Skip to main content
sharethis

วานนี้ (30 เม.ย.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, มูลนิธิเพื่อนหญิง และมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน จัดเวทีสมัชชาผู้ใช้แรงงาน "ปฏิรูปประกันสังคมสู่การบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ" ณ ห้องประชุมสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ


 


ประกาศ 6 ข้อเสนอปฎิรูประบบประกันสังคม


โดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ "ถึงเวลาปฎิรูประบบประกันสังคม" ว่า 18 ปี นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.ประกันสังคม มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบประกันสังคมอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ความโปร่งใสและการรวมศูนย์ในการบริหาร การใช้งบประมาณจนถึงประสิทธิประโยชน์ที่ไม่ครอบคลุมผู้ประกันตนถ้วนหน้า รวมถึงประโยชน์ทดแทนที่ไม่เพียงพอต่อผู้ประกันตน จึงเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม



นางสาววิไลวรรณ กล่าวถึงข้อเสนอจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนว่า 1. ต้องการให้สำนักงานประกันสังคม เป็นองค์กรอิสระ 2. ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี 3. ปรับแก้มาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนตามสมัครใจจ่ายเงินสมทบหนึ่งเท่าตัว 4. การบริหารกองทุนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ประกันตน 5. ให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุใช้สิทธิรักษาพยาบาลในโครงการประกันสังคมต่อเนื่องตลอดชีวิต และ 6.ขยายการคุ้มครองของกฎหมายประกันสังคมไปยังแรงงานทุกภาคส่วน


 


ขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ: เสนอรัฐ-แรงงานนอกระบบ ร่วมจ่ายอัตราเดียวกัน


ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ ของเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ โดยมีข้อเสนอต่อการขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมกับนักวิชาการ นักวิจัยทางด้านนโยบายสวัสดิการสังคม ว่า ให้ใช้หลักการร่วมจ่ายระหว่างรัฐและแรงงานนอกระบบ โดยกำหนดเงินสมทบที่แรงงานนอกระบบร่วมจ่ายในอัตรา 200 บาทต่อเดือน และรัฐร่วมจ่ายในอัตราเดียวกัน และครอบคลุมสิทธิประโยชน์พื้นฐาน 4 กรณีได้แก่


 


จ่ายค่าชดเชย กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เฉพาะผู้ป่วยใน จ่ายวันละ 200 บาท ครั้งละไม่เกิน 10 วัน ปีละไม่เกิน 30 วัน โดยผู้เข้าประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และมีสิทธิใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กรณีทุพพลภาพ จ่ายเดือนละ 2,000 บาท ตลอดชีวิต โดยผู้เข้าประกันสังคมจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน กรณีตาย จ่ายค่าทำศพ 30,000 บาท เมื่อผู้เข้าประกันสังคมจ่างเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน และกรณีชราภาพ การเกิดสิทธิประโยชน์เป็นไปตามเงื่อนไขเวลาการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป


 


โดยมีเงื่อนไขในการจัดการเงินสมทบออกเป็น 2 ส่วน คือ 100 บาทแรกสำหรับการคุ้มครอง 3 สิทธิประโยชน์ได้แก่ จ่ายค่าชดเชย กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพและกรณีตาย และส่วนที่สอง สำหรับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ


 


นางสุจินกล่าวว่า เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาปรับแก้มาตรา 40 ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการเพื่อเกิดประโยชน์ต่อแรงงานนอกระบบอย่างแท้จริง และมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อให้เกิดผลในทางปฎิบัติภายใน 1 ปี 


 


ชี้ลูกจ้างในภาคเกษตรและครัวเรือน ถูกมองไม่ใช่ลูกจ้าง ทำให้ไม่มีหลักประกันรองรับ


ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กองทุนประกันสังคม มีเงินเกือบ 5 แสนล้าน ถือเป็นกองทุนภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ มีสมาชิกผู้ประกันตนทั้งหมดประมาณ 9.5 ล้านคน แต่ไม่ครอบคลุมลูกจ้างทั้งหมด เพราะเรามีลูกจ้างประมาณ 16 ล้านคน ถามว่าอีกประมาณ 3 ล้านกว่าคนหายไปไหน


 


ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ลูกจ้างที่หายไปและไม่ได้รับการคุ้มครอง เกือบทั้งหมดเป็นลูกจ้างในภาคเกษตรและภาคครัวเรือน คนขับรถ คนสวน คนใช้ในบ้าน ลูกจ้างปลูกยาง ตัดอ้อย ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ก็บอกว่า ไม่ใช่เกษตรกร กู้ไม่ได้ กองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอลก็ไม่ให้กู้ รวมทั้งยังไม่เป็นลูกจ้างตามกฎหมาย ตกลงจะให้เขาเป็นอะไร


 


ในสังคมปัจจุบัน เรากำลังเป็นสังคมอุตสาหกรรมเกือบเต็มตัวแล้ว ระบบอุตสาหกรรมได้กดดันให้ทุกคนต้องดิ้นรนทำกิน รับจ้างบ้าง ทำงานอิสระบ้าง คนไม่สามารถอยู่ในครอบครัวเดียวกันได้ เพราะต้องแยกย้ายกันไปหางานทำ ทำให้ไม่มีหลักประกันในครอบครัว ไม่มีชุมชนแบบโบราณอีกแล้ว ดังนั้น รัฐต้องเข้ามาจัดการดูแลให้ชีวิตของประชาชนมีหลักประกัน โดยการประกันสังคมถ้วนหน้า ทั้งนี้ การสร้างหลักประกันของชีวิตนั้นคงไม่สามารถสร้างขึ้นได้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม


 


ดร.ณรงค์ ตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้สมาชิกของสังคม ได้มีส่วนรู้เห็น กำหนดกฎเกณฑ์ และควบคุมนโยบายของกองทุนมหึมา ซึ่งอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะมีเงินหนึ่งล้านล้านบาท และว่า ที่ผ่านมา มีความสับสน ความไม่โปร่งใสในการใช้เงินจากกองทุน เช่น ที่บางสะพาน กองทุนประกันสังคม มีหุ้นในสหวิริยาที่มีปัญหากับชาวบ้าน สมาชิกประกันสังคม 9.5 ล้านคน ทำอะไรอยู่ ทำไมสมาชิกที่เป็นเจ้าของกองทุนเกือบไม่รู้เรื่องเลย ไม่เคยได้ใช้ประโยชน์จากเงินนั้นเลย


 


เขากล่าวว่า ในโลกอุตสาหกรรม ถ้าคนงานอ่อนแอ ไร้การจัดตั้ง ไร้การศึกษา ปัญหาก็จะทับถมไปเรื่อยๆ เพราะเงินก้อนนี้เป็นที่ปรารถนาของอำนาจรัฐ และอำนาจทุน


 


"พรุ่งนี้ (1 พ.ค.) เป็นวันแรงงาน จะมีคนงานกี่คนที่รู้ว่าวันแรงงานคืออะไร 10 กว่าปีที่ผ่านมาอำนาจรัฐพยายามทำให้วันแรงงานเกิดความแตกแยก แล้วคนงานก็รวมกันไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นวันแรงงานถูกทำให้เป็นวันแห่งความสนุกสนาน คนไม่ตระหนักในความสำคัญของวันแรงงาน ตราบใดก็ตามที่จิตวิญญาณการต่อสู้ของแรงงานถูกลืมเลือนไป การมีส่วนร่วม จะไม่เกิดขึ้นจริง โจทย์ใหญ่ร่วมกัน ที่จะตั้งคำถามคือ พวกเราได้พยายามมากน้อยแค่ไหนที่จะทำให้พวกเราเองเข้มแข็ง มีพลัง ข้อมูล ความคิด ข่าวสาร ที่จะจัดการกับตัวเองและกองทุนอันมหึมานี้"


 


 


ต่อมา เป็นการเสวนาเรื่อง "ผ่าโครงสร้างประกันสังคม สู่การบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงาน : ทิศทางไปทางไหน..?" ดำเนินรายการโดย ดร.ยุพดี  ศิริสินสุข คณะเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


อีก 4 ข้อเสนอปฎิรูปประกันสังคม


ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ. เสนอผลการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปประกันสังคม ซึ่งเก็บข้อมูลจากคน 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหารสถานประกอบการ ลูกจ้างระดับผู้นำ นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ว่า มีข้อเสนอ 4 ข้อคือ 1.การเปลี่ยนแปลงสถานภาพของสำนักงานประกันสังคม จากหน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรอิสระ ทั้งนี้ แนวคิดนี้เริ่มโดยรัฐบาลในปี 38 แต่กระแสเงียบหายไป จากนั้นลูกจ้างนำเรื่องนี้มาพูดใหม่ ในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสของการบริหารกองทุน โดยจากการระดมความเห็น การจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชนหรือองค์กรอิสระ ต้องใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน โดยภาครัฐมีข้อเสนอให้มีองค์กรภายนอก ทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของการบริหารกองทุนด้วย


 


2.การบริหาร สปส. และกองทุนประกันสังคม เกิดการตั้งคำถามว่า ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญของ สปส.นั้น เชี่ยวชาญจริงหรือ รวมถึงปัญหาเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและปัญหาเรื่องการขาดการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการ สปส. ระดับจังหวัด ซึ่งแม้กฎหมายจะกำหนดอำนาจไว้ แต่ไม่ค่อยมีอำนาจ อีกทั้งการเลือกบอร์ด สปส. ปัจจุบัน เลือกโดยผ่านสภาองค์การลูกจ้าง ทำให้ไม่ได้ตัวแทนที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนายจ้างเสนอให้เลือกโดยขยายขอบเขตออกไปนอกสมาคมนายจ้าง เพราะองค์กรที่มีบทบาทจริง คือ สภาหอการค้า ชมรมฝ่ายบุคคล ส่วนฝ่ายลูกจ้างเสนอให้เลือกตั้งในระบบสัดส่วนตามจำนวนสมาชิกของสหภาพ หรือเลือกตั้งตรงโดยผู้ประกันตน


 


ส่วนการบริหารกองทุน ลูกจ้างซึ่งจ่ายเงินเยอะกว่ารัฐบาล น่าจะมีสิทธิบริหาร โดยมีข้อเสนอว่า ลูกจ้างอาจนำเงินไปจัดสวัสดิการของลูกจ้าง อาทิ นำเงินบางส่วนไปลงทุน ทำโครงการเงินกู้ ธนาคารลูกจ้าง เพื่อให้นำดอกผลที่เกิดไปลงทุนจัดสวัสดิการให้ลูกจ้าง เช่น สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน


 


เสนอบูรณาการระบบประกันสังคม-สุขภาพถ้วนหน้า แก้ปัญหาจ่ายซ้ำซ้อน


3.การบูรณาการสวัสดิการด้านสุขภาพในระบบประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในอดีต ลูกจ้างในประกันสังคมไม่ค่อยยอมรับ เพราะเกรงว่า หากเอาสองส่วนรวมกันจะทำให้มาตรฐานการรักษาบริการแย่ลง เพราะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขณะนั้น ลูกจ้างรู้สึกว่า น่าจะแย่กว่า สอง เห็นว่า รัฐบาลเสนอเรื่องการรวมกองทุน เพราะต้องการแก้ปัญหาในกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ปัจจุบัน มีการเสนอเรื่องบูรณาการสองระบบขึ้นใหม่ โดยให้เหตุผลว่า สวัสดิการในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจมีมาตรฐานสูงกว่าระบบประกันสังคมด้วยซ้ำ นอกจากนี้ การมีสองระบบทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบ เพราะต้องจ่ายภาษีซ้ำซ้อน ทั้งเสียเงินเข้ากองทุนประกันสังคม และส่วนที่รัฐจะเอาไปใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


 


ดังนั้น จึงควรมีระบบเดียวที่คุ้มครองประชาชนโดยเท่าเทียมกัน โดยการบูรณาการต้องไม่ลดระดับคุณภาพของกลุ่มที่ดีอยู่แล้ว เช่น ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่ต้องยกระดับกลุ่มที่แย่กว่าให้ดีขึ้น และไม่มีการจ่ายภาษีซ้ำซ้อน


 


4.การขยายชอบเขตความคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ มีข้อถกเถียงเรื่องสิทธิประโยชน์ โดยแรงงานนอกระบบ ขอ 5 สิทธิประโยชน์ คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตร ไม่มีชราภาพกับว่างงาน อย่างไรก็ตาม จากการทำโฟกัสกรุ๊ป พบว่าหลายกลุ่มอยากให้มีกรณีชราภาพ


 


ส่วนการจ่ายเงินสมทบของกองทุนประกันสังคม มีทั้งที่เสนอจ่าย 5% ตามฐานรายได้ (150, 300, 450 บาทต่อเดือน), เฉลี่ยทุกกลุ่ม 150-200 บาท, ขณะที่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้เหตุผลว่า เงินเดือนค่อนข้างน้อย จึงยินดีจ่ายที่ 50-100 บาท ซึ่งยังหาจุดลงตัวไม่ค่อยได้


 


ส่วนใครจ่ายบ้างนั้น แรงงานนอกระบบ เสนอว่า ทั้งแรงงาน รัฐบาล และนายจ้าง ควรเป็นผู้จ่าย ส่วนรัฐบาลเสนอว่า แรงงานและรัฐบาลจ่าย เพราะตามนิยาม แรงงานนอกระบบไม่มีนายจ้าง รวมทั้งมีข้อเสนอว่า ให้แรงงานจ่ายฝ่ายเดียว ตามมาตรา 40 โดยรัฐบาลช่วยด้านการบริหาร แต่ยังไม่จ่าย


 


ดร.นภาพร แสดงความเห็นว่า ระบบเลือกตั้งของลูกจ้าง มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน โดยหากเลือกผ่านสหภาพ ก็จะส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบสหภาพ จัดการง่าย ไม่เปลืองงบในการจัดการเลือกตั้ง แต่ยังไม่เป็นตัวแทนของลูกจ้างส่วนใหญ่ เพราะสมาชิกสหภาพมี 3 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ประกันตนมี 9 ล้านกว่าคน


 


ส่วนการเลือกตั้งตรงนั้น มีข้อดีตรงที่ได้คนที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างส่วนใหญ่ แต่จุดอ่อน คือไม่ส่งเสริมระบบสหภาพแรงงาน อาจทำให้สหภาพลดความสำคัญลง และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสูง


 


ทั้งนี้ ดร.นภาพร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเสนอของแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจากฝ่ายไหน อยู่บนฐานของการคิดสวัสดิการหลายๆ ระบบ เช่น ไม่ขอสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เนื่องจากมองว่า มีเบี้ยสูงอายุ ซึ่งต่างจากลูกจ้างในระบบ ซึ่งมีฐานเดียวกันหมด


 


นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด จ่ายมากได้มาก จ่ายน้อยได้น้อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขตามหลักการของการประกันสังคม อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า อาจเพราะอยากให้กฎหมายออกมาเร็ว จึงใช้แนวคิดแบบนี้


 


ขยายความคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ: ย้ำหลักการ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข


ดร.นภาพร ได้เสนอหลักการขยายสู่แรงงานนอกระบบให้ใช้หลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพื่อกำหนดว่าใครจ่ายบ้าง และจ่ายเท่าไหร่ โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์ หรือกำไร ต้องมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการไม่ว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เกษตรพันธะสัญญา หรือบริษัทให้เช่าแท็กซี่ รัฐบาลเองก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบแรงงานในระบบและนอกระบบเท่าเทียมกัน ต้องมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เรื่องการขยายแรงงานนอกระบบ ผู้ว่าจ้าง กฎกระทรวง พ.ร.บ. และส่งเสริมความเข้มแข็งของการรวมกลุ่ม เครือข่าย


 


เสนอทุกกลุ่ม ใช้บริการด้านสุขภาพจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงประกันสังคม ต้องอยู่ในหลักการว่า สิทธิของคนทำงานทุกคน ทั้งในและนอกระบบ เป็นสิทธิที่เท่าเทียมกันหมด ประกันสังคมมีจุดด้อย คือ ครอบคลุมแรงงานส่วนน้อยของประเทศ แม้มีมาตรา 40 ก็ได้สิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียม ดังนั้นต้องขยายความคุ้มครองออกไป เพราะอัตราส่วนคนชรามากขึ้น ผู้สูงอายุที่จะเสียเปรียบคือ ผู้สูงอายุในชนบท เพราะไม่ได้อยู่ในระบบและได้เพียงเบี้ยสงเคราะห์เดือนละ 500 บาท และรายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินที่ลูกหลานส่งไปให้


 


ทั้งนี้ มองว่า ภาครัฐ ที่ถอนตัวจาก สปส. ไปเยอะตั้งแต่ วิกฤตเศรษฐกิจ 40 ต้องกลับมาดูแลให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีพื้นฐานความเป็นอยู่ที่ใช้ได้ โดยอาจเก็บเงินจากรัฐเพิ่ม และหากไม่มีนายจ้าง เสนอวิธีจัดการ โดยเก็บจากผู้ที่ได้ประโยชน์ อาทิ ผู้โดยสารแท็กซี่ ถือเป็นนายจ้างของคนขับ อาจเก็บอัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตรเพิ่ม เพื่อจ่ายเบี้ยประกันตนสังคมให้คนขับด้วย


 


นายจอน เสนอว่า เรื่องบริการสุขภาพ ควรให้อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหมด รวมถึงข้าราชการด้วย เนื่องจากผู้ประกันตนต้องจ่ายสองต่อ ทั้งบริการสุขภาพของตัวเอง และภาษีเงินได้และมูลค่าเพิ่มก็ไปจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพของคนอื่นในสังคม อย่างไรก็ตาม ต้องทำให้มั่นใจว่า สิทธิประโยชน์จะไม่เปลี่ยน โครงสร้าง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญบริหาร โดยมีความชัดเจนว่าเป็นกองทุนของผู้เกี่ยวข้องกับสามส่วน ทั้งนี้ เสนอว่า ลูกจ้างอาจมีตัวแทนมากกว่า เพราะเป็นคนรับผลประโยชน์


 


ในส่วนของตัวแทนลูกจ้างในบอร์ด สปส. นั้น ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ไม่แน่ใจว่า ลูกจ้าง 9 ล้านคนจะเลือกตัวแทนอย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าใครไว้ใจได้ เขาเสนอให้เลือกตามสัดส่วนสมาชิกสหภาพทั้งนี้ กฎหมายต้องเปิดให้ตั้งสหภาพได้สะดวกด้วย สุดท้าย แรงงานต้องมีองค์กรที่เข้มแข็ง และเรียกร้องจนกว่าจะได้สิทธิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net