงบประมาณมาก งบประมาณมีจำกัดก็ได้แค่ 8,000-10,000 คนทั้งที่จริงๆ คนที่ต้องการยาตัวนี้มี 6-7 หมื่นคน เรื่องซีแอลจึงถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงนั้น  เพราะถ้ายาราคาถูกลง รัฐก็จะพอจ่ายได้ ขณะนั้นเรื่องแนวทางการทำซีแอลถึงถูกส่งไปที่รัฐมนตรีพินิจ จารุสมบัติ ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งก็เห็นด้วย แต่กว่าเรื่องจะถูกส่งจาก สปสช.ไปถึงกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็มีรัฐมนตรีคนเดียวกันที่ชื่อ พินิจ จารุสมบัติ กลับใช้เวลานานมาก จนหายเงียบไป


 


กระทั่งมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงนำมาสู่การทำซีแอลในยุคของนายแพทย์มงคล ณ สงขลา  โดยในเดือนพฤศจิกายน 2549 ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาเอฟฟาไวเรนซ์ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานที่ติดสิทธิบัตรของบริษัทเมอร์ค ทั้งนี้บริษัทเมอร์คจำหน่ายยาเอฟฟาไวเรนซ์ให้กับประเทศไทยในราคาสำหรับองค์กรไม่แสวงกำไรที่ 1,400 บาท (38.84 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน องค์การเภสัชกรรม (GPO) กล่าวว่าจะนำเข้ายาเอฟฟาไวเรนซ์ในชื่อสามัญจากบริษัท Ranbaxy ผู้ผลิตยาจากอินเดียในราคา 800 บาทต่อเดือน จนกว่าองค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตใช้เองสำเร็จในเดือนมิถุนายน 2550 นี้ ประเทศไทยสั่งซื้อยาเอฟฟาไวเรนซ์ 66,000 ขวดจากบริษัท Ranbaxy ที่ราคา 650 บาทต่อขวด  


 


จากการใช้สิทธิ ซีแอล  ทำให้ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 บริษัทเมอร์คเสนอราคาใหม่สำหรับยาเอฟฟาไวเรนซ์ที่ 72 เซนต์ต่อเม็ด (ราวๆ 780 บาทต่อขวด) ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่บริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญคู่แข่งเสนอ ทั้งนี้บริษัทยังได้ประกาศลดราคาขายทั่วโลกสำหรับยาเอฟฟาไวเรนซ์ เหลือ 700 บาทต่อเดือนสำหรับประเทศที่มีอัตราความชุกของเอชไอวี/เอดส์ร้อยละ 1 หรือสูงกว่านั้น   


 


อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2550: ยาชุดแรกจากประเทศอินเดียจำนวน 16,000 ขวดก็มาถึงประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การใช้สิทธิโดยรัฐจะช่วยลดราคายาเอฟาวิเรนซ์ลงได้ทันทีจากเดือนละ 1,400 บาท เหลือเพียงเดือนละไม่ถึง 700 บาท ทำให้สามารถให้ยาแก่ผู้ป่วยได้จำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสองเท่า หรือรักษาผู้ป่วยเอดส์เพิ่มขึ้นอีก 20,000 ราย


 


ความสำเร็จของไทยทำให้ประเทศบราซิลประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2550  เพื่ออนุญาตให้มีการนำเข้ายาเอฟฟาไวเรนซ์ในชื่อสามัญ หลังจากที่บริษัทเมอร์คเจ้าของสิทธิบัตรไม่ตกลงยินยอมที่ราคาส่วนลดร้อยละ 60 ตามที่รัฐบาลเรียกร้อง


 


ค้ากำไรเกินควรกับชีวิตมนุษย์


การประกาศใช้สิทธิโดยรัฐ มุ่งให้ประชาชนได้รับยาจำเป็นที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึงถ้วนหน้าด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นสำคัญ ทำให้ไม่เกิดการผูกขาดตลาดอยู่เพียงบริษัทเดียว ซึ่งจะส่งผลให้ราคายาต่ำลง และทำให้เห็นว่า แท้จริงราคายาลดลงได้มากหากรัฐบาลทำซีแอล  บริษัทไม่ได้ขาดทุน เพียงแต่กำไรลดลงเท่านั้น 


 


24 - 25 มกราคม 2550 ประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาติดสิทธิบัตรอีกสองรายการคือ ยาคาเลทราของบริษัทแอ๊บบอต ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสสูตรสำรองกลุ่มโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ที่สำคัญ และยาโคลพิโดเกรล ไบซัลเฟต (พลาวิกซ์) ซึ่งเป็นยารักษาโรคหัวใจของบริษัทซาโนฟี่ อเวนติส


 


กรณียาโลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์  หรือยาคาเลทรา ซึ่งเป็นยารักษาโรคเอดส์ตัวที่ 2 ที่มีการทำซีแอล  กรมควบคุมโรคศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเอดส์ที่กินยาสูตรแรก (สูตรจีพีโอเวียร์ หรือสูตรที่มีเอฟาวิเรนซ์) จะมีการดื้อยาเกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง ขึ้นกับความสม่ำเสมอในการกินยาและขึ้นกับตัวเชื้อไวรัสเอดส์เอง คาดว่าในระยะ 1-2 ปีจะมีผู้ป่วยที่กินยาสูตรแรกมีการดื้อยาสูงราวร้อยละ 10 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์รวมประมาณ 500,000 คน ในระยะเวลาไม่นานจะมีผู้ต้องการยาต้านไวรัสสูตรดื้อยาถึงอย่างน้อย 50,000 คน ยาสูตรดื้อยาที่สำคัญตัวหนึ่งคือ ยาโลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์


 


ปัจจุบันบริษัทแอ๊บบอต ขายยาตัวนี้ให้แก่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในราคา 2,200 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี หรือปีละประมาณ 72,000 บาท/คน หากต้องให้ยารวม 50,000 คน จะเป็นงบประมาณถึงปีละ 3,600 ล้านบาท ซึ่งไม่มีทางที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่ผู้ป่วยทุกคนได้ แม้ยาโลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์  นี้ก็เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งคนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับก็ตาม


           


เมื่อประกาศซีแอลต่อยา โลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์ ส่งผลให้มีการตอบโต้จากบริษัทแอ๊บบอตและเกิดการเจรจาต่อรองหลายครั้ง  จนในเดือนเมษายน 2550  หลังจากร่วมหารือกับนาง มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก บริษัทแอ๊บบอต กล่าวว่าจะลดราคายาลงกว่าครึ่ง ทำให้ยาดังกล่าวมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 34,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือประเทศไทยต้องยกเลิกการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยปฎิเสธข้อเสนออย่างเด็ดขาด  และมูลนิธิคลินตันได้เจรจาต่อรองกับบริษัท Matrix ผู้ผลิตยาชื่อสามัญจากอินเดีย เพื่อจัดซื้อยาคาเลทราหรืออลูเวียในปริมาณมากได้ที่ 695 เหรียญสหรัฐ   ซึ่งหมายความว่า ราคาลดลงได้ถึง 3 เท่า  มีการค้ากำไรเกินควรมากเกินไปจริงๆ


 


ไชยา รัฐมนตรีผู้เสมือนทำร้ายผู้ป่วยโรคหัวใจ


กรณียาโคลพิโดเกรล เป็นยาตัวที่ 3 ที่มีการประกาศซีแอลพร้อมกับยาโลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์ เป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ จึงเป็นยาสำคัญที่จะป้องการโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันที่นำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ ยานี้มีราคาเม็ดละกว่า 70 บาท แต่หากสามารถผลิตในประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย จะมีราคาเหลือเพียงเม็ดละ ไม่เกิน 10 บาท  ปัจจุบันผู้มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้รับยานี้ทั้ง ๆ ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะโรงพยาบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงต้องใช้ยาแอสไพรินแทน ซึ่งในบางกรณีได้ผลน้อยกว่าและอาจมีพิษข้างเคียงมากกว่า


 


ต้นกุมภาพันธ์ 2551: องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อยาชื่อสามัญโคลพิโดเกรล (พลาวิกซ์) จำนวน 2 ล้านเม็ด จากบริษัทคาดิลา เฮลท์แคร์ จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศอินเดีย  แต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์  รัฐบาลชุดใหม่เข้าปฎิบัติหน้าที่ นายไชยา สะสมทรัพย์เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลใหม่ประกาศทบทวนนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาต้านมะเร็ง   กลับลำไม่ดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ  สั่งย้ายนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งให้การสนับสนุนการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิในสมัยรัฐบาลชุดก่อน และกดดันนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม หนึ่งในคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯให้ลาออก


          


ความไม่แน่นอนของนโยบายฝ่ายทางการเมือง ส่งผลให้ในวันที่  3 มีนาคม 2551 บริษัทคาดิลาฯ ได้แจ้งต่อองค์การฯ เพื่อขอเลื่อนการจัดส่งยางวดแรกจำนวน 2 ล้านเม็ดจากมีนาคมเป็นเมษายน เนื่องจากกระบวนการผลิตและขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งหากกล่าวให้ชัดเจนก็คือ ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าเกียร์ถอยหลังหรือไม่  จึงชลอการส่งมอบยาเพื่อดูท่าทีของรัฐบาลไปก่อน


 


กรณียาโคลพิโดเกรลนี้เองที่ได้กลายมาเป็นข้อที่ 1 ของประเด็นการถอดถอนรัฐมนตรีไชยา  เพราะได้กระทำการที่เข้าข่ายให้รัฐเสียหายด้านงบประมาณแผ่นดิน  โดยเฉพาะการประกาศทบทวนการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาต้านโรคมะเร็งที่มีสิทธิบัตร 4 รายการ ทำให้บริษัทยาใช้อ้างเป็นเหตุว่าประเทศไทยใช้สิทธิโดยรัฐยังไม่สมบูรณ์ในกรณียาโคลพิโดเกรลในคนไข้โรคหัวใจ( Not Fully Implemented) และกลัวการถูกฟ้องร้องจากบริษัทยาต้นแบบ ทำให้บริษัทคาดิลาขอปรึกษานักกฎหมายและชะลอการนำเข้ายาจำนวน 2.1 ล้านเม็ดเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐขั้นต่ำประมาณ  248,378,550 บาท


 


อินเดีย  ความหวังของผู้ป่วยทั้งโลก


การที่อินเดียยังสามารถผลิตยาชื่อสามัญใหม่ๆได้จำนวนมาก เพราะกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียเพิ่งแก้ไขให้รับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์เมื่อปี 2548 ขณะที่ไทยแก้กฎหมายสิทธิบัตรก่อนที่อินเดียจะแก้ 13 ปี  คืออินเดียใช้สิทธิชะลอการใช้กฎหมายสิทธิบัตรตามข้อตกลงระหว่างประเทศเต็มเงื่อนเวลาที่ชะลอได้  กล่าวคือ ช่วง 8 ปีแรกคือก่อนที่ความตกลงทริปส์จะมีผลบังคับใช้ และอีก 5 ปี หลังจากที่ความตกลงทริปส์มีผลบังคับใช้เขาอนุญาตให้ประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ในช่วงปรับตัว ดังนั้นจึงรวมทั้งหมด 13 ปีเต็ม เรียกว่าไม่มีกฎหมายสิทธิบัตร เขาก็เรียนรู้เอายามาทดสอบ จนเรียนรู้วิธีการที่จะทำ  จนสามารถผลิตยาได้เกือบทุกตัวที่ตะวันตกผลิตได้  ในราคาต่ำมาก  เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการโฆษณา การประชาสัมพันธ์พาแพทย์ไปประชุมวิชาการ  ค่าจ้างซีอีโอบริษัทที่สูงลิ่วเหมือนในสหรัฐ เป็นต้น


 


หัวใจสำคัญของการทำซีแอลคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) และองค์การเภสัชกรรม  ซึ่งต้องมีศักยภาพในการผลิตยาชื่อสามัญด้วย  จึงทำให้การประกาศซีแอลนั้นได้ผล 


 


คำถามสำคัญประการหนึ่งคือ ยาที่ผลิตหรือนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น อินเดีย ที่มีราคาต่ำกว่ายาต้นแบบ จะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีคุณภาพเท่าเทียมกับยาต้นแบบ ซึ่งคำตอบนั้นอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้มีข้อกำหนดไว้ในสัญญาการจัดซื้อว่า กรณียาที่ผลิตหรือนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น อินเดีย นั้น ยาดังกล่าวจะต้องมีเอกสารแสดงการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐาน เช่น ตาม WHO Prequalification Scheme ประกอบกับเอกสารการศึกษาชีวสมมูล (Bioequivalence Study) ซึ่งแสดงผลการทดสอบว่ายามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาต้นตำรับที่มีสิทธิบัตร พร้อมทั้งเอกสารประกอบอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีคุณภาพมาตรฐานเท่าเทียมกับยาต้นตำรับที่มีสิทธิบัตรจริงๆ ในการนำเข้ายาดังกล่าวยังจะต้องได้รับทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย และเมื่อได้รับยามาแล้ว ฝ่ายควบคุมคุณภาพขององค์การเภสัชกรรมก็จะต้องตรวจสอบคุณภาพอีกครั้งหนึ่งก่อนส่งมอบยาให้แก่กรมควบคุมโรค หรือสถานพยาบาลต่างๆต่อไป


 


ทีมทำงานด้านซีแอลของกระทรวงสาธารณสุขนั้น มองเกมส์นี้อย่างลึกซึ้ง  อย่างที่บอกว่าตอนทำซีแอล เวลาที่องค์การเภสัชกรรมเลือกบริษัท  มีการเลือกบริษัทที่ตกลงจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับองค์การเภสัชกรรมด้วย  อย่างเทคโนโลยีทำเม็ดแข็งของอะลูเวียร์  ประเทศไทยไม่มีความรู้นี้เลย แต่บริษัทเมทริกซ์ของอินเดียจะถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับองค์การเภสัชฯ  ซึ่งเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมยาไทยในระยะยาว 


 


ซีแอลยามะเร็ง  หนทางยังยาวไกล


ในช่วงรัฐบาลรักษาการ  ในวันที่ 4 มกราคม 2551  นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุมัติการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยารักษาโรคมะเร็งอีก 4 รายการ คือ


1.       ยาโดซีแท็กเซล (ชื่อทางการค้า แทกโซเทีย ผลิตโดยบริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส) สำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม (ยาติดสิทธิบัตรขนาด 800 มก. มีราคา 25,000 บาท ขณะที่ยาชื่อสามัญที่ขนาดเท่ากันมีราคา 4,000 บาท ราคาลดลงไปถึง 6 เท่า )   


2.       ยาเลโทรโซล (ชื่อทางการค้า Femara จดสิทธิบัตรโดยบริษัทโนวาร์ติส) สำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม (ยาติดสิทธิบัตรขนาด 2.5 มก. มีราคา 230 บาทต่อเม็ด ขณะที่ยาชื่อสามัญที่ขนาดเท่ากันมีราคา 6-7 บาทต่อเม็ด ราคาลดลงกว่า 35 เท่า )


3.       ยาเออร์โลทินิบ  (ชื่อทางการค้า Tarceva จดสิทธิบัตรโดยบริษัทโรช) สำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งปอด (ยาติดสิทธิบัตรขนาด 150 มก. มีราคา 2,750 บาทต่อเม็ด ขณะที่ยาชื่อสามัญที่ขนาดเท่ากันมีราคา 735 บาทต่อเม็ด ราคาลดลง 4 เท่า )


4.       ยาอิมาตินิบ (ชื่อทางการค้า กลีเวค) สำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง และโรคมะเร็งทางเดินอาหาร (ยาติดสิทธิบัตรขนาด 100 มก. มีราคา 917 บาทต่อเม็ด ขณะที่ยาชื่อสามัญที่ขนาดเท่ากันมีราคา 50-70 บาทต่อเม็ด ราคาลดลงเกือบ 20 เท่า )


 


ผลของการประกาศซีแอล  ทำให้บริษัทโนวาร์ติส ประกาศในวันที่ 23 มกราคม 2551 ตกลงที่จะสนับสนุนยาอิมาตินิบแก่ผู้ป่วยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกรายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากรัฐบาลไม่ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาดังกล่าว ซึ่งราคายาตามปกติคือ 3,600 บาทต่อขนาดรับประทานต่อวัน หรือเท่ากับ 1.3 ล้านบาท (40,000 เหรียญสหรัฐ) เมื่อคิดเป็นรายปี   ซึ่งนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นก็ประกาศว่าจะไม่ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาอิมาตินิบ ตราบเท่าที่บริษัทโนร์วาติสยังให้การสนับสนุนยาดังกล่าวโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย


 


แต่จากการเจรจานานนับเดือน กลับไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสำหรับยาเลโทรโซลสำหรับรักษาโรคมะเร็ง ยาโดซีแท็กเซลสำหรับรักษาโรคมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม และยาเออร์โลทินิบสำหรับรักษาโรคมะเร็งปอด สืบเนื่องจากบริษัทยาตั้งเงื่อนไขไว้ยุ่งยากซับซ้อน จึงมีการลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่จะใช้มาตรการซีแอลต่อยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 3 ตัว ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น  รัฐบาลใช้เงินน้อยลงไปในการจ่ายค่ายาให้กับบริษัทเอกชน  เป็นจุดยืนที่น่าชื่นชม แต่กลับถูกเบรกจากรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่นายไชยา สะสมทรัพย์  ที่จะให้มีการทบทวนซีแอลยาต้านมะเร็ง


 


GSP  VS  CL


ข้ออ้างสำคัญของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อการยกเลิกซีแอลคือ  ซีแอล ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ถูกจับตามมอง  และนำมาสู่การตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร หรือ จีเอสพี 


 


ภาคธุรกิจและภาครัฐบางส่วนมักพูดกับประชาชนไม่ครบ  มักอ้างว่าจีเอสพีมีความสำคัญมาก แต่แม้จริง จีเอสพีคือสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งประเทศสหรัฐและยุโรปจะให้กับประเทศยากจนเท่านั้น  ดังนั้นหากประเทศพัฒนาขึ้นแล้วประเทศไทย  ก็จะถูกลดสิทธิพิเศษ จีเอสพี ลงมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว  อย่างมาเลเซียถูกตัดจีเอสพีไปตั้งหลายปีแล้ว  แต่การส่งออกเขายังไปได้ และสาเหตุสำคัญที่สุดที่จีเอสพีไทยถูกตัดเพราะปัญหาลิขสิทธิ์  สินค้าเลียนแบบเช่นซีดีเถื่อน  สินค้าแบรนด์เนมปลอม เป็นต้น 


 


มีความพยายามที่จะทำให้การทำซีแอลคือการละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งจริงๆนั้นไม่ใช่  ซีแอลไม่ใช่มาตรการเถื่อน แต่เป็นมาตรการที่ถูกกฎหมาย ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกตัดจีเอสพีในสินค้า 3 รายการ  คือ โทรทัศน์สีจอแบน เครื่องประดับจากทองคำ และเม็ดพลาสติก  แต่ภาคธุรกิจและกระทรวงพานิชย์ไม่เคยออกมาพูดความจริงให้หมดเลยว่า  หลังการถูกตัดสิทธิจีเอสพีไปเมื่อปีที่แล้ว สินค้าเครื่องประดับที่ทำจากทองคำและโทรทัศน์สีจอแบนมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ขณะที่เม็ดพลาสติกแม้จะส่งออกไปสหรัฐลดลง  แต่โดยรวมก็ยังสามารถส่งออกไปในตลาดโลกได้มากขึ้น


 


ดังนั้น จีเอสพี จึงเพียงวาทกรรมหรือข้ออ้างเพื่อมาลบล้างความดีงามของมาตรการซีแอลเท่านั้น  แท้จริงแล้ว  แม้ไม่ทำซีแอล ไทยก็ถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีอยู่แล้ว  สังคมไทยมักพูดความจริงไม่หมด  ซึ่งเท่ากับเป็นการหลอกลวงประชาชนเช่นกัน 


 


ทบทวนซีแอล เริ่มด้วยการย้ายหมอศิริวัฒน์


จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2551 ซึ่งมีมติเห็นชอบตามที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข 3 คน ได้แก่ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 8, 9 นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ อย. และ นพ.เรวัต วิศรุตเวช ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 8, 9 ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์


 


ทางชมรมแพทย์ชนบทได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อกรณีผีป่ากระทำการระรานคนดีในกระทรวงสาธารณสุข ว่ากรณีการโยกย้ายนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กำลังหลักของกระทรวงสาธารณสุขในการทำซีแอล  แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  เป็นการกระทำเพื่อให้ได้ย้ายก้างขวางคอชิ้นใหญ่ที่สกัดกั้นการยกเลิกซีแอล  และเชื่อว่า  กลุ่มคนดีต่อไปที่จะถูกเช็คบิลก็คือผู้บริหารในองค์การเภสัชกรรม  และ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) 


 


การย้ายดังกล่าวเป็นการย้ายที่ผิดปกติ  เป็นการย้ายนอกฤดูกาล  ย้ายโดยที่ไม่สามารถชี้แจงเหตุผลความผิดได้ นอกจากคำอธิบายที่ไม่มีเหตุผลว่า "ย้ายตามความเหมาะสม " อีกทั้งเป็นการย้ายที่ลดระดับจากระดับอธิบดีไปเป็นผู้ตรวจราชการ ซึ่งแม้จะเป็นระดับ 10 เหมือนกัน  แต่ทุกคนในกระทรวงสาธารณสุขทราบดีว่าเท่ากับเป็นการลงโทษ  ทั้งๆที่เป็นอธิบดีที่มีผลงานเด่นในสมัยรัฐมนตรีมงคล ณ สงขลา


 


เชือดไก่ให้ลิงดู กระสุนนัดนี้ได้นกหลายตัว


การย้ายคนดีเช่นนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการ อย. เป็นการส่งสัญญาณของรังสีอำมหิตจากรัฐมนตรีให้กับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข  เพราะการย้ายครั้งนี้เป็นการย้ายคนดี ส่งเสริมคนมีแผลมีมลทิน  กล่าวคือ การย้ายคนดี เป็นการส่งสัญญาณเชิงอำนาจให้กับคนสาธารณสุขโดยตรงว่า " ใครขวางจะถูกจัดการ  รัฐมนตรีพร้อมใช้อำนาจเช็คบิลกับคนที่ขวางผลประโยชน์ " การส่งเสริมคนมีแผลมีมลทิน เท่ากับบอกทางอ้อมว่า "ใครอยากก้าวหน้าให้มาซูฮก ให้มาเชลียร์  ไม่ต้องมีฝีมือ ไม่ต้องมีคุณธรรม ขอแค่เชื่อฟัง รับใบสั่งได้ จะสนับสนุนให้ได้ดี " และเชื่อว่าหลังจากนี้วัฒนธรรมเชลียร์กำลังจะกลับมาอีกครั้ง และการคอรัปชั่นก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ


 


กระสุนนัดนี้ได้นกหลายตัว  การลงดาบเชือดคนดีครั้งนี้  เท่ากับเป็นการหยั่งเชิงดูปฏิกิริยาของข้าราชการในกระทรวง  ดูว่าใครกระด้างกระเดื่องบ้าง  และยังเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวกระทรวงสาธารณสุขยุติบทบาทในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะต่อการที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีทักษิณกลับเมืองไทยด้วย  ใครแหลมออกมาอาจถูกเชือดเป็นรายต่อๆไป


 


วันนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังเข้าสู่กลียุคอีกครั้ง  คนไร้วิสัยทัศน์ ไร้คุณธรรมครองกระทรวง  แต่การเมืองมาแล้วไม่นานก็สาบสูญ  ทางชมรมแพทย์ชนบทจึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อหน่วยงานสาธารณสุขทุกองค์กร ไม่ต้อนรับ ไม่ยกมือไหว้ ไม่มองหน้า ไม่ร่วมทุกกิจกรรมที่มีรัฐมนตรีไร้วิสัยทัศน์และไร้คุณธรรมมาเปิด-ปิดงาน นำเวลาเหล่านั้นไปมุ่งมั่นทำงานดูแลผู้ป่วยให้เต็มกำลังความสามารถจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่ามาก    รวมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  เพื่อจะได้แสดงปฏิกิริยาไม่เอาคนเลวเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมต่อไป


 


เมื่อรัฐมนตรีสั่งย้ายแพทย์ชนบทระดับ 8


นายแพทย์พงศ์เทพ  วงศ์วัชรไพบูลย์  นายแพทย์ระดับ 8 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคลองหลวง  ปทุมธานี  ซึ่งเป็นอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทคนล่าสุด  ได้ออกมาตอบโต้การโยกย้ายนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล และการยกเลิกซีแอลอย่างเกาะติด  เรียกว่าให้เหตุผลด้วยข้อมูลทางวิชาการค้านรัฐมนตรีไชยาได้ทุกประเด็น  จนฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึงเมื่อรัฐมนตรีไชยา ได้ออกโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ชี้แจงกรณีการยกเลิกซีแอลแบบข้างๆคูๆ  ทำการบ้านมาน้อย  พูดสับสนชวนสงสัยให้งุนงง  และสื่อก็โทรศัพท์มาสัมภาษณ์คุณหมอพงศ์เทพต่อเนื่องหลังจากรัฐมนตรี  คำชี้แจงที่คุณหมอพงศ์เทพพูดไปคงทิ่มแทงใจดำรัฐมนตรีหลายประการ รุ่งขึ้นจึงหลุดปากกับนักข่าวว่าจะสั่งย้ายคุณหมอพงศ์เทพมาประจำหน้าห้องรัฐมนตรี  ทั้งๆที่รัฐมนตรีย้ายได้เพียงข้าราชการซี 11 และซี 10 จะมาล้วงลูกย้ายซี 8 ไม่ได้  


 


ในช่วงนั้นปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ปราชญ์  บุณยวงศ์วิโรจน์ เองก็ลำบากใจมาก  บินหนีความวุ่นวายให้ไกลรัฐมนตรีที่กำลังมากด้วยโมหะจริตไปดูงานที่ประเทศอังกฤษ  แต่ต้องบินกลับด่วนเพราะแว่วเสียงมาดังว่า จะย้ายปลัดกระทรวงด้วย หากไม่กลับมาย้ายหมอพงศ์เทพ 


 


คุณหมอพงศ์เทพ  ได้จดหมายฉบับหนึ่งถึงคุณไชยาผ่านทางสื่อมวลชน  มีเนื้อความบางตอนที่น่าสนใจยิ่ง  ว่าไม่ได้เขียนด้วยความเกลียดคุณไชยา แต่เขียนด้วยความรักและปรารถนาดีต่อประชาชนไทยทุกคน เพื่อตอบคำถามดังนี้ ทำไมคุณไชยาไม่เข้าใจพวกเรา


 


"ผมคิดว่าคุณไชยาไม่เข้าใจเราครับ  พวกเราทำงานกับผู้ป่วย ทำให้หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมแห่งอุดมการณ์ ,ความเมตตา,ความเข้าใจ  ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา  ผมสงสารและเห็นใจคุณไชยาครับ คุณไชยามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข  ในขณะที่มีความคิดวัฒนธรรม ความเชื่อที่หล่อเลี้ยงคุณไชยามาแต่อดีต อาจจะเป็นการใช้วัฒนธรรมของอำนาจ และเงิน คือคำตอบของการแก้ปัญหา  แต่ยิ่งคุณไชยาแก้ปัญหาด้วยอำนาจ ใครไม่เห็นด้วยกับนโยบายก็สั่งย้าย  ความขมึงเกลียวก็จะแน่นขึ้นและแก้ปัญหาไม่ได้ คุณไชยาอาจจะคิดว่ายังใช้อำนาจไม่พอ ก็จะยิ่งใช้อำนาจเข้าไปอีก โยกย้ายคนที่ออกมาแย้ง ปัญหาก็จะยิ่งบานปลายไปเรื่อยๆ จนดูเหมือนเราจะทำงานด้วยวิธีการวิธีคิดที่ไม่มีวันมาบรรจบกันได้ 


 


หมอเป็นอาชีพที่ใช้วิชาการ และงานวิจัยมาตลอดชีวิต ไม่สามารถยอมรับได้กับการตัดสินใจที่ไม่อิงเหตุผลความคิดทางวิชาการ  ถ้าคุณไชยาตัดสินใจนโยบายอะไรมาแล้ว และไม่ยอมฟังใครไม่ว่าเขาจะมีเหตุผลอะไร คุณไชยาคงบริหารได้แต่คนที่ตั้งใจจะประจบคุณไชยา อะไรคือการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยความชอบธรรม มีคำถามเสมอว่า รัฐมนตรีมีอำนาจในการโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป ทำไมต้องแย้งกันด้วย   รัฐมนตรีมีอำนาจจริงครับ แต่จะใช้อำนาจนั้นอย่างชอบธรรมหรือไม่  ในองค์กรของพวกเรา  พวกเรารู้กันดีว่าใครทำงานดีมีความรู้ความสามารถ  ผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้ป่วยและสังคม คุณไชยาเข้ามาใหม่ ย่อมมีคนเข้ามาประจบประแจงเป็นธรรมดา แต่คุณไชยายังไม่รู้ข้อมูล คุณไชยาก็แต่งตั้งโยกย้าย แล้วให้สัมภาษณ์ว่าไม่รู้จักหมอศิริวัฒน์  ไม่เคยไปอย. แต่คุณไชยาก็ย้ายหมอศิริวัฒน์  ถ้าคุณไชยาทำอย่างนี้ต่อไปข้าราชการที่ไหนจะอยากทำความดี "


 


จดหมายเปิดผนึกถึงนายก ขอเปลี่ยนรัฐมนตรี


หลังปรากฏการณ์ที่รัฐมนตรีไชยาสั่งให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขย้ายนายแพทย์พงศ์เทพ  วงศ์วัชรไพบูลย์ เข้ามาประจำที่หน้าห้องรัฐมนตรี  ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสู้กับอธรรมขึ้นโดยทั่วไป  นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทในยุคต่อสู้การทุจริตยาได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี  เพื่อขอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุข 


 


เนื้อหาสำคัญในจดหมายเขียนไว้อย่างลึกซึ้งว่า " พวกเราเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวในสังคมโดยใช้ชื่อว่า ชมรมแพทย์ชนบท ในอดีตที่ผ่านมา ได้เคยร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัฐมนตรีในรัฐบาลของท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายแพทย์สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี ผลักดันนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคให้ประสบผลสำเร็จในสังคมไทย แม้ว่าจะเผชิญแรงเสียดทานอย่างมากมาย แต่วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในคณะรัฐมนตรีของท่าน กลับเห็นพวกเราเป็นศัตรู


 


พวกเราไม่สามารถจะมายื่นจดหมายให้กับ ฯพณฯ ได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากไม่มีผู้บังคับบัญชาท่านใดกล้าอนุญาต ให้พวกเราลาพักผ่อน ลากิจ เพื่อเดินทางมายื่นจดหมายที่ทำเนียบรัฐบาลได้เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ขู่จะเอาผิดผู้บังคับบัญชาของพวกเราทุกระดับ


 


ประเด็นที่พวกเราไม่อาจยอมรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันได้ คือ การที่รัฐมนตรีคิดนโยบายที่ทำลายสุขภาพประชาชนทุกทางทั้งผู้ป่วยและคนไม่ป่วย โดยการทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคหัวใจ ไม่เข้าถึงยาหรือใช้ยาราคาแพง และยังคิดนโยบายเร่งรัดให้คนป่วยเป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคหัวใจ เป็นโรคเอดส์ ให้มากขึ้นโดยจะส่งเสริมให้คนดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ด้วยการแก้กฎหมายซึ่งทั่วโลกยอมรับ เช่น ยกเลิกการห้ามการโฆษณาเหล้า แก้กฎกระทรวงข้อ 18 เรื่องการกำหนดสถานที่สูบบุหรี่


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ดีต้องไม่มีพฤติกรรมอย่างนี้  คือมีความประมาทเลินเล่อและไม่รอบรู้ในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ใช้โมหะอำนาจสั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ายนายแพทย์  พงศ์เทพ  วงศ์วัชรไพบูลย์ มาเป็นเสมียนหน้าห้องหลังจากออกรายการ TPBS แล้วรู้สึกเสียหน้า และที่สำคัญที่สุดไม่ฟังเสียง ไม่เห็นประชาชนผู้ทุกข์ยากที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายอยู่ในสายตาและดูถูกดูแคลนให้ไปใช้ดอกไม้จันทน์รักษา


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ดีต้องทำสิ่งตรงกันข้าม พวกเราเกรงว่าถ้าปล่อยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้บริหารงานกระทรวงสาธารณสุขต่อไป จะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับนโยบายรัฐ เกิดความเสียหายกับผู้คนในสังคม และก่อให้เกิดความแตกแยกในกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นจึงขอให้ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยทันที "


 


จดหมายดังกล่าวตอกย้ำถึงเหตุผลที่ควรดำเนินการถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์  ออกจากการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน  เพราะนายกสมัครคงไม่สามารถเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีไชยาไปอยู่กระทรวงพานิชย์ได้  นายกสมัครเองยังเคยบ่นว่า ครม.ขี้เหร่  ซึ่งแสดงว่า ตนเองไม่มีอำนาจเต็มในการเลือกรัฐมนตรี  แสดงว่าย่อมมีผู้มีอำนาจเหนือพรรคเป็นคนเลือก  การย้ายไชยาจึงไม่อยู่ในอำนาจจริงของนายกสมัคร  การถอดถอนโดยภาคประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น


 


การขับเคลื่อนไม่เอาไชยาของภาคประชาชน


นับจากวันที่ 27 ธันวาคม 2550 มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย พรรคพลังประชาชนนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงข้างมาก  และจัดตั้งรัฐบาลถวายสัตย์ปฏิญาณได้เพียง 2 เดือน  รัฐมนตรีไชยาก็รีบสร้างผลงานอย่างเร่งรีบ  เริ่มภารกิจแรกด้วยการประกาศจะยกเลิกซีแอลและการหนุนนโยบายทำลายสุขภาพเช่นหนุนการโฆษณาเหล้า การหนุนการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ  เป็นต้น


 


เมื่อสถานการณ์เริ่มสุกงอม  รัฐมนตรียังมีแนวโน้มใช้อำนาจในทางที่ผิด  6 มีนาคม 2551  กลุ่มพันธมิตรผู้ป่วยและนักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขเริ่มล่ารายชื่อ 20,000 ราย เพื่อยื่นคำร้องต่อวุฒิสภาเพื่อถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 


 


แรงกดดันจากการล่ารายชื่อถอดถอนได้ผลพอสมควร  ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์คือวันที่  11 มีนาคม 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ประกาศกลับลำเดินหน้าประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ หรือซีแอล กับยาต้านมะเร็ง อีกอ้างผลการศึกษาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถานบันมะเร็ง และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข พบว่าการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยามะเร็ง จะช่วยให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณได้มากถึงสามพันล้านบาทในระยะเวลาห้าปี  


 


อย่างไรก็ตามกลุ่มพันธมิตรผู้ป่วยและนักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขประกาศว่าจะยังคงเดินหน้าล่ารายชื่อ 20,000 ราย เพื่อยื่นคำร้องต่อวุฒิสภาเพื่อถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป เพราะเชื่อว่าการยอมทำซีแอลต่อนั้น  ไม่ได้เกิดจากความจริงใจ  แต่ต้องการเอาตัวรอดจากการถูกถอดถอนเป็นสำคัญ  อีกความผิดในการโยกย้ายด้วยอำนาจอธรรมหรือความเสียหายจากการประกาศยกเลิกซีแอลก็เกิดขึ้นแล้ว  ซึ่งรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น


 


4 ข้อกล่าวหาถอดถอนไชยา


เครือข่ายภาคประชาชนซึ่งนำโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมแพทย์ชนบท และองค์กรอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง  ได้ร่วมมือรณรงค์ล่ารายชื่อ 20,000 ชื่อเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายไชยา สะสมทรัพย์  ด้วยข้อกล่าวหา 4 ประการคือ


 


1.       กระทำการ ที่เข้าข่ายให้รัฐเสียหายด้านงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะการประกาศทบทวนการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาต้านโรคมะเร็งที่มีสิทธิบัตร 4 รายการ ทำให้บริษัทยาใช้อ้างเป็นเหตุว่าประเทศไทยใช้สิทธิโดยรัฐยังไม่สมบูรณ์ในกรณียาโคลพิโดเกรลในคนไข้โรคหัวใจ(Not Fully Implemented) และกลัวการถูกฟ้องร้องจากบริษัทยาต้นแบบ ทำให้บริษัทคาดิลาขอปรึกษานักกฎหมายและชะลอการนำเข้ายาจำนวน 2.1 ล้านเม็ดเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐขั้นต่ำประมาณ  248,378,550 บาท ( โดยคำนวณจากอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ประมาณ 350 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ถ้าพิจารณาเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันประมาณ 47 ล้านคน จะมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 165,000 คน และในจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจนี้ ร้อยละ70 คือจำนวน 115,150 คน จะต้องใช้ยาต่อเนื่องวันละ 1 เม็ด ทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ดังนั้นต้องใช้ยาจำนวน 3,454,500 เม็ด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อรัฐต่ำสุดประมาณ 248,378,550 บาท (หากคิดราคายาต้นแบบเพียงประมาณ 73 บาท และยาสามัญราคา 1.10 บาท )


2.       กระทำการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยประกาศทบทวนนโยบายการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาต้านโรคมะเร็งที่มีสิทธิบัตร 4 รายการ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 โดยการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนได้รับทราบเป็นการทั่วไป นับเป็นการกระทำการทางการเมืองในการบริหารราชการแผ่นดินก่อนการดำเนินการแถลงนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเป็นการประกาศนโยบายที่ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพโดยการใช้บัตรประชาชนในการรับบริการสาธารณสุข


3.       มีคำสั่งและดำเนินการโยกย้ายข้าราชการที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใช้สิทธิโดยรัฐโดยไม่มีมูลความผิดใด ๆ ที่ชัดเจน และสั่งการด้วยวาจาในการโยกย้ายข้าราชการระดับปฏิบัติงานที่ปฏิบัติราชการโดยชอบในการปกป้องความเสียหายของรัฐในครั้งนี้


4.       นับตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการเข้ารับตำแหน่งยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ป่วยและผู้บริโภค แต่กลับดำเนินการที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูประบบสุขภาพและไม่ส่งเสริมสุขภาพในหลายพฤติการณ์ อาทิเช่น การสั่งทบทวนการใช้สิทธิโดยรัฐในยามะเร็ง 4 รายการ การให้สัมภาษณ์ให้สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อทั่วไป การให้ข่าวว่าจะทบทวนประกาศฉบับที่ 18 เรื่องกำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ เช่น ในร้านอาหารและสถานประกอบการปรับอากาศ


 


 


จากข้อกล่าวหาข้างต้นทั้ง 4 ประการ นับว่า รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง ทั้งในด้านกฎหมายและจริยธรรม สมควรที่วุฒิสภาจะดำเนินการถอดถอนจากตำแหน่ง


 


ทั้งนี้หากท่านใดประสงค์จะลงชื่อถอดถอน  สามารถสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มนี้ได้ที่ www.cl4life.net หรือ www.consumerthai.org  และส่งแบบฟอร์มนี้พร้อมรับรองสำเนาบัตรประชาชน ขีดคร่อมว่าใช้เฉพาะการถอดถอนรัฐมนตรี มาที่  ตู้ปณ 119 ปณจ. คลองหลวง 12120 


 


อำนาจในมือประชาชนไทยทุกคน


นักวิชาการได้มีการประเมินผลได้จากการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาที่ผ่านมารวม 7 รายการ จะทำให้ผู้ป่วยซึ่งมีปัญหาเข้าไม่ถึงยาได้รับยาเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ราย ในส่วนกรณียารักษาโรคมะเร็งจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ราย และในระยะเวลา 5 ปีจะประหยัดงบประมาณได้ถึง 2,088 - 3,748 ล้านบาท โดยไม่รวมมูลค่ายารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งหลังการประกาศการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ผู้ทรงสิทธิยินดีให้ผู้มีรายได้น้อยได้ใช้ยาโดยไม่คิดมูลค่า  ทั้งนี้ยังไม่รวมมูลค่าโดยอ้อมและมูลค่าจากคุณภาพชีวิตและผลิตภาพของบุคคลที่ป่วยน้อยลง ทำงานได้ ซึ่งหากนับรวมไปด้วยย่อมมีมูลค่ามหาศาล


 


แม้วันนี้รัฐมนตรีไชยา สะสมทรัพย์  จะกลับลำสนับสนุนการทำซีแอลยามะเร็ง 4 รายการแล้วก็ตาม  แต่กระบวนการถอดถอนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไทยซึ่งเป็นกลไกที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ยังเดินหน้าไม่หยุดยั้ง  สู่เป้าหมายการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  แม้จะยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีคนใหม่  แต่ก็คงมีโอกาสที่จะได้คนที่ขี้เหร่กว่าเดิมน้อยลง  นายกรัฐมนตรีสมัคร  สุนทรเวช เองก็อาจจะรอจังหวะเวลานี้อยู่เช่นกัน เพราะท่านนายกฯเองก็รู้ตัวว่า รัฐมนตรีของท่านนั้นขี้เหร่เอาการอยู่หลายคน  แต่ท่านเลือกไม่ได้


 


ความผิดพลาดจากการโยกย้ายนายแพทย์ศิริวัฒน์  ทิพย์ธราดล  เลขาธิการ อย. ไปเป็นผู้ตรวจราชการ อย่างไม่เป็นธรรม  การประกาศยกเลิกซีแอลยามะเร็งโดยไม่ศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อน  การมีท่าทีสนับสนุนภาคธุรกิจเหล้าบุหรี่มากกว่าสนับสนุนการสร้างสุขภาพ อีกทั้งยังมีการแสดงอาการลุแก่อำนาจหลายครั้งในการสั่งย้ายนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ขู่จะย้ายปลัดกระทรวง  ทำให้มิอาจไว้วางใจให้นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้อีกต่อไป 


 


ตามกรอบของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ  อำนาจในการปกครองประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย  เพียงแต่เรามอบอำนาจให้รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการแทนเท่านั้น  แต่อำนาจก็ยังอยู่ในมือประชาชนเสมอ ทั้งอำนาจในฐานะปัจเจกชนที่จะไหว้เฉพาะคนดี  และอำนาจในฐานะประชาชนไทยที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นอย่างเสรี  รวมทั้งการร่วมลงรายชื่อถอดถอนรัฐมนตรีด้วย  นี่เป็นอำนาจของประชาชนที่ไม่ได้หายไปพร้อมกับการตั้งรัฐบาล  ข้าราชการก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิและอำนาจนี้อย่างเต็มเปี่ยม


 


ประเทศชาติเป็นของเราทุกคน  ร่วมรักษาไว้ด้วยความสามัคคี  ขับไล่ผีป่าให้พ้นไปจากกระทรวงสาธารณสุข  เราต้องการคนดีปกครองบ้านเมือง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net