Skip to main content
sharethis

โดย ภูมิวัฒน์ นุกิจ


(ชื่อบทความเดิม: ปลดล็อคทางการเมือง)


 


กติกาทางการเมือง : ต้องมาจากประชาชน


รัฐธรรมนูญ ฉบับ คมช. 2550 เป็นบทสรุปที่ดีที่สุดสำหรับนักรัฐประหาร และนักรัฐศาสตร์แนวอนุรักษ์นิยม ในการสถาปนาระบอบอำมาตยาธิปไตยให้แทรกตัวลงไปกับระบอบประชาธิปไตยอย่างแนบเนียน เพื่อทำให้ระบอบการเมืองของประเทศไทยอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ และยังเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงจากฝ่ายตุลาการและฝ่ายชนชั้นนำอำมาตย์ได้ง่าย ส่งผลให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เกิดความเบื่อหน่าย หมดหวังกับการเมืองไทยและการแก้ปัญหาทางสังคม เพราะรัฐธรรมนูญฉบับคมช.ถูกออกแบบมาบนพื้นฐานและที่มาที่ไม่ไว้ใจนักการเมือง ไม่เคารพต่อประชาชน และไม่ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปรากฏชัดเจนว่ากำเนิดมาจากปากกระบอกปืนของการปฏิวัติ รัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549



ทำไมถึงต้องทวงคืนรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน
2540


เพราะว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเนื้อหายังเน้นการตรวจสอบอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ลดอำนาจอำมาตย์และชนชั้นนำทางการเมือง  เสริมสร้างการเมืองไทยให้เข้มแข็งโดยพลิกกลับทางอำนาจจากล่างสู่บน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดองค์กรอิสระต่างๆขึ้นมา เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.),คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.),สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.),คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,ศาลรัฐธรรมนูญฯลฯ


 


ปลดล็อคการเมือง : สูตรของยาสำหรับรักษาการเมืองไทย ควรแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร
ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด หรือความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาตลอดสามปีนี้ เป็นบทสรุปที่ส่งผลสะเทือนให้ตั้งคำถามไปถึงสถานะของสถาบันหลายอย่างทางสังคมที่เริ่มเปลี่ยนไป และได้นำไปสู่การออกแบบรัฐธรรมนูญของ คมช.และเกิดการเลือกตั้งในท้ายที่สุด จนได้รัฐบาลที่มาจากครรลองของระบอบประชาธิปไตยเข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างคล่องตัวตามที่ได้ประกาศแนวนโยบายเอาไว้ เพราะติดกับดักหลุมพรางทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฎิวัติรัฐประหารของคณะเผด็จการทหาร คปค./คมช.ที่กำหนดและออกแบบให้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
"อ่อนแอ" ไม่สามารถทำงานรับใช้ประชาชน และผลักดันประเทศให้ทัดเทียมตามอารยะในเวทีโลกได้ จนเกิดการติดกับดักและหล่มทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน


 


ทางออกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีความสง่างามและเป็นประชาธิปไตย โดยให้สภาผู้แทนราษฎร์เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237, 291, 309 เสียก่อน เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ คมช.2550 ก็กำหนดไว้ให้สามารถทำได้อยู่แล้ว ตามมาตรา 291 เพื่อยุติปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น


 


หลังจากนั้นเมื่อแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้ว ซึ่งต้องแก้ไขในมาตรา 291 ขึ้นใหม่ด้วย เพื่อเปิดช่องให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และให้มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งคณะกรรมการยกร่างในหมวดต่างๆ เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงของตัวบทกฎหมาย ให้สอดคล้องกับสังคมไทยสมัยใหม่ และจากนั้นก็เสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่วมกันระดมความเห็นและวินิจฉัย เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเอารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 เป็นตัวตั้ง และกระบวนการแก้ไขต้องให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่เน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็ต้องไม่น้อยหน้าไปกว่ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2539 และเพื่อให้เหมาะสมกับโรคที่การเมืองไทยกำลังเผชิญมาตลอด คือโรคที่ว่า "ใครคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง"


หลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ให้มีการลงประชามติจากพี่น้องประชาชนเพื่อสร้างการยอมรับ และลดกระแสความขัดแย้งทางการเมืองจากทุกฝ่าย จากนั้นให้มีการเลือกตั้งโดยทันที ก็จะได้รัฐบาลที่มาจากหลักมติมหาชน ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย นี่คือรูปแบบที่สวยสุด และนี่คือข้อเสนอเพื่อการก้าวข้ามกับดักและหล่มทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net