Skip to main content
sharethis


ขวัญสกุล เชาว์พานนท์


 


วันที่ ๑ พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรรมกรทั่วโลก ที่กรรมกรทั่วทั้งโลกต่างร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องใน "วันกรรมกรสากล" เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งองค์กรแรงงานต่างๆ ได้จัดกิจกรรมขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๑ พฤษภาคม ของทุกปี และยื่นข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลเป็นประจำทุกปีอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมีรูปแบบการจัดงานและรูปแบบของกิจกรรมที่หลากหลายกันออกไป ดังนั้น นับว่าวันกรรมกรสากลถือได้ว่า เป็นโอกาสหนึ่งที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ได้ออกมาสะท้อนถึงความต้องการหรือสิทธิที่ต้องการจะได้รับจากภาครัฐ ซึ่งในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ลองมาดูกันว่าความต้องการของพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ต้องการได้รับสิทธิต่างๆ เป็นไปในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบที่ตามสถิติของสำนักงานประกันสังคมปัจจุบันมีอยู่ประมาณ ๙ ล้านคน บวกกับแรงงานภาครัฐวิสาหกิจอีกประมาณ ๓ แสนคน และความต้องการของแรงงานนอกระบบที่จากสติถิหลายสำนักที่จัดทำขึ้นมามีจำนวนรวมประมาณ ๒๓ ล้านคน


 


ความต้องการของแรงงานในระบบ


๑. ให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับเดียว (ฉบับขบวนการแรงงาน) เนื่องจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ..๒๕๑๘ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันสมควรปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจสังคม และพัฒนาการด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยกำหนดถึงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน การปิดงานและการนัดหยุดงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงาน การดำเนินกิจการและการคุ้มครองลูกจ้าง นายจ้าง สหภาพแรงงาน สมาคมนายจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สภาองค์การลูกจ้างและสภาองค์การนายจ้างตลอดจนปรับปรุงอัตราโทษ


 


ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ อีกทั้งเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานทุกประเภทกิจการ ทุกสาขาอาชีพทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ภายใต้ระบบกฎหมายฉบับเดียวกัน ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกการแบ่งแยกเป็นลูกจ้าง ระดับผู้บังคับบัญชา กับลูกจ้างอื่นในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน เหตุผลเพื่อป้องกันการแบ่งแยกผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะทำงานในภาคเศรษฐกิจใด สาขาอาชีพ มีตำแหน่ง หน้าที่ระดับใด ต้องมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยอิสระสมัครใจ เป็นการส่งเสริมความสมานฉันท์ และเสรีภาพการรวมตัวของชนชั้นแรงงานอย่างหลากหลายกว้างขวางตามมาตรฐานสากลด้วย


 


๒. ให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันผู้ใช้แรงงานในระบบส่วนใหญ่ได้เข้าสู่ระบบการประกันตนในรูปแบบ "ประกันสังคม" ซึ่งเป็นการบริการด้านสาธารณสุขที่ดูแลผู้ใช้แรงงานเมื่อเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยปกติ หรือเจ็บป่วยจากโรคและสิ่งแวดล้อมจากการทำงานก็ตาม แต่สภาพความเป็นจริงพบว่า ผู้ใช้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าตรวจในโรงพยาบาลคู่สัญญาแล้วได้รับการบิดเบือนว่า "ไม่มีการเจ็บป่วยที่สืบเนื่องมาจากการทำงาน" แม้ว่าในบางกรณีเห็นชัดเจนว่าเกิดจากอุบัติเหตุจากการทำงานก็ยังไม่มีการระบุ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นพอสังเขป ทำให้เห็นว่าระบบวินิจฉัยทางการแพทย์มีการบิดเบือน เอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ทำให้เกิดผลเสียและผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อแก้กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน รัฐต้องจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน)


 


ซึ่งสองประเด็นหลักนี้ถือเป็นความต้องการอย่างเร่งด่วนของผู้ใช้แรงงานในระบบที่กำลังขับเคลื่อนและผลักดันกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่มีการจัดเวทีพูดคุยและกล่าวถึงกันหลายครั้งเพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหว


 


ประเด็นความต้องการร่วมของแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ


๑. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยเหตุที่ว่ากิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและความมั่นคงของชาติถือเป็นภารกิจของรัฐ รัฐต้องบำรุงรักษาและส่งเสริมกิจการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม กิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะนำไปขายเพื่อการแสวงหากำไรไม่ได้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้กิจการหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการกินดีอยู่ดีของประชาชนและความมั่งคงปลอดภัยของประเทศชาติ ควรเป็นสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการเอง เพื่อให้แน่ใจว่าจะสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม ในการเข้าถึงและใช้บริการอย่างเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะยากดีมีจนประการใด เพราะหากปล่อยให้กิจการที่สำคัญเหล่านี้ไปอยู่ในมือของเอกชนที่มุ่งอยู่ที่การแสวงหากำไร อาจทำให้บริการเหล่านั้นมีราคาแพงจนคนยากคนจนเข้าไม่ถึง ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม และกิจการที่เกี่ยวข้องกับความคงแห่งชาติ หากปล่อยให้เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างชาติเข้ามาดำเนินการ อาจทำให้ความลับของประเทศชาติรั่วไหล หรือ อาจนำไปสู่การแทรกแซงของต่างชาติได้


 


๒. ประกันสังคม ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓ นับเป็นระยะเวลากว่า ๑๖ ปีแล้ว ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึงกว่าเก้าล้านคน เนื่องจากการขยายความคุ้มครองไปสู่ลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑ คนขึ้นไป และในอนาคตอันใกล้นี้ต้องขยายความคุ้มครองไปยังกลุ่มอาชีพอื่นๆ ซึ่งจะมีลูกจ้างเพิ่มมาในระบบประกันสังคมอีกจำนวนมาก ในขณะเดียวกันเงินกองทุนประกันสังคมก็เพิ่มขึ้นถึงสี่แสนล้านบาท แต่การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมยังมิได้มีการพัฒนา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน เพื่อรองรับการเติบโตแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงาน ในรูปแบบขององค์การมหาชน เพื่อความเป็นอิสระภายใต้กำกับดูแลของรัฐ เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่คล่องตัว โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ, ให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน, ให้เกิดการขยายงานขยายกำลังคนให้เพียงพอต่อภารกิจที่เพิ่มขึ้น, เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูประบบราชการของรัฐที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบงานราชการ และที่สำคัญให้มีการขยายการคุ้มครองไปสู่ผู้ใช้แรงงานส่วนอื่นที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่นแรงงานนอกระบบ


 


อีกทั้งรูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานและกรรมการประกันสังคม ให้เป็นไปในรูปแบบอัตราส่วนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของสหภาพแรงงานและสมาคมลูกจ้างเอกชนต่างๆ ให้กำหนดอัตราส่วนโดยอ้างอิงวิธีการคำนวณจากจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานหรือสมาคมลูกจ้างเอกชนนั้น โดยจำนวนของสมาชิก ๕๐ คน ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ ๑ คะแนน เช่น มีจำนวนสมาชิก ๕๐ คน มีสิทธิลงคะแนน ๑ คะแนน, สมาชิก ๑๐๐ คน มีสิทธิลงคะแนน ๒ คะแนน, สมาชิก ๒๐๐ คน มีสิทธิลงคะแนน ๔ คะแนน ทั้งนี้ในส่วนขององค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ให้มีสิทธิลงคะแนนได้ ๑ คะแนนเสียง


 


๓. การควบคุมราคาสินค้า ให้ราคาสินค้ามีความเป็นธรรมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง เพื่อให้คนงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่สินค้าอุปโภคบริโภคทุกอย่างขึ้นราคา ทำให้รายจ่ายในการดำรงชีพของคนงานเป็นไปในอัตราที่สูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่อัตราค่าจ้างมีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ ซึ่งในประเด็นนี้จำเป็นที่จะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และบริการด้านสาธารณะต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ให้ขึ้นราคาไปในอัตราที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


 


๔. รัฐบาลต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันร่วมเจรจาต่อรอง เป็นอนุสัญญาแรงงานหลัก (Core Labour Standard) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนั้นก็ควรปฏิบัติให้สมฐานะที่เป็นประเทศภาคีสมาชิก โดยการประกาศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และให้มีนโยบายด้านแรงงานในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด


 


๕. กรณีค่าจ้างที่เป็นธรรม เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของลูกจ้างต่อวัน ซึ่งประกอบด้วย ค่าพาหนะ, ค่าอาหาร เครื่องดื่ม, ยารักษาโรค มีค่าเฉลี่ยต่อวันในอัตราที่สูง อีกทั้งค่าใช้จ่ายประจำเดือน ซึ่งประกอบด้วย ค่าเช่าบ้าน ที่พัก, ค่าน้ำประปา กระแสไฟฟ้า, ค่ากิจกรรมทางสังคม, ค่าเลี้ยงดูครอบครัว, ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายในการศึกษาเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยออกมาต่อเดือนสูงเช่นกัน ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันไม่ถึง ๒๐๐ บาท ดังนั้นเพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน อย่างมีคุณภาพพอสมควรสอดคล้องกับมาตรฐานอัตราค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และเป็นการยืนยันตามเจตนารมณ์เดิมที่เคยนำเสนอไว้ คือค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็น ๒๓๓ บาทต่อวัน โดยให้ยึดถือเป็นอัตราเดียวกันหมดทั่วประเทศ


 


นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานนอกระบบภาครัฐก็ต้องมีกฎหมายที่จะคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบภาคส่วนต่างๆ ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน ที่ต้องมีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่ชัดเจนในแต่ละสายงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับค่าจ้างของแรงงานในระบบประเภทเดียวกันในตลาดแรงงาน หรือแม้แต่แรงงานภาคเกษตร หรือที่พวกเรารู้จักกันว่า "เกษตรพันธสัญญา" ก็ต้องให้เกิดความชัดเจนในเรื่องสัญญาระหว่างเกษตรกรและบรรษัทต่างๆ กล่าวคือต้องเป็นสัญญาที่เป็นธรรม ไม่ขูดรีดต่อเกษตรกร เป็นต้น


 


๖. ประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน รัฐบาลต้องมีมาตรฐานในการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานที่มีมาตรฐานในการตรวจสอบและเอาผิดต่อผู้กระทำผิด อีกทั้งกลไกรูปแบบในการให้สิทธิต่อผู้ใช้แรงงานที่ดีกว่าเดิม ทั้งในส่วนของแรงงานไทยในระบบ และแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้รับงานไปทำที่บ้าน, แรงงานภาคเกษตร, คนขับรถรับจ้างประเภทต่างๆ ฯลฯ อีกทั้งต้องให้สิทธิด้านแรงงานและการคุ้มครองต่อแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้สิทธิด้านต่างๆ ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยครอบคลุมไปถึงเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง อีกทั้งสิทธิในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาวะอนามัยในการทำงาน


 


 


เนื้อหาข้างต้นเหล่านี้เป็นเพียงการสะท้อนภาพรวมของความต้องการของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทั้งในส่วนแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ ที่มีความต้องการร่วมที่สอดคล้องกัน ที่กำลังรอคอยการตอบรับจากภาครัฐในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปรับปรุงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าสิ่งต่างๆ หรือสิทธิความชอบธรรมต่างๆ ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานนั้น ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่เคยมีสิ่งใดที่ได้มาโดยง่าย ทุกสิ่งและทุกสิทธิที่เป็นผลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานพัฒนาขึ้นล้วนมาจากการเคลื่อนไหวผลักดัน ขับเคลื่อนเรียกร้อง ขององค์กรแรงงานต่างๆ ของขบวนการแรงงานไทย และคาดว่าสิทธิหรือความต้องการที่จะได้รับของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ตามบทความข้างต้นก็ต้องเป็นไปตามแนวทางของประวัติศาสตร์เดิมๆ เช่นกัน คือต้องขับเคลื่อน ผลักดันเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง


 


อย่างไรก็ดีบทความนี้เป็นเพียงการสะท้อนภาพความต้องการของพี่น้องผู้ใช้แรงงานบางส่วนเท่านั้น ซึ่งหากต้องการรับทราบ รับฟังรายละเอียดของความต้องการของพี่น้องผู้ใช้แรงงานภาคส่วนต่างๆ อย่างละเอียดและคุ้มค่า สามารถเข้ารับฟังได้ในกิจกรรม สมัชชาแรงงาน ๒๕๕๑ ภายใต้หัวข้อ "ปฏิรูปประกันสังคมสู่การบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ" ในวันพุธที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร่วมจัดงานโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิเพื่อนหญิง และศูนย์ยุทธศาสตร์วิชาการแรงงานนอกระบบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้างานฟรีไม่คิดค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร    ๐-๒๖๕๔-๗๖๘๘ หรือ ๐-๒๒๕๑-๓๑๗๓

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net