เครือข่ายทิเบตเสรีนัดรวมตัว19 เม.ย. หน้ายูเอ็น

 


เครือข่ายทิเบตเสรี ร่วมกับศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (ศยป) คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)  คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กลุ่มสังคมวิจารณ์ จุฬาฯ กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มจัดตั้งชมรมนักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมร่วมเรียกร้องความจริงใจจากรัฐบาลจีน เพื่อการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนประเด็นต่างๆ ในพิธีวิ่งคบเพลิงโอลิมปิค 19 เม.ย. ตั้งแต่ 15.00 น. ณ อาคารสหประชาชาติ (UN) กรุงเทพมหานคร

จากที่วานนี้ (17 เม.ย.) เครือข่ายทิเบตเสรีนัดประชุมกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการวางแผนการประทวงวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกจีนที่จะวิ่งผ่านประเทศไทยในวันที่ 19 เม.ย.นี้ วงประชุมที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน ( สนค.) เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 จนถึงเวลา 22.00 น.โดยไม่เปิดให้มีนักข่าวรอสังเกตการณ์อยู่ด้านนอก

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ ผู้ประสานงานเครือข่ายทิเบตเสรี เผยว่าไฮไลต์ของการร่วมกันประท้วงการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่จะผ่านกรุงเทพฯ ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ผู้ร่วมชุมนุมอย่างน้อย 100 คน จะมีการแขวนป้ายรายชื่อชาวทิเบตที่ถูกทางการจีนจับกุมและใช้กำลังปราบปรามด้วยความรุนแรง ในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุม และจะให้ผู้ชุมนุม 1 คน แขวนป้ายชื่อชาวทิเบต 1 ชื่อ เพื่อแสดงถึงการเป็นตัวแทนของชาวทิเบตที่ถูกกระทำความรุนแรงเหล่านั้น

ทั้งนี้เครือข่ายทิเบตเสรีได้ข้อมูลจากธรรมศาลา อันเป็นที่ลี้ภัยขององค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตและจากชาวทิเบตจำนวนมากว่า มีผู้ถูกคุมขังจากเหตุการณ์ดังกล่าว 2,300 คน โดยล่าสุดทางเครือข่ายทิเบตเสรีได้รายชื่อมาแล้ว 324 คน

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ต่างแสดงความเห็นว่า โอลิมปิก คือกีฬาแห่งสันติภาพของมนุษยชาติ แต่จีนเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ชนชั้นแรงงาน การปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน การใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ไปจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต และการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการในประเทศซูดาน ดังนั้นจึงอยากรวมพลังนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกันเรียกร้องความจริงใจจากรัฐบาลจีน เพื่อการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนประเด็นต่างๆ ในพิธีวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก2008 และพัฒนาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ รวมทั้งยุติการสนับสนุนประเทศที่มีรัฐบาลเป็นเผด็จการหลังจากนี้

 

ด้านนายจารุวัฒน์ เกยูรวรรณ ผู้เข้าร่วมประชุมจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ต้องยอมรับความจริงที่ว่า การชุมนุมไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงภายในประเทศอื่นๆ ได้ เว้นแต่ประชาชนในประเทศนั้นๆ จะลุกขึ้นมาเอง หรืออาจใช้กำลังทหารอย่างเช่นในกรณีของอีรัก แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

 

การชุมนุมในวันที่ 19 เม.ย.นี้ อย่างน้อยน่าจะให้ผลใน 2 เรื่อง คือ 1.ทำให้คนทิเบตที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน ไม่รู้สึกถูกโดดเดี่ยว ถือเป็นการให้กำลังใจ และเป็นการช่วยเผยแพร่ข้อมูลเพื่อโน้มน้าวให้คนจีนบางส่วนที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐบาลจีน รวมทั้งที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงของความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้เข้าใจและออกมาร่วมผลักดันเสรีภาพในทิเบต หรือร่วมคัดค้านการกดขี่อันไม่ชอบธรรมของรัฐบาลจีนได้ในระยะยาวต่อไปได้

 

2.สำหรับสังคมไทยจะเป็นการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน เพื่อให้คนไทยได้คิด ถกเถียง เปิดพื้นที่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนกันเพิ่มมากขึ้น และหากไม่สามารถพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ก็ต้องถือว่ามาตรฐานสิทธิมนุษยชนของไทยนั้นต่ำมาก

 

"การที่องค์กรนักเคลื่อนไหว และคนไทย ออกมาสนับสนุนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประเทศอื่นๆ ได้ ก็จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวในประเทศของเราเองในอนาคตด้วย" นายจารุวัฒน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท