สัมภาษณ์วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เรื่องวิกฤติข้าวยากหมากแพง พืชอาหาร กับ พืชพลังงาน

สัมภาษณ์ และเรียบเรียงโดย สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์

โลคัล ทอล์ค และสำนักข่าวประชาธรรม

 

ความเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิตภายหลังการยุคปฏิวัติเขียว และการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้จังหวะชีวิตในการบริโภคของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นานมาแล้วที่วิธีการผลิตกับวิธีการบริโภค รวมถึงกลไกทางการตลาด - อุปสงค์อุปทานไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมดุล และเป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไป เนื่องด้วยปัจจัยแทรกแซงจากอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจ...

 

เมื่อรัฐ บรรษัทธุรกิจการค้าและสื่อมวลชนทั้งหลาย ได้ทำหน้าที่เป็นผู้วางหมาก และกำหนดกลไกด้านการตลาด และวิถีการผลิต - บริโภคใหม่ เพื่อตอบสนอง หรือเอื้อต่อการกอบโกยผลประโยชน์ทางการค้าเป็นหลักเพียงเท่านั้น ด้วยการเปลี่ยนระบบการเพาะปลูกพืชที่หลากหลายของเกษตรกรรายย่อย เป็นการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรกรรายใหญ่ เพื่อป้อนอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ

 

ด้วยเหตุนี้เอง การกอบโกยที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายศตวรรษนี้ จึงได้ขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติบนโลก และได้กดขี่ขูดรีดทั้งแรงงาน และวัฒนธรรม - ความรู้ดั้งเดิมของมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางด้านการจัดการ และพืชพันธุ์ที่ปลูก ซึ่งเป็นมิตรกับธรรมชาติแวดล้อมได้ถูกทำลายไป ความหลากหลายของพืชและสัตว์ลดลงอย่างมาก...

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อม และภัยธรรมชาติต่างๆ อาทิ ภาวะโลกร้อน ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง มลพิษทางดิน น้ำ อากาศ พื้นที่ป่าลดลงอย่างน่าใจหาย ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดิน วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนคืนได้อีก สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากวิธีการผลิตและการบริโภคที่เปลี่ยนไปของมนุษย์นั่นเอง ในวันนี้ "การผลิตที่รวดเร็ว ทำให้คนต้องบริโภครวดเร็วขึ้นและมากขึ้น เราใช้ทรัพยากรเพิ่มทวีขึ้น แน่นอนว่า โลกใบนี้ก็จะหมดอายุเร็วขึ้นเช่นเดียวกัน"

 

หากย้อนมองมายังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกมุมโลก เมื่อพลังงานน้ำมันเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักในการดำรงชีวิตของมนุษย์ วิกฤตน้ำมันที่ใกล้จะหมดจากโลก ได้ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตความมั่นคงทางอาหารขึ้นแล้ว เมื่อการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานกำลังคุกคามพื้นที่การเพาะปลูกข้าว และพืชอาหารอื่นๆ ลองอ่านความคิดจากบทสัมภาษณ์ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ต่อประเด็นเหล่านี้กันค่ะ

 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือความขัดแย้งระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงานซึ่งมีการผลักดันให้มีการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานมากขึ้น ซึ่งถือเป็นภาวการณ์แย่งชิงทรัพยากรกันอยู่ และตามที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นผู้กำหนดวาระนี้ไปแล้ว ซึ่งไม่ว่าใครจะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ก็ตาม นายธนินทร์ได้เสนอให้มีการขยายพื้นที่การปลูกพืชพลังงานเพิ่มขึ้น เช่นเสนอให้เพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มอีก 12 ล้านไร่ และลดพื้นที่การปลูกข้าวลงให้เหลือประมาณ 25 ล้านไร่จากที่เราเคยมีอยู่ประมาณ 55-60 ล้านไร่

 

"หากเป็นเช่นนี้ การเปลี่ยนการใช้พื้นที่จากการเพาะปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวอย่างแน่นอน สำหรับประเทศไทยแล้ว ความมั่นคงทางอาหารนั้นมีรากฐานหลักการผลิตที่สำคัญมาจากเกษตรกรรายย่อย และการใช้พื้นที่เพาะปลูกอย่างหลากหลาย ฉะนั้นผลที่ตามมาเมื่อมีการลดพื้นที่การผลิต การเพาะปลูกข้าว สิ่งแรกคือ จำนวนเกษตรกรก็จะลดลง สิ่งที่สองก็คือ จะมีการผลักดันให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเก็บผลผลิตให้ได้มากขึ้น"

 

วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าชาวบ้าน-เกษตรกรจะสามารถทำการผลิตได้ผลจริง แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตมากขึ้น  สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่ได้อะไรเลย กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์คือกลุ่มบริษัทธุรกิจการเกษตรเท่านั้นเอง แนวคิดการเปลี่ยนฐานการผลิตจากพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงานนี้ แท้จริงแล้วการผลิตจะต้องอยู่ภายใต้พันธนาการของบรรษัทยิ่งกว่าการผลิตพืชอาหารเสียอีก เพราะนอกจากเกษตรกรจะต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว ยังต้องส่งผลผลิตให้โรงงานจึงต้องพึ่งพาอยู่กับระบบอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งสำหรับพืชอาหารยังคงสามารถพึ่งพากลไกทางการตลาด หรือระบบตลาดแบบเดิมได้อยู่บ้าง และยังมีกลุ่มผู้ประกอบการในขั้นตอนต่างๆ อยู่มากราย แต่สำหรับพืชพลังงานแล้วนั้นมีน้อยรายกว่ามากนัก

 

ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวต่อว่า  ในท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ ก็มีข้อเสนอขึ้นมาด้วยว่าควรจะต้องมีการเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ (พืชตัดต่อพันธุกรรม) มากยิ่งขึ้น จึงเกิดคำถามใหญ่ขึ้นมาว่า ยังไม่มีการพิสูจน์ได้เลยว่า พืชจีเอ็มโอได้ผลผลิตมากกว่าพืชทั่วไป  แม้กระทั่งการปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐอเมริกามาหลายปี ก็เห็นชัดว่าพืชจีเอ็มโอไม่ได้ให้ผลผลิตมากไปกว่าพืชทั่วไป คิดเฉลี่ยตามปริมาณผลผลิตเทียบกับขนาดของพื้นที่เพาะปลูก หรือผลผลิตต่อไร่ไม่ได้สูงกว่าเลย

 

"สิ่งที่สำคัญคือในการผลิตพืชแบบนี้ อำนาจในการผลิตจะตกไปอยู่ในมือของบรรษัทมากขึ้น นอกจากเรื่องของปุ๋ย ยาเคมีแล้ว ก็ต้องเพิ่มเรื่องพันธุกรรม (สิทธิบัตรพันธุ์พืช) เข้าไปด้วย ส่วนด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยิ่งไม่ต้องพูดถึง ปัจจุบันก็เกิดเหตุการณ์บุกรุกที่ป่ากันอย่างมาก เพื่อนำมาปลูกพืชพลังงาน"

 

"ฉะนั้น หัวใจสำคัญของปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ คือเราต้องคิดถึงการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ หรือการกระจายทรัพยากรกันอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ว่าจะมีการพูดถึงการจัดสรรทรัพยากร หรือนโยบายส่งเสริมการเพาะปลูกทั้งพืชอาหาร และพืชพลังงาน ก็เป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการค้าเป็นสำคัญเท่านั้น ภายใต้กลไกดังกล่าวนี้  เกษตรกรรายย่อยก็ยังคงตกอยู่ในภาวะที่ถูกบีบให้ต้องสูญเสียที่ดินออกไปมากยิ่งขึ้นทุกที ก็ทำให้กำลังการผลิตอาหารลดลงอีกด้วย นี่เป็นเรื่องใหญ่"

 

ผอ.มูลนิธิ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ณ วันนี้ว่า แม้ราคาข้าวจะดีขึ้นมากก็ตามแต่มีชาวนาฆ่าตัวตาย เพราะแท้จริงแล้ว ฐานทรัพยากรไม่ได้เป็นของชาวนา ไม่ว่าจะขายข้าวได้เงินมาก แต่ชาวนาจะได้จริงๆ เท่าไรไม่รู้เลย เพราะราคาปุ๋ยก็แพงขึ้นมาก ดังนั้นหากจะพูดกันถึงประเด็นปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ก็ต้องพูดถึงเรื่องการกระจายปัจจัยทางการผลิต ทั้งที่ดิน และรวมถึงเทคโนโลยีด้วย ที่ดินและเทคโนโลยีต้องอยู่ในมือของชาวนา แต่สิ่งที่บรรษัทธุรกิจต่างๆ นำเสนอต่อรัฐ ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองทั้งสิ้น

 

โดยได้ยกตัวอย่าง กรณีที่มีการนำอาหารสัตว์ หรือข้าวโพดราคาถูกเข้ามา เนื่องจากราคาอาหารสัตว์ในประเทศแพงขึ้น บรรษัทเองก็ไม่ได้คำนึงถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลย คำนึงแต่การจะลดต้นทุนการผลิตของตัวเองเท่านั้น หรือกรณีของราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้น รัฐก็ไม่มองว่าจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องราคาอาหารเป็นต้น นั่นคือการคิดถึงแต่ประโยชน์ของกลุ่มตนเป็นหลัก

 

อีกทั้ง "ที่ผ่านมารัฐไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่รัฐทำหน้าที่และเป็นกลไกหนึ่งที่ตอบสนองต่อบรรษัท ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือนโยบายทางการค้าใดๆ ก็ตาม ฉะนั้นภายใต้กลไกสถานการณ์ และวิกฤตพืชอาหารกับพืชพลังงานนี้ เราก็คงพึ่งพารัฐไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ ขบวนการภาคประชาชนต้องรีบแสดงจุดยืนร่วมกัน และมีข้อเสนอร่วมกันต่อสถานการณ์นี้อย่างเร่งด่วน โดยไม่ปล่อยให้กลุ่มธุรกิจ หรือภาครัฐที่อ้างว่าเป็นตัวแทนในการตัดสินใจเพื่อประชาชน ทำหน้าที่นั้นแต่เพียงผู้เดียว เพราะว่าเรากำลังถูกกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมกำหนดวาระอยู่ในขณะนี้ ภาคประชาชนต้องร่วมกำหนดวาระเอง และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย" วิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท