Skip to main content
sharethis

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์


 


หัวข้ออภิปรายน่าสนใจของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ในวันนักเขียน 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมาคือเรื่อง "หมาเฝ้าบ้าน: อุดมการณ์หนังสือพิมพ์"?


 


ผู้ที่ร่วมอภิปรายในวันนั้นคือ คุณ อัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ คุณ บุญเลิศ คชายุทธเดช แห่ง มติชน และผู้เขียน โดยมีคุณภัทร จึงกานต์กุล พิธีกรข่าวทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นผู้ดำเนินรายการ


 


หัวข้อหมาเฝ้าบ้านที่สมาคมนักเขียนกำหนดให้พูด มีเครื่องหมายคำถาม คล้ายยังสงสัยว่าหมาเฝ้าบ้านเป็นอุดมการณ์หนังสือพิมพ์ตามที่ผู้รับรางวัลศรีบูรพาปีนี้ คือคุณสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการ บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป กล่าวไว้ จริงหรือ?


 


ข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นบทร่างสำหรับการเข้าร่วมอภิปรายดังกล่าว


 


โดยทั่วไป สื่อมักอธิบายบทบาทของสื่อในฐานะ "หมาเฝ้าบ้าน" หรือ "watchdog: a dog who provides protection by watching for   or   guarding against intruders" ว่าเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้อำนาจรัฐที่อาจเป็นภัยต่อประชาชน เหมือนหมาที่คอยเห่า เตือน ระแวดระวังภัยให้เจ้าของบ้าน ซึ่งฟังดูเป็นหน้าที่สำคัญมาก แม้ว่าหน้าที่หมาเฝ้าบ้านจะเป็นเพียงภารกิจหนึ่งในหลายภารกิจของสื่อสารมวลชน ที่ต่างมีความสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะ "การทำความจริงให้ปรากฎ"


 


คนที่มองสื่อในฐานะหมาเฝ้าบ้านมักถามว่า หมาเอาอะไรมาประเมินว่าใครคือ intruders ที่ต้องเห่าและกัด ซึ่งหมาคงบอกว่าตอบง่ายมากในแง่คำตอบพึงประสงค์ นั่นคือเห่าและกัดคนเลว แต่คำถามนี้ตอบยากกว่ามากเมื่อลงรายละเอียดซึ่งจะมีคำถามซ้อนคำถาม


 


โดยหลักการแล้ว การทำหน้าที่ watchdog ของสื่อ คือการตรวจสอบอำนาจรัฐว่าได้ใช้ไปอย่างยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชน หรือของพลเมืองทั้งหมดของประเทศ หรือไม่และ อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มใหญ่ มีผลประโยชน์ต้องกันหรือขัดกันอย่างไร ทุกคนและทุกฝ่ายต้องได้รับความยุติธรรมอันพึงมีพึงได้จากรัฐ


 


การตรวจสอบการทำงานของรัฐ มิให้ผู้ใช้อำนาจรัฐแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวจากรัฐ เป็นงานของทุกคนที่อยู่นอกอำนาจรัฐ กล่าวคือ เป็นงานภาคพลเมือง มิใช่หน้าที่ของสื่อสารมวลชนตามลำพัง แต่สื่อสารมวลชนได้รับการคาดหวังว่า ควรทำหน้าที่นี้ได้เข้มแข็งกว่า เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ถือครองอำนาจสะดวกกว่านั่นเอง


 


สิ่งที่จะเป็นปัญหากับสื่อมวลชนหรือหมาเฝ้าบ้านผู้ตรวจสอบ ก็คือเมื่อคนในบ้านรู้สึกว่า หมาเฝ้าบ้านเห่าและไล่กัดจนมั่ว กระทั่งเห็นคนในบ้านเป็นศัตรูผู้รุกราน


 


หมาบางตัวอาจเห่าสิ่งที่สมควรเห่าจริง 1 ส่วน แล้วเห่าจินตนาการที่เกิดจากความหวาดกลัวของตัวเองอีก 9 ส่วน หรือหมาบางตัวที่ตัดสินไปแล้วตามอำเภอใจว่าคนในบ้านบางคนเป็นโจร อาจเห่าจริง 1 ส่วน แล้วเห่าลวง 9 ส่วนเพื่อให้คนในบ้านที่หมาตัดสินว่าเป็นโจรย่ามใจออกมาเดินนอกบ้านให้หมางับคอหอย


 


พูดแบบภาษาคน (ที่ไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นหมากำลังเห่า) ก็คือ ณ เวลานี้นอกจากสื่อที่แสดงพฤติกรรมเป็นคำถามว่า กำลังทำงานการเมืองเพื่อกำจัดคู่แข่งใช่หรือไม่ จึงสามารถทำทุกอย่างโดยไม่กำจัดรูปแบบ เพื่อทำลายล้างคนคิดต่างให้สิ้นซาก


 


คนทำสื่อทั่วไปก็ยังเข้าร่วมขบวนการกำจัดมนุษย์คิดต่างด้วย เพราะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์ความดีและความถูกต้อง ซึ่งต้องรับผิดชอบขจัดความเลวให้หมดไปจากโลก


 


ในเรื่องทั่วไปที่ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง ผู้พิทักษ์ความดีและความถูกต้องก็มักอ้างสิทธิของผู้มีความรู้ดีและมีศีลธรรมดี (ซึ่งไม่จริงเสมอไป) ตัดสินบุคคลในข่าว ว่า เป็นคนผิด คนเลว ตามทัศนคติของเรา นินทาว่าร้ายบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะที่อ้างว่าเป็นบุคคลสาธารณะ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับคำพูดและข้อเขียนที่นำเสนอ


 


เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เมื่อคนจำนวนไม่น้อยกล่าวว่า อันที่จริงแล้วสื่อไม่เคยสนใจประชาชนอย่างจริงจัง เพราะประเด็นเสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชนนั้น เมื่อเอาเข้าจริงแล้ว ก็คล้ายกับสื่อต้องการเสรีภาพ เพียงเพื่อโอกาสกล่าวหาใส่ร้ายคนอื่นอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น


 


เมื่อเชื่อในเรื่องการผูกขาดเป็นผู้พิทักษ์ความดีและความถูกต้อง คนทำสื่อจำนวนมากก็เชื่ออย่างจริงใจและภาคภูมิใจว่า พวกเขากำลังทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้านที่ส่งเสียงเห่าเตือนภัยเจ้าของบ้าน ไม่ให้ "คนอื่น" ซึ่งเป็นคนผิดและเลว มาบุกรุกทำลายบ้าน ซึ่งนับว่าเข้าทางคนที่รู้วิธีใช้สื่อเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูพอดี


 


ทัศนะที่มองว่า "คนอื่น" ซึ่งไม่ใช่เราผิดและเลว สนับสนุนให้มอง "คนคิดต่าง" เป็นอื่นเสมอ ผิดเสมอ เลวเสมอ กล่าวให้ชัดคือ เป็นศัตรูตัวฉกาจที่กำลังคุกคามบ้านของเรา คุกคามการดำรงอยู่ของเรา คุกคามชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเรา


 


เป็นภาพศัตรูที่สร้างขึ้นจากความทรงจำในแบบเรียนประวัติศาสตร์ฉบับนกแก้วนกขุนทองเรื่องสงครามเสียกรุง


 


คนทำสื่อที่มองโลกแบบยึดติดกับกรอบเดิมกรอบเดียว ย่อมไม่สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่นเดียวกับคนรับสาร ซึ่งหากรับความคิดความเชื่อจากสื่อแบบเดิมแบบเดียวทุกวัน ก็ย่อมติดอยู่ในกรอบความรู้ความคิดแบบเดิมแบบเดียวของสื่อ


 


มีแต่ความกังวลเรื่องคนขายชาติกำลังบ่อนทำลายชาติให้ล่มจม หรือมีแต่ความรู้สึกเคียดแค้นคนขายชาติ ต้องจับมันมาลงโทษประจานให้หายแค้น


 


ไม่มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาชุมชนของเรา สังคมของเรา หรือประเทศของเรา เพราะเราเป็นเพียงคนเล็กคนน้อยด้อยค่าที่ปราศจากตัวตน ชาติที่ยิ่งใหญ่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของเราเท่านั้นมีตัวตนและอนุญาตให้เรามีชีวิต แต่เรากำลังจะเป็นคนไร้ชีวิตและไร้แผ่นดิน เพราะชาติของเรากำลังถูกคนขายชาติบ่อนทำลาย


 


อันที่จริง ความคิดของสื่อที่ว่าตนเป็นหมาเฝ้าบ้าน หรือเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมที่ยิ่งใหญ่นั้น ถือเป็นเรื่องดีและเป็นจุดแข็งของสื่อ แต่จุดแข็งดังกล่าว สามารถกลายเป็นจุดอ่อนที่อันตรายต่อสังคมได้ หากสื่อตีความว่า ในโลกนี้มีแต่ตนเท่านั้นคือคนดีผู้พิทักษ์ความดี ดังนั้น อะไรก็ตาม ที่สื่อเห็นว่าไม่ดีย่อมเป็นของเลวต้องกำจัด เพราะผู้พิทักษ์ความดีจะปล่อยให้ความเลวมีชัยชนะไม่ได้


 


คำถามคือ คนทำสื่อรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งกว่าคนอื่นๆ หรือ?  


 


เป็นความจริงหรือว่าสื่อ "เลือกถูก" ทุกครั้ง   แม้ในกรณีทั่วไปที่ไม่ใช่กรณีการเมือง เช่น กรณีหมอกับคนไข้   ที่สื่อมักเลือกเชื่อและเลือกเผยแพร่ความเชื่อว่าคนเป็นหมอชุ่ย เห็นแก่เงิน เพราะถ้าไม่ชุ่ย ไม่เห็นแก่เงิน คนไข้ที่เข้ารับการรักษาต้องหายดีเสมอ ดังนั้น เมื่อมีคนไข้ตายหมอจึงสมควรติดคุก


 


ก่อนจะเลือกเชื่อและส่งเสียงเตือนประชาชนในเรื่องต่างๆ สื่อได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่สื่อส่งเสียงเตือนหรือไม่ และอย่างไร


 


ในกรณีหมอกับคนไข้ก็คือ ก่อนจะสรุปว่าหมอชุ่ย สื่อหรือหมาเฝ้าบ้านตัวนั้นมีความรู้ความเข้าใจ หรือพยายามแสวงหาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ และการรักษาโรคภัยไข้เจ็บบ้างหรือไม่ อย่างไร


 


ความตื่นตูม รีบร้อนเห่าด้วยความภาคภูมิใจของสื่อว่า ฉันคือหมาเฝ้าบ้านผู้ซื่อสัตย์นั้น   บ่อยครั้ง ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น หรือไม่ได้ทำให้สังคมมีสติ หรือฉลาดขึ้น


 


ในหลายกรณี เลวร้ายลง โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกี่ยวกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่นในกรณีสามจังหวัดภาคใต้ และที่เป็นข่าวกันอยู่ตอนนี้ ซึ่งมีการดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง


 


สื่อฉลาดและรู้ดีกว่าประชาชนทุกคนหรือ? รู้และเข้าใจศาสตร์ทุกศาสตร์ในโลกอย่างถ่องแท้หรือ? จึงมั่นใจว่าตนสมควรเป็นผู้เลือกและตัดสินดีชั่วถูกผิด แทนประชาชนไปเสียทุกเรื่อง


 


ถ้าอ้างว่า สื่อพูดหรือเขียนตามเสียง "ประชาชนส่วนใหญ่"   หรือตามเสียงแห่ง "คุณธรรมอันดีงาม" ซึ่งถูกต้องเสมอ


 


คำถามคือ ใครคือประชาชนส่วนใหญ่ ใครคือประชาชนส่วนน้อย สื่อใช้มาตรฐานใดตัดสินว่าสื่อกำลังพูดหรือเขียนตามเสียงประชาชนส่วนใหญ่ สื่อมีความเห็นอย่างไรกับเสียงของประชาชนส่วนน้อย ละเลย ไม่รับฟัง หรือดูถูกเหยียดหยาม ?


 


 คำถามคือ อะไรคือคุณธรรมอันดีงาม และคุณธรรมอันดีงามนั้นกำหนดโดยใคร สื่อใช้มาตรฐานใดมาวัดว่า เสียงใดเป็นเสียงของความดีที่ต้องรับฟัง เสียงใดเป็นเสียงของความเลวที่ไม่ต้องรับฟัง


 


สื่อใช้มาตรฐานใดวัดความดีเลว?  


 


ถ้าด้วยมาตรฐานทางศีลธรรม คำถามคือ สื่อใช้มาตรฐานเดียวกันในทุกกรณีและทุกวาระหรือไม่ หรือใช้อย่างเข้มข้นเป็นบางกรณี   เป็นบางวาระ   ตามโอกาสการเลือกข้าง


 


จริงหรือว่าข้างที่สื่อเลือกได้ชื่อว่ามีศีลธรรมเสมอ?   จริงหรือว่าข้างที่สื่อเลือกไม่เคยมีปัญหาศีลธรรมในภาคปฏิบัติ? จริงหรือว่าคนดีที่สื่อเลือกไม่เคยทำผิดในทำนองเดียวกับคนเลวที่สื่อไม่เลือก?  


 


คำถามคือ เมื่อสื่ออ้างความเป็นหมาเฝ้าบ้าน เลือกและตัดสินแทนประชาชนว่าต้องเห่าและไล่งับคนที่เราเชื่อว่ามันเป็นศัตรูของประชาชนนั้น


 


สื่อแน่ใจหรือไม่ว่า สื่อได้นำเสนอมุมมองต่างๆ จากรอบด้าน โดยมิได้ละทิ้งข้อมูลใดๆ ซึ่งจงใจไม่เห็น หรือไม่เห็นโดยสุจริต   เพราะใจไม่เปิดรับ ด้วยสรุปไปแล้วว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้เลวแน่นอน เพราะมาจากฟากคนเลว ส่วนสิ่งนั้นสิ่งนี้ดีแน่นอน เพราะมาจากฟากคนดี


 


หมาเฝ้าบ้านหรือผู้พิทักษ์ความยุติธรรมที่ผูกขาดความดีและความยุติธรรมไว้กับตัวเอง ควรระวังว่า เราอาจมีส่วนบิดเบือนความจริง หรือปกปิดความจริงจากสายตาเจ้าของบ้าน หรือผู้รับสาร


 


เพราะอะไร


 


เพราะความจริงคือไม่มีมนุษย์คนใดสมบูรณ์แบบ ไม่มีมนุษย์คนใดดีสมบูรณ์แบบ ไม่มีมนุษย์คนใดเลวสมบูรณ์แบบ


 


นี่คือโลกของความจริง ไม่ใช่โลกสีดำขาว ไม่ใช่โลกของเทพกับมาร ไม่ใช่โลกในนิทานนางฟ้า ไม่ใช่โลกของซูเปอร์แมน


 


นี่คือโลกของความจริง


 


บ้านที่สื่อในฐานะหมาเฝ้าบ้านต้องระแวดระวังนั้น ไม่ใช่บ้านที่มีเจ้าของคนเดียว แต่เป็นบ้านของประชาชนทั้งหมด ปัจจุบันนี้คือกว่า 60 ล้านคน   ประชาชนทุกคนมิได้คิดเหมือนกัน มิได้มีความต้องการเหมือนกัน ส่วนผู้มีอำนาจทางการเมืองนั้นเล่า ก็หลากพวกหลายฝ่าย ทั้งที่แสดงตนเป็นนักการเมืองโดยตรงและมิได้แสดง แล้วหมาเฝ้าบ้านจะเลือกระแวดระวังภัยให้ประชาชนกลุ่มไหน


 


คำกล่าวอ้างว่า "เพื่อประชาชน" เป็นคำพูดต่อๆ กันมาที่ฟังดูยิ่งใหญ่ ใครๆ ที่ได้ชื่อหรืออ้างตนเป็นคนดีล้วนพูดถึง"เพื่อประชาชน" แต่ใครเคยคิดอย่างจริงจังบ้างว่า ประชาชนหมายถึงอะไร


 


ถ้าหมาเฝ้าบ้านรักประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงตามคำกล่าวอ้าง ย่อมไม่สมควรทำให้ประชาชนเสียหาย


 


การสนับสนุนยั่วยุให้ประชาชนเกลียดกันและฆ่ากัน เป็นความเสียหาย หรือไม่ใช่ความเสียหาย?


 


การทำลายโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามธรรมชาติของมันเช่นนั้น ก่อนหน้า "การเลือก" ของหมาเฝ้าบ้าน ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ปะปนด้วยอคติ คือความชื่นชมจนอาจเกินจริงและมองข้ามความผิดพลาด ในสิ่งที่หมาเฝ้าบ้านเชื่อว่าดี หรือรังเกียจจนอาจเกินจริงและเพิ่มเติมความผิดพลาดมากเกินจริงในสิ่งที่หมาเฝ้าบ้านเชื่อว่าเลว


 


เป็นความเสียหาย หรือไม่ใช่ความเสียหาย?


 


ธรรมชาติของมนุษย์นั้น บังคับจิตใจกันไม่ได้ มีคนชอบสิ่งนั้นและสิ่งนี้ เชื่อสิ่งนั้นและสิ่งนี้   เมื่อหมาเฝ้าบ้านเลือกข้างทางการเมือง โดยไม่เข้าใจธรรมชาติของการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งฝ่ายตรงข้ามกันต้องทำลายอีกฝ่าย โดยต่างฝ่ายต่างดึงประชาชน มาเป็นพวก หรือให้มาตายแทนในสนามรบ


 


หมาเฝ้าบ้านอาจกลายเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจทางการเมือง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


 


กลายเป็นหมาที่ยั่วยุให้ประชาชนลุกขึ้นมาฆ่ากัน โดยมีหมาช่วยงับคอหอยประชาชนฝ่ายตรงข้ามกับหมาด้วย เพราะหมาสรุปแล้วว่า ไอ้พวกนั้นมันเป็นศัตรูประชาชน ไอ้พวกนั้น (ซึ่งแม้ว่าทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจะเป็นเจ้าของบ้านร่วมกันกับประชาชนฝ่ายหมา) จึงไม่ใช่ประชาชน งับคอหอยมันได้  


 


บางทีถ้าสื่อจะเลิกคิดผูกขาดความเป็นหมาเฝ้าบ้าน หรือเลิกคิดว่า ตนเป็นเพียงผู้เดียวที่พิทักษ์ความถูกต้องและความดีงามของโลกเสียบ้างคงเข้าที   เพราะมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง


 


อุดมการณ์ที่สื่อควรจะมีอย่างที่สุด คือมุ่งมั่นที่จะรายงานข้อเท็จจริงและนำเสนอความเห็นอันรอบด้านแก่สาธารณะ เพื่อจรรโลงบรรยากาศประชาธิปไตย มิใช่สร้างหรือส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง   เว้นเสียแต่สังคมไทยจะไม่ใช่ประชาธิปไตย และไม่ปรารถนาประชาธิปไตย


 


สังคมประชาธิปไตยยอมรับความเห็นต่าง และสนับสนุนให้มีการโต้เถียงแลกเปลี่ยนความเห็นโดยไม่ต้องฆ่ากัน หรือชี้หน้าว่าฝ่ายคิดต่างเป็นศัตรูของชาติ ด้วยข้ออ้าง "ชั่ว ไร้ศีลธรรม" แม้ว่าฝ่ายที่ชี้หน้าด่าเขาก็มีพฤติกรรมอย่างเดียวกัน  


 


เราไม่สามารถห้ามคนทำสื่อไม่ให้เลือกข้าง และในฐานะมนุษย์ แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เลือกข้างตามความเชื่อของเรา   เพราะต่อให้เราไม่เลือกสองข้างที่กำลังสู้กัน เราก็เลือกข้างที่สามซึ่งเป็นทางของเราอยู่ดี


 


ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อทำหน้าที่สื่อที่ต้อง "รับผิดชอบ" กับการนำเสนอความจริง คนทำสื่อต้องถอนหรือพยายามถอนอารมณ์จากการเลือกข้าง ที่เรียกว่าทำอารมณ์เป็นกลาง หรือทางพุทธคืออารมณ์อุเบกขา เพื่อสามารถทำความจริงให้ปรากฏ


 


ไม่ใช่เลือกว่า กอ ดี   เมื่อเสนอข่าวหรือความเห็นเกี่ยวกับ กอ   จึงมีแต่ความดีของกอส่วนขอ เลว ดังนั้น อะไรที่เกี่ยวกับ ขอ ก็เลวหมด เพราะไม่มีอารมณ์อุเบกขาสามารถมองทั้งกอและขอตามที่เป็นจริง


 


หรือตั้งความเชื่อไว้ว่า ใครมีอุดมคติทางการเมืองต่างจากพวกเราซึ่งเป็นพวกคนดี แปลว่าพวกมันเลว เห็นแก่เงิน เมื่อพวกมันคัดค้านเรา จึงแปลว่าพวกมันรับเงินฝ่ายตรงข้ามมาคัดค้านเรา


 


ไม่ได้มองตามความเป็นจริงว่า คนคิดต่างกันได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งหรือเงินสั่ง และไม่ได้มองตามความเป็นจริงว่า บางครั้งเราเองก็เห็นแก่เงินในรูปแบบอื่นๆ เหมือนกัน หรือบางครั้งเราเองก็อ่อนข้อให้กับระบบทุนนิยมบริโภคนิยมเหมือนกัน ดังนั้น แทนที่จะมัวแต่ด่าคนอื่น เราก็ควรตรวจสอบตัวเองด้วย


 


ความจริง อุดมการณ์ ที่สื่อควรตระหนักและปฏิบัติตามมีอยู่ในข้อบังคับจริยธรรมสื่อ แต่บางทีคงเพราะมันเป็นอุดมการณ์ที่เหมือนจับต้องไม่ได้ นอกจากเอาไว้คุยอวดกันว่าอาชีพของฉันมีอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ คนทำสื่อหลายคนจึงไม่ได้สนใจหรือไม่เคยทำความเข้าใจมันอย่างจริงจัง


 


ทายใจคุณกุหลาบไม่ได้ว่า หากท่านมีชีวิตอยู่ในวันนี้ ท่านจะมองสื่ออย่างไร แต่เชื่อว่า ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ นักอ่าน นักคิดของคุณกุหลาบ ท่านคงไม่เห็นด้วยกับการที่สื่อมิได้ทำหน้าที่เตือนสติสังคมและสนับสนุนส่งเสริมบรรยากาศตลอดจนคุณค่าประชาธิปไตย


 


หน้าที่หมาเฝ้าบ้านตามหลักการหมาเฝ้าบ้านนั้นดี แต่หมาที่หลงผิดว่าตัวเองสามารถตัดสินใจทุกประการแทนเจ้าของบ้าน แล้วเห่ายั่วยุให้คนในบ้านเกลียดกันและฆ่ากันเอง   ถือว่าเข้าขั้นป่วย สมควรได้รับการเยียวยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net