Skip to main content
sharethis

 

วันที่ 18 ..51 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไท จัดงานราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ส่องกระจกบทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง" โดยมี รศ.ดร.อุบลรัตน์ สิริยุวศักดิ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ และผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นผู้ดำเนินรายการ


 




นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยนั้นน่าประหลาด เพราะไม่ได้ขัดแย้งเรื่องประเด็นแต่ขัดแย้งกันเรื่องพรรคพวก ทั้งที่เวลานี้มีประเด็นที่สังคมไทยควรรับฟังความเห็นต่างๆ มากมาย เช่น เรื่องราคาข้าว ฉะนั้นมันจึงไม่สามารถนำไปสู่ทั้งการแก้ปัญหาหรือการปฏิรูปอะไร และไม่ช่วยให้ความขัดแย้งบรรเทาลง สื่อส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปสู่ความขัดแย้ง แต่เนื่องจากกระแสความขัดแย้งมันครอบงำสื่อมากเลยถูกบังคับไปโดยปริยายให้ไปสู่ความขัดแย้งเรื่องพวกอย่างแยกไม่ออก




สถานการณ์แบบนี้ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อคนที่สาม ใครที่เสนอความคิดอะไรออกมา แม้ไม่เกี่ยวกับเรื่องพวกเลยก็จะถูกสงสัยตลอดเวลาว่าอยู่ในพวกไหน สังคมแบบนี้เป็นอัมพฤกษ์ เคลื่อนไหวอะไรไม่ออกเมื่อถึงทางตัน เมื่อไรที่สังคมตกอยู่ในการเมืองสุดโต่งแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่อยู่ตรงกลางจะมีเสียงดังขึ้นมาได้ยาก คนที่จะแย่ที่สุดก็คือคนที่อยู่ตรงกลาง อย่างไรก็ตาม คงไม่มีครั้งไหนที่การยึดมั่นในหลักการวิชาชีพอย่างเที่ยงตรงจะมีความสำคัญเท่าครั้งนี้ ถ้าไม่ยึดตรงนั้นให้มั่นมันก็มีโอกาสจะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาแล้วมานั่งเสียใจกันในภายหลัง




ส่วนทางออกที่ตนคิดนั้นสื่ออาจจะทำไม่ได้จริงก็ได้ คือ ถึงเวลาที่จะต้องเปิดสงครามกับ บก. หรือกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ก็แล้วแต่ แต่จะเปิดยังไงไม่ให้โดนไล่ออกนั้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงานจริงของสื่อมากพอจะพูดได้ มันคล้ายๆ ว่าไม่อ่านหนังสือพิมพ์ซักเดือนแล้วกลับมาอ่านใหม่อีกทีแล้วพบว่าไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มขึ้นเลย และเหตุที่สื่อยังเป็นอย่างนี้อยู่น่าจะเกิดจากการที่บก.หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์เห็นว่ามันขายได้ แต่อันที่จริงคนที่ต้องการความรู้ ความเข้าใจมากกว่าความสะใจ เป็นตลาดที่ใหญ่กว่า แต่ไม่มีใครสร้างทางเลือกให้เขา ในระยะยาวการทำสงครามกับ บก. กับเจ้าของหนังสือพิมพ์ ถ้าไม่โดนออกเสียก่อนคงจะได้เห็นว่าตลาดตรงนั้นมีและใหญ่กว่า ขณะเดียวกันพื้นที่ตรงกลางที่แคบลงๆ คนที่อยู่ในวิชาชีพนี้ต้องช่วยกันขยายมัน


 





ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ วิเคราะห์โดยแยกประเด็นเป็นส่วนๆ ในส่วนโครงสร้างของสื่อไทย เขากล่าวว่า เวลานี้ทุกคนก็เข้าใจดีว่าสื่อเป็นธุรกิจ สื่อบางอันก็อยู่ใต้กำกับของรัฐบาล สื่อบางอันก็พยายามจะเป็นอิสระ ของทั้งหมดนี้เป็นประเด็นทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแง่ข้อเรียกร้องก็ไม่ได้ไปเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอะไร เพราะรู้ดีว่าระบบตลาดเป็นแบบนี้ ในส่วนของบริบท ทุกวันนี้สิ่งที่ปรากฏในสื่อถูกประเมินบนพื้นฐานของคำถามว่า คุณเป็นพวกใครซึ่งเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคม เพราะปัดเอาส่วนอื่นทิ้งหมด เหลือแค่ว่าอยู่ข้างไหน เป็นพวกเดียวกันหรือศัตรู นี่คือความเป็นการเมืองที่เวลานี้ครอบงำสภาพสังคมไทย สื่อก็หลบไม่พ้นเพราะก็อยู่ในนั้น ปัญหาใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงคือตอนนี้สื่อกลายเป็นอาวุธไปทิ่มแทงคน สำหรับตัวนักข่าวก็อยู่ภายใต้ความเครียดนี้ด้วยในทางการเมือง ดังนั้น วันนี้ไม่ใช่หน้าที่แค่ความจริงในสังคมไทยเป็นยังไง ข้อเท็จจริงเป็นยังไง หรือบอกว่าข้อเท็จจริงมันมีหลายด้าน แต่คล้ายๆ ต้องถูกบังคับให้เลือก ซึ่งมันสั่นคลอนความเป็นสื่อมวลชนเอง




เรื่องความรู้เรื่องสื่อมวลชนกับความรุนแรง ตอนนี้วงวิชาการสนใจ "ตัวผู้กระทำ" มากว่าเพราะเหตุใดคนที่เคยเห็นๆ หน้ากันอยู่ดีๆ กลายเป็นเกลียดชังกันถึงขั้นฆ่าแกงกันได้ ไม่ว่าจะเป็น ปากีสถาน อินเดีย รวันดา เป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจคือ คนที่ฆ่าไม่ใช่นักฆ่า ทหารหรืออะไร แต่เป็นชาวบ้าน ในรวันดา ปี 2537 หรือ 2 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภาคม คนตายไป 500,000 คนภายใน 2 เดือน มีการมีส่วนร่วมต้องสูงมาก มีนักวิชาการศึกษาข้อมูลพบว่าพวกเขาจำนวนหนึ่งประมาณ15%บอกว่า เหตุที่เขาไปทำเพราะได้รับการบอกเล่าโดยสื่อมวลชน และมีคนที่ถูกตัดสินลงโทษ 3 คนที่น่าสนใจ คือ 2 คนเป็นผู้อ่านข่าวสถานีวิทยุ อีกคนหนึ่งเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ในข้อหาเกี่ยวพันกับการทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทำให้ชาวตุ๊ดซี่ตายไป 500,000 คน




"แปลว่าเวลานี้ต้องมองต่อไปหรือเปล่าว่า สื่อมวลชนเป็นอาวุธทางการเมือง อาวุธแบบนี้ในสายตาของผมอันตรายยิ่งกว่าลูกปืน ลูกปืนยิงได้ทีละคนสองคน ระเบิดก็ฆ่าได้จำนวนหนึ่ง แต่สื่อนั้นสามารถทำให้คนไปทำอย่างอื่น" ชัยวัฒน์กล่าว




ในเรื่องของทางออก ชัยวัฒน์เสนอว่า สังคมไทยอาจอยากได้ คือความเป็นมืออาชีพ คำนี้พูดง่ายแต่ทำได้ยาก นอกจากนี้ยังต้องการความมีอารยะ สิ่งที่เรียกร้องหรืออยากเห็นก็คือ สื่ออารยะ หรือ civil media พูดอย่างโบราณหน่อยก็คือ สื่อที่มีมารยาท คุณตัดสินว่าอะไรดี อะไรไม่ดีได้ แต่ตัดสินยังไงถึงไม่ทำให้คนเกลียดกัน ตัดสิน แสดงท่าทียังไงถึงจะไม่ทำให้คนจับอาวุธไปฆ่ากัน ตรงไหนถึงจะบอกว่าพอ


 




อุบลรัตน์ สิริยุวศักดิ์ กล่าวว่า สื่อได้กลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ขณะที่ในอดีตที่ผ่านมามีลักษณะเป็นสื่อเชิงพานิชย์ที่มีทฤษฎีบอกว่า ต้องเปิดกว้าง เป็นพหุนิยม ให้ทุกฝ่ายได้ใช้พื้นที่ เป็นเวทีกลางให้มากที่สุด สร้างสมดุลให้มากที่สุด ในขณะที่บริบทในขณะนี้สื่อโดยส่วนใหญ่ หรืออาจจะส่วนน้อยแต่อยู่ข้างหน้า มีลักษณะเป็นสื่อการเมือง ผลักประเด็นของตัวและนำไปสู่การเลือกข้างสูงกว่าการทำหน้าที่ลักษณะที่เป็นเชิงพาณิชย์




ประเด็นที่สอง มองการทำงานของสื่อเป็นอย่างไร สภาพที่เราเคยอธิบายว่าสื่อทำงานตามหน้าที่ เป็นนายทวาร เป็นคนคัดสรรข่าว ประเมินคุณค่าข่าวตามเกณฑ์ทางวิชาชีพ เกณฑ์นี้มีการตัดสินด้วยวิชาความรู้ ขณะนี้ถ้าหากมองดูสื่อที่อาจจะถูกมองว่าอยู่ในกระบวนที่เป็นสัดส่วนการเป็นสื่อการเมืองสูง กำลังย้ายตัวเองมาสู่รูปแบบการทำงานที่เรียกว่า สื่อโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น จากการทำหน้าที่เป็นนายทหารให้โอกาสหลายๆ ฝ่ายได้มาเสวนากันแบบนี้ ได้ขยับไปเป็นคนโฆษณาชวนเชื่อเสียเองโดยตรง แต่เดิมเราเคยบอกว่ารัฐมีอำนาจของสื่ออยู่ในมือ ถ้ารัฐทำการโฆษณาชวนเชื่อจะมีพลังครอบงำสูง แต่ในขณะนี้เรากำลังเห็นสภาพว่าสื่ออิสระก็กระโจนเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย ต่างฝ่ายต่างสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองโดยอาศัยสื่อมวลชน เมื่อโยงสองส่วนเข้าด้วยกันคือ นายทวาร ต้องคัดข้อเท็จจริง มีคุณค่าข่าว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมมารายงาน มาวิเคราะห์ ขณะนี้ข้อเท็จจริงออกจะอ่อนกว่าความเชื่อ และสื่อกำลังโฆษณาความเชื่อโดยอ้างข้อเท็จจริง หยิบข้อเท็จจริงมาสนับสนุนความเชื่อของตัวให้เกิดความชอบธรรมสูงสุด




"การใช้ภาษา การพาดหัว ความเข้มข้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการให้สมญากันมากขึ้นเรื่อยๆ สภาพการณ์อย่างนี้ทำให้น่าห่วงใยในระยะยาวในการเกิดความรุนแรง สื่ออาจไม่ใช่ปัจจัยหลักปัจจัยเดียว แต่เป็นปัจจัยที่สำคัญ" อุบลรัตน์กล่าว


 



ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กล่าว่า ความหลากหลายในวงการสื่อมีเยอะ การมารวมกันเป็นสมาคมเมื่อ 50 ปีก่อนเป็นการรวมตัวของนักข่าวที่ไม่ใช่เจ้าของ มีวัตถุประสงค์หลักเรื่องสวัสดิการ และบรรยากาศของการเมืองตอนนั้นสมัยจอมพลสฤษดิ์และ จอมพลป. เป็นศัตรูด้านสิทธิเสรีภาพชัดเจนมาก แต่ตอนนี้สภาพการณ์เปลี่ยนไป เราไม่มีศัตรูชัดเจนขนาดนั้น ยกเว้นตอนรัฐประหาร และการถกเถียงทางการเมืองก็ซับซ้อน




จากประสบการณ์ทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน ขุดคุ้ยนักการเมืองที่ผ่านมาทั้งกรณีของ คุณธารินทร์ รมว.คลังสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ เรื่อง สปก.4-01 มีการมาต่อว่ากันแต่ไม่ได้เป็นศัตรูกัน บรรยากาศความเกลียดชังเริ่มเกิดขึ้นในสมัยคุณทักษิณ ซึ่งหลังจากขุดคุ้ยเรื่องซุกหุ้น ตนเองกลายเป็นคนส่วนน้อยทันที ตอนนั้นคุณทักษิณเป็นคนที่แตะต้องไม่ได้ ใครวิพากษ์ทักษิณแบนติดเก้าอี้เลย กลายเป็นตัวตลก บรรยากาศอย่างนี้ใครเป็นคนสร้าง และจะเห็นได้ว่าในอดีตก็มีการถีบให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามคนที่เราตรวจสอบเสมอ เพียงแต่มันไม่รุนแรงเหมือนขณะนี้




"หนังสือพิมพ์มีขนาดธุรกิจเป็นพันล้าน มีคนร่วมงานพันสองพันคน ถ้าผมทำข่าวชิ้นหนึ่ง บนข้อจำกัดของสังคมไทยที่มีอยู่มากมายมหาศาล ถ้าข่าวชิ้นนั้นเป็นเหตุอันหนึ่งที่ต้องถูกปิดหนังสือพิมพ์ ผมไม่ได้เดือดร้อนคนเดียว แต่หมายถึงคนทั้งสองพันคน นี่คือสภาพของทุนนิยมที่คุณทำสื่อสิ่งพิมพ์ มันไม่ใช่อำนาจรัฐที่จะมาคุกคามสื่ออย่างเดียว" ประสงค์กล่าว




อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาของวงการสื่อมากมาย สภาการหนังสือพิมพ์ก็มีจุดอ่อน มันกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีการควบบคุมกันเอง เพื่อไม่ให้รัฐมาควบคุม แต่โครงสร้างมีปัญหา เพราะมาจากตัวแทนนักข่าว บรรณาธิการ เจ้าของ บุคคลภายนอกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ การจัดการกันเอง ด้วยเวลาเพียง 9 ปี ไม่เชื่อว่าจะทำอะไรได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทุกวันนี้เราต้องอาศัยเสียง สมมติจะตำหนิหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่าทำผิดจริยธรรม ถ้าทำไปแล้วเจ้าของหนังสือพิมพ์เฉยๆ สังคมเฉยๆ มันก็ไม่เกิดอะไร ดังนั้น มันต้องมีกลไก ความพร้อมหลายๆ อย่าง ผู้บริโภคก็ต้องเข้ามาร่วมตรวจสอบ


 


 


หมายเหตุ ติดตามการถอดความฉบับเต็มของชัยวัฒน์ สถานอานันท์ ได้ในวันพรุ่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net