Skip to main content
sharethis

ผมรู้จักปุ๋ยพร้อมเอ๋และเล็กซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกของกลุ่มสวัสดิภาพแรงงานแห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ความรู้สึกที่ผมมีต่อปุ๋ยและเพื่อนในเวลานั้นคือคนกลุ่มนี้ค่อนข้างประหลาด เพราะมีบุคลิกไม่เหมือนเพื่อนนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยไหนเลย


 


ปุ๋ยและเพื่อนนั้นไม่เหมือนพวกเด็กธรรมศาสตร์ จุฬา หรือมหิดล ไม่ว่าจะในแง่คำพูดคำจา การแต่งตัว หรือวิธีคิด ซ้ำพวกเขาก็ไม่เหมือนเด็กรามที่ผมรู้จักอีกหลายคนที่มักพูดจาโอ่อ่าด้วยภาษาแบบซ้าย ขณะที่ปุ๋ยกับเพื่อนกลุ่มสวัสดิภาพแรงงานดูซ้ายไม่มากนัก ถึงจะสนใจปัญหากรรมกรในสมัยที่ไม่มีใครสนใจเรื่องกรรมกรแล้วก็ตามที


 


ปี 2533 ที่ผมพบกับปุ๋ยและเพื่อนนั้นคือปีที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายอย่าง ในด้านหนึ่งคือเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบหลังการฆ่าหมู่ประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลา ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งเราก็เริ่มเห็นภาพชัดว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลนายทุนที่เอานักการเมืองท้องถิ่นมาอยู่ในคณะรัฐมนตรีเต็มไปหมด นั่นหมายความว่าเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ระบอบเลือกตั้งเริ่มแสดงคุณลักษณะของทุนนิยมออกมาแล้ว จึงเป็นช่วงที่ชาวบ้านและคนชั้นล่างเผชิญกับการทารุณกรรมโดยนโยบายรัฐด้านต่างๆ เช่นการกดค่าแรง การทำลายแหล่งน้ำ การทำนาเกลือ การยุบสหภาพแรงงาน ฯลฯ


 


ที่ผมจำปุ๋ยและเพื่อนได้แม่นเป็นพิเศษก็เพราะผมคิดว่า เขาเป็นตัวแทนของนักกิจกรรมกลุ่มที่ไม่ได้คิดว่าการเมืองคือการต่อสู้ระหว่างทุนกับปืนต่อไปอีกแล้ว การเคลื่อนไหวการเมืองจึงไม่ควรอยู่ในกรอบของการเลือกว่าจะเป็นมิตรกับพลังฝ่ายไหนดี ระหว่างเผด็จการอำนาจนิยมของกองทัพและระบบราชการที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นศูนย์กลางในขณะนั้น กับระหว่างประชาธิปไตยรัฐสภาที่หลายคนอธิบายว่า เท่ากับประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ขณะที่นักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเกลียดนายทุนจนหันไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวการเมืองของพลังฝ่ายแรก ส่วนผู้แทนของนักศึกษาในองค์การนักศึกษาหรือสหพันธ์นิสิตนักศึกษาก็เกลียดทหารจนดื่มด่ำใจกับการมีสายสัมพันธ์พิเศษกับทีมงานบ้านพิษณุโลกของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และเคลื่อนไหวเชิงปกป้องรัฐบาลพรรคชาติไทยในขณะนั้น


 


ตัวอย่างสำคัญของเรื่องนี้คือในช่วงปลายปี 2533 ที่ชนะ ผาสุกสกุล นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเสาวนีย์ จิตรื่น เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ไปออกโทรทัศน์รายการสดทางช่อง 9 ซึ่งเป็นของรัฐบาลในเวลานั้น เพื่อโจมตี ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ นักศึกษารามคำแหงที่ประกาศจะเผาตัวตายหาก พล.อ.ชาติชาย ไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเด็นหลักที่ผู้แทนนักศึกษาสองคนพูดไปทั่วประเทศในคืนนั้นคือ ธนาวุฒิไม่ใช่นักศึกษาจริง ซ้ำยังเคลื่อนไหวเพราะมีการเมืองแอบแฝง ทำนองว่ามีทหารและ พล.อ.ชวลิต หนุนหลังก็ว่าได้


 


(หมายเหตุกองบรรณาธิการ : ประชาไทได้รับการยินยอมจากเจ้าของบทความให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความส่วนนี้หลังได้รับการท้วงติงจาก ชนะ ผาสุกสกุล ว่าข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งนี้ ชนะ ผาสุกสกุลไม่ได้ไปออกรายการทีวีในกรณีธนาวุฒิคู่กับเสาวนีย์ จิตรื่น และไม่เคยพูดว่าธนาวุฒิไม่ใช่นักศึกษาจริง เป็นแต่เพียงการตอบคำถามว่า ธนาวุฒิ ไม่ใช่ สนนท. จึงเรียนมาเพื่อแจ้งต่อผู้อ่าน)  


 


ที่น่าเศร้าก็คือหลังจากนั้นไม่กี่วัน ธนาวุฒิก็เผาตัวตายหน้ารามคำแหงจริงๆ


 


ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ปุ๋ยและเพื่อนไม่ได้สนใจความเคลื่อนไหวการเมืองอะไรแบบนี้ พวกเขาเหมือนกับคนรุ่นเดียวกันอีกจำนวนหนึ่งที่เริ่มสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม การทำลายป่าไม้ การสร้างเขื่อน การไล่ที่ชาวบ้านในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ แต่ปุ๋ยกับเพื่อนก็เหลื่อมจากคนอื่นนิดๆ ตรงที่พวกเขาสนใจปัญหากรรมกร ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ประหลาด เพราะในเวลานั้นก็เป็นเรื่องที่มีนักศึกษาไม่กี่คนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ นับหัวจากทุกมหาวิทยาลัยรวมกันอย่างเต็มที่ก็ไม่น่าถึงสิบคนด้วยซ้ำ


 


ผมเจอปุ๋ยในช่วงที่คนงานภาคเอกชนเริ่มมีการรวมกลุ่มและก่อการเคลื่อนไหวของตัวเองอย่างอิสระหลายเรื่อง เช่นเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ผลักดันกฎหมายประกันสังคม ต่อต้านระบบการจ้างงานระยะสั้น รวมทั้งมีการนัดหยุดงานสำคัญอีกสองสามหน ที่ประหลาดคือความเคลื่อนไหวของกรรมกรแบบนี้เกิดขึ้นโดยนักศึกษาไม่ให้ความสนใจแม้แต่น้อย ทำให้ผมจำปุ๋ยและเพื่อนได้มาก เพราะเขาเป็นนักศึกษาจำนวนน้อยที่สนใจปัญหากรรมกรในสมัยที่ไม่มีใครสนใจ


 


มีอยู่สองเรื่องแน่ๆ ที่ผมจำได้ว่าปุ๋ยและเพื่อนมาเกี่ยวข้อง นั่นก็คือเรื่องกฎหมายประกันสังคม และเรื่องคนงานโรงงานตราอูฐ เพราะทั้งปุ๋ยและเพื่อนกลุ่มสวัสดิภาพแรงงานคนอื่นๆ มาช่วยคนงานเคลื่อนไหวเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่เป็นข่าวหน้าหนึ่ง ประเด็นประกันสังคมที่สู้กันในขณะนั้นคือให้รัฐสภาผ่านกฎหมายประกันสังคมอย่างไม่มีเงื่อนไข คัดค้านไม่ให้วุฒิสมาชิกสายทหารคว่ำกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งโจมตีการที่ทหารสาย พล.อ.เปรม และ พล.อ.ชวลิต ใช้การคว่ำกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการคว่ำรัฐบาล


 


ควรระบุด้วยว่า แม้จะเป็นหน้าใหม่ในวงการนักกิจกรรม แต่ปุ๋ยและเพื่อนกลุ่มสวัสดิภาพแรงงานนั้นก็ห้าวหาญถึงขั้นจัดปราศรัยในโรงอาหารและหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งที่ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในองค์กรนักศึกษา ซึ่งก็เท่ากับว่า พวกเขาไม่มีเงินทุนหรืออุปกรณ์ในการปราศรัยแม้แต่น้อย การเคลื่อนไหวจึงมาจากการลงขันและดิ้นรนกันเองล้วนๆ ขณะที่องค์กรนักศึกษาและนักสหภาพแรงงานบางกลุ่มเพิ่งจะสนใจเรื่องประกันสังคมหลังจากเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์เพราะคนงานเอกชนระดับฐาน ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน 3-4 แห่ง ได้ดิ้นรนต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างสุดกำลัง


 


กรณีโรงงานตราอูฐก็สำคัญ เพราะคนงานตราอูฐถูกนายจ้างเลิกงานหลังตั้งสหภาพและหยุดงานได้ไม่นานนัก แต่เพราะเป็นโรงงานขนาดเล็ก มีคนงานไม่มากนัก การเลิกจ้างจึงเกิดขึ้นโดยไม่มีใครสนใจ ถึงขั้นที่ตอนนั้นผมถูกคนงานขอให้นัดผู้นำนักศึกษาบางคนมาร่วมพูดคุยด้วยว่าจะช่วยเหลืออะไรคนงานได้บ้าง แต่พอมาถึงวันนัดหมาย ผู้นำนักศึกษาก็หายไปเฉยๆ ต่างจากปุ๋ยและเพื่อนที่ลงไปพูดคุยกับคนงานกลุ่มนี้หลายครั้ง ถึงจะมีผลอะไรไม่มาก แต่ในแง่สมานฉันท์และการให้กำลังใจก็เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนงานที่ไม่มีอะไรเลย


 


แน่นอนว่าคนงานตราอูฐจบการชุมนุมด้วยความพ่ายแพ้ หลังจากนั้นผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าปุ๋ยหันไปสนใจเรื่องอะไร มาเจอกันอีกทีก็ตอนเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งก็อีกนั่นแหละที่ผมเจอกับปุ๋ยที่หน้ารัฐสภาในเวลาที่นักการเมือง ผู้นำนักศึกษา นักวิชาการ หรือสื่อมวลชนยังให้ความสำคัญกับการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่มากนัก นั่นก็คือตอนที่คุณฉลาด วรฉัตร ประกาศอดข้าวที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน จนกว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูรจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จะเพราะคุณฉลาดมีชื่อเสียงน้อยเกินไป หรือกระแสการเมืองยังไม่สูงให้ใครโหนกระแสได้ก็ตามแต่ คุณฉลาดก็อดข้าวอยู่หน้าสภาได้เดือนกว่าๆ จึงเริ่มมีคนสนใจ


 


ตั้งแต่วันแรกที่คุณฉลาดอดข้าว ผมพบปุ๋ยหลายครั้ง คงเพราะปุ๋ยไม่เห็นด้วยกับนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และคงเพราะปุ๋ยจะมาให้กำลังใจเพื่อนอีกคนอย่าง กุ้ย - ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ที่กินนอนอยู่กับคุณฉลาดจนแทบไม่เป็นผู้เป็นคนและไม่เหมือนนักศึกษาไปแล้ว


 


ช่วงนั้นเองที่ผมเจอปุ๋ยค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในช่วงเย็นที่มีกิจกรรมปราศรัยและแสดงดนตรีหน้ารัฐสภา ซึ่งก็ควรระบุด้วยว่าเป็นการปราศรัยที่มีคนร่วมสูงสุดไม่เกิน 500 คน ทำให้มีนักการเมืองหรือผู้นำนักศึกษามาร่วมชุมนุมไม่มากนัก จะหาคนขึ้นอภิปรายหรือแสดงดนตรีแต่ละทีก็แสนยาก คนที่พูดก็พูดจนช้ำและซ้ำซากไปหมด ต่างจากเมื่อ พล.ต.จำลอง ร่วมประกาศอดอาหารในวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ทั้งผู้นำนักศึกษา นักการเมือง นักเคลื่อนไหว อดีตคนเดือนตุลา ฯลฯ แห่กันเสนอตัวขึ้นเวทีปราศรัยจนแทบเหยียบกันตาย นอกจากนั้นก็เจอกันในยามดึกเวลาที่พวกนักศึกษามาประชุมที่บ้านผมหลังหยุดการชุมนุม


 


ความประทับใจที่ผมมีต่อปุ๋ยอีกเรื่องคือ เขาเป็นนักศึกษาไม่กี่คนที่ไม่ได้หนีหรือถอนตัวจากที่ชุมนุมเดือนพฤษภาเมื่อทหารได้ปราบปรามประชาชนแล้ว ประเด็นนี้สำคัญ เพราะนักกิจกรรมนักศึกษาทั้งหมดมีมติออกจากที่ชุมนุม จากนั้นไม่นาน ผู้นำนักศึกษาอย่างปริญญา เทวานฤมิตรกุล และกรุณา บัวคำศรี ก็หายไปจากถนนราชดำเนิน ไม่ไปปรากฏตัวที่เวทีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะโผล่มาอีกทีก็ต่อเมื่อการชุมนุมจบลงด้วยชัยชนะของประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ปุ๋ยเป็นหนึ่งในเพื่อนของพวกเราอีกหลายคน เช่น อุทัย บารมี โป๊ะ พฤกษ์ ยอด กุ้ย วิมล กึ๋ย ฯลฯ ซึ่งอยู่ในที่ชุมนุมตลอดเวลาทั้งบนถนนราชดำเนินหรือลาน สวป.


 


เรื่องที่ผมไม่เข้าใจก็คือ ทำไมคนอย่างปุ๋ยและเพื่อนที่ราม ที่พระนครเหนือ ที่บางมด ที่เกษตร ที่ธรรมศาสตร์ ที่จุฬา ฯลฯ อีกหลายคนที่รักประชาชนและทำงานเพื่อส่วนรวมมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษากลับไม่เคยมีตำแหน่งในองค์การนักศึกษาหรือสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยแม้แต่ครั้งเดียว ฤาเพราะองค์กรแบบนี้เล็กไปสำหรับคนที่หัวใจใหญ่เกินตัว


 


เรียนจบแล้วปุ๋ยไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับกรรมกร แต่ไปทำงานกับชาวบ้านทางภาคใต้อยู่พักใหญ่ จากนั้น ผมคงเหมือนเพื่อนอีกหลายคนที่ไม่ประหลาดใจที่ปุ๋ยแปรสภาพตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาคนจนไปอย่างแน่นแฟ้น


 


เพราะทางของเขาเป็นแบบนี้ จะเป็นทางอื่นไปคงไม่ได้


 


เรื่องที่ประหลาดใจคือ ปุ๋ยซึ่งปกติไม่ใช่คนที่นิยมเสนอหน้าตัวเองผ่านสื่อหรือทำตัวให้โดดเด่นในเวทีปราศรัยกลับเป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจนในการชุมนุมและเจรจากับรัฐบาลหลายต่อหลายชุด แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่มีใครเคยได้ยินคนนินทาว่าร้ายว่าปุ๋ยทำแบบนี้เพื่อโปรโมทตัวเอง อยากดัง ฯลฯ รวมทั้งไม่เคยได้ยินว่าปุ๋ยมีท่าทีครอบงำชาวบ้านแม้แต่ครั้งเดียว


 


ความทรงจำที่ผมมีต่อปุ๋ยคงไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องของปุ๋ยกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และรัฐประหาร ผมโชคดีที่ไม่ได้อยู่เมืองไทยช่วงที่คุณทักษิณ ชินวัตรขายหุ้น และเอนจีโอเข้าไปโหนกระแสเคลื่อนไหวร่วมกับสนธิ ลิ้มทองกุล ผ่านการจัดตั้งพันธมิตรฯ จึงพลาดโอกาสที่จะได้ดื่มด่ำกับความตื่นตัวทางการเมืองที่ยิ่งนานก็ยิ่งเบี่ยงเบนจากพลังประชาธิปไตยเป็นพลังฝ่ายขวา แต่ก็ทำให้คนรุ่นเดียวกับพวกเราจำนวนมากรวมตัวกันจนรู้ว่า พวกเราคิดและมีทรรศนะคติทางการเมืองไม่เหมือนกับนักกิจกรรมหรือปัญญาชนรุ่นก่อนแน่ๆ


 


หลักฐานของการรวมตัวนี้คือการออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภา 2535 ในวันที่ 3 มีนาคม 2549 (http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=1256&SystemModuleKey=SpecialNews&System_Session_Language=Thai) และ 11 มีนาคม 2549 (http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=1332&SystemModuleKey=SpecialNews&System_Session_Language=Thai) เพื่อคัดค้านแนวทางพระราชอำนาจและเรียกร้องนายกฯ จากการแต่งตั้งของฝ่ายพันธมิตร ยืนยันความสำคัญของการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งต่อต้านการปฏิรูปการเมืองภายใต้ชนชั้นนำ นักวิชาการ และนักกฎหมายมหาชน


 


ผมจงใจพูดเรื่องนี้เพื่อเตือนให้เห็นว่า ความพยายามคัดค้านแนวทางการเมืองแบบพันธมิตรฯ เริ่มต้นจากนักกิจกรรมทางสังคมที่มีฐานหลากรุ่น หลายอาชีพ หลายความเป็นมา เรามีคนอย่างปุ๋ย, เปี๊ยก สมเกียรติ, ชูวัส, จูน, เอ๋ วัฒนชัย, หนึ่ง สุรสม, อ้วน วายที, หมอจุ๊ก, ไผ่, ยอด, พฤกษ์, กุ้ย, ต๋อม, จ๋า, มานะ, เบิ้ม, นก, ภาสกร, อุเชนทร์, เอ๊ดดี้, เปี๊ยก บัณฑิต ไปจนถึงคนรุ่นพี่จุ๊, ตุ่น, หยิน, ป่าน, แจง, มน, มดแดง, แพ้บ, ปุ๊, ยุ้ย, แพท, โฉด ฯลฯ เยอะแยะไปหมด รวมถึงคนที่อยู่นอกวงการกิจกรรมของพวกเราอย่าง ต้อย ภาณุ, อภิชาตพงศ์, ปุ่น ธัญสก, ธิดา, พี่หมู ไบโอสโคป, จูน อภิวัฒน์ พูดสั้นๆ คือเป็นเครือข่ายที่มีตั้งแต่นักกิจกรรมฝ่ายซ้ายไปจนถึงผู้กำกับหนังนอกกระแสสังคม


 


ในแง่นี้ การวิจารณ์พันธมิตรฯและการเมืองแบบพระราชอำนาจจึงไม่ได้เริ่มต้นหรือกระจุกตัวอยู่ที่นักวิชาการชื่อดัง ด๊อกเตอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือปัญญาชนเว็บบอร์ดบางคนอย่างที่ใครหลายคนอาจเข้าใจ แต่เป็นเครือข่ายของคนธรรมดาที่รักประชาธิปไตยและเชื่อการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมแบบนี้ต่างหากที่เริ่มต้นเปิดความเคลื่อนไหวทางความคิดแบบนี้ขึ้นมา


 


ในกรณีของปุ๋ยและสมัชชาคนจนนั้น พวกเขาถึงขั้นจัดเสวนาภายในเพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน หลายต่อหลายหนด้วย เรื่องนี้แสดงจุดยืนของปุ๋ยและพรรคพวกได้ดี เพราะเสียงส่วนใหญ่ขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักเคลื่อนไหวในเวลานั้นคือการโหนกระแสพันธมิตรฯ เพื่อขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ปุ๋ยอยู่ในกระแสของการตั้งคำถามกับแนวทางนี้มาตลอดเวลา


 


ในวันที่ 25 กันยายน ซึ่งเครือข่าย 19 กันยายน จัดชุมนุมต้านรัฐประหารขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปุ๋ยได้มาร่วมชุมนุมกับพวกเราและคนธรรมดาที่รักประชาธิปไตยอีกหลายคนด้วย เขาอยู่ในขบวนแถวประชาชนที่เคลื่อนจากธรรมศาสตร์ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พูดอีกอย่างคือ เขาอยู่ในกลุ่มเดินขบวนครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังทหารยึดอำนาจ อยู่ในขณะที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก อยู่ในสถานการณ์ที่การชุมนุมมีโอกาสถูกทหารทำร้ายได้ตลอดเวลา โดยที่เมื่อมีการรณรงค์เรื่องไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ปุ๋ยก็มีบทบาทแบบนี้ด้วยเช่นกัน แม้เขาจะอยู่ในพื้นที่ซึ่งทหารถือว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษเพื่อบังคับให้ประชาชนรับรัฐธรรมนูญก็ตามที


 


ถ้าปุ๋ยเป็นฝ่ายซ้าย หรือพวกเราเป็นคนรุ่นเดือนตุลา บทรำลึกนี้ก็คงจบลงด้วยประโยคประเภทหลับให้สบายเถิด ลูกของประชาชน แต่ปุ๋ยคงไม่ชอบบทลงท้ายแบบนี้แน่ๆ และเพื่อนของพวกเราหลายคนคงไม่ชอบแบบนี้ด้วย


 


ความรู้สึกที่พวกเรามีต่อการเสียชีวิตของปุ๋ย ไม่ได้เป็นเพราะปุ๋ยเป็นลูกของประชาชน นักรบของประชาชน แต่เพราะปุ๋ยเป็นเพื่อนของพวกเรา มีประสบการณ์บางแบบร่วมกันมาเกือบสองทศวรรษ เป็นหนึ่งในคนรุ่นราวคราวเดียวกันจำนวนน้อยที่มีชีวิตอย่างเสียสละ เตือนให้เห็นว่าอุดมคติมีอยู่จริง


 


บทสนทนาที่พวกเราหลายคนมีต่อปุ๋ยและเพื่อนคนอี่นจึงวนเวียนอยู่กับความเป็นห่วงการใช้ชีวิตโดยนึกถึงแต่ผู้อื่นในลักษณะนี้ เพราะชีวิตแบบนี้มันยาก หนัก มีต้นทุน มีราคา ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำอย่างปุ๋ยได้ และก็ไม่แน่ใจว่าพวกเราจะแข็งแรงพอจะโอบอุ้มกันไปได้อีกกี่วัน


 


ในชีวิตของคนเรานั้น คงมีคนไม่กี่คนที่เราดีใจที่ได้รู้จัก และคงมีคนน้อยลงไปอีกที่เราภูมิใจ ปุ๋ยเป็นคนหนึ่งที่เพื่อนหลายคนรู้สึกต่อเขาในลักษณะนี้ จึงได้แต่หวังว่า สักวันพวกเราจะได้อยู่ร่วมกันในโลกที่อุดมคติไม่ได้เป็นแค่ตัวอักษรอีกต่อไป


 


 


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


21.10 / 2 พฤษภาคม 2551


 


 


 


.....................


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สิ้นนักสู้สมัชชาคนจนอีก 1 "ปุ๋ย-นันทโชติ ชัยรัตน์" - โพสท์ 2/5/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net