กรรมการค่าจ้างขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อยู่ที่ 2-11 บาท

วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 08.30 น.ที่กระทรวงแรงงานมีการประชุมพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ มีผู้แทนฝ่ายรัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง เข้าร่วมประชุม โดยนายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม ซึ่งใช้เวลานานกว่า 5 ชม. และเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 13.30 น. จากนั้นนายจุฑาธวัช ในฐานะคณะกรรมการค่าจ้างกลางได้เป็นผู้แถลงผลการประชุมดังกล่าว

นายจุฑาธวัช เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยใช้อัตราเงินเฟ้อ 5% เป็นฐานในการตัดสินใจ เป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 2-11 บาท โดยจังหวัดที่ได้รับการปรับ 11 บาท มีเพียง 1 จังหวัด คือ จ.เชียงราย (จากเดิมค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 146 บาท ขึ้นเป็น 157 บาท) เนื่องจากเนื่องจากมีอัตราค่าครองชีพรวมทั้งเงินเฟ้อสูงสุด ขณะที่จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้น 9 บาท มีทั้งหมด 9 จังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพฯ จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สระบุรี จ.เชียงใหม่ และ จ.อุบลราชธานี

จังหวัดที่ปรับขึ้น 8 บาท มี 12 จังหวัด คือ จ.กาญจนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ปราจีนบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ระยอง จ.ราชบุรี จ. อุทัยธานี จ.ยโสธร จ.เลย จ.อำนาจเจริญ และ จ.ชุมพร

 

จังหวัดที่มีการปรับขึ้น 7 บาท มี 10 จังหวัด คือ จ.อ่างทอง จ.กำแพงเพชร จ.น่าน จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.อุดรธานี จ.ปัตตานี จ.ยะลา

 

จังหวัดที่ปรับ 6 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ตราด จากวันละ จ.นครนายก จ.พะเยา จ.หนองบัวลำพู จ.พังงา และ จ.ระนอง

 

จังหวัดที่ปรับขึ้น 5บาท มี 21 จังหวัด คือ จ.จันทบุรี จ.ชลบุรี จ.ชัยนาท จ.ลพบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สระแก้ว จ.สิงห์บุรี จ.สุพรรณบุรี จ.นครสวรรค์ จ.เพชรบูรณ์ จ.ลำปาง จ.นครพนม จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.กระบี่ จ.นครศรีธรรมราช จ.นราธิวาส จ.พัทลุง จ.สงขลาจาก จ.สตูล จ.สุราษฎรธานี

 

จังหวัดที่ปรับขึ้น 4 บาท มี 13จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบุรีจาก จ.ตาก จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.แพร่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำพูน จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ศรีษะเกษ จ.สุรินทร์ จ.ภูเก็ต จ.มุกดาหาร

 

นอกจากนี้ จังหวัดที่ปรับขึ้น 3 บาท มี 1จังหวัด คือ จ.ตรัง ส่วนจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุด คือ 2 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ และ จ.ชัยภูมิ ตามที่อนุกรรรมการจังหวัดเป็นผู้เสนอมาเนื่องจากค่าครองชีพไม่ได้มากเหมือนจังหวัดอื่น

นายจุฑาธวัชกล่าวต่อว่า จะนำผลการประชุมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว เสนอไปทางนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน แรงงานลงนามก่อน และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันทีภายในวันที่ 1 มิ.ย.51อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี เพราะนายจ้างพิจารณาจากพื้นฐานความเป็นจริงของแต่ละจังหวัดและมีการตกลงกันว่า หากอัตราเงินเฟ้อไม่สูงไปกว่านี้ก็จะไม่มีการเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างปลายปี 2551

"การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.51 โดยการขึ้นค้าจ้างครั้งนี้อาจจะไม่มีการปรับขึ้นครั้งเดียว แต่อาจมีการปรับขึ้นค่าจ้างอีกครั้งในช่วงปลายปี ซึ่งจะต้องพิจารณาในเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้นรวบไปถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นด้วย" นายจุฑาธวัช กล่าว

ทั้งนี้นายจุฑาธวัชกล่าวยืนยันว่า สาเหตุการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ไมได้มาจากการกดดันของลูกจ้าง แต่คณะกรรมการได้ตกลงกันตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.แล้ว อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง เช่น ภาษี การควบคุมราคาสินค้า ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการเลิกจ้าง มีคนตกงานตามมาอีกเยอะ

สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นครั้งที่สองในรอบ 1 ปี ก่อนหน้านี้ในวันที่ 1 ม.ค.51 มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้วครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ก็เป็นครั้งแรกที่มีการปรับในอัตราสูงสุดมากถึง 11 บาท เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการปรับสูงสุดเพียง 10 บาท

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท