ประชาไทพักยก : "ความดีคืออะไร" ความหมายจากคนทำสื่อ

 

เนื่องในเทศกาลสำคัญทางศาสนาพุทธ "วิสาขบูชา" ที่ "ความดี" เป็นหนึ่งในหัวใจคำสอน และในขณะเดียวกัน "ความดี" และ "คนดี" ก็เป็นคำที่ถูกยิบยกมาพูดถึงเสมอในภาวะการณ์ปัจจุบันผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชน โดยเฉพาะเมื่อคำว่า 'ความดี' หรือ "คุณธรรม" "จริยธรรม" เข้าไปสู่ปริมณฑลของการเมือง มันกลายเป็นคำอธิบายที่ทั้งมีพลังขณะเดียวกันก็มีปัญหามากที่สุดคำหนึ่ง


"ประชาไทพักยก" สงสัยใคร่รู้ "ความดีคืออะไร" เลยไปถามนิยามความหมายจากคนทำสื่อต่างๆทั้งสื่อเด็กสื่อผู้ใหญ่ ในฐานะที่เป็นผู้นำสารความดีมาเผยแพร่อย่างจริงจังโดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา


แน่นอนว่า "ความดี" เหล่านั้นย่อมไม่ใช่ทิศทางหรือนโยบายของสื่อแต่ละแห่ง แต่จากมุมมองของแต่ละคนก็สะท้อนให้เห็นแง่มุมของนิยาม วิธีคิดว่าด้วยความดีอันหลากหลายของคนทำสื่อ


อ่าน "ความดี" ของเธอและเขาได้ที่นี่เลย


000

เอื้อมพร แสงสุวรรณ บรรณาธิการบริหารนิตยสารชีวจิต

"ความดี" คือการไม่เบียดเบียนตัวเอง และไม่เบียดเบียนคนอื่น หรือสิ่งอื่นที่อยู่รอบตัวเรา ถ้าจะให้อธิบาย ที่ว่าไม่เบียดตัวเองก็คือการทำใจให้สดใส เบิกบาน มีความสุข อิงตามหลักพุทธศาสนา คิดดี พูดดี ทำดี ส่วนการไม่เบียดเบียนคนอื่น ก็คือ คำพูดและการกระทำของเราต้องไม่ไปกระทบหรือทำร้ายคนอื่น หรือให้กระทบน้อยที่สุด นอกจากนั้นยังสามารถเป็นที่พึ่งพาให้เค้าได้อยู่อย่างเป็นสุข เรียกง่ายๆ ก็คือ "อยู่ให้ตัวเองมีความสุขในขณะเดียวกันก็ช่วยคนอื่นด้วย"

สิโรตม์ เพ็ชรจำเริญสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Maxim ประเทศไทย

การให้ความหมายกับคำว่า "ความดี" หรือ "ความชั่ว" มันกว้างมากๆ และมันก็เหมือนการให้นิยามของ "ความรัก" ที่คนต่างคน ต่างมี แตกต่างกันออกไป


หากจะพูดถึง "ความดี" กับแนวทางการทำนิตยสารอย่าง Maxim มันก็พูดได้ยาก เพราะเรานำเสนอ
ไลฟ์สไตล์
ของผู้ชายเพื่อเป็นผู้ชายให้เป็น บางส่วน บางคอลัมน์ จะดีหรือไม่ดีก็ตามแต่มุมมองของแต่ละบุคคล แต่ผมสำหรับหนังสือมันดีทุกเล่ม เพราะมันมีไว้ให้คนอ่าน อ่านแล้วได้ประโยชน์


ในส่วนตัวผม "ความดี" คือการทำอะไรก็ได้ที่ไม่ทำให้คนอื่นๆ เดือดร้อน แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แต่การเป็นคนดี อยากทำโน่น อยากทำนี่ อยากเป็นคนดีมากๆ ดูจะเป็นสิ่งที่ลำบากมากเกินไป มันทำให้การทำดีกลายเป็นสิ่งที่ยาก ทั้งๆ ที่การทำดีทำได้ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ออกการจากบ้านแล้วขับรถตามกฎจราจร ไม่ปาดหน้า ปาดหลัง สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น เท่านี้ก็ถือเป็นคนดีได้แล้ว


กับคำถาม "วันนี้คุณทำความดีแล้วหรือยัง?" มันยิ่งทำให้คนเกิดความรู้สึกผิดว่าปกติไม่ได้ทำความดีเลย รวมทั้งความคาดหวังในการทำดี และคาดหวังต่อผลลัพธ์ที่จะได้รับ ไม่ว่าได้บุญ ได้ขึ้นสวรรค์ หรือตั้งเป้ากับการทำความดีเป็นครั้งๆ อาจทำให้เรามองข้ามอะไรที่ทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันปรกติไป

การทำความดีที่กลมกลืน สอดคล้องกับชีวิตประจำวันคือสิ่งที่ดีที่สุดในโลก และไม่เป็นการฝืนตัวเองด้วย

 

ภาคภูมิ ป้องภัย บรรณาธิการข่าวมติชน

ความดีของสื่อมวลชนคือการทำหน้าที่ของตัวเองในด้านการข่าว รู้ว่าอะไรควรทำอะไรและอะไรไม่ควรทำ ถ้าทำทั้งสองส่วนนี้ได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีตามฐานานุรูปของตัวเอง ความดีสำหรับปุถุชนคนธรรมดาไม่ต้องไปไกล ไม่ต้องกว้างขวางใหญ่โตและคิดว่าทำแล้วจะต้องได้บุญกุศลมาก การทำหน้าที่ของตัวเองก็เป็นความดีแบบรู้ว่าอะไรควรทำ

ภัทระ คำพิทักษ์  บรรณาธิการข่าวโพสต์ทูเดย์ 

ความดีคือความพอใจ ความสุขใจ ความอิ่มใจที่เกิดขึ้นจากผลแห่งการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อคนอื่น ไม่ได้เบียดเบียนคนอื่น ทำประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและโลก การกระทำที่เป็นความถูกต้องเป็นความดีโดยไม่ว่าคนอื่นหรือโลกจะรู้หรือไม่ก็ตาม และต้องเป็นสิ่งที่ทำไม่ให้เกิดโทษ


ใบตองแห้ง

ไทยโพสต์

ความดีเป็นเรื่องที่แต่ละคนมองไม่เหมือนกัน คนรุ่นก่อนอาจมองว่าความดีต้องเป็นตามศาสนา ตามจารีต มีกรอบดีชั่วตามที่เรียนกันมา แต่ปัจจุบันลดมาตรฐานไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงและซับซ้อน คนรุ่นใหม่อาจมองความดีว่าอย่าไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน อย่าไปกระทบสิทธิคนอื่นๆ ความดีของคนสองรุ่นก็แตกต่างกัน มีความขัดแย้งแต่ในความรู้สึกก็รู้ว่าอะไรดีชั่ว


ถ้าขยายความจากปัจจุบัน ปัญหาคือเราเอาความดีมาตัดสินกันมากเกินไป คิดว่าน่าจะมีอะไรที่ดีที่สุด แต่ความจริงน่าจะมองกันเรื่องความยุติธรรม เรื่องสิทธิเสรีภาพแล้วเอามาตัดสินความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคมมากกว่า ควรมองแบบนี้มากกว่าการตัดสินกันด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันเอาตัวเองมาตัดสิน ระยะหลังมานี้มีแนวโน้มการเอาความดีไปบังคับคนอื่นจนละเมิดสิทิเสรีภาพ เช่น การบังคับเด็กแวนต์ไปช็อกเทอราปี ห้ามพระต่ออินเตอร์เน็ท ห้ามขายเหล้าในงานวันสงกรานต์ ห้ามสูบบุหรี่ในผับซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ตรรกะการเอากฎหมายบังคับให้คนทำดีมันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพเกิดมากในช่วงหลังมานี้

และสื่อก็ชอบถือหางด้านความดีและเฮๆไป คนก็ชื่นชม สื่อครึกครื้นเล่นข่าวความดี ตัวเองเป็นฝ่ายดี ในการเมืองก็เป็นในทำนองเดียวกัน

อัญญรัตน์ อ่อนสุทธิ  กองสาราณียกร ปาจารยสาร 

ความดีขึ้นกับว่าใครนิยาม ยิ่งกว่านั้นคือใครมีอำนาจจะนิยาม ความดีที่เราใช้ชีวิตกับมันอยู่ทุกวันๆ ก็ล้วนมาจากเบื้องบน ซึ่งเป็นความดีที่ทั้งคับแคบและไร้ชีวิตชีวา เป็นความดีแบบไม่มีพื้นที่ให้คนไม่เต็มเต็ง คนบ้า คนติดบุหรี่ บ้าเหล้า หลงเซ็กส์ ฯลฯ ความดีแบบนี้ฆ่าคนนอกมานักต่อนัก


เราว่าความดีความเลวมันดิ้นได้ ผสมกัน อยู่ในคนๆ เดียวกันก็ได้ เป็นความดีแบบไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็บ่อยไป


ถ้าถามนิยามความดี มันก็มีอยู่แหละอะไรดี ไม่ดี เลวร้าย ประเสริฐ แต่เอาเข้าจริงเรื่องที่ดูจะเป็นสากลแบบนี้กลายเป็นเรื่องจำเพาะเหตุการณ์ จำเพาะสถานการณ์เอามากๆ รวมทั้งอาจขึ้นกับประสบการณ์ สถานภาพบทบาทของผู้นิยามด้วย


แม้กับคำตอบคลาสสิกจำพวก ไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน อย่างนั้นในบางสถานการณ์มันก็ไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่าคือความดีงาม ไม่แน่ อาจเป็นได้แต่หลุมหลบภัยของปัจเจกชนผู้พยายามไถ่ถอนความรู้สึกผิด ด้วยการทำอะไรบางอย่าง ทำสิ่งที่เล็กๆน้อยๆ แต่งดงาม


การเป็นคนดีหรือคนเลว บางทีอาจอยู่ที่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกและเหตุผลของตัวเองขนาดไหน หลอกลวงสาธารณะ หลอกลวงตัวเองหรือเปล่า


  วัฒนะ วรรณ บรรณาธิการเลี้ยวซ้าย


นิยามเรื่องความดี คงต้องชี้ประโยชน์ใคร

ทัศนะของเราไซร้ ผลประโยชน์ผู้ทุกข์ทม

หมายความแก้ความจน ความสับสนไร้ศักดิ์ศรี

ชนชั้นที่กดขี่ ความอัปรีย์จงสูญไป


ความดีที่กล่าวอ้าง มิใช่ข้างความร่ำรวย

มิใช่ด้วยอาวุโส มิใช่โปรวงสกุล

มิใช่มุ่งเพียงปากว่า มิใช่ด่าว่าจนโง่

มิใช่โชว์ประสบการณ์ มิใช่สันดานบ้าทุน


ความดีที่กล่าวถึง คือมุ่งดึงมาเท่าเทียม

แรงงานที่พากเพียร ให้เทียมเท่าทุกสังคม

ยามเจ็บได้รักษา การศึกษาต้องได้เรียน

สวัสดิการต้องไม่เกี่ยง จงสำเหนียกไว้ทุกครา


หากเอ่ยให้เห็นชัด ต้องขจัดอคติเพศ

ไม่ปฏิเสธเชื้อชาติใด ให้ใส่ใจเรื่องชนชั้น

หยุดก่อกรรมกับคนใต้ หยุดใส่ร้ายว่าเป็นโจร

หยุดปราบคนที่เสพติด จงฉุดคิดสิทธิชน

ที่พล่ามมาซะเยอะ บ่ได้เปรอะเลอะความจำ

ความดีมิใช่คำ ใช้สอนสั่งจากเบื้องบน

ความดีมีของเรา กับของเขาคู่ชนชั้น

มาเถอะมาช่วยกัน สร้างนิยามความดีของเราเอ่ย.....

นางสาว ดลนภา บัญชรหัตถกิจ 
นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ บรรณาธิการนิตยสารบ้านกล้วย

การแสดงออกที่เกิดมาจากความรู้สึกภายในที่มีเจตนาที่ดี ในทางที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ ในทางพฤติกรรม การทำความดีคือการแสดงออกแบบต่อหน้าและลับหลัง อย่างเช่นเราคบกับเพื่อนเราก็ต้องดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง สุภาษิตที่ว่า หน้าไหว้หลังหลอก ดังนั้นเราต้องแสดงความรู้สึกทางจิตใจกับเพื่อนคนนั้นโดยตรง การทำความดีกับคนใกล้ตัวอย่าง พ่อกับแม่ หลายๆคนก็รู้อยู่แล้วว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร หรือการทำความดีต่อสังคม ทุกวันนี้เราทำอะไรเพื่อสังคมบ้างหรือยัง

 นาย พนัสชัย คงศิริขันต์
นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดุสิตโพสต์

"ความดี" เป็นสิ่งที่ควรทำและเหมาะสมทางจิตใจ เมื่อเราทำไปแล้วต้องก่อให้เกิดผลดีต่อคนในสังคม และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เมื่อได้ทำก็จะทำให้จิตใจเราสบายใจที่ได้ช่วยเหลือสังคม


การทำความดียกตัวอย่างการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเกิดสิ่งผิดปกติ เป็นการสำนึกในจิตใจว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการกระตุ้นผู้ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเยี่ยวยา เป็นการรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์และต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งรายงานที่เราทำไม่ได้หวังว่าจะได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า เพียงแค่ขอให้ผู้คนทั่วไปหรือผู้บริหารได้รับรู้ การรายงานถือได้ว่าช่วยทำความดีได้อีกทาง และการทำความดีทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะคิดดี ทำดี พูดดี

นายณัฐชนน มหาอิทธิดล

นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บรรณาธิการนิตยสาร U turn

"ความดี" อยู่ที่มุมมองคนมากกว่า อยู่ที่เรามองว่าดี บางทีคนอื่นอาจจะคิดว่าไม่ใช่ก็ได้ การทำความดีของคนทั่วโลกไม่เหมือนกัน ถ้าสำหรับตัวเราเองทั้งที่เป็นชาวพุทธ คิดว่าความดีเป็นการไม่ทำให้ใครเดือดร้อนมากกว่า ถึงแม้บางคนอาจจะไม่ทำความดี แต่เขาก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนแค่นี้ก็ดีแล้ว การทำความดีไม่ใช่แค่วันวิสาขบูชาต้องไปทำบุญ เวียนเทียน ความดีไม่ได้จำกัดศาสนา การไม่ทำชั่วไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็ถือว่าได้ทำแล้ว


นางสาวสุวิมล จินะมูล
นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรณาธิการนิตยสารอ่างแก้ว

"ความดี" คือสิ่งที่ทำแล้ว สร้างคุณค่าให้แก่ตัวเราและคนรอบข้าง ทำให้สุขกายสบายใจของคนทำสร้างความรู้สึกดีๆให้กับคนที่ได้รับ อย่างเช่นส่งยิ้มให้คนรอบข้างง่ายๆ เมื่อเรายิ้มให้เขาแล้วเขาก็รู้สึกดีที่ยิ้มให้ เมื่อทำแล้วจะรู้สึกดีทั้งผู้ให้และผู้รับ

 

 

 

หมายเหตุ ภาพประกอบหน้าแรกจาก http://www.gosquared.com/365wallpapers/gallery/




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท