Skip to main content
sharethis


 


เรียบเรียงโดย  บำเพ็ญ ไชยรักษ์


กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา


 


 


เมื่อ 7 ปีมาแล้ว ชาวบ้านที่อุดรธานีเปิดพื้นที่การรับรู้เรื่องเหมืองแร่โปแตชอย่างกว้างขวางขึ้นในสังคมไทย  เมื่อออกมาคัดค้านการทำเหมืองแร่ใต้ดินในจังหวัดอุดรธานี ต่อมามีรายงานว่ามีนักลงทุนได้เข้ามายื่นขอสำรวจพื้นที่เชิงพานิชย์เพื่อพัฒนาเหมืองแร่โปแตช อีก 6 แห่งในอีก 6 จังหวัดภาคอีสาน ทำให้คนอีสานตื่นตัวและร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบการพัฒนาเหมืองแร่โปแตชดังกล่าวทั้งในจังหวัดอุดรธานีและในภาคอีสาน


 


เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 ที่ผ่านมานายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  พร้อมด้วยคณะเดินทางมายังวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี โดยมีตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี นำลงพื้นที่หนองน้ำสาธารณะประโยชน์หนองนาตาล ซึ่งอยู่ติดกับที่ตั้งโรงงานแต่งแร่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ในเครือของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนขอประทานบัตรทำเหมือแร่แร่ใต้ดิน และต่อจากนั้นคณะได้เดินทางมาพบปะชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาให้กันต้อนรับกันเต็มศาลาวัดจำนวนกว่า 500 คน 


 



 


นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว อนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง และแร่ ได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบเรื่องสิทธิชุมชน กรณีนโยบายการพัฒนาและดำเนินการโครงการพัฒนาเหมืองแร่แตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และกรณีเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดีรธานี แล้วเสร็จตามที่ได้รับการร้องเรียน  จึงอยากจะมาพบปะชาวบ้านเพื่อเรียนรู้ปัญหาอย่างแท้จริงและนำรายงานดังกล่าวกลับมาให้ชุมชน แม้ว่ากรรมการสิทธิชุดนี้จะหมดวาระไปแล้วแต่ในระหว่างนี้ก็รักษาการตามกฎหมายระหว่างรอการสรรหาครั้งใหม่


 


"ขอชื่นชมพี่น้องที่ออกมาปกป้องทรัพยากรที่ไม่ใช่ทำเรื่องส่วนตัว  แต่เป็นเรื่องสาธารณะขอให้ชาวบ้านมีความมั่นใจ และภาคภูมิใจว่าตนเองได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นข้อกังขา เมื่อได้ทำอย่างเต็มที่ จนยืนหยัดด้วยตนเอง  แต่ชาวบ้านไม่ได้อยู่ลำพังต้องมีเพื่อนมีมิตรที่ลงแรงช่วยเหลือกัน ไม่ได้เอาแต่ใจช่วยแต่ต้องทำทุกทางเพื่อให้การต่อสู้ให้ยั่งยืนต่อไป ปัญหาเรื่องสิทธิในทรัพยากรนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะจบสิ้นวันนี้พรุ่งนี้ ปีสองปีนี้ แต่เป็นเรื่องที่เกิดยาวนานและกระจายไปทั่วประเทศ การต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ชาวอุดรกำลังทำอยู่นับว่าเป็นให้หลักให้ประเทศ เพราะสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่มีวันมีอยู่จริงถ้าประชาชนไม่ปฏิบัติการใช้สิทธิอย่างเข้มแข็ง "


 


นายเสน่ห์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่  29-30 เม.ย. 2551 จะจัดสัมมนาเรื่องสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อหารือว่าทางมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ นักวิชาการ จะเข้ามามีส่วนร่วมงานกับชาวบ้าน เพื่อที่จะปกป้องทรัพยากรของประเทศได้อย่างไร  นักวิชาการจะนั่งสอนหนังสืออย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องลงมาเรียนรู้กับชาวบ้าน ชาวบ้านเขามีความรู้มาก  นักวิชาการต้องมีประสบการณ์ร่วมกับชาวบ้านเพื่อเป็นการร่วมมือสร้างพลังการต่อสู้กับกับคนภายนอกที่มาคุกคาม อย่างเช่นการต่อต้านโครงการเหมืองแร่ฯ และขอเป็นกำลังใจและชื่นชมพลังการต่อสู้อันบริสุทธิ์


 


หยุดเปิดพื้นที่ 6 เหมืองโปแตชอีสานหยุดละเมิดสิทธิชุมชน


 


จากรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีนโยบายและการดำเนินโครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1] ระบุว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้มีนโยบายพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตซใต้ดินอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบข้อมูลแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เมื่อปี พ.ศ.2545 โดยกำหนดรับรองให้การทำเหมืองแร่ใต้ดินลึกเกิน 100 เมตรลงไป ไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของที่ดิน หลังจากนั้นมีกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้ยื่นขออาชญาบัตรสำรวจและผลิตแร่โปแตซ ได้แก่


1. บริษัท ธนสุนทร (1997) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 30,000 ไร่


 


2. บริษัท เหมืองไทยสินทรัพย์ จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่อำเภอคง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 28 แปลง เนื้อที่ 280,000 ไร่


 


3. บริษัท กรุงเทพโยธาอุตสาหการ จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซ จำนวน 10 แปลง เนื้อที่ 100,000 ไร่ ในท้องที่ตำบลบ้านทุ่ม ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมืองขอนแก่น และตำบลบ้านฝาง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น


 


4. บริษัท ไทยสารคามอะโกร โปแตซ จำกัด ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซในท้องที่ตำบลหนองเม็ก และตำบลบ่อพาน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่


 


5. บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตซ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตซในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่


 


นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เกิดปัญหาขัดแย้งกับประชาชนอีก 2 โครงการ คือ โครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียนของบริษัท เหมืองแร่โปแตซอาเซียน (เอ พี เอ็ม ซี) ยื่นประทานบัตรที่ตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านเพชร และตำบลห้วยทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 9,708 ไร่ และบริษัท อิตาเลียน - ไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ซื้อกิจการจากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ขอสัมปทานทำเหมืองใต้ดินแหล่งอุดรใต้ 22,437 ไร่ ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และแหล่งอุดรเหนือกว่า 52,000 ไร่ ในเขตเทศบาลนครอุดร อำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอหนองหาน และกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม รวม 74,437 ไร่  รวมแล้วจะมีพื้นที่ที่จะถูกพัฒนาให้เป็นเหมืองแร่ใต้ดินในภาคอีสานประมาณ 654,145 ไร่ ซึ่งล้วนอยู่ท่ามกลางชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมยังมีเป้าหมายจะพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีต่อเนื่องจากเกลือและโปแตซในพื้นที่ภาคอีสานต่อไป


 


คณะกรรมการสิทธิฯ มีความเห็นว่า เนื่องจากทุกคำขออยู่ในพื้นที่หวงห้ามเพื่อการศึกษาทดลองวิจัยตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 6 ทวิ ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาอนุญาตเปิดพื้นที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียก่อน จึงจะดำเนินการพิจารณาอนุญาตคำขอได้ และยังไม่มีผลการพิจารณาอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาแหล่งแร่โปแตซขึ้นมาใช้อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง ดังนั้น การพิจารณาให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจและออกประทานบัตร จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรการที่รอบคอบและรัดกุมเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หากประชาชนยังไม่ยอมรับก็ให้ชะลอการพิจารณาให้เปิดพื้นที่หวงห้ามเพื่อการศึกษาทดลองวิจัยตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๖ ทวิ ไว้ก่อน           


 


ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิฯ มีข้อเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ให้ชะลอการพิจารณาให้เปิดพื้นที่หวงห้ามเพื่อการศึกษาทดลองวิจัยตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 6 ทวิ ไว้ก่อน จนกว่าการพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตซเป็นที่ยอมรับของประชาชน


 


เหมืองโปแตชอุดรฯ ได้ไม่คุ้มเสียเมื่อรัฐมีรายได้เพียงร้อยละ 5


จากรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[2]  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี  ซึ่งระบุว่าเป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อราษฎร และคุณภาพสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมาก จำนวนผู้ได้รับผลกระทบสูงนับหมื่นคน พื้นที่โครงการซ้อนทับกับพื้นที่ที่มีราษฎรอยู่อาศัย ทำกิน มีทั้งชุมชนชนบท และชุมชนเมือง จึงสร้างความวิตกกังวลให้กับราษฎร  เพราะเป็นการทำเหมืองใต้ดินอยู่ด้านล่างของที่อยู่อาศัย ทำกิน มีทั้งชุมชนชนบท และชุมชนเมือง ราษฎรกลัวว่าหากเหมืองใต้ดินถล่ม จะทำให้ที่ดินด้านบนถล่มตามไปด้วย จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน


 


การขุดเกลือ น้ำเกลือ ฝุ่นเกลือ จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ที่ดินทำกิน รวมถึงน้ำเกลืออาจไหลลงแหล่งน้ำสำคัญทำให้กลายเป็นน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม เมื่อคิดค่าใช้จ่ายสำหรับ คาดว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากกว่ารายได้จากการขายแร่โปแตซ  หากเกิดปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม และสภาพแวดล้อมเสียหาย ฯลฯ ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาสูงมาก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นรัฐซึ่งหมายถึงคนไทยทั้งประเทศต้องเข้ามารับภาระในการแก้ไขปัญหา


 


ทั้งนี้ รายงานระบุว่าจากคำชี้แจงของผู้ประกอบการ ว่า การใช้แร่โปแตซที่ได้จากเหมืองจะใช้ในประเทศไทยใช้เพียง 20 % ของที่ขุดได้ อีก 80 % ส่งออก ดังนั้น เมื่อเทียบกับการซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเสียเองใน 20 % ดังกล่าว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับผลเสียต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กับปัญหาความวิตกกังวล และความแตกความสามัคคีของราษฎรและสภาพแวดล้อมที่เสียหาย น่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า และการทำเหมืองโปแตซนี้ทำให้รัฐมีรายได้ปีละประมาณ 600 ล้านบาท คิดแล้วไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้ของผู้ประกอบการเท่านั้น ตลอดทั้งการที่มีคนทำงานประมาณ 900 คน เห็นว่า ไม่คุ้มค่ากับผลเสียต่างๆ ที่จะตามมา เป็นต้นว่า ดินเสีย มลพิษ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ กับทั้ง หากคนงานไปทำงานอย่างอื่นก็จะได้รับค่าจ้างที่ไม่แตกต่างกัน


 


ดังนั้น การทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมในวงกว้างและยาวนานนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาความคุ้มค่าให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม มิใช่พิจารณาแต่เพียงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก


 


โครงการนี้ต้องดำเนินการให้เป็นโครงการตัวอย่างในเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยราษฎรในทุกขั้นตอนอย่างกว้างขวางที่สุด ตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจริเริ่มโครงการ การพิจารณาอนุมัติโครงการ การประกอบกิจการ การฟื้นฟูหลังเสร็จโครงการ และหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบจะต้องกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดและใกล้ชิด


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่าในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่บริษัทกำลังทำขึ้นใหม่นั้นต้องให้ราษฎรในพื้นที่เขตเหมืองแร่ และพื้นที่โดยรอบเข้ามีส่วนร่วม และควรตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวได้ดำเนินการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมคู่ขนานไปกับการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)


 


นางมณี  บุญรอด  รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  กล่าวว่า "แม้ว่าทางกรรมการสิทธิฯไม่อาจสั่งการให้ยกเลิกเหมืองแร่โปแตชได้  แต่การที่ชาวบ้านได้เรียนรู้และใช้สิทธิของเราในการปกป้องทรัพยากรมายาวนานกว่า 7 ปีที่อุดรฯ ก็เป็นแนวทางที่จะยืนยันว่าคนเล็กคนน้อยอย่างพวกเราก็มีชีวิต ชาวบ้านก็มีสิทธิ  ตอนนี้ที่อุดรธานีฝ่ายบริษัทกำลังผลักดันให้มีการรังวัดปักหมุดเพื่อจะทำเหมืองได้ไว ๆ   ในขณะที่กรรมการสิทธิฯ  ได้ทำรายงานโดยให้ความเห็นว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการใหญ่ที่จะกระทบผู้คนนับหมื่น  ทำใต้ชุมชน ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นต่อโครงการเพราะจะก่อผลกระทบน้ำเค็มดินเค็ม จนค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจะสูงกว่ารายได้จากการขายโปแตชเสียอีก  ในทำนองเดียวกันนี้โครงการเหมืองแร่ในอีก 6 โครงการใน 6 จังหวัดภาคอีสานก็กำลังดำเนินการเร่งรัดให้มีการเปิดพื้นที่  ตนเห็นว่าคนอีสานต้องตื่นในสิทธิของตัวเอง  และช่วยกันรักษาทรัพยากรเราไว้ให้ลูกหลาน" 


 






[1] สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.  รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน รายงานที่ ๒๓๙/๒๕๕๐ เรื่อง  สิทธิชุมชน กรณีนโยบายและการดำเนินโครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๑.



[2] สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.  รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน รายงานที่ ๑๐๐/๒๕๕๐ เรื่อง  สิทธิชุมชน กรณีนโยบายและการดำเนินโครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. วันที่ ๑๗ พฤษภาคม  ๒๕๕๑.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net