Skip to main content
sharethis

วันที่ 1 พ.ค. 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันกรรมกรสากล สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) ร่วมกันจัดงาน "วันแรงงานแห่งชาติ" ประจำปี พ.ศ. 2551 ขึ้น ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีสาขาจังหวัดลำพูน โดยมีการเดินขบวนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานออกจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูน มาจนถึงสถานที่จัดงาน


 


 


บรรยากาศการเดินขบวน


 



 



 



 



บรรยากาศในงาน

 



 



 




 


 


หลังจากนั้นจึงมีการขึ้นปราศรัยบนเวที โดย ธารา ทิมาเกตุ ตัวแทนจาก สอฟส.ออกมาพูดถึงความสำคัญของวันแรงงานสากล พร้อมพูดถึงสภาพชีวิตของแรงงานกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า แม้ค่าแรงน้อย แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเวลาในการทำงานก็มีมากเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัว และศึกษาหาความรู้ ตัวแทนจากสหภาพอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้นายจ้างรับรู้ปัญหาของลูกจ้างมากกว่านี้


 



"อยากให้คิดว่าลูกจ้างคือหุ้นส่วน ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างก็อยู่ได้"


 


ต่อมา นายจ๋อน ลุงทร ตัวแทนจากแรงงานข้ามชาติออกมาเสนอว่า อยากจะให้มีเวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแรงงาน เรียกร้องให้ทางภาครัฐจัดบัตรแรงงานใหม่ให้กับแรงงานข้ามชาติเนื่องจากแรงงานข้ามชาติหลายคนยังไม่มีบัตร มีการบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานข้ามชาติตามกฎหมายกำหนด ให้ทางภาครัฐปรับค่าจ้างตามค่าครองชีพที่มากขึ้น และอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเดินทางออกนอกประเทศได้


 




"อยากจะให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามที่กฏหมายกำหนด"


 


รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นมาพูดบนเวทีว่า กรรมกรเกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนที่ไม่มีที่ดิน ไม่มีกรรมสิทธิ์เป็นของตัวเอง ก็ต้องเข้าไปเป็นกรรมกร คนเหล่านี้คือผู้ที่เสียเปรียบ ทำให้ต้องมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา รศ.ดร.วรวิทย์ บอกอีกว่านิคมอุตสาหกรรมเกิดจากการส่งเสริมการลงทุนโดยรัฐบาล การจัดตั้งสหภาพแรงงาน 2 แห่ง ในนิคมนี้ ถือเป็นหน้าแรกของประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมกรในภาคเหนือ


 



"ในวันนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีการเดินขบวนสร้างจิตสำนึกร่วมกันของแรงงาน ไม่มีมิติของความเป็นชาติในความเป็นแรงงาน ทุกคนล้วนเป็นผู้ใช้แรงงานด้วยกันทั้งสิ้น"


 


ด้าน นายสมศักดิ์ โยอินชัย ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ก็ได้ขึ้นมาให้กำลังใจพี่น้องแรงงาน และบอกว่าพี่น้องแรงงานส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานของที่มาจากภาคเกษตร "แต่ไม่ว่าจะเป็นชาวนาทำงานกลางแดดหรือคนงานทำงานในร่ม ก็ทุกข์เหมือนกัน" โดยนายสมศักดิ์บอกอีกว่าฉะนั้นทั้งชาวนาและกรรมกรควรจะร่วมกันต่อสู้ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่นักศึกษา ชาวนา กรรมกร ออกมาเรียกร้องร่วมกัน


 



"ทรัพยากรที่นำมาใช้ในโรงงานก็เป็นดิน น้ำ ป่า เป็นทรัพยากรของแผ่นดินเรา


ใช้ดินใช้น้ำของเราแล้ว ก็จ้างลูกหลานเราเป็นแรงงาน แต่เรากลับได้ตอบแทนมาแค่เศษเงิน


จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เราจะออกมาเรียกร้อง"


 


จากนั้นตัวแทนสหภาพฯ ทั้งสองสหภาพฯ ก็ได้ขึ้นเวทีเพื่อยืนแถลงการณ์ "วันแรงงานแห่งชาติ" ให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ฝ่ายแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม นายบรรหาร บูรณประภา เนื้อหาของแถลงการณ์มีเนื้อหาเรื่องความเป็นมาของวันกรรมกรสากล (May day) รวมถึงรายละเอียดข้อเรียกร้องของแรงงานประจำปี 2551 เพื่อเสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในประเด็นเรื่องค่าจ้างไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แก้กฎหมายหยุดงานคอรบจักรวาลที่นำมาใช้ขัดขวางขบวนการเรียกร้อง เรื่องสวัสดิการ การคุ้มครองสุขภาพให้กับแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ หรือ แรงงานข้ามชาติ


 



ตัวแทนจากสหภาพแรงงานฯ ส่งมอบแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้กับรองผู้ว่าฯ


 


 


000


 


 


 


 


แถลงการณ์ "วันแรงงานแห่งชาติ"


 


            วันกรรมกรสากล หรือ วันเมย์เดย์ (May Day) มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุตของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องประสพกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานแต่อย่างใด


            สภาพดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้แรงงานมีการเคลื่อนไหวเพื่อการต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปหลายประเทศทั้งในยุโรป, อเมริกา, ละติน อเมริกา, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย


            ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องระบบสามแปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐ และนายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงรงงานที่ออกมาเรียกร้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ภายหลังจากนั้น สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาก็ได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปดอีกครั้งหนึ่ง โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433


            ขณะเดียวกันในช่วงนั้นก็เริ่มมีแนวคิดที่จะประกาศวันที่แน่นอนให้เป็น วันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก จนกระทั่ง พ.ศ.2432 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้มติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานตามที่สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้กำหนดไว้แล้ว และได้ กำหนดให้


            วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากล และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก มติดังกล่าวได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง และการยืนหยัดต่อสู้ของคนงานชิคาโกและอื่นๆ ก็สามารถทำให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมงในทุกๆ แห่งนั้น จึงถือว่า 1 พฤษภาคม วันกรรมกรสากล เป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกร ซึ่งกรรมกรทั่วโลก เป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกร ซึ่งกรรมกรทั่วโลกจะจัดให้มีการชุมนุมเดินขบวน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากการขูดรีดของทุนนิยม


            ในประเทศไทย การจัดงานวันกรรมกรสากลในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพรวมกับสมาคมไตรจักร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน ปีต่อมา การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ.2490 จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงภายใต้คำขวัญ "กรรมกรทั้งหลาย จงสามัคคีกัน" กล่าวได้ว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกรโดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง


            อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีการรัฐประหารยึดอำนาจเกิดขึ้น และรัฐบาลเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ได้ห้ามจัดงานวันกรรมกรสากลอีก จนกระทั่งในปี 2499 กรรมกร 16 หน่วย ซึ่งเป็นการรวมตัวแบบใหม่ของขบวนการกรรมกร มีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่าง ๆ ได้เคลื่อนไหวให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นอีกครั้ง ผลการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเผด็จการ ทำให้กรรมกรจำต้องยอมรับเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อ วันกรรมกรสากล เป็นวันแรงงานแห่งชาติ การควบคุมแทรกแซงโดยรัฐบาลเผด็จการในครั้งนั้น ทำให้วันกรรมกรสากลถูกแทรกแซงจากรัฐมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน เนื้อหา และรูปแบบของการจัดงานมักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล และบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งเน้นไปในเรื่องกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน ไม่มีการสะท้อนปัญหาและวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน


            สำหรับที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2551 ถือได้ว่าเป็นการจัดเป็นครั้งแรกโดยคนงาน ซึ่งเป็นความร่วมมือของสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) และสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) เพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ของแรงงาน และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้แรงงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูนได้เห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มของคนงาน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของแรงงาน นำมาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงาน ทั้งนี้เพราะแรงงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูนยังประสบปัญหาการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน การถูกกดขี่ ปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัย ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากค่าจ้างและสวัสดิการที่ต่ำกว่าค่าครองชีพในปัจจุบัน


 


ดังนั้นจึงได้มีข้อเรียกร้องของแรงงาน เพื่อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการ โดยถือเป็นข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2551 คือ


 


1.) ให้มีการปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ให้เท่ากันทั่วประเทศ เป็น วันละ 233 บาท เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่สูงทั่วประเทศ


2.) ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 75 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กรณีนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว ทั้งนี้เนื่องจากนายจ้างได้ใช้ประโยชน์ช่องว่างทางกฎหมายนี้ มาใช้เพื่อเป็นการกดดันการรวมกลุ่มของคนงานและทำลายสหภาพแรงงาน


3.) ขอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ในประเด็นการคุ้มครองผู้จัดตั้งสหภาพแรงงาน


4.) ขอให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การเจรจาต่อรอง กับคนงานทุก ๆ บริษัท ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน


5.) ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. ... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)


6.) ให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการขยายความคุ้มครองด้านสุขภาพไปยังแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ และแรงงานข้ามชาติ โดยการเข้าถึงกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน


7.) ให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ และแรงงานข้ามชาติ


8.) ขอให้จังหวัดลำพูนจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีคณะกรรมการในรูปแบบพหุภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง (แรงงานในระบบ / แรงงานนอกระบบ / แรงงานภาคบริการ / แรงงานข้ามชาติ) และตัวแทนภาควิชาการ (นักวิชาการด้านแรงงาน / องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน / ทนายความด้านแรงงาน)


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net