Skip to main content
sharethis





 


"สงคราม (ต้าน) ยาเสพติด" เต็มรูปแบบที่เม็กซิโก


 



ภาพ/ ข้อมูล: Mexican troops take on cartels (BBC)


 


ประธานาธิบดีเฟลิเป กัลเดรอน แห่งประเทศเม็กซิโก ประกาศเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2551 ว่า รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารและตำรวจหน่วยพิเศษกระจายตัวไปทั่วประเทศแล้ว เพื่อรับมือและป้องกันการตอบโต้ของขบวนการค้ายาเสพติด เนื่องจากต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เป็นทหารและนายตำรวจระดับสูง ถูกลอบสังหารไปแล้วทั้งสิ้น 6 ราย ภายในเวลา 2 สัปดาห์ โดยเชื่อว่าการลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้เป็นฝีมือของขบวนการค้ายาเสพติด


 


ทหารและตำรวจอีก 3,000 นาย จะถูกส่งตัวไปสมทบเจ้าหน้าที่ชุดแรกภายในเร็วๆ นี้ และรัฐบาลเม็กซิโกระบุว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดทั่วประเทศทั้งสิ้น 30,000 นาย ซึ่งจะใช้วิธีการขั้นเด็ดขาดในการตรวจสอบ จับกุม และปราบปรามผู้ต้องสงสัย


 


ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากนโยบายปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดของเม็กซิโกในปีนี้มีมากกว่า 1,000 คน โดยประธานาธิบดีกัลเดรอนได้ประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ มีผู้เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดที่เสียชีวิตจากการจับกุมและปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐประมาณ 3,500 คน ซึ่งมีทั้งที่พิสูจน์ได้ว่าพัวพันกับการค้ายาเสพติดจริง รวมถึงผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง


 


สังคมเม็กซิโกมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปในกรณีดังกล่าว โดยบางกระแสเชื่อว่า ขบวนการค้ายาเสพติดเริ่มอ่อนแอลง หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามกวาดล้างอย่างรุนแรง จริงจัง และต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อดิ้นรนเฮือกสุดท้าย แต่บางกระแสกลับเชื่อว่าการใช้กำลังปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียวจะยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความรุนแรงในสังคมมากขึ้นกว่าเดิม และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์


 


ก่อนหน้านี้ ในปี 2550 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้เงินทุนสนับสนุนแก่เม็กซิโกเป็นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด โดยอเมริกาให้เหตุผลว่าประเทศของตนได้รับผลกระทบจากการค้ายาเสพติดเป็นอย่างมาก ซึ่งตรงกับการเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศที่ระบุว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดค้ายาเสพติดขนาดใหญ่ และคาดว่าในแต่ละปี มีเงินนอกระบบจากการค้ายาเสพติดหมุนเวียนอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นเงินสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว


 


 


 


 






 


สตรีมุสลิมมาเลย์รวมตัวต้านนโยบายย้อนยุค กท.ต่างประเทศ


"จำกัดสิทธิ์ผู้หญิงเดินทางคนเดียว"


 



ภาพ/ ข้อมูล: Anger at Malaysia women travel curb (Al Jazeera)


 


สืบเนื่องจากกรณีรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย (Rais Yatim) เสนอนโยบายควบคุมการเดินทางไปต่างประเทศของสตรีชาวมาเลเซีย โดยให้เหตุผลว่า สถิติผู้หญิงมาเลเซีย อายุระหว่าง 21-27 ปีที่เดินทางไปต่างประเทศคนเดียว ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มมิจฉาชีพที่ต้องการขนส่งยาเสพติดข้ามชาติ สูงถึงร้อยละ 90 ของคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้น กระทรวงต่างประเทศจึงเสนอให้ออกนโยบายห้ามสตรีชาวมาเลเซียเดินทางออกนอกประเทศเพียงลำพัง และถ้าต้องการจะเดินทางไปต่างประเทศจริง สตรีผู้นั้นต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองหรือนายจ้างมายื่นกับทางศุลกากรด้วย


 


ปรากฏว่านโยบายของ รมต.ต่างประเทศถูกคัดค้านอย่างหนักจากสตรีชาวมาเลเซีย โดยตัวแทนองค์กรเอกชนซึ่งเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวมุสลิมได้ให้เหตุผลว่า ผู้หญิงมาเลเซียต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การเรียกร้องให้มีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองหรือนายจ้างทุกครั้ง ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม เป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา และยังถือว่านโยบายดังกล่าวเป็นการลดคุณค่าของผู้หญิงลงไปอย่างมาก


 


ไอวี่ โจไซอาห์ ประธานองค์กรด้านความช่วยเหลือสตรีมาเลเซีย กล่าวว่า การปกป้องผู้หญิงด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง ถือเป็นค่านิยมผิดๆ ที่มองว่าผู้หญิงอ่อนแอและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ รัฐบาลควรจะรณรงค์หรือสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศ ให้ระมัดระวังกลอุบายของขบวนการค้ายาเสพติด แทนที่จะจำกัดสิทธิ์ในการเดินทางของผู้หญิงมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญในการหารายได้เข้าสู่ครอบครัว และสามารถขับเคลื่อนสังคมได้ดีไม่แพ้เพศชาย


 


โจไซอาห์เพิ่มเติมว่า รัฐบาลมาเลเซียควรจะเปิดเผยสถิติผู้ชายชาวมาเลเซียที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ายาเสพติดด้วย เพื่อเปรียบเทียบกัน ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเพิ่มศักยภาพแก่ผู้หญิงในสังคม คือการให้ความรู้แก่ผู้ชาย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า อาชญากรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้กระทำผิดมักจะเป็น "เพศชาย"


 


 


 





 


ปาเลสไตน์ปล่อยลูกโป่งดำ 21,915 ลูก รำลึก 60 ปี แห่งการ (ถูก) ยึดครอง


 



ภาพ/ ข้อมูล: Palestinians Mark "Catastrophe" of Israel"s Birth (Common Dreams)


 


ระหว่างที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งรัฐอิสราเอล เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2551 ประชาชนชาวปาเลสไตน์นับพันคนรวมตัวกันในเมืองรามัลลาห์ เขตเวสต์แบงก์ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันก่อตั้งรัฐอิสราเอล ซึ่งถือเป็น "วันหายนะ" หรือ Naqba ของบรรดาชาวปาเลสไตน์ เพราะวันประกาศอิสรภาพของอิสราเอล ถือเป็นวันที่ดินแดนปาเลสไตน์ถูกยึดครอง และเป็นเหตุให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากต้องอพยพพลัดถิ่นไปอยู่ในประเทศอาหรับอื่นๆ อีกประมาณ 4.5 ล้านคน


 


ชาวปาเลสไตน์ที่รวมตัวกันในวันดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์เรื่องผู้อพยพลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในต่างประเทศ โดยเรียกร้องว่า ผู้ที่ต้องการกลับมายัง "แผ่นดินเกิด" ของตน สมควรจะได้กลับมา และหน่วยงานสากล เช่น องค์การสหประชาชาติ ต้องเข้ามาจัดการดูแลกรณีดังกล่าวด้วย


 


นอกจากนี้ ชาวปาเลสไตน์ที่รวมตัวกันในเขตเวสต์แบงก์ได้ร่วมกันปล่อยลูกโป่งสีดำจำนวน 21,915 ลูก เพื่อสื่อความหมายถึงจำนวนวันที่อิสราเอลยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งลูกโป่งเหล่านั้นถูกปล่อยขึ้นฟ้าในช่วงเดียวกับที่ประธานาธิบดีบุชกำลังกล่าวสุนทรพจน์ ทำให้เหมือนกับมีเมฆดำปกคลุมท้องฟ้า เปรียบได้กับความมืดมนแห่งการสูญเสียอิสรภาพของชาวปาเลสไตน์


 


 


 






 


ผลวิจัยชี้ "ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ" ช่วยลดปริมาณวัยรุ่นที่เป็นสิงห์อมควันได้!


 



ภาพ/ ข้อมูล: Study: Bans Curb Teen Smoking (Time Magazine)


 


คณะวิจัยด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยบอสตัน, แมสซาชูเส็ท รายงานผลการศึกษาเรื่องแนวโน้มการสูบบุหรี่ในหมู่วัยรุ่นในวารสารทางการแพทย์ Archives of Pediatrics & Adolescent Medicine ซึ่งผลวิจัยสรุปได้ว่า เมืองที่มีกฎห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ได้แก่ ที่ทำงาน ร้านอาหาร และร้านรวงต่างๆ ส่งผลให้อัตราวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ในเมืองเหล่านี้มีน้อยกว่าวัยรุ่นซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองที่ไม่มีการห้ามสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 40


 


ดร.ไมเคิล ซิเกิล หัวหน้าคณะวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 2,791 คนที่อาศัยอยู่ในรัฐแมสซาชูเส็ท และกระจายตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ ซึ่งมีทั้งกฎห้ามสูบบุหรี่ฯ และไม่มีกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และคณะวิจัยได้ติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของกลุ่มตัวอย่างเป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อเปรียบเทียบกัน จนกระทั่งสามารถยืนยันได้ว่าการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะส่งผลให้เด็กวัยรุ่นไม่คิดสูบบุหรี่ โดยสันนิษฐานว่า การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะสามารถสร้าง "ชุดการรับรู้" ให้วัยรุ่นเข้าใจว่า การสูบบุหรี่ "ไม่เป็นที่ยอมรับ" ของสังคม


 


ผลการศึกษาของคณะวิจัยจาก ม.บอสตัน ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เด็กวัยรุ่นตอนต้น เป็นกลุ่มที่รับรู้ค่านิยมต่อต้านการสูบบุหรี่ได้มากกว่าเด็กวัยรุ่นตอนปลาย แต่เมื่อมีกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะออกมาใช้ตามเมืองต่างๆ เมื่อปี 2547 จำนวนเด็กวัยรุ่นมัธยมปลายที่สูบบุหรี่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เหลือเพียงร้อยละ 18 ในปี 2550 ซึ่งลดลงไปร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับสถิติร้อยละ 21 ของเด็กวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ในปี 2548


 


อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากในเมืองที่มีกฎห้ามสูบบุหรี่ต่างพากันกันคัดค้านกฎดังกล่าว เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากปริมาณลูกค้าลดลงจากเดิมมาก โดยร้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือร้านประเภทที่ขายอาหารตอนเย็นไปจนถึงช่วงกลางคืน ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน เมื่อไม่สามารถสูบบุหรี่ในร้านอาหารได้ ลูกค้าก็เปลี่ยนไปที่อื่นแทน


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net