Skip to main content
sharethis

วิกฤตการณ์อาหารโลกเป็นข่าวพาดหัวติดต่อกันมาถึง 2-3 เดือนแล้ว ซึ่งบทบาทและท่าทีของธนาคารโลก (World Bank) และประเทศพัฒนาต่อปัญหานี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธี "ในกระแส" ที่ยังเชื่อมั่นในกลไกของตลาดเสรี, การให้เงินกู้ รวมถึงการให้ความอนุเคราะห์ด้วยวิธีการบริจาค…


 


ธนาคารโลกประมาณการว่าราคาอาหารที่เพิ่มทวีขึ้นนี้อาจผลักไสให้ประชากรโลกถึง 100 ล้านคนตกเข้าสู่ห้วงแห่งความยากจนในเวลาสองปีที่ผ่านมา และการที่ราคาอาหารพุ่งสูงถึงสองเท่าภายในเวลาเพียงสามปีนั้น สามารถทำให้แผนงานมุ่งขจัดความยากจนภายในเวลาเจ็ดปีต้องถดถอย


 


สำหรับประชากรกว่าสองพันล้านคน ขณะนี้ราคาอาหารที่พุ่งสูงคือปัญหาประจำวันที่ทำให้ต้องดิ้นรนต่อสู้ เสียสละ หรือแม้กระทั่งแสวงหาทางอยู่รอด ทั้งที่มองไม่เห็นทางออกแต่อย่างใด


 


ราคาอาหารที่พุ่งสูงนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียบางส่วนแห่งความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้ ในการลดสภาวการณ์ขาดแคลนโภชนาการ ดังนั้นจึงเป็นการคุกคามและบั่นทอนคุณภาพชีวิตมิใช่เฉพาะต่อชนรุ่นนี้แต่ยังสำหรับชนรุ่นหน้าด้วย ทั้งที่ขณะนี้ความหิวโหยและภาวะทุโภชนาการกำลังเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตเด็กของเราปีละกว่า 3 ล้าน 5 แสนคน


 


ในช่วงปีที่ผ่านมาราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว เป็นเหตุให้ต้นทุนในการผลิตขนมปังเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ในขณะที่ราคาข้าวพุ่งสูงเกือบถึงระดับที่เป็นประวัติการณ์ คือราวร้อยละ 75 เป็นเหตุให้ราคาข้าวในบังคลาเทศ 1 ถุงขนาด 2 .. สูงเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ที่ครอบครัวคนยากจนหาได้ต่อวัน


 


โดยสถานการนี้มิใช่เหตุการณ์เฉพาะหน้าระยะสั้น ธนาคารโลกคาดว่าราคาอาหารจะทรงตัวสูงอยู่เช่นนี้ตลอดช่วงเวลาระยะกลาง (สูงกว่าระดับปี 2547 ไปจนถึงปี 2558)


 


โดยธนาคารโลก เรียกร้องมิให้ประเทศต่างๆ ห้ามการส่งออก โดยให้เหตุผลว่าจากมาตรการดังกล่าวจะผลักดันราคาอาหารให้สูงขึ้นอีกและส่งผลร้ายต่อประเทศยากจน ทั้งนี้ธนาคารโลกได้ชื่นชมและ สนับสนุนการตัดสินใจของประเทศยูเครนที่ยกเลิกการห้ามส่งออกสินค้าธัญญาหาร รวมถึงประเทศไทยที่ยังคงรักษานโยบายการส่งออกข้าว


 


นอกจากนี้ธนาคารโลกได้พิจารณาจัดหาเงินสนับสนุนช่วยเหลือเป็นการด่วนแก่ประเทศยากจนที่มีความอ่อนแออย่างยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่มีทางรอดและทางเข้าถึงแหล่งเงินน้อยมาก


 


รวมถึงเพิ่มวงเงินกู้ยืมเพื่อการเกษตรในแอฟริกาเป็นสองเท่าโดยประมาณภายในปีหน้า คือเพิ่มเป็น 800 ล้านดอลลาร์เพื่อส่งเสริมผลผลิตให้เพียงพอต่อความจำเป็น โดยประเทศที่ธนาคารโลกได้ช่วยเหลือไปแล้วก็มีอาทิ เช่น


 


ในแถบแอฟริกา มีการมอบเงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ ให้ บุรุนดิ, บูร์กินา ฟาโซ, มาดากัสคาร์, กานา, มาลี, ไนเจอร์ และไอเวอรีโคสต์ เพื่อสมทบกองทุนบูรณะฟื้นฟูประเทศ ในขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังทำการสำรวจเพื่อบ่งชี้ความต้องการความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น


 


ในเฮติ มีการมอบเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดหาอาหารให้เด็กยากจนและบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ในเฮติ รวมทั้งดำเนินการร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรอื่นๆ ของรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินตามความต้องการ


 


ในบังคลาเทศ มีการจัดเตรียมให้ความช่วยเหลือจำนวน 320 ล้านเหรียญจากกองทุนของเราเพื่อประเทศยากจนที่สุดในโลก คือ IDAเพื่ออุดช่องว่างทางการเงินอันเนื่องมาจากราคาอาหารและราคาน้ำมันที่พุ่งสูง


 


รัฐบาลบางแห่งกำลังให้ความช่วยเหลือตามโครงการอาหารฉุกเฉินหรือขยายขอบเขตโครงการเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม อาทิการให้ความช่วยเหลือในรูปเงินสดแก่กลุ่มชนที่เปราะบางในสังคม (อย่างเช่นประเทศบราซิล จีน เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับเงินดังกล่าวแล้ว)


 


ธนาคารโลกได้ขอร้องให้ประชาคมโลกหันมาร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อบรรลุ "แนวทางใหม่สำหรับนโยบายด้านอาหารโลก" (The New Deal on Global Food Policy) โดยแนวทางใหม่นี้ไม่ได้เน้นยุติความหิวโหยและการขาดสารอาหารที่จำเป็นของประชากรยากจนในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังพยายามแก้ปัญหาระยะยาว อันเกิดจากการขาดแคลนอาหาร ที่สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับพลังงาน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่อผลิตผลทางการเกษตร การลงทุนในภาคเกษตรกรรม การกีดกันสตรีและผู้ด้อยโอกาสในสังคมบางกลุ่ม รวมทั้งความยืดหยุ่นของระบบเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ


 



ทั้งนี้จากการที่รัฐมนตรีคลังที่มาประชุมระหว่าง "ธนาคารโลก - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)" ประจำฤดูใบไม้ผลิในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการลงนามสนับสนุนแนวทางใหม่ด้านนโยบายอาหารโลก ซึ่งเสนอโดย ประธานธนาคารโลก โรเบิร์ต บี. เซลลิค (Robert B. Zoellick) แนวทางใหม่นี้จะประมวลการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว


 


โดยโครงการสร้างความปลอดภัยทางสังคมที่ธนาคารโลกสนับสนุนก็มีอาทิเช่น โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารในการทำงาน และการจัดหาเงินสดตามเงื่อนไข รวมทั้งการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรการสร้างเสริมความเข้าใจเรื่องผลกระทบของเชื้อเพลิงชีวภาพตลอดจนการดำเนินการทางการค้าเพื่อลดการอุดหนุนที่บิดเบือนภาวะตลาดและการสร้างกำแพงทางการค้า


 


……


ที่มา:


Development in Partnership and other news related to development, May 2008 (World Bank Thailand - เข้าดูเมื่อ 14 พ.ค. 51)


 






 


ข่าว-บทความ-รายงาน ประชาไท: วิกฤตอาหาร


 


 


 


ประมวลสถานการณ์ ภาวะวิกฤตอาหารประจำสัปดาห์ (4 - 10 พ.ค.2551)


โซมาเลีย ระอุ! ประท้วงวิกฤติราคาอาหารพุ่งสูงอีกประเทศ


ประมวลสถานการณ์ประท้วง ภาวะวิกฤตอาหารประจำสัปดาห์ (27 เม.ย. - 3 พ.ค. 51)


วิกฤตอาหาร โอกาสทองบนความเสี่ยงของ "ชาวนา" จับตาทุนใหญ่เกษตรผูกขาดพันธุ์ข้าว


ข้าวแพง ชาวนาได้ประโยชน์จริงหรือ!


เซเนกัลประท้วง สู้ไม่ไหวราคาอาหารพุ่งสูง


รายงาน: จับตายุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของไทย


สุดทน! ประชาชนฮอนดูรัส- มองโกเลีย ประท้วงค่าครองชีพพุ่งสูง


แรงงานบังคลาเทศหยุดงานประท้วง เนื่องจากราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น


"เฮติ" จลาจล หลังราคาอาหารพุ่งสูง


คนงานในบูร์กินา ฟาโซเตรียมนัดหยุดงานทั่วประเทศเดือนหน้า ประท้วงค่าครองชีพพุ่ง


คนรวย คนชั้นกลางอิ่มหมีพีมัน ..แต่คนจนกลับต้องจำใจกินดิน!


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net