บทความพิเศษ : คืนสู่อิระวดี

บทความพิเศษ : คืนสู่อิระวดี

 

ชนา ดำเนิน

 





 

"มันโหดร้ายยิ่งกว่าสึนามิ ที่ความช่วยเหลือต่างๆ รุดไปถึงสถานที่ได้แม้กระทั่งในอาเจะห์ ดินแดนที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพอินโดนีเซียกับคนพื้นเมือง"

 

"รัฐบาลพม่าไม่สนใจชีวิตคนที่ตาย โดยเฉพาะที่เป็นคนกะเหรี่ยง เขากลัวอยู่แล้วว่าจะแข็งข้อดื้อด้าน ปล่อยให้ตายๆ ไปก็ดี ง่ายกว่าปราบปรามด้วยซ้ำ"

 

"รัฐบาลที่อ้างว่าต่างชาติจะเข้าไปปลุกปั่นประชาชน ในขณะที่ก็รู้อยู่ว่าการปฏิเสธความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยหมายความว่าชีวิตของ "ผู้สูญหาย" อีกหลายหมื่นจะต้องกลายเป็น "ผู้เสียชีวิตในที่สุด" เป็นรัฐบาลประเภทไหน มองประชาชนของตัวเองอย่างไร เราก็รู้อยู่แล้ว"

 

 

 

1.

ปลายปี 2547 สามปีกว่าที่แล้ว

 

 

รถแท็กซี่อายุกลางคน เก่าแก่กว่าทั้งคนขับและเราทุกคนที่นั่งอยู่ พาพวกเราผ่านออกจากย่างกุ้งมุ่งตรงสู่ดินแดนอิระวดี  แม้เสียงเครื่องยนต์สูงอายุจะกระหึ่มดังจนคนนั่งต้องสนทนากันด้วยเสียงตะโกน และประตูหลังทั้งสองบานจะยินยอมเปิดปิดก็ด้วยฝีมือของคนขับผู้รู้ใจเพียงคนเดียว มันก็ทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ สมกับที่มันเป็นสมบัติมีค่าชิ้นเดียวของเจ้าของ

 

คนขับชาวพม่าไม่ไถ่ถามว่าผู้มาเยือนจากเมืองไทยมาด้วยภารกิจอะไร เพื่อนชาวกะเหรี่ยงจากย่างกุ้งของเราเพียงแต่อธิบายว่า เราอยากเห็น "พม่า" และนั่นก็เพียงพอแล้ว

 

"อีกประมาณ 1 ไมล์ คุณอย่าชะโงกออกไป แล้วอย่ายื่นกล้องถ่ายรูปออกไปจากรถนะ ผมจะขับช้า ๆให้ดู" เขาหันมาบอกเป็นภาษาพม่า ยิ้มเห็นฟันซี่ขาวบนผิวคล้ำเนียนแดด เพื่อนชาวกะเหรี่ยงจากย่างกุ้งผู้อาสาเป็นล่ามแปลให้ฟังว่า คนขับจะชะลอให้เราเห็น "พม่า" จุดแรก นั่นคือ จุดที่นางออง ซาน ซู จีถูกกั้นไว้ไม่ให้ออกไปพบสมาชิกพรรคเอ็น แอล ดี เมื่อ กรกฎาคม 2541

 

แม้โลกอาจลืมไปแล้วว่าเคยมีอะไรเกิดขึ้น นั่นก็คือสถานที่ในประวัติศาสตร์ในหัวใจของคนขับแท็กซี่วัยสามสิบต้นคนนั้น เขายิ้มให้เราอย่างบริสุทธิ์ ไม่จำเป็นต้องอธิบายความรู้สึกอื่นในใจ

 

"เดี๋ยวเราจะถึงพื้นที่ที่รัฐบาลสั่งให้คนในเมืองย่างกุ้งอพยพจากสลัมมาอยู่นอกเมืองนะ" เขาบอกอีก โดยไม่มีใครร้องขอ "ถ่ายรูปได้นะ แต่อย่าเอากล้องออกไปนอกรถ" พื้นที่จัดสรรใหม่เป็นกระต๊อบแออัด ไม่มีน้ำ ไม่มีที่ทำกิน และอยู่ห่างจากแหล่งรับจ้าง เมื่อวันก่อนนี้เองในเมืองย่างกุ้ง เราได้ไปพบกับคนที่หนีย้อนจากเขตจัดสรรใหม่มาเร่ร่อนรับจ้างในเมืองเพื่อความอยู่รอด

 

 

 

 

รถวิ่งฝ่าเปลวแดดร้อนระอุ เราอยู่ในเสื้อผ้าที่ดูเหมือนคนพม่ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อนบอกว่า เขตอิระวดีที่เราจะเข้าไป เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับคนต่างชาติ

 

"เขาคงจะกลัวคนไปรู้เห็น และไปทำให้ชาวบ้านรู้เห็น" เพื่อนเราบอก อิระวดีเป็นดินแดนของชาวกะเหรี่ยง กองกำลังปฏิวัติกะเหรี่ยงเคยมีฐานกำลังที่เข้มแข็งอยู่ที่นี่ ก่อนจะถูกตีแตกและถอยร่นมาอยู่ทางตะวันออกของประเทศติดชายแดนไทย กระนั้น ชาวกะเหรี่ยงก็อาศัยอยู่ในพื้นราบลุ่มน้ำอิระวดีหนาแน่น และเข้มแข็ง เหตุผลที่กันไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าไป เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่คณะทหารพม่ากั้นเส้นทางไม่ให้อองซานซูจีเดินทางเข้าไปนั่นเอง ประชาชนแถบนี้ถูกหมายหัวไว้ว่าหัวแข็งและกระด้างกระเดื่องได้ง่ายมาก

 

คนขับชาวพม่าของเราก็ยังยิ้มเย็น ขับรถเรื่อยเฉื่อยตามสบาย ประเดี๋ยวก็จะหันมาเตือนว่า "เดี๋ยวอย่าพูดนะ" ก่อนที่จะยื่นมือที่คีบธนบัตรพม่าปลิวไสวรอค้างนอกหน้าต่างรถ ผิวปากหวีดหวิวสบายใจจนกว่ารถจะผ่านด่านรายทาง ซึ่งเจ้าหน้าที่หน้าตามอมแมมจะยื่นมือมาคีบธนบัตรนั้นเก็บไปพร้อมคำขอบคุณ

 

เราผ่านมาได้เรื่อยๆ ด้วยการจ่ายค่าด่านที่ไม่ใช่ "ค่าธรรมเนียม" เป็นทางการแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงค่าน้ำร้อนน้ำชาที่รับรู้กันว่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่อิ่มสบายจนไม่ต้องถามถึงคนที่นั่งรถมาด้วยให้มากความ

 

ที่เพิงพักริมทาง ติดกับท่าเรือของคลองเล็กๆ  หญิงร่างท้วมนั่งขายหมากอยู่กับลูกชายวัย 3-4 ขวบขยับตัวเมื่อมีเรือมาแวะจอด ชาวบ้าน 3-4 คนเดินขึ้นมานั่งโบกพัดด้วยหมวกสานให้คลายไอร้อน หมอดูหญิงวัยกลางคนนั่งเรือตระเวนไปตามท้องไร่ท้องนาหันมาทักทายกับคนแปลกหน้าอย่างเรา และเมื่อรู้ว่าเรามาจากเมืองไทย แกก็เรียกคนรอบๆ เข้ามารุมล้อม ยิ้มแย้ม

 

"เราไม่เคยเจอคนไทยเลย" ใครต่อใครต่างบอก สีหน้าตื่นเต้นดีใจ "แต่บ้านเรามีคนไปทำงานเมืองไทยเยอะมากแหละ ไม่มีใครอยากกลับมาหรอก แต่เขาจะส่งเงินมาให้ บางคนก็หายไปเลยก็มี"

 

นี่เป็นบทสนทนาเดียวกันที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวพม่า-กะเหรี่ยงแห่งหนึ่งที่เราแวะเข้าไป ชาวบ้านที่นั่น ทั้งเชื้อสายพม่าและกะเหรี่ยง ไม่ระแคะระคายเลยแม้แต่น้อยว่า ตนอยู่ในเขตที่รัฐบาลสั่ง "ห้ามเยี่ยม" พวกเขาเข้าใจกันเองว่า เพราะว่าบ้านเรือนไร่นาของตัวอยู่ไกลเมืองหลวง จึงไม่เคยมีคนต่างชาติเข้ามาหา

 

เด็กหนุ่มวัยรุ่นปะแป้งทานาคา หวีผมใส่น้ำมันเยิ้ม เดินโหย่งๆ เหมือนจิ๊กโก๋ในหนังรุ่นเก่ามาเสนอจะพาเดินเที่ยวหมู่บ้านอย่างกระตือรือร้น เราเดินตามต้อยๆ อย่างสงสัยใคร่รู้  และเมื่อมาถึงที่หมาย ก็อดหันขวับมาไปมองหน้าเขาอีกทีไม่ได้ เพราะเด็กหนุ่มท่าทางยียวนคนนี้พาเรามาไหว้พระ

 

"พระพุทธรูปนี้เก่าแก่มากเลยนะ" เขาพูดอย่างภูมิใจ "กลับมาอีกวันสงกรานต์สิ เขาจะมีสรงน้ำพระ ชาวบ้านหมู่บ้านรอบๆ นี้จะมากันหมด สนุกมากเลยนะ บางปีคนที่ไปเมืองไทยก็กลับมาด้วย แต่ไม่ค่อยมีหรอก เขาคงจะกลับมายาก มันคงจะแพงมาก"

 

"แล้ว... กลับไปน่ะ ก็เอาปลาร้ากลับไปด้วยดิ" เขาว่า "ปลาร้าอิระวดีอร่อยที่สุด เราส่งปลาร้าจากที่นี่ ขึ้นเรือลำใหญ่ๆ ไปขายทั่วประเทศพม่าเลย"

 

"ไปเยี่ยมหลวงปู่มาหรือยัง" เราตอบรับ หลวงปู่เป็นชาวกะเหรี่ยงจากพะอัน รูปหน้าสง่างาม ผิวขาวราวกับงาช้าง สำหรับเด็กหนุ่มวัยรุ่นผิวคล้ำเมี่ยมคนนี้ พระพุทธรูปโบราณ ปลาร้าอิระวดีและหลวงปู่ คือตัวตนของเขาที่อยากจะเปิดเผยให้เพื่อนต่างชาติได้รู้จัก

 

 

2.

ต้นปี 2551

 

การกลับไปอิระวดีไม่ใช่เรื่องง่าย และเราก็ไม่เคยฉกฉวยโอกาสใดได้อีกเลย 

 

เชียงใหม่ฝนตกหนักแต่เช้า จนสาย บ่าย และค่ำ ทันทีที่ได้แว่วข่าวโทรทัศน์ถึงพิบัตินาร์กีสในวันหยุดวันนั้น

เรานั่งลงค้นหาข้อมูลว่าเป็นพื้นที่ใดกันที่ไซโคลนถล่มคร่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่น

 

อิระวดี พระพุทธรูปโบราณ ปลาร้า หลวงปู่ รอยยิ้มใสซื่อ…

 

 

 

 

เรานิ่งดูภาพถ่ายดาวเทียมเห็นแผ่นดินอิระวดีจมอยู่ใต้น้ำ นิ่งฟังข่าวจำนวนผู้ที่คาดว่าจะเสียชีวิตโดยทันที  ฟังรายละเอียดว่าอินเดียได้ส่งสัญญาณเตือนไซโคลนดังกล่าวมาแล้วล่วงหน้าถึงสองวัน เงียบงันฟังว่ารัฐบาลพม่าปฏิเสธหน่วยกู้ภัยต่างชาติทุกรูปแบบ ยืนยันจะรับแต่ความช่วยเหลือเป็นเงินและสิ่งของ และยังเดินหน้าบีบให้ประชาชนลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเลือดเย็น เพียงเพื่อให้เป็นไปตามฤกษ์งามยามดีที่หมอดูว่าไว้ และอาจจะ...เพื่อให้การพลิกผันผลประชามติเป็นไปได้ตามอำเภอใจ

 

เราฟังด้วยความโกรธเกรี้ยว งุ่นง่าน ยิ่งผ่านไปหลายวัน เราก็รู้ว่าผู้ที่รอคอยความหวังอยู่ตามซากปรักหักพัง ต้นไม้ โขดขอนใดๆ ที่เกาะเกี่ยวเอาไว้ได้ในยามที่น้ำทะลักกระหน่ำ ก็ค่อยๆ หมดลมหายใจด้วยความสิ้นหวัง

 

มันโหดร้ายยิ่งกว่าสึนามิ ที่ความช่วยเหลือต่างๆ รุดไปถึงสถานที่ได้แม้กระทั่งในอาเจะห์ ดินแดนที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพอินโดนีเซียกับคนพื้นเมือง

 

"คิดดูเถอะ ของคนไทย ของในหลวง ทหารพม่าเอาไปให้คน แล้วก็บอกว่าเป็นของเขาเอามาให้ประชาชน"

 

เพื่อนเก่าชาวมอญของเราโทรศัพท์ระเบิดความทุกข์ เราสองคนเห็นพ้องต้องกันว่า จากประสบการณ์ที่รู้จักคณะทหารของพม่ามาแสนนาน จะไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ข้าวของบริจาคจะต้องถูกลักลอบนำเอาไปขายในพื้นที่อื่นที่ได้รับผลกระทบจนข้าวยากหมากแพง อย่างรัฐมอญ

 

"ยิ่งถ้าเป็นเงินไม่ต้องพูดถึง" ตัวหนังสือวิ่งข้างล่างจอโทรทัศน์เชื้อเชิญให้คนไทยบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนพม่าผู้ประสบภัยพิบัติอย่างไร้เดียงสาปรากฏอยู่ตรงหน้า "รัฐบาลที่อ้างว่าต่างชาติจะเข้าไปปลุกปั่นประชาชน ในขณะที่ก็รู้อยู่ว่าการปฏิเสธความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยหมายความว่าชีวิตของ "ผู้สูญหาย" อีกหลายหมื่นจะต้องกลายเป็น "ผู้เสียชีวิตในที่สุด" เป็นรัฐบาลประเภทไหน มองประชาชนของตัวเองอย่างไร เราก็รู้อยู่แล้ว"

 

 

"คนงานเขาส่งข่าวกันให้แซดทั่วมหาชัย ว่ารัฐบาลพม่าไม่สนใจชีวิตคนที่ตาย โดยเฉพาะที่เป็นคนกะเหรี่ยง เขากลัวอยู่แล้วว่าจะแข็งข้อดื้อด้าน ปล่อยให้ตายๆ ไปก็ดี ง่ายกว่าปราบปรามด้วยซ้ำ" เพื่อนคนมอญพูดเสียงเครือ ที่บ้านของเขาก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน ชาวบ้านสิ้นเนื้อประดาตัว ไร่สวนในรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยงหลายแห่งถูกทำลายราบ หลังคาบ้านถูกพายุพัดเปิด ลูกหลานที่เป็นแรงงานอพยพอยู่เมืองไทยหวาดกลัวว่า เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายภาษี (รายสะดวก) ให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือจ่ายโควตาผลผลิต พ่อแม่จะทำอย่างไร คนงานพากันส่งเงินกลับบ้าน แต่เงินก็ไม่ค่อยจะมี เพราะต่างก็ประสบปัญหาวิกฤตอาหารแพงเหมือนๆ กับแรงงานไทย

 

เราคุยกันว่า อีกไม่นานเท่าไหร่ คนจะทะลักกันเข้ามาในประเทศไทย ทั้งจากเขตที่ได้รับผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีพ และเขตอิระวดี หากรอดชีวิต

 

"แล้วเขาจะมีเงินกันเหรอ...ถ้าไม่มีเงินให้นายหน้าล่วงหน้า ก็หมายความว่าจะถูกขายอีก ค่ารถมา 10,000 ถูกขายก็ 30,000 แล้ว...จะลำบากลำบนกันอีกเท่าไหร่ ต้องมาทุกข์ยากกันที่นี่อีกเท่าไหร่"

 

น้ำเสียงเพื่อนของเราคับแค้นเต็มที  รัฐบาลพม่าเลือดเย็นเหลือเกิน ปล่อยให้คนเป็นแสนตายโดยไร้ความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ทำได้ แค่เอื้อมมือ ปล่อยให้ชีวิตคนล่มสลายได้อีกหลายหมื่น

 

"ผมไม่รู้จะช่วยยังไง ถ้าช่วยได้ผมจะช่วย แต่เราไปช่วยถึงอิระวดีไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง ทำไมเหรอครับ เราทำเวรทำกรรมอะไรไว้ ถึงได้ต้องเจอเรื่องแบบนี้ คนจะช่วยเราก็ยังไม่ได้ช่วย คนส่งเงินส่งของไปช่วยเราก็ไม่ถึง ผมอยากจะบอกคนงานทุกๆ คนให้กลับไปพม่า กลับไปสู้กับรัฐบาล"

 

เรารู้สึกได้ถึงน้ำตาที่คงเอ่อล้นมาในดวงตาของผู้พูด แม้จะมองไม่เห็น

 

"ถ้าทุกคนกลับ ผมจะกลับด้วยกัน เราจะกลับไปสู้ ถ้าเราไม่สู้ เราจะต้องตายกันไปอย่างนี้อีกเท่าไหร่ เราจะต้องอยู่กันอย่างไม่รู้อนาคตแบบนี้อีกนานเท่าไหร่"

 

3.  

 

หยิบธนบัตร 10 จั๊ตเก่าคร่ำคร่านั้นขึ้นมาดู คล้อยหลังออกจากหมู่บ้านนั้นมาไม่เท่าไหร่ คนขับรถแท็กซี่บ่นว่าหมดเงินย่อย แล้วต้องยื่นธนบัตรใหญ่ให้กับเจ้าหน้าที่ด่านอิระวดี ซึ่งปรากฏว่า เจ้าหน้าที่คนนั้นยัดเงินทอนย่อยคืนมาให้ 2-3 ใบ รวมใบละ 10 จั๊ตใบหนึ่ง

 

 

 

"อุตส่าห์ทอนด้วยแน่" คนขับมองเงินแล้วอุทาน "โชคดีจริง...คุณเก็บไว้นะ นี่แหละ ออง ซาน" เขายื่นให้ดูรูปวีรบุรุษของพม่า พ่อของนางออง ซาน ซู จีผู้นำประเทศเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ

 

"หายากมากนะ ผมให้คุณเป็นที่ระลึกจากที่นี่" เขายิ้มกว้างเมื่อเห็นเราลังเล "ฟรีดอม (Freedom) เสรีภาพไง"

           

---------------------------------------

 

 

แด่เพื่อนจากประเทศพม่า และชาวอิระวดีทุกคน

พฤษภาคม 2551

 

ภาพประกอบ : Prachatai Burma / ชนา ดำเนิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท