Skip to main content
sharethis


ชื่อบทความเดิม : "หยุดเพลงรัก พักเพลงรบ จบเพลงยุทธ" : "ปุ๋ย" ในความทรงจำของเพื่อนและพี่






ในบรรดาพี่น้องห้าคน ผมเป็นคนที่สองและปุ๋ยเป็นคนที่สี่ อายุห่างกันประมาณสามปี เป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็กและทะเลาะกันมาตั้งแต่เด็กจนโต ชีวิตในวัยเยาว์ของปุ๋ยแม้ไม่ได้โลดโผนโจนทะยานสักเท่าไร แต่ก็เป็นชีวิตที่ระหกระเหินพอสมควร หรืออาจจะกล่าวได้ว่าชีวิตของปุ๋ยระหกระเหินมาตลอดก็ว่าได้ เริ่มจากเกิดที่นครสวรรค์ แล้วพ่อแม่ส่งมาให้ย่าเลี้ยงที่กรุงเทพฯ พอโตหน่อยก็เอามาจ้างเขาเลี้ยงที่สุพรรณบุรี แล้วมาเข้าเรียนที่นครสวรรค์ เรียนได้หกเจ็ดปีก็ย้ายไปเรียนที่หัวหิน แล้วกลับมาเรียนที่นครสวรรค์ใหม่จนจบมัธยมปลาย ก็มาต่อที่รามคำแหง




ในรามคำแหงปุ๋ยเริ่มทำกิจกรรมนักศึกษาโดยสังกัดพรรคนักศึกษาชื่อพรรคสัจจธรรมซึ่งแตกออกมาจากพรรคอธิปัตย์อีกที มี แจ๊ค วัชระ เพชรทอง เป็นเลขาธิการพรรค ปุ๋ยได้เรียนรู้กลเม็ดเด็ดพรายหรือลูกเล่นทางการเมืองจากพรรคนี้มาไม่น้อย เพราะช่วงนั้นกิจกรรมนักศึกษายังรุ่งเรืองพอสมควร มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง แต่ต่อมาก็มีการขัดแย้งกันในพรรคไม่ทราบด้วยสาเหตุอะไร เพราะขณะนั้นผมบวชอยู่ และปุ๋ยก็มารวมกลุ่มกับเพื่อนศึกษาปัญหาคนงานร่วมกัน ในนามกลุ่มสวัสดิภาพแรงงาน ม..(สภง.) ซึ่งมีแกนนำหลักเช่น ตี๋เล็ก ตุ้ม เอ๋ เป็นต้น เข้าใจว่าปุ๋ยก็เป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง เพราะกลุ่มนี้มีกันไม่กี่คน แต่ศักยภาพของคนกลุ่มนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของขบวนการนักศึกษาได้เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษากลุ่มเดียวในยุคนั้นที่สนใจปัญหาคนงาน ไม่ว่าจะเป็นการออกมาร่วมผลักดัน พรบ.ประกันสังคม การร่วมประท้วงกับคนงาน ตราอูฐ พาร์การ์เมนท์ ไทรอัมพ์ ไทยพัตราภรณ์ ฯลฯ จนทำให้ปุ๋ยสนิทสนมกับพี่น้องสายแรงงานและได้สานสัมพันธ์กันมาตลอด จนแม้เมื่อจบออกมาทำงานทำการแล้ว อีกทั้งการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล คัดค้านดินเค็มก็ทำให้ปุ๋ยรู้จักสมัครพรรคพวกในอีสานอีกมาก




นอกจากนี้กลุ่มสวัสดิภาพแรงงานยังเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษาในรามและ สนนท.เพื่อคัดค้าน รสช.อีกด้วย และปุ๋ยก็ผันตัวมาเป็นผู้ปฎิบัติงานคนหนึ่งของ สนนท. เพื่อนในหลายสถาบันรู้จักมักคุ้นกับปุ๋ยเป็นอย่างดี โดยที่ปุ๋ยไม่ได้มีตำแหน่งใน สนนท.เลย ในช่วงคัดค้าน รสช.นั้นก็มีม๊อบไทรอัมพ์อยู่หน้าทำเนียบด้วย พวก สภง. ตอนกลางวันก็อยู่กับคนงาน พอตอนเย็นก็ชวนคนงานไปเยี่ยมม๊อบที่หน้ารัฐสภา ผมก็มาป้วนเปี้ยนกับปุ๋ยอยู่ด้วย จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งที่พวกเราพากันเดินไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พบว่ามีตำรวจทหารปิดทางเข้าออกแน่นไปหมด เราสองคนพี่น้องจึงรีบวิ่งอ้อมไปทางด้านเขาดิน ที่นั่นก็มีการปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่เช่นกัน เพียงแต่ว่าเราสามารถสื่อสารกับพรรคพวกที่อยู่ภายในได้ จำไม่ได้ว่าใครโยนโทรโข่งออกมาให้ตัวหนึ่ง พอรับได้แล้วเราสองคนพี่น้องก็วิ่งกลับมาที่ลานพระรูปอีกครั้ง และผลัดเปลี่ยนกันพูดโทรโข่งอยู่ที่ตรงสี่แยกนั้น จำได้ว่าตอนหลังมีน้องชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมมาช่วยพูดด้วย ชื่อไก่กับอ้อย จนกระทั่งคุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ขับรถบุกเข้าไป และต่อมาพรรคพวกก็เอารถหกล้อออกมาปราศรัยได้ จำได้คลับคลายคลับคลาว่า "เต้ย" นัทที ดีพร้อม เพื่อนนิสิตจากจุฬาฯ เป็นคนพูดอยู่บนรถคันนั้น ปุ๋ยกับผมก็กลับคืนสู่สภาพเดิมคือกลับมาเป็นการ์ดช่วยดูแลเวทีตามที่ "หนุ่ย" เพื่อนจาก ม.เกษตรสั่งการ และในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเข้มข้นขึ้น บทบาทของพวกเราก็ยังคงเป็นการ์ด ทั้งการ์ดธรรมดาและการ์ดซึมที่คอยหาข่าวส่งให้เพื่อนไปประมวลข่าวต่อไป จนกระทั่งทหารออกมาฆ่าประชาชนนั่นแหละ พวกเราจึงถอนตัวออกมา โดยมีจุดนัดพบกันที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งย่านวงเวียนใหญ่ ปุ๋ยกับผมปลอดภัยทั้งคู่ แต่ทางบ้านเป็นห่วงมาก เพราะมีชื่อเราถูกแจ้งเป็นคนสูญหาย โดยความปรารถนาดีของเพื่อนเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ ที่ไปแจ้งเพื่อเอายอดไว้ก่อน




เมื่อขบวนเคลื่อนจากสนามหลวงมาที่รามคำแหง ปุ๋ยกับผมก็มารอรับโดยการเข้าไปพังประตูห้ององค์การนักศึกษา เพื่อขนเอาเครื่องเสียงมาตั้งที่เวที สวป. ให้พรรคพวกได้ใช้กัน แล้วจากนั้นก็กลับไปทำหน้าที่หาข่าวตามเดิม แต่ไม่ได้ส่งให้ใคร ได้แต่มาประมวลกันเอง เพราะ สนนท.ไม่ได้เป็นองค์กรนำอีกแล้ว เนื่องจากเลขาธิการหายตัวไป ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ และต่อมาก็มานั่งรำพึงรำพันกันเงียบๆ เมื่อเหตุการณ์จบลง โดยปุ๋ยไปเขียนไว้บนกระดานในกลุ่ม สภง. ความว่า "หยุดเพลงรัก พักเพลงรบ จบเพลงยุทธ" แต่เนื้อความจะสื่อสารอะไร ถึงใครนั้น ผมเองก็ไม่ทาบได้




หลังเหตุการณ์ผมไปเคลื่อนไหวเรื่อง คจก. ต่อ แต่ปุ๋ยพกพาความหวังในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปอยู่ที่ภูเก็ต โดยมีคุณโป๊ะ เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ คนเดิมเป็นคนเติมไฟใส่ฟืนให้ ที่ภูเก็ตปุ๋ยไม่ได้ผลักดันเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าสักเท่าไร แต่กลับไปทำงานกับชาวบ้านที่หาดไม้ขาว เพื่อดูแลรักษาเต่ามะเฟืองเป็นหลัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มงานชิ้นหนึ่งที่พูดถึงสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร เป็นสิทธิชุมชนในการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง โดยมีธนู แนบเนียร นักเลงหัวไม้จากพรรคพิทักษ์ธรรมเป็นเพื่อนคู่หู ทำอยู่ได้ไม่นาน ก็มีอันต้องระเหเร่ร่อนมาทำงานที่กรุงเทพฯ โดยสาเหตุที่ไม่เปิดเผย แต่ธนูเคยเปรย ๆ ให้ฟังว่า ตอนนั้นยังเด็กกันทั้งคู่ วุฒิภาวะยังไม่มีกันเท่าไร เลยไปด้วยกันไม่ค่อยได้ แต่ความเป็นเพื่อนของปุ๋ยและธนูไม่ได้ขาดหายไป ยังคงช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด




แม้จะบอกว่ากลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพียงแค่สำนักงานคือมูลนิธิดวงประทีปเท่านั้นที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ตัวปุ๋ยไปทำงานในพื้นที่ที่อีสานใต้ ในช่วงนั้นเป็นการเริ่มต้นเคลื่อนไหวของสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน ในช่วงที่ 2 ที่พี่บำรุง คะโยธา เป็นเลขาธิการ งานของปุ๋ยและเพื่อนก็ไปเสริมงานฐานของ สกย..ด้วย โดยผ่านทางการให้ทุนการศึกษาเด็ก และต่อมากลุ่มเด็กเหล่านั้นก็ได้รวมตัวกันในนาม สมาพันธ์เยาวชนอีสาน (สยอ.) โดยมีสถิตย์ ยอดอาจ จากวิทยาลัยครูบุรีรัมย์เป็นเลขาธิการคนแรกและคนเดียวก่อนที่จะแยกย้ายกันไปตามกาลเวลา ปุ๋ยทำงานที่ดวงประทีปได้สักสามสี่เดือน โครงการก็ยุบ ปุ๋ยเลยได้รับการชักชวนจากใครสักคนหนึ่งให้มาทำงานกับ สกย.. เป็นผู้ประสานงาน เขต 5 รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษและอุบลราชธานี โดยมีฐานหลักอยู่ที่กลุ่มครูในแถบ อ.โพธิ์ไทร เช่น ครูเกิด ขันทอง ครูวีระ รูปคม เป็นต้น และปุ๋ยได้กลับมาร่วมงานกลับพี่น้องปากมูลอีกครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะหนุนช่วยเป็นหลัก ส่วนงานที่ปุ๋ยเข้ามารับผิดชอบโดยตรงก็คือเรื่องเขื่อนสิรินธร ที่ปุ๋ยเข้าไปจัดตั้งทุกอย่างและเป็นงานเดียวที่ปุ๋ยไม่เคยวางมือให้ใคร ในช่วงที่ทำงานกับ สกย..ไปได้สักพักก็เริ่มมีความขัดแย้งกัน จะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งทางความคิดหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ก็ไม่ต่างกันสักเท่าไร เพราะพวกเราเห็นว่าการทำงานของแกนนำบางส่วนที่แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวมากเกินไป ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าเงินที่ได้มานั้น เป็นเงินหล่อลื่นในการทำงาน แน่นอนว่าพวกเราไม่ได้มีส่วนร่วมกับการแสวงหาผลประโยชน์นั้นและออกมาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะปุ๋ย จืด สถิตย์ ยอดอาจ อดีตเลขาธิการสมาพันธ์เยาวชนอีสาน และ กุ้ย ศรายุธ ตั้งประเสริฐ เพื่อนจาก สนนท.ที่หลงกลิ่นดินอีสาน มาทำงานอยู่ด้วยกันในสำนักงานเลขาธิการ สกย.. แต่ก่อนที่พวกเราจะพากันลาออกจาก สกย.. ผมกับปุ๋ยก็เริ่มก่อตั้งสมัชชาคนจนขึ้นมาก่อน




สมัชชาคนจนก่อตั้งเมื่อปลายปี 38 แต่ก่อนจะก่อตั้งนั้น ความคิดริเริ่มเดิมทีมาจากการนั่งคุยกันสองสามคน มีผมกับพี่สายน้ำ ตรัสกมล เจ้าหน้าที่สหกรณ์ของ สกย.. และใครอีกคนจำไม่ได้ คุยกันไปคุยกันมาไม่รู้ใครเสนอว่าน่าจะจัดเวทีให้นักศึกษา กรรมกร ชาวนามาเจอกัน ช่วงนั้นผมยังทำงานอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิทด้วย มีงบประมาณจากโครงการวิสาสะเพื่อสมานไมตรีอยู่ก้อนหนึ่ง พอจะเอามาจัดงานได้ จึงทำเรื่องไปเสนอพี่ประชา หุตานุวัตร แต่แกอนุมัติให้เริ่มทำจากการคุยทีละกลุ่มก่อน เราก็เลยจัดเป็นวงชาวนา คนงาน คนสลัม แต่ของนักศึกษายังไม่ได้จัด เพราะมัวไปประท้วงนิวเคลียร์กันก่อน หลังจากนั้นความคิดเรื่องทำเสวนาคนจนก็ขยายออกไป และต่อมาน้อย ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี พี่ปุ้ม วัชรี เผ่าเหลืองทองและพี่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ก็ไปคุยกับพี่บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ จากเสวนาคนจนก็เลยเปลี่ยนเป็นสมัชชาคนจนแทน ปุ๋ยก็เป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งสมัชชาคนจน และต่อมาเมื่อ สกย..มีมติไม่เข้าร่วมกับสมัชชาคนจน พี่โย บำรุง คะโยธา พี่สังข์ วีระพล โสภา และพวกเราจึงพากันลาออกจากกองเลขาธิการ สกย.. โดยมีพี่น้องบางส่วนตามมาด้วย ที่ผมเขียนเรื่องราวตอนนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อจะบอกว่า สมัชชาคนจนไม่ได้แตกมาจาก สกย.. แต่ สกย..ต่างหากที่เป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งสมัชชาคนจนและต่อมาก็ถอนตัวไปเอง เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการทำงานที่มีเอ็นจีโออยู่ด้วย เราประชุมกันทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายครั้ง กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างซึ่งเครือข่ายที่เริ่มก่อตั้งและมีบทบาทสูงที่สุดใน สคจ.ตอนนั้น คือเครือข่ายเขื่อนซึ่งมีบุคคลากรในการผลักดันที่สำคัญคือ พี่มด พี่ปุ้ม หาญ (หาญณรงค์ เยาวเลิศ) น้อย เฟี๊ยต (ไชยณรงค์ เศรษฐ์เชื้อ) และปุ๋ย โดยต้องยืนยันกันไว้ตรงนี้ว่า ถ้าในช่วงนั้นไม่มีพี่มดคอยติดตามงานอย่างเอาจริงเอาจัง สมัชชาคนจนก็คงไม่เกิดขึ้นและอยู่ได้จนทุกวันนี้




บทบาทในสมัชชาคนจนของปุ๋ยเริ่มในฐานะคนทำงานพื้นที่ที่รับผิดชอบเรื่องเขื่อนและเรื่องป่าไม้ที่ดินบางส่วน โดยการเจรจาครั้งแรกในสมัยรัฐบาลบรรหาร ปุ๋ยจะวิ่งไปมาระหว่างสองโต๊ะเจรจา คือโต๊ะเขื่อนกับโต๊ะป่า และค่อยๆ ขยับขยายมากุมสภาพในฐานะกองเลขานุการของเครือข่ายเขื่อน เป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายเขื่อน แต่ก็ยังปลีกเวลามาช่วยผมในเครือข่ายป่าและเครือข่ายที่ดินอยู่บ้าง ช่วงนั้นปุ๋ยเป็นเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) แต่ทำอยู่ได้ไม่กี่ปี ชีวิตก็ต้องระหกระเหินลงไปทำงานที่ภาคใต้กับพรรคพวกในโครงการอันดามัน กลับไปอยู่กับธนู แนบเนียรอีกครั้ง แต่ในบทบาทที่เปลี่ยนไป มีเพื่อนฝูงร่วมงานมากหน้าหลายตาขึ้น ปุ๋ยก็ไปสร้างสีสันความฉูดฉาดในการเคลื่อนไหวของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านอันดามัน ทั้งในระดับพื้นที่และในระดับนโยบาย เกิดเป็นเครือข่ายที่สำคัญของปุ๋ยอีกเครือข่ายหนึ่ง อยู่ได้ปีเศษ ๆ พี่แต สนั่น ชูสกุลก็ชวนปุ๋ยกลับมาอยู่อีสาน เป็นเจ้าหน้าที่เกษตรของโครงการทามมูล กลับมาคราวนี้ปุ๋ยเริ่มงานอย่างเต็มตัวกับการกุมสภาพในพื้นที่ของเขื่อนราษีไศล หัวนา ปากมูลและสิรินธร ช่วงนั้นมีงานวิจัยหลายชิ้น มีนักวิจัย นักวิชาการหลายคนลงไปทำงานในพื้นที่สามเขื่อนนี้ (ยกเว้นเขื่อนสิรินธร) ทำให้ปุ๋ยมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายกับนักวิชาการเหล่านี้อีก ไม่ว่าจะเป็น อ.ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ อ.นลินี ตันธุมวนิตย์ อ.ปาริชาติ ศิวรักษ์ และท่านอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ไม่สามารถออกนามได้หมด ไม่เพียงเท่านั้น ปุ๋ยยังเข้ามาช่วยงานในกองเลขานุการของสมัชชาคนจนอย่างเต็มตัว มีบทบาทสำคัญในการจัดทำข้อมูล เขียนแถลงการณ์ ประสานงานภาครัฐ ประสานงานสื่อมวลชน ประสานงานกับพันธมิตรต่าง ๆ จนแทบจะเรียกได้ว่า ปุ๋ยอยู่ที่ไหน กองเลขานุการสมัชชาคนจนก็อยู่ที่นั่น เพราะไฟล์เอกสารเกือบทุกอย่างอยู่ที่ปุ๋ยเกือบทั้งหมด




ปุ๋ยทำงานหนัก แต่ปุ๋ยก็ไม่ยอมหยุดทำงาน จนกระทั่งร่างกายรับสภาพไม่ไหว อาการเจ็บป่วยก็เริ่มขึ้น จากเล็ก ๆ น้อย ๆ ลุกลามมากขึ้น จนปุ๋ยตัดสินใจบวชที่วัดป่าสุคะโต กับหลวงพ่อคำเขียน และไปจำพรรษาอยู่กับพระไพศาล วิสาโล ที่วัดป่ามหาวัน โดยมีแม่ชีอูฐ ช่วยดูแลเรื่องสุขภาพให้ จนปุ๋ยลดน้ำหนักได้ ประมาณ 25 กิโลกรัม สุขภาพแข็งแรงขึ้น และก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งในชีวิตปุ๋ย คือ การหันมาสนใจเรื่องราวทางด้านศาสนธรรมมากขึ้น ปุ๋ยมาขอยืมหนังสือของผมเรื่องปฏิบัติการการุณรัก ของวิโนภา ภเว อันเป็นเรื่องราวของขบวนการภูทานในอินเดีย ที่เดินเพื่อขอรับบริจาคที่ดินจากคนรวยมาให้คนจน ซึ่งพระทวีศักดิ์ ได้แปลออกมาเป็นภาษาไทยอย่างดียิ่งไปอ่าน แทนที่จะอ่านเดินทัพทางไกลของเหมา เจ๋อ ตุงเหมือนเดิม นอกจากนี้ปุ๋ยยังสนใจการรักษาพยาบาลในแบบทางเลือกมากขึ้น และเป็นคนผลักดันให้ชาวบ้านหลายคนใช้วิธีการรักษาแบบธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าใครอยากจะใช้ยา ปุ๋ยก็จะแนะนำเรื่องการใช้ยาสมุนไพร โดยขอคำแนะนำจากหมอแทะ ชัชวาลย์ ชูวา จากศูนย์ตระบัลไพร จนแทบจะเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ประจำตัวปุ๋ยไปเลย




เมื่อสุขภาพดีขึ้นปุ๋ยก็กลับมาทำงานหนักมากขึ้น การเจ็บป่วยก็เริ่มกลับมาเยือนอีก ปุ๋ยก็มาปรึกษาหารือว่าจะขอลาออกจากกองเลขานุการและจะทำงานพื้นที่อย่างเดียว ไม่ต้องเดินทาง ปุ๋ยเคยเล่าให้ฟังว่า หมอเจคอบบอกไว้ว่า "ถ้าไม่หยุดเดินทางจะตาย" ไม่ทราบว่าเป็นลางอะไรที่บอกปุ๋ยไว้ล่วงหน้าก่อนหรือเปล่า แต่เอาเข้าจริง ๆ ปุ๋ยก็ไม่ยอมหยุดเดินทาง เพราะเมื่อทางสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้เชิญกองเลขานุการไปร่วมงานสัมมนา ปุ๋ยก็เข้ามาพูดกับผมว่า ขอไป แต่พอผมไม่ให้ไปก็โกรธ น้อยใจและหาทางไปเองจนได้ จนสุดท้ายผมต้องยอมให้ปุ๋ยไปในนามกองเลขานุการ สคจ.




ในด้านการทำงานของปุ๋ยนั้น แม้หลายคนจะมองว่าปุ๋ยเป็นคนโวยวาย ปากหมา ใจร้อน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปในรายละเอียด จะเห็นว่าปุ๋ยเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนมาก ปุ๋ยไม่เคยมองอะไรเพียงชั้นเดียว ปุ๋ยพยายามวิเคราะห์ทุกครั้ง เมื่อทางฝ่ายรัฐบาลยื่นข้อเสนอมาว่าใครมาด้วยเกมอะไรหรือไม่ ในการทำงานแม้จะแบ่งงานกันไปแล้ว แต่ปุ๋ยก็จะตามลงไปดูรายละเอียดทุกครั้ง แถลงการณ์ทุกฉบับ รายงานทุกชิ้น ปุ๋ยไม่เคยปล่อยให้ผ่านตาไปได้ง่าย ๆ การเตรียมการประชุมแต่ละครั้งต้องซักซ้อมกันหลายเที่ยว จัดทำเอกสารโดยละเอียด และหารือนอกรอบกับเลขานุการหรือประธานก่อนเข้าประชุมเกือบทุกครั้ง ส่วนการทำงานในพื้นที่ปุ๋ยก็จะจัดวางงานอย่างเป็นระบบสร้างกองเลขานุการของชาวบ้านขึ้นมาช่วยทำงาน ช่วยจัดสรรบทบาทของแต่ละคนให้เท่าเทียมกัน เสริมการทำงานของคนตามศักยภาพ ใครพูดเก่งประเด็นดีก็ฝึกขึ้นมาเจรจา ใครพูดเก่งแต่วกวนอ้อมค้อมก็จับไปเป็นประชาสัมพันธ์ ใครที่มีบารมี มีคนเคารพนับถือ ก็วางเป็นแกนนำคุมพื้นที่ ใครที่มีความขัดแย้งกันก็จับมาอยู่ในที่ที่คานอำนาจกัน แต่ยังทำงานร่วมกันได้ ใครที่มีแนวโน้มว่าจะนำเดี่ยวก็จะผลักดันให้เกิดการรวมหมู่ แต่การทำงานของปุ๋ยก็จะทำให้เกิดปัญหาบางอย่าง เช่น แกนนำบางคนที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส หรือเรื่องเผด็จการก็รับไม่ได้ เพราะต้องถูกตรวจสอบโดยขบวน ทำให้แกนนำหลายคนต้องหลุดออกไป แต่สำหรับผมถือว่าเป็นการสกรีนคนไปในตัว อีกอย่างหนึ่งคือทำให้เอ็นจีโอบางส่วนไม่ค่อยพอใจ โดยเฉพาะพวกที่ชอบสั่งการมาจากเบื้องบน แบบโทรมาสั่งให้เอาคนโน้นคนนี้ไปร่วมงาน โดยไม่สนใจว่าภายในเขาจัดขบวนกันอย่างไร และยังมีพวกที่ชอบมาฉวยโอกาสทำมาหากินแบบแอบมาติดต่อแกนนำไปทำงานด้วยแล้วให้ผลประโยชน์ตอบแทน พาไปเมืองนอก อุปถัมภ์ค้ำชูอื่น ๆ โดยที่ไม่สนใจหรือให้ความสำคัญกับขบวนในพื้นที่ ขอเพียงให้องค์กรตัวเองได้มีงานไปนำเสนอแหล่งทุนที่เมืองนอกก็พอ ผมคงไม่ต้องระบุว่าเป็นใครบ้าง แต่ถ้าพวกเขาเหล่านั้นมาอ่านก็ควรจะปรับปรุงตัวได้แล้ว เพราะคนที่จะเฝ้าฐานรักษามวลชนให้พวกคุณเอาไปหากิน ตายไปอีกคนหนึ่งแล้ว




งานที่สิรินธรเป็นงานที่ปุ๋ยรับผิดชอบทำการจัดตั้งเพียงคนเดียวและเป็นงานใหญ่งานแรกของปุ๋ย ต่อมาเมื่อมาทำงานที่ราศีไศล ปุ๋ยเจอกับพวกเขี้ยวลากดินมากขึ้น การทำงานก็เปลี่ยนไปอีกแบบ พอมาถึงเขื่อนหัวนา ผมเข้าใจว่าปุ๋ยเริ่มตกผลึกทางความคิดในการทำงานจัดตั้งแล้ว การเคลื่อนไหวของชาวบ้านเขื่อนหัวนาจึงเป็นระบบและมีจังหวะจะโคนที่ดี มีการเตรียมงานวิชาการรองรับการเจรจา มีการเตรียมงานเศรษฐกิจไว้รองรับการเคลื่อนไหวในระยะยาว แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรคงต้องศึกษากันต่อไป เพื่อมาเป็นบทเรียนในการทำงานขบวนการภาคประชาชน




ส่วนความคิดทางการเมืองของปุ๋ยนั้น ผมยืนยันได้ว่าปุ๋ยสมาทานลัทธิสังคมนิยม ต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ในการทำงานของปุ๋ย ถ้าสังเกตกันให้ดีจะเห็นว่าปุ๋ยไม่เคยคิดหลุดไปจากกรอบนี้เลย "ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน" เป็นเรื่องที่ปุ๋ยเชื่อมั่นและปฏิบัติมาตลอด และเมื่อมีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านระบอบทักษิณผ่านรายการยามเฝ้าแผ่นดินของสนธิ ลิ้มทองกุล ปุ๋ยและพวกเราหลายคนคุยกันและเห็นพ้องต้องกันว่า เผด็จการทุนนิยมเป็นปัญหาสำคัญต่อการเติบโตและเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน พวกเราก็เตรียมตัวคัดค้านกันด้วย ผมที่อยู่ส่วนกลางมีโอกาสได้ไปคุยกับพรรคพวกที่สำนักงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และได้ความเห็นร่วมกันคร่าว ๆ ว่าจะเปิดเวทีไล่ทักษิณ แต่จะไม่ไปรวมกับรายการยามเฝ้าแผ่นดิน เพราะเห็นว่าเป็นทุนนิยมสามานย์เหมือนกัน แต่ต่อมาไม่ทราบเหตุผลกลใด จึงเกิดการรวมกันเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้นมา และมีการเชิญชวนสมัชชาคนจนเข้าร่วมในขบวนการด้วย เมื่อเอาเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมพ่อครัวใหญ่ก็มีความเห็นที่หลากหลายมาก จนในที่สุด "เอก" อภยุทธ์ จันทรพา จึงได้เสนอให้ชาวบ้านคุยกันเองและให้ที่ปรึกษาถอยออกมา




ปรากฏว่าที่ประชุมพ่อครัวใหญ่มีมติไม่เข้าร่วม เนื่องจากวิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นปัญหาความขัดแย้งของชนชั้นปกครองและนายทุนเป็นหลัก แต่หากเครือข่ายไหนหรือบุคคลใดไปเข้าร่วม ก็ไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด เหมือนดังเช่นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และองค์กรสลัมเพื่อประชาธิปไตย อันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสลัม 4 ภาค (ไม่ได้ไปทั้งเครือข่าย) ก็ไปเข้าร่วมกับพันธมิตรเช่นกัน ปุ๋ยกับผมก็ไปป้วนเปี้ยนในการชุมนุมของพันธมิตรอยู่บ้าง แต่เมื่อมีการประกาศใช้มาตรา 7 เราก็ถอยออกมาเลย สาเหตุที่เราถอยออกมาไม่ใช่เป็นเพราะอ่อนหัดในเกมการเมือง แต่เป็นเพราะจุดยืนของเราไม่สามารถยอมรับกลยุทธ์แบบนี้ได้มากกว่า เราไม่ได้ตำหนิพันธมิตร แต่สิ่งที่เราได้รับกลับเป็นเสียงตำหนิติติงจากพันธมิตร โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า "สมัชชาคนจนไม่เห็นแก่บ้านเมือง เห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเอง" แต่ปุ๋ยกับผมยังคงคิดว่า ถ้าช่วงนั้น ครป.ตั้งเวทีเอง สมัชชาคนจนคงจะกระโดดเข้าไปร่วมวงแน่นอน เพราะตอนนั้นเรายังเชื่อมั่นว่า ครป. ยังอยู่เคียงข้างคนจน และเมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน ปุ๋ยก็ไม่รีรอที่จะออกมาคัดค้านการรัฐประหารโดยไม่ได้หารือกับผมเลย แต่เราสองพี่น้องก็มาเจอกันที่ธรรมศาสตร์ พร้อมกับมิตรเพื่อนเดือนพฤษภาอีกจำนวนหนึ่ง ปุ๋ยร่วมกับกลุ่ม 19 กันยา มาโดยตลอด และได้ขึ้นปราศัยบ้างเป็นครั้งคราว จนหลายฝ่ายคิดว่าสมัชชาคนจนอยู่ในกลุ่ม 19 กันยาด้วย ทำให้พวกเราต้องลดบทบาทลง เพราะไม่อยากให้ขบวนพี่น้องสมัชชาคนจน ต้องเผชิญหน้ากับบรรดาทหารหาญของชาติในพื้นที่




เมื่อมีรัฐบาลทหารขึ้นมาปกครองบ้านเมือง พี่น้องสมัชชาคนจนก็มีมติว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากไหนก็ต้องมีหน้าที่แก้ไขปัญหาประชาชน ดังนั้นพ่อครัวใหญ่จึงมีมติให้มายื่นหนังสือต่อรัฐบาล ซึ่งทำท่ารับเรื่องราวของเราด้วยดี แล้วกลับมาเล่นลิ้นตระบัดสัตย์ด้วยการออกมติ ครม.เรื่องปากมูลใหม่ให้เก็บกักน้ำไว้ที่ระดับ 106 .รทก.ซึ่งหมายถึงการปิดประตูเขื่อนปากมูลเป็นการถาวร จึงเป็นเหตุให้ปุ๋ยและพี่น้องปากมูลต้องมารอนแรมในกรุงเทพฯ เพื่อพบและชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องราวให้บรรดาเจ้าใหญ่นายโตทั้งหลายฟัง ไม่ว่าจะเป็นไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ธีรพัฒน์ เสรีรังสรรค์ และรวมไปถึงพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่เป็นต้นเรื่องนำเข้า ครม. โดยการช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ โดยเฉพาะพี่ประสาร มฤคพิทักษ์ แต่ผลการเจรจาก็เหมือนสีซอให้ควายฟัง ปุ๋ยและพี่น้องปากมูลกลับไปอย่างช้ำใจ พร้อมกับการเปิดประตูเขื่อนปากมูลในช่วงที่ไม่มีปลาให้จับแล้ว และชาวบ้านที่ถูกหลอกให้เซ็นชื่อก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นในโครงการใด ๆ ที่คนของ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนความยากจน (ศตจ.) หรือที่ต่อมาภายหลังไปเปลี่ยนชื่อเป็น ศจพ. ไปประชุมหลอกลวงไว้ โดยมีวิทยากรที่ประชุมเป็นนักพัฒนาเอกชนผู้ให้ความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวและการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น จำนง จิตนิรัตน์ และประยุทธ ชุ่มนาเสียว




เหรียญตราแห่งความเคลื่อนไหวที่ปุ๋ยได้รับคือการถูก ปปง. ตรวจสอบทรัพย์สิน โดยจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ในยุคสมัยของรัฐบาลทักษิณ 1 ที่มีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขา มท.1 และพรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี




จากชีวิตที่ระหกระเหินจนแม้กระทั่งแต่งงานมีลูกถึง 3 คน ปุ๋ยก็ยังไม่มีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่ง แม้จะได้เก็บหอมรอมริบไว้ซื้อที่ดินแปลงเล็ก ๆ ขนาด 1 ไร่ ได้แปลงหนึ่ง จนกระทั่งในปีที่ผ่านมา ปุ๋ยเริ่มวางแผนว่าจะปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ สักหลังและได้เตรียมซื้อไม้เก่า เตรียมหยิบยืมเงินทอง ทวงหนี้ทวงสินพรรคพวกเพื่อนฝูงโดยกะไว้ว่าได้เงินสักสามแสนก็จะปลูกบ้านได้แล้ว แต่ปุ๋ยก็มาจากไปเสียก่อน




ปุ๋ยจากไปในขณะปฎิบัติหน้าที่เป็นที่โศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นพี่และเพื่อนอย่างผม เราโทรหากันเกือบทุกวัน คุยกันทุกเรื่อง ทะเลาะกันเป็นประจำ พาครอบครัวไปเที่ยวด้วยกันทุกปี ครอบครัวเราก็สนิทสนมกัน ในวันนี้ปุ๋ยได้หยุดเพลงรัก พักเพลงรบ จบเพลงยุทธ์ของเขาแล้ว ผมได้แต่แอบหวังไว้ว่าผลงานที่เขาทำไว้ จะเป็นปุ๋ยที่ยังความสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน เพื่อสร้างความเติบโตให้แก่เมล็ดพันธุ์คนจนให้ผ่านพ้นไปสู่สังคมอุดมการณ์ได้




บารมี ชัยรัตน์


สุราษฎร์ธานี


18 พฤษภาคม 2551


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net