บทความ : ตั้ง "ศูนย์ยุติธรรมชุมชน" เปิดพื้นที่ความคิดให้ประชาชน

พุดตานป่า

 

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกองส่งเสริมระงับข้อพิพาท เริ่มดำเนินโครงการ "ส่งเสริมการจัดการความขัดแย้งของชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน" ร่วมกับศูนย์อาชญาวิทยา มธ.

 

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า คนในชุมชนเป็นผู้รู้เรื่องของชุมชน ถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด "โครงการนี้ถือเป็นพัฒนาการของการทำงานในชุมชนมาตามลำดับ ตอนนี้กรมทำงานย่างเข้าปีที่ 6 เริ่มแรกมีการศึกษาว่าการจะทำงานร่วมกับชุมชนให้ได้ประโยชน์ ควรเป็นอย่างไร ในที่สุดก็ได้คำตอบว่า เราควรมีเครือข่าย ซึ่งเรียกว่า "เครือข่ายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ" และให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" นางสุวณา กล่าวเพิ่มเติม

 

แต่เนื่องจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ เป็นหน่วยงานเล็ก การทำงานจึงต้องค่อยๆ คืบไปทีละก้าว โดยเริ่มต้นจากการตั้ง "ศูนย์ยุติธรรมชุมชน" ในพื้นที่นำร่องทั่วประเทศ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ขอนแก่น สกลนคร สุรินทร์ ลพบุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งบทบาทการจัดการความขัดแย้งอยู่ที่ชุมชนเอง ส่วนกรมคุ้มครองสิทธิฯ เข้าไปเป็นเพียงผู้หนุนเสริมเรื่องเครื่องมือ คำปรึกษาและทุนในการดำเนินงาน

 

สิ่งที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้ความสำคัญ จึงอยู่ที่ความสามารถในการจัดการความขัดแย้ง โดยให้ประชาชนรู้เรื่องกฎหมาย สิทธิ และเสรีภาพ ให้เกิดความรู้ในเรื่องความขัดแย้งอย่างเป็นระบบ และมีการผลักดันให้เกิดกระบวนการยุติธรรมทางเลือก หรือ "กระบวนการยุติธรรมชุมชน"

 

ที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมแบบเดิมหรือที่เรียกว่า "ยุติธรรมกระแสหลัก" นั้น เป็นการทำงานตามแนวนโยบายที่ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านขั้นตอนของระบบ แต่เมื่อคำนวณต้นทุนของความสูญเสียแล้วพบว่ามีมาก โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีในศาล

 

คดีลด คดีไม่รกศาล ผู้ต้องหาลด กรมคุมประพฤติไม่ต้องเข้ามาดูแลคดีมาก จึงเป็นสิ่งที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ คาดหวัง...

 

ทั้งนี้ การจัดการความขัดแย้งอยู่ในประเด็นปัญหาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตโดยรวม แบ่งเป็นด้านต่างๆ คือ กลุ่มที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติ, กลุ่มที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม, กลุ่มการประกอบอาชีพ เกษตรกรรมและหัตถกรรม, กลุ่มแรงงานและสวัสดิการสังคม, กลุ่มหนี้สินภาคประชาชน, กลุ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 

ภายหลังจากการเกิดเครือข่ายชุมชนนำร่องด้านการระงับข้อพิพาทแล้ว ชุมชนสามารถจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้

 

ความเป็นอยู่ของแต่ละชุมชนมีมิติการจัดการไม่เท่ากันเพราะพื้นฐานคนในชุมชนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการจัดการจึงต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนในส่วนนี้ด้วย ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ ถือว่าเป็นมิติของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะต้องเข้าไปเรียนรู้

 

นางสุวณา ให้ความเห็นว่า "สามจังหวัดภาคใต้เราทำงานประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า บางครั้งเป้าหมายของรัฐกับชุมชนก็ไม่ตรงกัน จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนร่วมกัน คือทำอะไรก็ตามชุมชนเองก็ต้องยอมรับได้ด้วย"

 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การสร้างเครือข่าย การจัดการให้เกิดวิทยากรเครือข่ายในชุมชนจึงเกิดประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อกรมคุ้มครองสิทธิฯ ออกจากพื้นที่ไปทำงานอื่นๆ คนในชุมชนก็จะต้องเป็นผู้รับหน้าที่ในการรักษาความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป ศักยภาพการดูแลชุมชนด้วยชุมชนเองเป็นหลักก็ยกระดับขึ้น...

 

เช่นเดียวกับจังหวัดตรัง ที่มีคุณลักษณะพิเศษของการรวมกลุ่มจากเวทีภาคประชาชนเป็นทุนเดิม การตั้ง "ศูนย์ยุติธรรมชุมชน" จึงก้าวคืบก้าวศอก ปีนี้คาดว่าจะตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน หรือศูนย์จัดการความขัดแย้งได้ 13 พื้นที่ทั่วจังหวัด มากกว่าพื้นที่อื่นซึ่งมีเพียงหนึ่งแห่ง นับเป็นความเข้มแข็งที่มีรูปธรรมเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

 

การทำงานของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ในจังหวัดตรัง ผ่านศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดตรัง (สกว.ตรัง) เป็นหลัก แล้วประสานงานเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ กรมคุมประพฤติ งานบังคับคดี สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก สถานีตำรวจภูธรในท้องที่ เรือนจำจังหวัด ซึ่งความร่วมมืออย่างรอบด้านเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในชุมชนมั่นใจและเกิดการยอมรับขึ้นตามลำดับ

 

ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดตรังมีอาสาสมัครจำนวน 214 คน ซึ่งมีความเข้าใจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและยอมความในระดับท้องถิ่นได้

 

ไม่เพียงแต่ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ การตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนอย่างพร้อมเพรียงในจังหวัดตรัง กำลังจะเป็นรูปธรรมอีกระดับในแง่ของการเป็นแหล่งเรียนรู้ของภาคใต้ ล่าสุด คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ลงพื้นที่เพื่อศึกษาชุมชนโดยหวังว่าให้เกิดความร่วมมือด้านการบริการเรื่องกฎหมายกับชุมชน และนักศึกษาเองก็จะสามารถพบกรณีตัวอย่างได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่

 

อ.มงคล มาลยารม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า "การมีกิจกรรมเสริมหลักสูตร และนำองค์ความรู้ที่เรียนมาใช้ในชุมชนได้จริง ถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งการตั้งศูนย์ยุติธรรมขึ้นเป็นภารกิจที่เป็นหลักในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน"

 

การร่วมแรงร่วมใจครั้งนี้จึงไม่ได้ส่งผลเพียงวงแคบๆ ในชุมชนเล็กๆ เท่านั้น หากแต่แนวคิดในการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้าไปเป็นผู้กำหนดทิศทางการดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง เป็นการสร้างพลังให้ชุมชนมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมว่ามีอยู่จริง

 

นอกเหนือจากการจัดการความขัดแย้งแล้ว กระบวนการยุติธรรมทางเลือกจึงเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ คือ ป้องกันปัญหาล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการละเมิดสิทธิ และให้ความรู้ในเรื่องสิทธิอย่างเท่าเทียมไม่แบ่งชั้น

 

หลายครั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็โทษสิ่งรอบข้างว่าเป็นตัวปัญหา แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้คงเป็นแนวทางให้รัฐและประชาชนอยู่ร่วมกันเป็นคู่ขนาน แบบที่ไม่มีพระเอกและตัวรอง เพราะต่างก็มีเป้าหมายที่จะไปถึงเหมือนกัน

 

สำคัญแต่ระหว่างทางคงต้องจับมือกันเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เส้นทางความเข้มแข็งขาดตอน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท