กรมชลฯ ฟื้น "เขื่อนสายบุรี"งบ3พันล้าน NGOใต้ผวาแกนนำต้านถูกยิงตายแล้ว 3

 

ประชาไท - นายมนตรี โสภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการก่อสร้าง สำนักงานก่อสร้าง 11 สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้จัดส่งหนัง เอกสารสรุปโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างและพรุบาเจาะ - ไม้แก่น ไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พร้อมกับจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับผู้นำและชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว รวมทั้งเพื่อสอบถามว่าชาวบ้านในพื้นที่ยังมีความต้องการโครงการนี้หรือไม่ หรือยังมีการต่อต้านอยู่ดังเช่นในอดีต

 

"ยังต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่มาก เพื่อให้เห็นว่าโครงการนี้มีความสำคัญ โดยเฉพาะในการแก้ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ และการรุกตัวของน้ำเค็ม อีกทั้งผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีความเหมาะสมและจำเป็นต้องสร้าง แต่การทำงานท่ากลางสถานการณ์ความไม่สงบนั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก"นายมนตรี กล่าว

นายมนตรี เปิดเผยอีกว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากเป็นโครงการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 นายกรัฐมนตรีเห็นว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และรัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดเพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร และลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ประกอบกับโครงการนี้เป็นหนึ่งในแผนหลักของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นายมนตรี เปิดเผยต่อว่า ดังนั้น กรมชลประทานพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันราษฎรมีความต้องการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมด้านต่างๆ และจะทำให้สภาพความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น เห็นควรทบทวนการดำเนินงานโครงการนี้อีกครั้ง และทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงได้สนับสนุนโครงการนี้ด้วย จึงเสนองบประมาณเพื่อดำเนินโครงการไปประมาณ 3,000 ล้านบาท

ด้าน นางสาวลม้าย มานะการ กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) เปิดเผยว่า โครงการนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ประท้วงคัดค้านมาแล้ว เมื่อปี 2535 - 2536 จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกไว้ก่อน ดังนั้นเมื่อมีหนังสือดังกล่าวส่งไปยัง อบต.อาซ่อง ทำให้ชาวบ้านเกรงว่ารัฐบาลจะรื้อฟื้นโครงการเขื่อนสายบุรีขึ้นมาอีกแน่นอน ทำให้ชาวบ้านหวาดผวามาก

ก่อนหน้านี้ นางสาวลม้าย ได้เปิดเผยเรื่องนี้ในที่ประชุมสัมมนาเรื่อง แผนพัฒนาภาคใต้ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 มาแล้ว

โดยครั้งนั้น นางสาวละม้าย ระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่หวาดผวามาก เนื่องจากแกนนำที่เคยคัดค้านโครงการเขื่อนสายบุรีถูกยิงเสียชีวิตไปเมื่อปี 2550 แล้ว 1 คน และในปี 2551 นี้ ถูกยิงเสียชีวิตไปอีก 2 คน บาดเจ็บ 3 คน จึงเกรงว่าหากออกมาคัดค้านอีก อาจถูกทำร้ายได้

ขณะที่ตัวแทนกรมชลประทานซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ระบุว่า กรชลประทานคงไม่มีกองกำลังที่จะไปทำอย่างนั้นได้แน่นอน

สำหรับโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่มี 2535 โดยผลการศึกษาสรุปว่า การสร้างเขื่อนทดน้ำ ณ บ้านกะดูตง มีความเหมาะสม แต่ในปี 2535 - 2536 ชาวบ้านได้รวมตัวกันประท้วงและต่อต้านโครงการเนื่องจากเกรงว่า พื้นที่ของโครงการบางส่วนอาจซ้อนทับกับสุสานอิสลาม และเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนกระทั่ง คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน2540 ให้ยกเลิกโครงการไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2542 พบว่าทั้งสองโครงการนี้ควรดำเนินการด้วยกัน จึงให้ศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นเพื่อให้มีการปรับปรุงและก่อสร้างโดยเร็ว






รายละเอียดโครงการ

สำหรับรายละเอียดของโครงการดังกล่าวที่ปรากฏในเว็บไซด์ของสำนักโครงการขนาดใหญ่ http://web.rid.go.th/lproject/const/project/13lumruyai/saiburi.html ระบุว่า เป็นโครงการในความรับผิดชอบของสำนักสำนักงานก่อสร้าง 13 สำนักโครงการขนาดใหญ่ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่26/70-71 ม.7 บ.บางหลาโอน ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 82190

ส่วนที่ตั้งโครงการ อยู่ที่บ้านกะดูตง ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2553 - 2560 งบประมาณทั้งโครงการ 1,775.440 ล้านบาท ลักษณะโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำขนาด 12.5X6 เมตร 8 ช่อง ประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำฝั่งขวา ขนาด 6x3.5 เมตร 1 ช่อง ส่งน้ำผ่านท่อระบายน้ำ ขนาด 2-2.85x3 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 13 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นอกจากนี้ยังมี ทางระบายน้ำฉุกเฉินยาว 650 เมตร ระบายน้ำได้ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำนบดินปิดกั้นลำน้ำเดิมยาว 220 เมตรสูง 17 เมตร และ ระบบส่งละระบายน้ำ สำหรับพื้นที่ชลประทาน 39,530 ไร่ ประกอบด้วยคลองดาดคอนกรีต 25 สาย ความยาวรวม 140 กิโลเมตร คลองระบายน้ำ 13 สาย ยาวรวม 42 กิโลเมตร และคันกั้นน้ำเค็ม 7 สาย ยาวรวม 1.5 กิโลเมตร

ส่วนโครงการพรุบาเจาะ - ไม้แก่น ประกอบด้วยระบบส่งน้ำให้กับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ประมาณ 20,000 ไร่ ประกอบด้วย คลองส่งน้ำดาดคอนกรีตยาว 5 กิโลเมตรและปรับปรุงคลองเดิมเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำยะกัง ยาว 4.4 กิโลเมตร ระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมและไฟไหม้พรุ ประกอบด้วยงานขุดลอกคลองระบายน้ำเดิม และขุดคลองใหม่สายที่ 4 ยาวประมาณ 13.3 กิโลเมตร คลองระบายน้ำเปรี้ยวลงสู่ทะเลป้องกันไม่ให้มีการระบายน้ำลงคลองสายบุรีในช่องฤดูฝน ยาวประมาณ 5.3 กิโลเมตร






ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างและพรุบาเจาะ - ไม้แก่น (ปรากฏในเว็บไซด์ http://web.rid.go.th/lproject/lsp13/con_s/prawat_s.htm)

... เกิดขึ้นเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2528 ว่า "ควรพิจารณาสร้างเขื่อนทดน้ำในลำน้ำสายบุรีตอนล่าง บริเวณอำเภอรามัน จังหวัดยะลา เพื่อจัดหาส่งน้ำในพื้นที่ เพาะปลูก สองฝั่งแม่น้ำสายบุรีตอนล่าง ในเขตอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และในเขตอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรในเขตโครงการสามารถ ทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี นอกจากนี้ยังช่วยให้ราษฎรในเขตโครงการจนจรดชายทะเล มีน้ำจืดไว้ใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปีอีกด้วย"

ต่อมา วันที่ 8 มกราคม 2530 กรมชลประทานได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างเป็นประธานคณะทำงานทำหน้าที่ทบทวนรายงานและจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรี ให้สอดคล้องกับพระราชดำริ

ผลการศึกษาสรุปว่า การสร้างเขื่อนทดน้ำ ณ บ้านกะดูตง ตำบลอาซอง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีความเหมาะสม ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2535 ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานเพิ่มเติมดังนี้.-

"ควรเร่งรัดงานก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เสร็จโดยเร็ว และควรพิจารณาความเป็นไปได้  ได้ในการขยายระบบส่งน้ำทางฝั่งซ้ายไปช่วยเสริมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองน้ำจืด - คลองแฆแฆ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ด้วย"

ปี พ.ศ.2535 - 2536 ได้มีกลุ่มราษฎรรวมตัวกันทำการประท้วง และต่อต้านโครงการเนื่องจากเกรงว่า พื้นที่ของโครงการบางส่วนอาจซ้อนทับกับสุสานอิสลาม และเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน และจัดทดแผนการจัดการทรัพยากรน้ำบริเวณลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างอย่างเป็นระบบเสียก่อน

ในขณะที่กรมชลประทานได้ชี้แจง และดำเนินการตามสรุปโครงการศึกษาศักยภาพของการพัฒนาแหล่งน้ำในระดับลุ่มน้ำ สำหรับลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กันยายน 2537 และจากผลการประชุมเจรจาแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 ให้ยกเลิกการดำเนินการโครงการเขื่อนสายบุรี จังหวัดยะลาไว้ก่อน

กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา อันประกอบด้วย บริษัท พอล คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2540 ให้ทำการศึกษา เพื่อจัดทำแผนหลักศึกษาความเหมาะสม และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักของโครงการฯ ได้แล้วเสร็จ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2542 พบว่าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง และพรุบาเจาะ - ไม้แก่น เป็นโครงการที่สำคัญโครงการหนึ่ง ซึ่งควรดำเนินการด้วยกัน จึงได้รับเลือกให้ทำการศึกษาความเหมาะสมและ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นเพื่อให้มีการปรับปรุงและก่อสร้างโดยเร็ว

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 นายกรัฐมนตรีเห็นว่าในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เป็น เป็นจำนวนมาก รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา , ปัตตานี , นราธิวาส) เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร และลดปัญหา ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่

กรมชลประทานพิจารณาแล้วเห็นว่าในปัจจุบันราษฎรมีความต้องการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นซึ่งหากมีการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างได้แล้วจะทำให้สภาพความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น เห็นควรทบทวนการดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง และพรุบาเจาะ-ไม้แก่นอีกครั้ง โดยขอทราบความคิดเห็นจากผู้มีความเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ประกอบการพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรในพื้นที่ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท