สัมภาษณ์: หาญณรงค์ เยาวเลิศ "ผันน้ำกกลงน้ำปิง โครงการเพื่อตอบสนองนักการเมือง เอาใจกลุ่มคนบางกลุ่ม"

องอาจ เดชา

 

การผันน้ำข้ามลุ่มอย่างนี้ ผลที่จะตามมาก็คือ

จะเกิดปัญหาความขาดแคลนอีกลุ่มน้ำหนึ่ง

 

จะต้องให้มีการรับฟังทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม

และอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง

โดยยึดถือว่า ทุกคนในลุ่มน้ำเป็นผู้มีส่วนได้เสียจะต้องร่วมกันรับผิดชอบร่วมกัน

 

โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่คิดเพียงเพื่อตอบสนอง

ความต้องการของการบริหารการจัดการน้ำในเขตต้นน้ำปิงแบบผิดพลาด

 

เป็นโครงการเพื่อตอบสนองนักการเมือง เพื่อเอาใจกลุ่มคนบางกลุ่ม

แล้วอ้างผลตอบแทนกับคนทั้งลุ่มน้ำ เป็นเรื่องที่จะไม่มีทางได้ประโยชน์จริง

 

เป็นเรื่องที่ต้องมีการทบทวนเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุของความเหมาะสมที่จะดำเนินโครงการหรือไม่

เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่จะบอกเพียงว่ามีผลได้เพียงอย่างเดียว

 

0 0 0 0 0

 

ตามที่มีข่าว "คนเชียงดาวเต้น! รัฐดันอุโมงค์ผันน้ำกก ผ่าป่าชั้น1 A ลงแม่น้ำปิง" หลังทราบข่าวกรมทรัพยากรน้ำกำลังดันอุโมงค์ผันน้ำกกจากพม่าเข้ามายังแม่อาย- ฝาง- ไชยปราการ ผ่าป่าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งเป็นต้นน้ำชั้น1 A ผ่านบริเวณบ้านป่าตึงงาม บ้านออก แม่ป๋าม ก่อนปล่อยลงแม่น้ำปิงที่เชียงดาว โดยโครงการดังกล่าว ชาวบ้านได้ออกมาโวยว่า มีการงุบงิบแอบลงพื้นที่ มีการประชุมกลุ่มเล็กแต่ไม่ได้ฟังเสียงส่วนใหญ่ ชี้ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ระหว่างไทย-พม่า

 

ล่าสุด "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์ "หาญณรงค์ เยาวเลิศ" สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และศึกษาเรื่องผลกระทบของการสร้างเขื่อนและการผันน้ำของรัฐ ว่ามองโครงการนี้อย่างไร

 

 

 

หาญณรงค์ เยาวเลิศ

สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

 

ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ศึกษาเรื่องผลกระทบของการสร้างเขื่อนและการผันน้ำของรัฐ มองโครงการนี้อย่างไรบ้าง ?

การผันน้ำข้ามลุ่มโดยที่มีสันปันน้ำอยู่กันคนละฝั่งเป็นเรื่องใหญ่มากของบ้านเรา โดยเฉพาะการผันน้ำที่มีความต่างของลุ่มน้ำหนึ่งกับอีกลุ่มน้ำหนึ่งต่างกันมาก เป็นเรื่องที่อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนที่สูงมาก แต่จะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า มีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร

 

ดูจากต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง ซึ่งมีต้นน้ำ มีลำห้วยสาขาอยู่ที่อำเภอเชียงดาว และน้ำค่อยๆ ไหลลงมา ทำให้เรามองเห็นว่าแหล่งกำเนิดของต้นน้ำ เป็นภูเขาและมีความต่างกับลุ่มน้ำอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำฝาง หรือลุ่มน้ำกก แบบแยกกันคนละลุ่มน้ำกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการแบ่งลุ่มน้ำเป็นตัวบอกว่า ความสามารถของน้ำที่ไหลจากยอดดอย หรือสันปันน้ำนั้น เหมาะที่จะไหลไปทางไหน ธรรมชาติ ภูมิประเทศ เป็นผู้กำหนดไว้แล้ว ดังนั้น การจะใช้น้ำต้องคำนึงถึงภูมิประเทศ และทรัพยากรเป็นสำคัญ

 

ดังนั้น การผันน้ำข้ามลุ่มอย่างนี้ ผลที่จะตามมาก็คือ จะเกิดปัญหาความขาดแคลนอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ซึ่งนั่นไม่ใช่ต้นน้ำแต่จะเป็นปลายน้ำแทน เพราะการคิดว่าน้ำเกินหรือไม่นั้น ไม่ใช่เอาน้ำจากต้นน้ำมาเป็นตัววัด จะบอกทางสถิติได้อย่างไร ว่าแม่น้ำกกมีน้ำพอที่แบ่งปันมาให้กับน้ำปิงได้ เพราะคนในลุ่มน้ำกก ก็รอที่จะใช้น้ำนี้อยู่เช่นกัน และน้ำก็แทบไม่พอเมื่อย่างเข้าฤดูแล้ง คนเชียงรายต้องดิ้นรนหาน้ำ แล้วจะมีข้ออ้างใด มาอ้างว่าคนในลุ่มน้ำมีน้ำพอใช้และพอที่จะแบ่งปันให้กับลุ่มน้ำอื่นได้

 

โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่คิดเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของการบริหารการจัดการน้ำ ในเขตต้นน้ำปิงแบบผิดพลาด โดยที่มีการใช้น้ำในเขตต้นน้ำมากเกินไป และไม่มีน้ำพอ จึงมีการเสนอเพื่อผันน้ำกัน แต่การผันน้ำถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนในแต่ละลุ่มน้ำ ไม่ใช่จะอ้างปัจจัยเพียงขาดน้ำ แล้วจะผันน้ำอีกลุ่มน้ำหนึ่งได้ตามอำเภอใจ สิ่งที่ตามมาจะเกิดปัญหาอีกมามาย

 

ผมคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ยังไม่มีความเหมาะสมพอ เป็นโครงการเพื่อตอบสนองนักการเมือง เพื่อเอาใจกลุ่มคนบางกลุ่ม แล้วอ้างผลตอบแทนกับคนทั้งลุ่มน้ำ เป็นเรื่องที่จะไม่มีทางได้ประโยชน์จริง ไม่มีเหตุผลพอที่จะดำเนินโครงการ ซึ่งนี่ยังไม่มองถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม มองเพียงความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น

 

สิ่งที่มองมากกว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็คือการมองผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ (SEA- Strategic Environmental Assessment) หมายถึง ก่อนที่จะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่าจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ถ้าจะดำเนินโครงการแล้วจะเหมาะสมหรือไม่ ควรทำหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน เครือข่ายลุ่มน้ำ สมัชชาเหมืองฝาย ฯลฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมกันอย่างไร ในขณะที่ภาครัฐและบริษัทที่ปรึกษาจัดประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง โดยเทียบเชิญเพียงแค่ผู้ใหญ่บ้านมานั่งฟัง แล้วบอกว่าผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแล้ว ?

ก่อนที่จะถึงขึ้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะต้องดำเนินการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ก่อน การที่เอาผู้ใหญ่บ้านมารับฟังนั้นคงไม่พอ เพราะจะต้องสอบถามประชาชนทุกกลุ่มให้แน่นอนก่อน ในระยะยาวหรือความเป็นไปได้ว่าการผันน้ำข้ามลุ่ม นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาก็จะดำเนินการตามที่ได้รับการว่าจ้าง และคิดแทนหมดแล้ว ว่าจะสร้าง และพยายามสร้างความชอบธรรมเท่านั้น

 

ดังนั้นในทางที่เป็นไปได้ จะต้องให้มีการรับฟังทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม และอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องโดยยึดถือว่า ทุกคนในลุ่มน้ำเป็นผู้มีส่วนได้เสียจะต้องร่วมกันรับผิดชอบร่วมกัน

 

 

 

เห็นด้วยหรือไม่ กับโครงการผันน้ำกกลงแม่น้ำปิงเช่นนี้ ?

การผันน้ำข้ามลุ่ม เป็นเรื่องที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่า การจัดการทรัพยากรระหว่างลุ่มน้ำนั้นมีความล้มเหลว หรือเกิดปัญหา จึงต้องมีการผันน้ำข้ามลุ่มใช่หรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแต่ละลุ่มน้ำก็มีศักยภาพของลุ่มน้ำ ตามปริมาณน้ำที่มีให้ โดยการยึดหลักสันปันน้ำ หรือที่เรียกว่าลุ่มน้ำ ถ้าน้ำไม่พอหรือเกินอย่างไร ก็ให้มีการจัดการในลุ่มน้ำ ดังนั้น จึงไม่ควรเอาปัญหาอีกลุ่มน้ำหนึ่งมาแก้ไขหรือสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก

 

การผันน้ำที่เป็นตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ ก็คือการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง มายังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยอ้างว่าเพื่อนำน้ำมาใช้ทำน้ำประปาปีละประมาณ สองพันล้านลูกบาศก์เมตร โดยอ้างว่ามีน้ำพอที่จะผันน้ำ แต่ผลปัญหาที่ตามมาก็คือ คนแม่กลองหรือคนในจังหวัดสมุทรสงคราม น้ำในลำคลองและลำประโดง ไม่มีน้ำนอนร่อง เหมือนในอดีต ทำให้ผลผลิตจากไร่สวนในจังหวัดสมุทรสงครามได้ไม่เต็มที่ และน้ำเค็มจะตามขึ้นมาถึงไร่สวนของชาวบ้าน แบบไม่ได้คาดไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งปัญหานี้ก็ถูกท้วงติงจากกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ว่าไม่เห็นด้วยกับการผันน้ำ แต่ก็ถูกดำเนินการไปแล้วหลายปี

 

ซึ่งถ้าเทียบโดยหลักการแล้ว ผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง กับการผันน้ำข้ามลุ่ม เพราะจะยิ่งเกิดปัญหาในอนาคตอีกมากมาย

 

แล้วทางออกของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม แท้จริงมันอยู่ตรงไหน ?

ภัยแล้งและน้ำท่วม ที่จริงเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล นั่นก็คือฤดูแล้ง และฤดูฝนนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันเมื่อถึงฤดูแล้ง ก็เกิดอาการแล้งมาก เมื่อถึงฤดูฝนก็เกิดน้ำท่วม หรือบางแห่งน้ำท่วมมาก จนถูกนิยามว่าเป็นภัย คือภัยแล้งและภัยน้ำท่วม ในทำนองว่าเกิดปัญหา จะต้องหาทางมาแก้ไขปัญหา ซึงที่จริงถ้าเข้าใจธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ใช่ปัญหาถ้ามองแบบเข้าใจ

 

เมื่อถึงฤดูแล้ง ก็จะต้องพักการใช้น้ำ แทนที่จะเอาน้ำมาทำการเกษตร หรือปลูกพืชนอกฤดู ถ้าปลูกก็จะต้องปลูกพืชที่กินน้ำน้อย เพื่อให้พอกับปริมาณน้ำในลุ่มน้ำนั้นๆ ส่วนหน้าฝนถ้าไม่สร้างถนนหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ เหตุการณ์น้ำท่วมก็จะมีน้อยหรือไม่มีเลย แต่ที่ผ่านมาเราเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ จนทุกอย่างเป็นปัญหาไปหมด

 

ดังนั้น การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อาจจะไม่ใช่การแก้ที่ตรงประเด็น เพราะดูว่าจะเป็นสูตรสำเร็จว่าทั้งสองอย่างนี้แก้ไขด้วยการสร้างเขื่อน

 

การเกิดปัญหาน้ำไม่พอของลุ่มน้ำปิง เป็นปัญหาเพราะมีการใช้น้ำในการเกษตรแบบใช้น้ำมากตลอดทั้งปี คือการปลูกส้มในเขตพื้นที่สูง ทำให้น้ำไม่พอ แล้วกลับไปมองว่าลุ่มน้ำกกมีน้ำมาก และเหลือ จึงจะผันน้ำจากลุ่มน้ำกกมาให้ และแถมจะได้ไฟฟ้ามาแถมจากระบวนการทั้งหมดอีก จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนเป็นอย่างยิ่ง ว่าเหมาะสมที่จะดำเนินโครงการหรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่จะบอกเพียงว่ามีผลได้เพียงอย่างเดียว

 

 

ข่าวประกอบ

คนเชียงดาวเต้น! รัฐดันอุโมงค์ผันน้ำกก ผ่าป่าชั้น 1 A ลงแม่น้ำปิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท