Skip to main content
sharethis

จากบทความเดิมชื่อ :60ปีแห่งความปวดร้าวของปาเลสไตน์ และความป่าเถื่อนของอิสราเอล


 


 


ใจ อึ้งภากรณ์


พรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


ทำไมเราต้องสนับสนุนชาวปาเลสไตน์


 


ความปวดร้าวและความป่าเถื่อนในตะวันออกกลางที่เราเห็นในจอโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องเป็นปีๆ ไม่ใช่การต่อสู้ทางศาสนาหรือเชื้อชาติแต่อย่างใด แต่มันเป็นผลของการแทรกแซงโดยมหาอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตก เพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่สำคัญที่สุดสำหรับระบบอุตสาหกรรมของทุนนิยม…"น้ำมัน" นั้นเอง และในขณะที่สื่อไทยและตะวันตกพยายามสร้างภาพว่าองค์กรของชาวปาเลสไตน์ เช่นฮามาส (Hamas) เป็นพวก "หัวรุนแรง" หรือพวก "ก่อการร้าย" การศึกษาประวัติศาสตร์และข้อมูลจากพื้นที่เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เราเห็นว่าเป็นการโกหกทั้งสิ้น


 


รัฐอิสราเอล


รัฐอิสราเอลถูกสร้างขึ้นเมื่อ 60 ปีก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นยามเฝ้าน้ำมันในตะวันออกกลางของอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา อิสราเอลมีหน้าที่หลักในการเป็นพันธมิตรของตะวันตกเพื่อสกัดกั้นและไล่กัดกระแสชาตินิยมอาหรับที่ต้องการควบคุมน้ำมันเพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ แทนประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติตะวันตก รัฐอิสราเอลเป็นรัฐเหยียดเชื่อชาติเพราะเป็นรัฐที่กีดกันคนที่ไม่ใช่ชาวยิว และที่สำคัญคือถูกสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเกิดด้วยความรุนแรงโหดร้ายทารุณ บ่อยครั้งมีการเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อฆ่าชายหญิงและเด็ก ซึ่งเป็นวิธีสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวปาเลสไตน์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชาวปาเลสไตน์หมดกำลังใจในการต่อสู้ และหลบหนีออกจากพื้นที่จนกลายเป็นผู้ลี้ภัยถาวรในค่ายรอบๆ อิสราเอล


 


การสร้างรัฐอิสราเอลไม่ได้สร้างสันติภาพแต่อย่างใด เพราะอิสราเอลพยายามขยายพื้นที่และพรมแดนผ่านการทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์ รวมถึงมีการสร้างหมู่บ้านใหม่ให้ชาวยิวที่อพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อิสราเอลพยายามคุมชาวปาเลสไตน์ในกาซาและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ด้วยการสร้างภาพลวงตาว่าให้อำนาจในการปกครองตนเอง แต่ที่จริงมีการสร้างกำแพงล้อมรอบชุมชนชาวปาเลสไตน์ จนชุมชนของชาวปาเลสไตน์กลายเป็นคุกยักษ์ใหญ่เพื่อกักกันคนของอิสราเอล (ดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "กำแพงเหล็ก")


 


ลัทธิความคิดที่ใช้ในการสร้างรัฐเหยียดเชื้อชาติอิสราเอลนี้ เรียกว่าลัทธิ "ไซออนิสม์" (Zionism) ซึ่งเป็นแนวความคิดชาตินิยมขวาสุดขั้ว สิ่งที่สำคัญที่เราต้องเข้าใจคือคนยิวส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ได้เป็นไซออนิสต์ และมีชาวยิวไม่น้อยที่ไม่สนับสนุนการกระทำของอิสราเอล นอกจากนี้ชาวยิวจำนวนหนึ่งเป็นนักสังคมนิยม ในอดีตมีคนดังๆ เช่น เช่นคาร์ล มาร์คซ์, ลีออน ตรอทสกี, โรซา ลัคแซมเอร์ค และ โทนี่ คลิฟเป็นต้น ชาวยิวนักสังคมนิยมในยุคนี้มักจะสนับสนุนการปลดแอกตนเองของชาวปาเลสไตน์ และปฏิเสธการสร้างลัทธิที่ก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติ


 


สรุปแล้วคนที่คัดค้านอิสราเอลไม่ควรเกลียดชังชาวยิวทั้งหมด โดยเฉพาะประชาชนธรรมดา


 


สาเหตุที่แนวคิดไซออนิสม์มีอิทธิพลสูงในปัจจุบัน เกิดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพรรคนาซีภายใต้ฮิตเลอร์ในประเทศเยอรมัน (ที่เรียกว่า Holocaust) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองฮิตเลอร์กับพรรคพวกฆ่าชาวยิวไป 6 ล้านคน แต่โศกนาฏกรรมของการสร้างรัฐอิสราเอลคือ พวกผู้นำอิสราเอลอ้างถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์ เพื่อหันมาล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ ซึ่งมีผลให้ทั้งชาวยิวและชาวปาเลสไตน์มีชีวิตอยู่ท่ามกลางสงครามอย่างต่อเนื่อง คำถามคือใครได้ประโยชน์? และทางออกในการแก้ไขปัญหาคืออะไร?


 


สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจในยุคปัจจุบันคืออิสราเอลเป็นสมุนของสหรัฐ ไม่ใช่ว่าสหรัฐสนับสนุนอิสราเอลเพราะชาวยิว"คุมเศรษฐกิจและการเมืองสหรัฐ"อย่างที่บางคนเชื่อ เพราะจริงๆ แล้ว สหรัฐและประเทศตะวันตกไม่สนใจความเป็นอยู่ของชาวยิวธรรมดาในอิสราเอลเลย พร้อมจะให้เขามีชีวิตในสภาพสงครามถาวรมาตลอด และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ท่ามกลางความป่าเถื่อนของฮิตเลอร์ ประเทศเหล่านี้ไม่ยอมให้คนยิวที่หนีออกจากเยอรมันเข้ามาลี้ภัยในประเทศของตนเอง


 


การสนับสนุนอิสราเอลของตะวันตกกลายเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจกับผู้นำไซออนิสต์ของอิสราเอลในการใช้นโยบายก้าวร้าวและรุนแรง เพราะอิสราเอลเป็นประเทศที่ได้รับอาวุธและเงินทุนมากที่สุดจากสหรัฐ และเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่แอบสร้างระเบิดนิวเคลียร์ โดยที่มหาอำนาจตะวันตกไม่เคยประณามอิสราเอลแต่อย่างใด


 


อิสราเอลมีประโยชน์ต่อตะวันตก เพราะมักจะกล้าทำสิ่งที่สหรัฐหรืออังกฤษไม่กล้าทำอย่างเปิดเผย ประชาชนในตะวันตกจะคอยตรวจสอบรัฐบาลของตนเองอยู่เสมอ แต่ในอิสราเอลประชาชนชาวยิวถูกมอมเมาด้วยลัทธิชาตินิยมไซออนิสม์  ดังนั้นอิสราเอลมักก่ออาชญากรรมสงครามอย่างเปิดเผยและง่ายดาย โดยที่ตะวันตกทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ตัวอย่างเช่นการเข้าไปยึดเลบานอนและการฆ่าพลเรือนหลายพันคนในค่ายลี้ภัย การทิ้งระเบิดประเทศรอบข้าง และการพยายามล้มรัฐบาลฮามาสของชาวปาเลสไตน์ นอกจากนี้บ่อยครั้งการกระทำของอิสราเอลจะถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้สหรัฐและสหประชาชาติกดดันประเทศอาหรับ เช่น ซิเรีย หรืออิหร่าน ในกรณีวิกฤตคลองซุเอสปี 1956 อังกฤษและฝรั่งเศสก็เคยใช้การกระทำของอิสราเอลเป็นข้ออ้างในการบุกอียิปต์


 


ดังนั้นเราต้องคัดค้านนโยบายการทำสงครามของสหรัฐกับอังกฤษ และนโยบายก้าวร้าวของอิสราเอลพร้อมๆ กัน เราถึงจะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางได้


 


ฮามาส (Hamas) คือใคร?


ฮามาสคือองค์กรทางการเมืององค์กรหนึ่งของชาวปาเลสไตน์ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลของชาวปาเลสไตน์ตามระบบประชาธิปไตย ฮามาสใช้แนวคิดอิสลามและถูกก่อตั้งขึ้นหลังจากที่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากมองว่า องค์กรกู้ชาติปาเลสไตน์ ที่ชื่อ Palestinian Liberation Organisation(P.L.O.) หมดสภาพในการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาวปาเลสไตน์ เนื่องจาก P.L.O. มีจุดยืนจำยอมต่ออิสราเอลกับสหรัฐ และกลายเป็นองค์กรหากินแบบทุจริตของนักการเมืองบางคน แต่พอ  ฮามาส ได้รับเลือกตั้ง รัฐบาลตะวันตกไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและตัดเงินสนับสนุนทุกอย่างที่เคยให้ชาวปาเลสไตน์ ส่วนอิสราเอลก็มีการวางแผนเพื่อใช้กำลังทหารล้มรัฐบาลฮามาส ในขณะเดียวกันอิสราเอลและตะวันตกพยายามสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวปาเลสไตน์ ด้วยการหนุนหลังนักการเมืองของ P.L.O. เช่นประธานาธิบดีอาบัส ในที่สุดอาบัสทำรัฐประหารยึดอำนาจในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งนำไปสู่การยึดอำนาจของฮามาสในกาซา


 


ฮามาสได้รับการสนับสนุนจากประชาชนปาเลสไตน์เพราะมีความจริงใจในการต่อสู้กับอิสราเอล แต่อิสราเอลมักโต้ตอบด้วยการถล่มบ้านเมืองของปาเลสไตน์อย่างรุนแรง นอกจากนี้มีการพยายามปิดล้อมกาซาเพื่อไม่ให้ประชาชนมีเชื้อเพลิง อาหารและยารักษาโรค แต่ในที่สุดฮามาสสามารถพังกำแพงให้คนเข้าไปซื้อของในประเทศอียิปต์ได้ ส่วนรัฐบาลอียิปต์ที่เลิกสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และหันมาเป็นพันธมิตรที่ดีของสหรัฐมาหลายสิบปีแล้ว ไม่สามารถปิดกั้นชาวปาเลสไตน์ที่พังกำแพง เพราะขบวนการภาคประชาชนภายในอียิปต์ออกมาสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ เหตุการณ์นี้พิสูจน์ว่ารัฐบาลอาหรับไม่ใช่ที่พึ่งของชาวปาเลสไตน์ แต่เพื่อนแท้ของเขาคือขบวนการภาคประชาชนต่างหาก ที่มักคัดค้านรัฐบาลเผด็จการอาหรับ


 


คนไทยเกี่ยวข้องกับปัญหานี้อย่างไร?


หลายคนอาจหลงคิดว่าปัญหาตะวันออกกลางไม่เกี่ยวกับเรา แต่รัฐบาลไทยทุกชุดมีจุดยืนสนับสนุนจักรวรรดินิยมอเมริกา ล่าสุดคือการส่งทหารไทยไปช่วยยึดครองอิรักสมัยรัฐบาลทักษิณ การหนุนสหรัฐช่วยให้สหรัฐและอิสราเอลทำลายชีวิตของชาวปาเลสไตน์ และช่วยเสริมอำนาจต่อรองของสหรัฐในเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงกับเราในประเทศไทย เช่นสัญญา F.T.A.


 


ยิ่งกว่านั้นทหารไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับกองทัพและรัฐบาลอิสราเอลมาตลอด ซึ่งมีผลให้รัฐบาลไทยช่วยอิสราเอลกดขี่ชาวปาเลสไตน์ และช่วยให้ทหารกดขี่ประชาชนไทยโดยการทำลายประชาธิปไตยเป็นระยะๆ 


 


ในอิสราเอลมีคนงานไทยไปทำงานจำนวนมาก ซึ่งช่วยหนุนนโยบายก้าวร้าวของอิสราเอล และช่วยให้ให้อิสราเอลปลดคนงานปาเลสไตน์ออกจากงานได้มากขึ้น ร้ายสุด คนงานไทยไปช่วยพวก ไซออนนิสต์ สุดขั้ว ทำไร้เกษตรบนพื้นดินที่ขโมยจากชาวปาเลสไตน์ และการที่คนไทยต้องไปหางานในประเทศอย่างอิสราเอลทำให้เสี่ยงภัยสงคราม และมาจากการละเลยปัญหาความยากจนของคนภายในประเทศเราเอง


 


ปัญหาของชาวปาเลสไตน์เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับปัญหาสามจังหวัดชายแดนอีกด้วย เพราะการกดขี่ชาวปาเลสไตน์หรือชาวมุสลิมมาเลย์ในสามจังหวัด เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะแก้ปัญหาเหล่านี้เราต้องกดดันให้มีการเคารพสิทธิของคนทั่วโลกที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง และสิทธิของประชาชนที่จะได้รับความยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานเชื้อชาติหรือศาสนา ประเด็นปัญหาตะวันออกกลางพิสูจน์ว่าภาคประชาชนทั่วโลกต้องรวมตัวกันต่อต้านคู่แฝดจากนรก: สงครามจักรวรรดินิยม และกลไกตลาดเสรี และในการต่อต้านความโหดร้ายของทุนนิยมดังกล่าว เราต้องสร้างความสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์ สันติภาพจะมาสู่ตะวันออกกลางได้ก็ต่อเมื่อจักรวรรดินิยมตะวันตกถูกบังคับให้ถอนตัวออกไป ซึ่งจะกดดันอิสราเอลให้ยุติความก้าวร้าว แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งประชาชนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นอาหรับ ปาเลสไตน์ ยิว หรือเชื้อชาติอื่นๆ จะต้องมีโอกาสที่จะร่วมกันกำหนดอนาคตของตนเองโดยไม่ต้องใช้อาวุธ ทุกฝ่ายต้องมีพื้นที่ยืนของตนเอง ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งมีรัฐและคุมพื้นที่ได้ ในขณะที่อีกฝ่ายต้องเป็นผู้ลี้ภัยถาวร


 


ในประเทศไทย เราต้องเรียกร้องให้รัฐไทยและกองทัพ เลิกสนับสนุนอิสราเอล และต้องรณรงค์ให้แรงงานไทยกลับมาจากอิสราเอล หรือไปหางานที่ประเทศอื่นแทน


 


ลำดับเหตุการณ์สำคัญในปาเลสไตน์/อิสราเอล

 


1840  มหาอำนาจตะวันตกเริ่มแทรกแซงตะวันออกกลาง มีการแต่งตั้งผู้นำและขีดเส้นพรมแดนเพื่อคุมน้ำมัน


1936  ฮิตเลอร์ขึ้นมาเป็นเผด็จการในเยอรมัน ฆ่าคนยิว 6 ล้านคน


1930-1945 อังกฤษใช้วิธีแบ่งแยกและปกครองเพื่อสร้างปัญหาระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวในตะวันออกกลาง


1946  ชาวปาเลสไตน์ เริ่มถูกขับไล่ออกจากพื้นที่บ้านเกิด โดยกลุ่มก่อการร้าย ไซออนิสต์


1948  ชาวบ้านปาเลสไตน์ ทั้งชาย หญิงและเด็ก ถูกสังหารถึง 300 คน ในหมู่บ้าน Deir Yassin โดยผู้ก่อการร้ายไซออนิสต์


          ในที่สุดคนปาเลสไตน์ 750,000 คนต้องหนีออกไปอยู่ในค่ายลี้ภัยในอียิปต์ จอร์แดน และเลบานอน


1948  พวกไซออนิสต์สถาปนารัฐอิสราเอล แต่ชาวปาเลสไตน์ไม่มีรัฐของตนเองมาจนทุกวันนี้


1967  สงครามระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับรอบข้าง อิสราเอลยึดพื้นที่เพิ่มขึ้นจากอียิปต์ จอร์แดนและซิเรีย


1975  ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกขับไล่ออกจากประเทศจอร์แดน และเข้ามาในเลบานอน


1975-1976 สงครามกลางเมืองในเลบานอนระหว่าง Maronite ซึ่งเป็นฝ่ายขวาฟาซิสต์ที่มีอิสราเอลหนุนหลัง กับแนวร่วมซ้ายซึ่งประกอบไป


          ด้วยกลุ่มปาเลสไตน์กับกลุ่มอิสลามพื้นเมือง ฝ่ายซ้ายมีแนวโน้มจะชนะ แต่ซิเรียส่งกองทัพมายับยั้งชัยชนะ โดยได้รับคำชมจากสหรัฐ


1982  สงครมกลางเมืองครั้งที่สองในเลบานอน อิสราเอลส่งกองทัพเข้ามายึดเลบานอนภายใต้ข้ออ้างว่าต้องปราบชาวปาเลสไตน์ อิสราเอล


          ทำลายเมืองเบรุทและฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวปาเลสไตน์ แต่ในที่สุดขบวนการเฮสโบลาห์สามารถไล่อิสราเอลออกไปได้ ก่อนหน้านั้นทหาร


         "รักษาความสงบ" ของสหรัฐต้องถอนตัวออกหลังถูกระเบิดพลีชีพในปี 1984


1993  P.L.O. กับอิสราเอลเจรจาสันติภาพ P.L.O. ยอมรับรัฐอิสราเอลและอิสราเอลให้ P.L.O. "ปกครองตนเอง" ในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ


          จอร์แดนและกาซา ภายใต้การควบคุมของรัฐอิสราเอลเหมือนเป็นเมืองขึ้น


2000  กระบวนการสันติภาพต้องยุติ เพราะอิสราเอลไม่ยอมเลิกขยายชุมชนชาวยิวในพื้นที่ปาเลสไตน์ นักรบของฮามัสมีบทบาทมากขึ้น


2006  อิสราเอลโจมตีกาซาเพื่อทำลายรัฐบาลฮามาสที่มาจากการเลือกตั้ง และก่อสงครามอีกครั้งกับเลบานอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net