Skip to main content
sharethis

24 เม.ย. 51 - ธนาคารโลกร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดให้มีพิธีมอบประกาศเกียรติคุณจากพิธีสารมอนทรีออล ว่าด้วยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศให้แก่บริษัทในภาคเอกชนของไทยทั้งสิ้น 9 บริษัท ซึ่งได้มีส่วนช่วยพิทักษ์โอโซนในชั้นบรรยากาศและบรรเทาความรุนแรงของปัญหาโลกร้อน โดยมีนายเอียน พอร์เตอร์ ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยเป็นผู้มอบ และมีผู้แทนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และจากสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติทั้งจากภาครัฐและจากองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ในประเทศไทยร่วมแสดงความยินดี


บริษัทของไทยที่ได้รับรางวัลจากพิธีสารมอนทรีออลในครั้งนี้คือ


1. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
2. บ.โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ จำกัด
3. บ.จงสถิตย์ จำกัด
4. บ. วิภาวดีรังสิตโฮเต็ล จำกัด (ผู้บริหารโรงแรมรามาการ์เด้น)
5. บ. ยูโรมิลล์โฮเต็ล จำกัด (ผู้บริหารโรงแรมโนโวเทล บางนา)
6. บ. โตชิบ้า เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
7. บ. ไทยซีอาร์ที จำกัด (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) ในเครือสยามซีเมนต์
8. บ. วีนัส เธร็ด จำกัด ในเครือสหยูเนี่ยน
9. บ. กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน)


โดย 8 บริษัทแรกนั้น ได้รับประกาศเกียรติคุณจากพิธีสารมอนทรีออลก็เนื่องจากว่าทั้งหมดได้เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนระบบทำความเย็นของอาคารเพื่อลดการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ ในระหว่าง พ.ศ.2544-2548 ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนพหุภาคีสำหรับการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล (the Multilateral Fund for the Implementation of the Montreal Protocol) และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้สนับสนุน


โครงการนี้สามารถทำให้บริษัทเหล่านี้ประหยัดพลังงานไปได้ถึง 30%-40% เนื่องจากระบบทำความเย็นใหม่นี้เป็นแบบที่กินไฟน้อยและยังไม่มีสารที่ทำลายโอโซนในบรรยากาศอีกด้วย นับว่าเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมสมควรได้รับการยกย่อง



นอกจากนี้ พิธีสารมอนทรีออลก็ยังมอบประกาศเกียรติคุณยกย่องบริษัทกุลธร เคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์รายใหญ่ของไทย ในฐานะที่ทางบริษัทได้ทำการปฏิรูปสายการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยยกเลิกการใช้สารซีเอฟซี (Chlorofluorocarbons: CFCs) ในการผลิต เนื่องจาก บ.กุลธรเคอร์บี้นั้น มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยมากถึง 54% และ 35% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด การปฏิรูปสายการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ จึงนับว่ามีส่วนช่วยอย่างมากต่อการปกป้องโอโซนและช่วยลดการเผาผลาญพลังงาน อันเป็นสาเหตุของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งนำไปสู่สภาวะเรือนกระจก


ในระหว่างพิธีมอบรางวัล นายเอียน พอร์เตอร์ ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยได้กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนี้ เป็นปัญหาที่กำลังคุกคามโลกและความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เอง จึงใช่แต่ภาครัฐเท่านั้นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่มีความจำเป็นที่ทุกๆ ฝ่ายในสังคมจะต้องร่วมมือกันคนละไม้คนละมือ และการที่ภาคเอกชนของไทยหันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีมาก


นายราเชนดรา เชนดี หัวหน้าส่วน Division of Technology, Industry and Economics Ozon Action Branch ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้กล่าวว่า การประสานงานระหว่างสถาบันต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิค หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล บริษัทในภาคเอกชน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความพยายามที่จะเลิกใช้สาร CFC ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นในประเทศไทย และจะส่งผลให้การลดการใช้สาร CFC และการบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


พิธีสารมอนทรีออลได้ทำการมอบประกาศเกียรติคุณยกย่องแก่ผู้มีส่วนร่วมในโครงการซึ่งออกแบบมาเพื่อพิทักษ์โอโซนทั้งสิ้น 31 โครงการด้วยกัน จากจำนวน 70 โครงการที่ได้รับการเสนอชื่อ ซึ่งเป็นโครงการในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในภาคพื้นอัฟริกา เอเชียใต้และตะวันออก อเมริกาใต้ รวมทั้งยุโรปด้วย


โครงการทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพหุภาคีทั้งสิ้น นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 เป็นต้นมานั้น กองทุนพหุภาคีได้ให้การสนับสนุนไปแล้วแก่โครงการต่างๆ ในลักษณะนี้ใน 144 ประเทศทั่วโลกเป็นจำนวนมากถึง 5,500 โครงการทีเดียว คิดเป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้นประมาณ 2,160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนถึง พ.ศ. 2548 ประเทศไทยได้รับการอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า จากกองทุนพหุภาคี เพื่อดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซนในภาคอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ทั้งสิ้น 103 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 53.4 ล้านเหรียญสหรัฐ


สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบทำความเย็นของอาคารเพื่อลดการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศซึ่งได้รับประกาศเกียรติคุณยกย่องจากพิธีสารมอนทรีออลในครั้งนี้ และได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือในรูปแบบของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพหุภาคีและกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ล้าน เหรียญสหรัฐ ผ่านบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารทหารไทย) หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ประสานงานและกำกับดูแลการดำเนินงานของโครงการภายใต้พิธีสารมอนทรีออลนี้คือกรมโรงงาน อุตสาหกรรม


หากไม่มีพิธีสารมอนทรีออลแล้ว การปล่อยสารที่ทำลายโอโซนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจะมีมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถึงสิบเท่าทีเดียว และจะส่งผลให้มีจำนวนประชากรที่เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง รวมทั้งต้อกระจก ณ ปัจจุบันนี้ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปี พ.ศ.2522 ถึง 20 และ 130 ล้านคน ตามลำดับ

พิธีสารมอนทรีออลนี้ กระตุ้นให้นานาประเทศทั่วโลกหันมาจำกัดหรือยกเลิกการใช้สารเคมีต่างๆ ที่ทำลายโอโซน มีการคาดกันว่า ภายในปี พ.ศ.2553 นี้ การผลิตสารที่มีผลเสียต่อโอโซน โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในอดีตนั้นเป็นแหล่งที่ผลิตสารประเภทนี้มากถึง 70% ของที่มีการผลิตทั้งหมดทั่วโลกนั้นจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net