Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ตอบคำถามเรื่องธรรมเนียมการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง ระบุเริ่มธรรมเนียมนี้ในอังกฤษเมื่อประมาณทศวรรษ 1910 "ธรรมเนียมดังกล่าว ตกทอดมาจนถึงตอนต้นๆของรัชสมัยควีนอลิซาเบธ แต่ปัจจุบันนี้ อังกฤษได้ยกเลิกไปแล้วเพราะเมื่อประมาณปลายทศวรรษ 1950 กับต้นทศวรรษ 1960 บรรดานักศึกษาชั้นนำของทั้งออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ เริ่มประท้วงไม่ยอมยืนเคารพ"…

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบคำถามเรื่องธรรมเนียมการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง ในเมล์ลิสต์ของนักวิชาการและนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง ดังนี้

 

ต่อคำถามที่ว่าธรรมเนียมการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง มีมาแต่เมื่อไร และมีขึ้นเพราะเหตุใดนั้น ขอตอบว่าธรรมเนียมนี้สยามประเทศ (ไทย) ลอกเลียนมาจากอังกฤษ เมื่อประมาณเกือบ 1 ร้อยปีมาแล้ว

 

กล่าวคือเมื่อประมาณทศวรรษ 1910 เมื่อเริ่มต้นมีโรงหนังนั้น เมื่อฉายหนังจบ อังกฤษก็ให้มีการฉายพระฉายาลักษณ์ของคิงยอร์ชแล้วก็ให้บรรเลงเพลง God Save the Kingธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่อังกฤษต้องการปลุกระดมลัทธิชาตินิยมและความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ตามคำขวัญว่า God, King, and Country

 

สมัยนั้น อังกฤษต้องต่อสู้กับเยอรมนีและอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กษัตริย์อังกฤษ ต้องทำตนให้เหมือนเป็นอังกฤษแท้ๆ ต้องเปลี่ยนนามราชวงศ์ที่ฟังดูเป็นเยอรมันคือ 'Saxe-Coburg-Gotha' ให้ฟังดูเป็นอังกฤษ คือ 'Windsor'

 

ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดในเมืองแม่และถูกนำไปใช้บังคับในอาณานิคมทั่วโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย สิงคโปร์ มลายา และพม่า

 

ธรรมเนียมดังกล่าว ตกทอดมาจนถึงตอนต้นๆของรัชสมัยควีนอลิซาเบธ แต่ปัจจุบันนี้ อังกฤษได้ยกเลิกไปแล้วเพราะเมื่อประมาณปลายทศวรรษ 1950 กับต้นทศวรรษ 1960 บรรดานักศึกษาชั้นนำของทั้งออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ เริ่มประท้วงไม่ยอมยืนเคารพ แถมยังเดินออกจากโรงหนังเมื่อหนังจบอีกด้วย ร้อนถึงเจ้าหน้าที่และเจ้าของโรงหนังต้องแก้ไขด้วยย้ายการบรรเลงเพลงสรรเสริญ/การฉายภาพมาไว้ก่อนหนังฉายแต่ก็ไม่ได้ผล ตกลงเลยต้องยกเลิกธรรมเนียมนี้ไปเมื่อประมาณ 30 หรือ 40 ปีมานี้เอง

 

สำหรับสยามประเทศ (ไทย) ของเรา ก็ได้ลอกเลียนธรรมเนียมนี้มาจากอังกฤษโดยบรรดา "พวกหัวนอก/นักเรียนอังกฤษ" กับ "เจ้าของโรงหนัง" แต่เดิมก็บรรเลงเพลง/ฉายภาพเมื่อหนังเลิกส่วนก่อนหนังฉายก็มักจะมีโฆษณาสินค้าแต่เมื่อสักประมาณทศวรรษ 1970 ได้ดัดแปลงธรรมเนียมนี้ใหม่คือ ย้ายการเปิดเพลง "ข้าวรฯ" มาไว้ตอนก่อนหนังฉายกระทั่งทุกวันนี้

 

เข้าใจว่าในปัจจุบัน ธรรมเนียมดังกล่าวถูกยกเลิกไปหมดแล้วในประเทศในยุโรป รวมทั้งก็ได้ยกเลิกไปจากโรงหนังในอดีตอาณานิคมทั้งหลายเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายดังกล่าวได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันด้วย โดย อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลนักประวัติศาสตร์จากรั้วเดียวกันได้โต้แย้งและเพิ่มเติมประเด็นว่า

 

"ประเด็น "เลียนธรรมเนียมนี้มาจากอังกฤษ" หรือไม่ ผมไม่ทราบนะครับ แต่ผมเข้าใจ(คลาดเคลื่อนขออภัย)ว่า การบรรเลงเพลง "ข่าว-ว" (นี่คือการเรียกแบบชาวบ้านๆสมัยก่อน เพราะสมัยก่อน การร้อง 2 คำแรก จะออกเสียงเป็น "ข่าว - ว" สมัยหลังจึงทำให้ "ชัด" และ "ถูก" คือ เป็น "ข้า - วอ - ระ - พุทธ...")

 

ของสยามนั้น ไม่ได้เริ่มจากหนังแต่เริ่มจากการแสดงมหรสพอื่น โดยเฉพาะลิเก เมื่อมีหนัง ซึ่งเป็น มหรสพ แบบใหม่ จึงเริ่มมีการนำมาใช้กับหนังด้วยระเบียบเรื่องบรรเลงเพลงสรรเสริญฯทุกครั้งที่มีมหรสพ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราช จึงถูกนำมาใช้กับหนังด้วย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net