Skip to main content
sharethis

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในประเด็น "สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550" โดยทำการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2551 มีผู้ให้ข้อมูลจำนวนทั้งสิ้น 1,315 ตัวอย่าง 


 


ผู้ให้ข้อมูลเป็นชายร้อยละ 44.26 ที่เหลือเป็นหญิง ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 25- 40 ปี คิดเป็นร้อยละ 40.53 ลดหลั่นลงมา อายุต่ำกว่า 25 ปีคิดเป็นร้อยละ 39.01 ที่เหลืออายุระหว่าง 41-55 ปี และมากกว่า 56 ปีตามลำดับ


 


ทางด้านสถานะทางการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่การศึกษาระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 44.15 ต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 43.38 ที่เหลือสูงกว่าปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 12.46 อาชีพของผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคิดเป็นร้อยละ 27.22 รองลงมาเป็นอาชีพค้าขายร้อยละ 19.77 เป็นข้าราชกา/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.22 นอกนั้นมีอาชีพพนักงานเอกชน ธุรกิจส่วนตัว รับจ้างทั่วไป อื่นๆ และเกษตรกร ตามลำดับ


 


ส่วนทางด้านรายได้พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 7,500 บาท คิดเป็นร้อยละ 45.70 ใกล้เคียงกับรายได้ระหว่าง 7,501 - 20,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 43.57 และที่เหลือมีรายได้มากกว่า 20,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.72 การสำรวจครั้งนี้ ผู้ให้ข้อมูลเป็นประชากรที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คิดเป็นร้อยละ 72.75 และเป็นจังหวัดอื่นๆ รวม 7 จังหวัด ร้อยละ 27.25


 


ทั้งนี้ มีผลการสำรวจข้อมูลที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้


 


* ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มากที่สุด ถึงร้อยละ 48.29 ได้แสดงความคิดเห็นถึง ความเร่งด่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีความเห็นว่า ควรแก้ไข แต่ควรรอเวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งปี รองลงมา มีความเห็นว่า ไม่ควรแก้ไข ร้อยละ 29.58 และส่วนที่เหลือน้อยที่สุดร้อยละ 22.13 เห็นว่า ควรแก้ไขโดยเร็ว 


 


* การแสดงเจตนาการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ของนักการเมืองในปัจจุบัน ประชาชนผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 53.00 มีความเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของพรรคและนักการเมือง รองลงมา มีความเห็นว่า ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และมีเพียงร้อยละ 13.23 เท่านั้น ที่มีความเห็นว่า กระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ


 


* เมื่อถามถึงวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ มีความคิดเห็นว่า ควรแก้บางส่วนโดยปรับปรุงจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ร้อยละ 48.97 รองลงมามีความคิดเห็นว่า ควรแก้บางส่วนโดยปรับปรุงจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คิดเป็นร้อยละ 33.84 และกลุ่มที่มีความเห็นว่า ควรแก้ทั้งฉบับโดยการเขียนใหม่ กับกลุ่มไม่ออกความเห็น มีน้อยมากใกล้เคียงกัน คิดเป็นร้อยละ 9.28 ละ 7.91 ตามลำดับ


 


* ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ด้านบทลงโทษยุบพรรคเมื่อทุจริตเลือกตั้ง (ม.237) ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ ไม่ออกความเห็น มากถึงร้อยละ 53.18 รองลงมา เห็นว่าควรแก้ไข ร้อยละ 36.75 และที่เห็นชัดเจนว่า ไม่ควรแก้ไข คิดเป็นร้อยละ 10.07   


 


* ในประเด็นด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ม.259 - 278) ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ควรแก้ไข ถึงร้อยละ 47.83  รองลงมา มีความเห็นว่าไม่ควรแก้ไข ร้อยละ 34.22 ส่วนผู้ที่ไม่มีความเห็น ร้อยละ 17.95  


 


* เมื่อแสดงความคิดเห็นด้านนิรโทษกรรมรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา (ม.309) ประชาชนผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ เห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ร้อยละ 39.24 รองลงมา เห็นว่า ไม่ควรแก้ไข ร้อยละ 35.82  และส่วนน้อยผู้ให้ข้อมูลไม่มีความเห็น ร้อยละ 24.94


 


* ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญ ประชาชนผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.88 มีความคิดเห็นว่าผลกระทบของการผลักดันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความแตกแยก รองลงมามีความคิดเห็นใกล้เคียงกัน คือ ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง และ จะพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบ คิดเป็นร้อยละ 30.04 และ 26.08 ตามลำดับ


 


ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ให้ข้อมูล โดยสรุป ชี้ชัดได้ 3 ประเด็นคือ


 


ประเด็นที่ 1 ควรแก้รัฐธรรมนูญ โดยแก้ไข ปรับปรุงจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือ 2540 ก็ได้ แต่ไม่ควรแก้แล้วเขียนใหม่ทั้งฉบับ และควรรอเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี   


 


ประเด็นที่ 2 มาตรา 273 ด้านบทลงโทษยุบพรรคเมื่อทุจริตเลือกตั้งนั้น ประชาชนไม่ออกความเห็น ส่วน    มาตรา 259 - 278 ด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และ มาตรา 309 ด้านนิรโทษกรรมรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา ประชาชนเห็นว่าควรแก้ไขมากที่สุด


 


ประเด็นที่ 3 เจตนาการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญของนักการเมืองนั้น ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของพรรคและนักการเมือง มากกว่าประโยชน์สาธารณะ การผลักดันเพื่อแก้ไข รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความแตกแยก 


                              


รังสิตโพลล์ จึงมีข้อเสนอแนะต่อประชาชนคนไทย และนักการเมือง ดังนี้ 


 


1) ในสังคมประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถจะกระทำได้ แต่ควรคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ


 


2) ขอย้ำเตือนว่า อย่านำเงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และนำไปสู่การแบ่งฝ่ายประชาชนในชาติโดยเด็ดขาด             


 


3) ขอเตือนสติแก่นักการเมือง ว่า การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของพรรคและนักการเมืองนั้น จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความแตกแยก


 


จากข้อมูลข้างต้นนี้ รังสิตโพลล์ ได้สรุปผลการแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ของประชาชน โดยระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ควรรอเวลาอีก 1 ปี และให้ทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ หากทำเพื่อนักการเมือง จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความแตกแยก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net