Skip to main content
sharethis


งานแสดงแสง-สี-เสียง ฉลองวันชาติอิสราเอล ณ จัตุรัสราบิน


(ภาพโดย Yaron Brener)


 


งานฉลองครบรอบ 60 ปี วันประกาศอิสรภาพ "ประเทศอิสราเอล" อย่างเป็นทางการ เริ่มขึ้นตั้งแต่ค่ำคืนวันพุธที่ 7 พ.ค. ด้วยการวิ่งคบเพลิงไปยังเนินเขาเฮอร์เซิล กรุงเยรูซาเล็ม และตามมาด้วยการแสดงมากมายตลอดวันที่ 8 ทั้งที่เป็นพิธีการเต็มยศและงานรื่นเริงที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วม


 


การเฉลิมฉลองครั้งนี้ดำเนินไปท่ามกลางการอารักขาคุ้มกันอย่างเข้มงวดกวดขันของบรรดาทหาร เพราะก่อนหน้านี้ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลอิสราเอลได้ออกมาให้ข่าวว่า กลุ่มก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์เตรียมก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ โดยคิดจะใช้งานฉลองเป็นโอกาสทำร้ายคนจำนวนมาก (1)


 


อาจเพราะคำเตือนของหน่วยข่าวกรองนี้เอง ดาเลีย อิซซิก ผู้เป็นประธานเปิดงานและเป็นโฆษกสภาคเนสเส็ท (Knesset) ซึ่งทำหน้าที่เช่นเดียวกับสภานิติบัญญัติ จึงกล่าวเชิดชูอิสราเอลว่าเป็น "ประเทศอันยิ่งใหญ่" และตบท้ายด้วยการฝากสาส์นไปยังผู้ (คิดจะ) ก่อการร้ายว่า


 


"เราต้องการสันติภาพ ไม่เฉพาะเพื่อลูกหลานของพวกเรา แต่รวมถึงลูกหลานของพวกท่านด้วย อย่างไรก็ตาม จงตระหนักว่า เรารู้ว่าจะต้องต่อสู้อย่างไรหากถึงคราวจำเป็น" (2)


 


ถือเป็นการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ยืดเยื้อยาวนานมาถึง 60 ปี เช่นเดียวกัน เพราะนับตั้งแต่มีการประกาศ "รัฐชาติอิสราเอล" ขึ้นมาในปี ค.ศ.1948 ชาวปาเลสไตน์ก็สูญเสียสิทธิในการครอบครองตนเอง (และครอบครองดินแดนของตัวเอง) นับแต่นั้น


 


ด้วยเหตุนี้ ขณะที่ชาวอิสราเอลเฉลิมฉลองให้กับ "อิสรภาพ" และ "วันชาติ" ชาวปาเลสไตน์ซึ่งอยู่นอกเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันเดินขบวน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ Nakba ซึ่งก็คือวันที่พวกเขา (และบรรพบุรุษของพวกเขา) ต้องสูญเสียอิสรภาพ เนื่องจากถูกยึดครองดินแดนและถูกกวาดต้อนให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐอิสราเอลกำหนดให้อยู่


 


 


ดาเลีย อิซซิก กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีฉลองครบรอบ 60 ปี อิสราเอล


 


ชาวปาเลสไตน์ราว 1,461,000 คน ที่อยู่นอกเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น "ชาวอิสราเอล" ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะพวกเขาได้รับการโอนสัญชาติเป็นชาวอิสราเอล มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในฐานะพลเมืองของรัฐอิสราเอล แต่พวกเขาก็ไม่อาจผสมกลมกลืนไปกับชาวอิสราเอลทั่วไปได้ เพราะความเป็น "รัฐยิว" มิได้เปิดโอกาสให้เผ่าพันธุ์ที่แตกต่างได้ดำเนินชีวิตตามวิถีของตัวเองได้อย่างสะดวกง่ายดายนัก


 


ยูดาห์เป็นศาสนาหลัก และฮีบรูเป็นภาษาราชการ เช่นเดียวกับ "สภาคเนสเส็ท" เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าอิสราเอลห่างไกลจากการเป็นรัฐฆราวาส (Secular State) อย่างสิ้นเชิง เพราะความเป็นยิวหรือยูดาห์ซึมอยู่ในทุกอณูของความเป็นชาติ และเหล่านี้คือเหตุผลหลักที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐยิวได้


 


อีกทั้งชุมชนชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในเขตอิสราเอลก็แตกต่างจากชุมชนชาวยิวเป็นอันมาก สาธารณูปโภคต่างๆ ยังขาดแคลน และชาวอิสราเอลเชื้อสายปาเลสไตน์ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกับชาวยิวที่มีการจัดตั้งนิคม หรือ Kibbutz ขึ้น เปิดให้ชาวยิวได้อยู่เป็นชุมชน มีิสิทธิ์เล่าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ หรือการส่งเสริมพัฒนาความรู้


 


เมื่อวาระแห่งการเฉลิมฉลองวันชาติยิวเวียนมาถึง ชาวปาเลสไตน์ส่วนหนึ่งที่อยู่นอกฝั่งเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาจึงรวมตัวกันรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับความยินดีในอิสระเสรีของชาวยิว


 


การฉลองวันชาติอิสราเอลปี 2008 นี้ จบลงที่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ โดยมีชาวอิสราเอลเชื้อสายปาเลสไตน์เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุม ข้อหา "ก่อความไม่สงบ" แต่เว็บไซต์ Ynetnews ของหนังสืิอพิมพ์เยดิโอธฯ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในหมู่ชาวยิว กลับตั้งข้อสงสัยว่า สาเหตุการบาดเจ็บของผู้ชุมนุมเชื้อสายปาเลสไตน์ เป็นฝีมือของตำรวจจริงหรือ (3)


 


ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างชาวยิวอิสราเอลและชาว "อาหรับ" อิสราเอล จึงมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด เช่นเดียวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวปาเลสไตน์ด้วยกันเองก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลงกว่าเดิม


 


กลุ่มฮามาสและกลุ่มฟาตาห์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มทางการเมืองที่สำคัญของปาเลสไตน์ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา ประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองกลุ่มก็แบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่าย แม้แต่ชาวอิสราเอลเชื้อสายปาเลสไตน์ที่พยายามต่อสู้เรียกร้องกับรัฐบาลอิสราเอลก็ถูกมองอย่างแปลกแยกเช่นกัน เพราะสัญชาติอิสราเอลที่ระบุในพาสปอร์ตหรือบัตรประจำตัวก่อให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำในหมู่ชาวปาเลสไตน์ซึ่งอาศัยในแต่ละเขตได้มากพอสมควร


 



ชาวปาเลสไตน์ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม


แต่เว็บไซต์ Ynetnews (หนังสืิอพิมพ์เยดิโอธ) ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นฝีมือของตำรวจจริงหรือ?


(ภาพโดย: Hagai Aharon)


 


ถ้าไม่นับการเลือดตกยางออกของผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ไม่กี่คนตามที่หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของอิสราเอลรายงาน ก็ต้องถือว่าพิธีเฉลิมฉลอง 60 ปี รัฐอิสราเอลผ่านพ้นไปอย่างสงบเรียบร้อย (แม้จะมีรายงานเพิ่มเติมว่าจรวดคัซซาม 2 ลูก ถูกยิงข้ามมาจากฉนวนกาซ่า และตกลงที่ฝั่งอิสราเอลทางตอนใต้ แต่ก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เพราะจรวดด้าน)


 


ส่วนอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อยู่เหนือความคาดหมาย และเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 8 คนระหว่างงานฉลองก็คือ พลร่มชาวยิวคนหนึ่งเกิดผิดคิวระหว่างการแสดงดิ่งพสุธา เพราะแทนที่จะพุ่งไปยังเป้าหมายที่จัดไว้ พลร่มคนดังกล่าวกลับดิ่งไปยังกลุ่มประชาชนที่มา่ร่วมงานฉลองแทน...แต่เนื่องจากเป็นอุบัติเหตุ เรื่องนี้ก็เลยไม่ค่อยเป็นข่าวในต่างประเทศเท่าไหร่


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พูดถึงในสื่อต่างประเทศน้อยกว่าอุบัติเหตุก็ยังมี นั่นคือข่าวคราวการคัดค้านงานฉลองครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้มีแต่ผู้คัดค้านเชื้อสายปาเลสไตน์หรือเชื้อสายอาหรับอย่างเดียว แต่่ "ชาวยิวอิสราเอล" ที่ไม่เห็นด้วยกับงานนี้กลับมีมากถึง 72,000 คน และพวกเขาได้ร่วมกันลงนามคัดค้านการใช้งบประมาณ 100 ล้านเช็คเกิล (ประมาณ 980 ล้านบาท) ในการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีฯ โดยให้เหตุผลว่า ควรนำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาการศึกษาและคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีกว่า แต่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการยังคงยืนยันเดินหน้า จัดงานฉลองวันชาติอิสราเอลอย่างยิ่งใหญ่ และสำเร็จลุล่วงไปจนได้ (4)


 


ส่วนท่าทีของผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีจุดยืนทางการทูตชัดเจน เพราะแทบทุกประเทศแสดงความยินดีมายังรัฐบาลอิสราเอลกันทั้งนั้น มีการส่งตัวแทนมาร่วมงานฉลอง แม้แต่ดาราฮอลลีวู้ด เช่น เดนเซล วอชิงตัน และ จอห์น วอยต์ ก็มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย


 


จะมีที่เห็นต่างอยู่ประเทศเดียวคือประธานาิธิบดีของอิหร่าน "มาห์มุด อะมาดิเนจาด" กล่าวถึง "ความเป็นชาติ" ของอิสราเอล โดยระบุว่า อิสราเอลก็เหมือนกับซากศพที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่า ต่อให้พยายามปกปิดแค่ไหนก็ทำไม่ได้นาน และยืนยันว่า "อิสราเอลกำลังมุ่งหน้าสู่หายนะ"


 


เมื่อผู้นำประเทศออกมาแถลงผ่านสื่อว่าอย่างนั้น ตัวแทนชุมชนชาวยิวในอิหร่านจึงออกมาประกาศชัดเจนเหมือนกันว่า พวกตน (ก็) ไม่คิดจะเฉลิมฉลองวันชาติอิสราเอล และประณามการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ว่าไร้มนุษยธรรม (5)


 


ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ชาติที่อิสราเอลพยายามสร้างขึ้นมา 60 ปี ถูกท้าทายและตั้งคำถามไม่น้อยเลย...


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net