Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.51   ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเวทีประชุมระดมความเห็นนักวิชาการและเครือข่ายประชาสังคม เรื่อง ก้าวให้พ้นการเมืองสองขั้ว : ประชาชนต้องมีทางเลือก ดำเนินรายการโดย ดร.กฤติยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีนักวิชาการและนักพัฒนาจากองค์การพัฒนาเอกชนจำนวนมากเข้าร่วม


 


ดร.โคทม อารียา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันขณะนี้ว่า รัฐธรรมนูญ 50 มีหลายเรื่องที่ควรแก้ อาทิ ระบบเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว การมี ส.ว. จากการแต่งตั้ง แต่การจะแก้ขนานใหญ่ ต้องมีกระบวนการที่ดี รอบคอบและต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชน มาพิจารณาการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการแก้ ณ ขณะนี้


 


ดร.โคทม แสดงความเห็นว่า เมื่อมีผู้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดการกวนน้ำให้ขุ่น เพื่อจะแก้หลายมาตราขึ้น ซึ่งอาจทำให้แทนที่ผู้ที่คัดค้านจะต้องค้านมาตราเดียวอาจต้องค้านเสีย 10 มาตรา อาจทำให้บางมาตราที่ให้ ส.ส. อยู่ห่างจากการทำงานของข้าราชการประจำ ก็จะต้องแย่ลงไปด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือกว่าจะทำอย่างไร โดยเขาเสนอให้แก้เฉพาะมาตรา 68 และ 237 ก่อน เพราะวรรคสองเรื่องคณะกรรมการบริหารพรรคทำผิด แล้วถึงขั้นยุบพรรค เป็นยาที่แรงเกินไป เพราะหากจะแก้ทั้งหมดในทันที จะออกจากความขัดแย้งที่มีไม่ได้ เมื่อแก้สองมาตรานี้แล้ว จึงค่อยมากำหนดกติกาการแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง


 


ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พรรคที่จัดตั้งรัฐบาลมีความชอบธรรมในระดับหนึ่งที่จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งสองมาตรา เนื่องจากได้รับการเลือกตั้งมา แม้ว่าประชาชนบางส่วนอาจไม่เห็นด้วย รัฐบาลเองก็มีเสียงข้างมากในสภาพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญสองมาตรานี้ได้ ด้วยความชอบธรรมของกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มี เพื่อแก้จุดบอดที่ทำให้การเมืองหยุดชะงัก แต่หากไม่แก้สองมาตรานี้ การเมืองจะถึงทางตัน จะเกิดวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งคงต้องถามว่าเราจะเอาพรรคการเมืองหรือไม่ จากนั้นจึงไปสู่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งมีกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม ให้ยั่งยืนและประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับร่วมกัน


 


 


 


เสนอแก้ รธน.291 เพื่อจัดตั้งสภาร่าง รธน.


ต่อมาในช่วงเย็น มีการออกใบแถลงข่าว เสนอข้อเสนอจากเวทีนักวิชาการและองค์การพัฒนาเอกชน ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ในลักษณะเดียวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540


 


ใบแถลงข่าว


ข้อเสนอจากเวทีนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน


เสนอแก้ไขมาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ


 


เนื่องจากพรรคพลังประชาชนได้พยายามเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยอ้างว่าเนื้อหาสาระและที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุคคลและองค์กรหลายองค์กรออกมาคัดค้านไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนเป็นการหนีการยุบพรรค และหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการทุจริตของ พตท. ทักษิณ ชินวัตร ความขัดแย้งดังกล่าวมีแนวโน้มนำไปสู่การเผชิญหน้าและการใช้ความรุนแรงในสังคมไทย


 


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2550 กลุ่มนักวิชาการและตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนผู้มีรายนามข้างท้ายได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ "ก้าวให้พ้นการเมือง 2 ขั้ว ประชาชนต้องมีทางเลือก" ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และที่ประชุมได้มีข้อเสนอโดยหลักการดังต่อไปนี้


1.       การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ควรเป็นไปเพียงเพื่อแก้สถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้าเพราะมีแต่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้


2.        รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 มีปัญหาทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหาที่ต้องมีการแก้ไข เช่น กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ฯลฯ


3.       กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นนี้ ผู้ร่างต้องมาจากกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนในวงกว้างที่สุด


4.       ประเด็นที่ข้อขัดแย้งในร่างรัฐธรรมนูญควรมีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสิน


                                  


เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักการดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุมได้มีข้อสรุปว่าควรจะมีการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ในลักษณะเดียวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540


 


 


 


 


โครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


กลุ่มยุทธศาสตร์การเมืองพลเมือง   สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน


หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)    


กลุ่มนักวิชาการอิสระ เช่น ดร.โคทม อารียา,ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร,


ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี,ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์,


ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล, รศ.ฉันทนา บรรพศิริโชติ, ผศ.ชเนษฎร์ ว. ขุมทอง,


ดร.นฤมล ทับจุมพล, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, ดร. อภิชาต สถิตนิรมัย


 


 


 


 



หมายเหตุ


ดาวน์โหลด/คลิกฟังไฟล์เสียงที่นี่ (ขนาด 15.5 เมกกะไบต์ ความยาว 135.53 นาที)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net