Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2551 มูลนิธินิคม จันทรวิทุร ร่วมกับ สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานมอบรางวัลศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ประจำปี 2550 เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของ ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ผู้มีคุณูปการต่อผู้ใช้แรงงาน และผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นประธานการมอบรางวัล


ผลการตัดสิน รางวัลประเภทวิทยานิพนธ์ระดับดี จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ "รูปแบบและพัฒนาการของการควบคุมแรงงานโดยฝ่ายทุนในประเทศไทย" โดย นายตะวัน วรรณรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


"การรับรู้ด้านผลกระทบการประกอบอาชีพ และการปรับตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต่อการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย: กรณีศึกษาสมาชิกสหกรณ์โคนนมสันกำแพง" โดย น.ส.ยุคลธร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


"ความรู้และการใช้สิทธิจากการเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 กรณีศึกษาลูกจ้างในโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม จ.สมุทรสาคร" โดยนางอรวรรณ อรุณวิภาส บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมป์


ผลงานเรียงความประเภทนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย รางวัลระดับชมเชย 1 รางวัล ได้แก่ นางสาวอรอุมา ไชยลา ผลงานเรียงความประเภทผู้ใช้แรงงาน รางวัลระดับชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ นายบรรจบ ติมอญรัมย์ และนายวราพงษ์ ท่าขนุน ส่วนรางวัลบุคคลดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์ ยังไม่มีบุคคลผ่านเกณฑ์การคัดเลือก


00000


จากนั้นการอภิปราย เรื่อง "กฎหมายแรงงานกับคุณภาพชีวิตของแรงงาน: การสืบทอดเจตนารมณ์ของนิคม จันทรวิทุร" โดยมีผู้ร่วมอภิปราย อาทิ นางจันทวรรณ ทองสมบุญ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HOMENET) นายประสินธุ์ นาคกราย ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย และรองศาสตราจารย์มาลี พฤกษ์พงศาวลี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ดร.โชคชัย สุทธาเวศ เลขาธิการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร


นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่าที่ผ่านมากฎหมายเกี่ยวกันแรงงานไม่ได้ออกมาในลักษะที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน แต่เป็นไปในลักษณะควบคุม ยกตัวอย่างเช่น การตั้งสหภาพแรงงานที่ต้องมีการขอจดทะเบียน จำกัดจำนวนคนที่เข้าร่วม ต้องมีการรายงานข้อมูลสมาชิก ข้อมูลการประชุม อีกทั้งมีข้อกำหนดห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งที่ความเป็นจริงแรงงานทุกคนต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการเลือกตั้ง


ทั้งนี้ นายสาวิทย์แสดงความคิดเห็นว่า หน่วยงานของรัฐมองว่าการรวมตัวกันเป็นสหภาพที่เข้มแข็งของขบวนการแรงงานจะเป็นอุปสรรคและปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งส่งผลให้การรณรงค์รับอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ไม่ได้รับการตอบสนอง แม้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมก่อตั้งไอแอลโอ เพราะเมื่อรับรองแล้วสิ่งที่ตามมาคือ การเปิดโอกาสให้ข้าราชการตั้งสหภาพแรงงานได้


"การที่คุณจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดถึงเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานข้าราชการจะนำไปสู่เรื่องของอำมาตยาธิปไตย และก็จะทำให้เกิดสงคราม อันนี้คือทรรศนะที่ผมคิดว่าทำให้เห็นว่า ทำไมเรื่องของขบวนการแรงงานถึงไม่เติมโต" นายสาวิทย์กล่าว


ในส่วนของความต้องการของแรงงานรัฐวิสาหกิจ นายสาวิทย์ กล่าวว่าต้องการให้มีกฎหมายเพียงฉบับเดียว โดยให้มีการประมวลกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานมารวบรวมเป็นเล่มเดียว โดยไม่มีการแบ่งแยกว่ารัฐวิสาหกิจหรือเอกชน ซึ่งการได้มาก็คงต้องมีการต่อสู้ ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องถึงประชาชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ รวมถึงข้าราชการ ให้เข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานซึ่งถือเป็นสิ่งที่ประกันถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


"สหภาพแรงงานในประเทศเรา กลายเป็นพวกชอบปิดถนน พวกสร้างความวุ่นวาย พวกทำลายการลงทุน ทั้งที่ความเป็นจริงเค้าไม่มีทางเลือก เค้าไม่มีทางที่จะเดิน ไม่มีแม้แต่รูที่จะลอด เค้าจึงจำเป็นที่จะต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น" นายสาวิทย์กล่าว


นายสาวิทย์ยกตัวอย่างเรื่องค่าจ้างฐานต่ำสุดประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมี 22 เกรด แต่ทั้งประเทศต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาเดียวกัน อีกทั้งราคาน้ำมันยังสูงขึ้นตามระยะทางที่ห่างจากกรุงเทพฯ ทำให้มีการเสนอยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด และประกาศอัตราค่าจ้างเดียวทั้งประเทศเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น และในขณะที่กระทรวงแรงงานยังถกเถียงกันว่าจะเพิ่มค่าจ้างอีก 8 บาท หรือ 9 บาท ล่าสุด กทม.ก็ได้ประกาศขึ้นค่าจ้างให้กับลูกจ้างของ กทม.อีก 2,000 บาทแล้ว


"ไม่มีโอกาสที่ประเทศชาตินี้จะพัฒนาได้ ตราบใดที่ยังปล่อยให้คนในประเทศยากจน" นายสาวิทย์กล่าว


ด้าน นายประสินธุ์ นาคกราย ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการรวมกลุ่มของสมาพันธ์ฯ มีจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างนอกเงินงบประมาณของรัฐ (หน่วยงานจ่ายค่าจ้างเอง) จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 43 จังหวัดทั่วประเทศ กว่า 86,000 คน ซึ่งกลุ่มลูกจ้างเหล่านี้มีความรู้ความสามารถไม่ต่างกับลูกจ้างกลุ่มอื่นในการให้บริการสาธารณสุข แต่กลับไม่ได้รับการดูแลและคุ้มครองตามกฎหมายใดๆ ด้วยเหตุผลว่าเป็นลูกจ้างภาครัฐ แต่ไม่ใช่ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ


"อย่างกฎหมายแรงงาน (พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์  พ.ศ. 2518) มาตราที่ 4 ก็บอกว่าไม่ได้บังคับแก่หน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กลายเป็นว่าผมก็ต้องตก พ.ร.บ.ฉบับนี้ไป ไปดูกฎหมายรัฐวิสาหกิจ (พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543) ผมก็ไม่เข้า ไปดู พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว ผมก็ไม่เข้าอีก กลายเป็นว่าผมเป็นลูกจ้างชั่วคราว 7 ชั่วโคตร" นายประสินธุ์กล่าวถึงการมีกฎหมายแต่ไม่ได้ดูแลครอบคลุมถึงแรงงานที่เป็นลูกจ้างภาครัฐ ทำให้ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้หลังจากทำงานอยู่ในระบบลูกจ้างชั่วคราวมากว่า 30 ปี


นายประสินธุ์ กล่าวต่อว่า การที่รัฐมีนโยบายจำกัดจำนวนข้าราชการและลูกจ้างประจำ เพื่อลดรายจ่ายด้านเงินเดือนและการดูแลสวัสดิการต่างๆ ในระบบราชการโดยใช้แนวทางการจ้างงานรูปแบบอื่น เช่น จ้างงานชั่วคราว จ้างตามสัญญา และการจ้างเหมาจ่ายบริษัทเอกชน ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีรายได้อยู่ที่ 2,500-4,500 บาทต่อเดือน และไม่มีความก้าวหน้าทางอายุการทำงาน ในส่วนการคุ้มครองสวัสดิการก็ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน อีกทั้งไม่มีหลักประกันในการรวมตัวเพื่อต่อรองหรือจัดตั้งสหภาพแรงงาน


ทั้งนี้ ข้อเสนอของกลุ่มคือ การขึ้นค่าแรงให้แก่กลุ่มแรงงานในภาครัฐ เพื่อความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว ปรับเลื่อนอัตราค่าจ้างขึ้นตามอายุงาน และที่สำคัญที่สุดคือให้มีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิการ และสิทธิต่างๆ ของแรงงานในกลุ่มนี้ด้วย


ส่วน นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่าถึงแรงงานนอกระบบว่า จากสถิติปี 2549 พบว่าประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบกว่า 22.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศ (36.3 ล้านคน) ซึ่งผู้ใช้แรงงานเหล่านี้อยู่นอกเหนือการคุ้มครองของกฎหมายหลักๆ ในประเทศ


นางสุนทรี ยกตัวอย่างแรงงานในภาคเกษตรโดยเฉพาะในระบบเกษตรพันธสัญญา และผู้รับงานไปทำที่บ้านว่า เป็นแรงงานนอกระบบที่ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานหลายประการ ทั้งค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม การทำงานที่มีความเสียงและมีอันตรายต่อสุขภาพไม่ได้ต่างจากแรงงานในระบบ แต่กลับเข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆ ของรัฐ รวมถึงไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวเพื่อต่อรองทั้งมีนายจ้างหรือผู้ได้รับผลประโยชน์จากการทำงานโดยตรง


สาเหตุเนื่องมาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานไม่ได้ครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ ในขณะที่กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ.2547 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานเกษตรกรรม พ.ศ.2548 ไม่ได้ให้การคุ้มครองที่เพียงพอ และไม่สามารถบังคับได้จริง อย่างไรก็ตาม ความพยายามผลักดันกฎหมายแรงงานนอกระบบเพื่อการบังคับมีมาโดยตลอด แต่ที่เกิดปัญหาขึ้นนั้นเป็นผลจากความไม่จริงใจของหน่วยงานรัฐ


นางสุนทรี กล่าวต่อว่า เครือข่ายแรงงานนอกระบบได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องที่จะให้มีการขยายการประกันสังคมเข้าสู่แรงงานนอกระบบ และในส่วนตัวที่ได้เข้าไปร่วมเป็นอนุกรรมการเตรียมการขยายการประกันสังคมเข้าสู่แรงงานนอกระบบ ก็ได้จัดทำชุดข้อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคมอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2548 แต่ในปี 2551 โครงการขยายการประกันสังคมเข้าสู่แรงงานนอกระบบกำลังจะถอยกลับไปมาตรา 40 ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นมาตรที่เปิดไว้สำหรับการประกันตนโดยสมัครใจของผู้ที่ไม่ใช่ลูกจ้าง เพราะสำนักงานประกันสังคมกลับจะให้ทำประชาพิจารณ์ใหม่ ในวันที่ 7 พ.ค.นี้


"เสียงเค้าไม่ดัง เพราะเกรงในนายจ้างกลัวไม่ได้งานทำอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ถ้าภาครัฐยังเกรงใจนายจ้างมากกว่า อนาคตของแรงงานเหล่านี้คงลำบาก" นางสุนทรีกล่าว


รองศาสตราจารย์มาลี พฤกษ์พงศาวลี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเรื่องตัวกฎหมายและกระบวนการร่างกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตว่า ไม่ได้ทุ่มเททรัพยากร และเวลาเท่าที่ควรในเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งแต่ละกลุ่มต่างก็ต้องการร่างกฎหมายของตัวเอง ทำให้การจัดการล่าช้ากว่าความเป็นจริงที่ ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายก็มีปัญหา เพราะการฝากความหวังกับระบบราชการมากเกินไปทั้งที่ระบบราชการไม่ได้รองรับสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว รวมทั้งการจ้างงานมีการขยายตัวและมีความสลับซับซ้อนมาก ระบบราชการไม่สามารถรับมือในส่วนนั้นได้ จำเป็นต้องมีแรงหนุนช่วยหรือระบบที่จะมาช่วยเสริมเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น


"กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน มันก็พัฒนามามากในเชิงของลายลักษณ์อักษร และด้วยเจตนาที่ดีก็ได้เขียนอะไรต่ออะไรไว้ ซึ่งบางทีมันการเป็นการชี้ช่องทางให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน" รองศาสตราจารย์มาลีกล่าว พร้อมเสริมว่าในส่วนของลูกจ้างเองควรเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของตนเองตามกฎหมาย ซึ่งองค์กรของฝ่ายลูกจ้างก็พยายามทำแต่ก็ยังคงต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนอยู่


"มันเป็นภาวะที่มีความสลับซับซ่อน ไม่รู้ว่าจะออกตรงไหน เริ่มทำตรงไหน แต่ดิฉันเชื่อว่าถ้าเรามีการผสานความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และพยายามที่จะดูว่าปัญหามันคืออะไร และมันพัฒนาไปถึงจุดไหน แล้วควรจะต้องช่วยกันยังไง มันก็คงพอจะมีแสงสว่างอยู่บ้าง" รองศาสตราจารย์มาลีกล่าวถึงการจัดการปัญหาแรงงาน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net