Skip to main content
sharethis

มติของนายสมชัย จึงประเสริฐ


กรรมการการเลือกตั้ง


 


ในปัญหาการยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ตามมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา


 


กรณีสืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยที่ ๖๕/๒๕๕๑ และที่ ๗๘/๒๕๕๑ ว่า มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า นายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ผู้ถูกกล่าวหาได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้นายอำนวย จันทร์แบกหล้า ตัวแทนหรือหัวคะแนนของผู้ถูกกล่าวหาให้เงินแก่นางชวนพิศ นันมา เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงตั้งให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท เขตเลือกตั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการพรรคชาติไทย ผู้ถูกกล่าวหาได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้กลุ่มบุคคล ประกอบด้วย นางศรีประไพ หรือ อุ๋ย โตเพ็ง นางศิริรัตน์ หรือแจ๋ว เปี่ยมเพ็ชร และนางธิดารัตน์ หรือโอ๊ต เหล็กทะเล ตัวแทนหรือหัวคะแนนของผู้ถูกกล่าวหาจัดเตรียมเงินเพื่อจะให้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้กล่าวหา อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๕๓ (๑) และมาตรา ๕๘ ส่งผลให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายเป็นเวลาหนึ่งปี ตามมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มีปัญหาต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่า มีเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย หรือไม่


 


เห็นว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขึงใคร่อัญเชิญพระรบรมราโชวาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแก่นักศึกษาในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต สมัยที่ ๓๓ ปีการศึกษา ๒๕๒๓ ความว่า "...กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรมเป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้การรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่แค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย..." มาเป็นหลักถือในการปฏิบัติ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓ วรรคสอง บัญญัติว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรามรัฐธรรมนูญจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพะบรมราโชวาทและหลักนิติธรรมดังกล่าวเพื่อรักษาความยุติธรรมยิ่งกว่ารักษาตัวบทของกฎหมายเอง เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐๓ วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนแล้ว เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นการในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าการกระทำนั้นน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งผ็สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายเป็นเวลาหนึ่งปี โดยให้มีผลนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่ง และวรรคสองที่บัญญัติว่า ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติทั้งสองวรรคดังกล่าวเป็นบทตัดสิทธิบุคคลจำเป็นต้องตีความโดยเคร่งครัดและโดยคำนึงถึงหลักนิติธรรมที่ว่า เมื่อไม่ได้กระทำผิดก็ไม่ควรต้องได้รับโทษ ข้อความในวรรคหนึ่งกล่าวถึงกรณีที่ผู้สมัครเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น กฎหมาย ต้องการเพียงพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า ผู้สมัครเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำผิดกฎหมายน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้น มิได้ต้องการพยานหลักฐานถึงขั้นต้องมีหรือปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามาพิสูจน์แต่ประการใด ส่วนบทบัญญัติในวรรคสองกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ มาพิสูจน์ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือมราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิได้ต้องการแต่เพียงมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้เท่านั้น ตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองเป็นเรื่องของมหาชน การที่จะยุบพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดย่อมส่งผลกระทบไปถึงบรรดาสมาชิกทั้งหลาย ซึ่งมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้นด้วย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่กฎหมายต้องการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐาน แต่จากการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ไม่ปรากฏหลักฐานว่า หัวหน้าพรรคการเมือง  หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแต่ประการใด คงได้ความว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองทั้งสองรายที่ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่างก็เป็นกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองทั้งสองเท่านั้น ซึ่งการที่ผู้สมัครทั้งสองรายถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนั้นต่างเป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนแล้ว มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ แต่มิได้มีหลักฐานอันควรเชื่อได้มาพิสูจน์ว่าผู้สมัครทั้งสองรายเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำ อันเป็นระดับในการรับฟังขอเท็จจริงจากหลักการรับฟังพยานหลักฐานที่กฎหมายกำหนดไว้แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแยกแยะได้ว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้สมัครหรือเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ส่วนการที่จะรับฟังให้เกี่ยวโดยงไปถึงพรรคการเมืองได้หรือไม่ต้องแล้วแต่พยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป สำหรับกรณีของสองพรรคการเมืองดังกล่าว คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ว่ากรณีของพรรคการเมืองทั้งสองรายดังกล่าว ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐๓ วรรคสอง ที่จะให้ถือว่า พรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น เห็นควรให้เรื่องยุติ


 


 


(นายสมชัย จึงประเสริฐ)


กรรมการการเลือกตั้ง


เมษายน ๒๕๕๑

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net