Skip to main content
sharethis






 


รัฐบาลไทยทุ่ม 4 หมื่นล้านแทรกแซงข้าว


 


นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.วานนี้ (13 พ.ค.) ได้หารือเกี่ยวกับปัญหาราคาข้าว และมีมติว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้แก่ชาวนา รัฐบาลจะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในราคา 19,000-20,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้าราคา 14,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียวราคา 9,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้ข้าวที่รับซื้อจะต้องมีความชื้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 15%


 


ทั้งนี้ในส่วนข้าวเปลือกเหนียว หากมีความชื้นเกิน 25% รัฐบาลจะรับซื้อในราคา 7,000 บาทต่อตัน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีโรงสีหลายแห่งที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะปล่อยเงินกู้พิเศษให้แก่โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวของรัฐบาล


 


นอกจากนี้ยังมีการลงนามในประกาศ การยกเลิกควบคุมการขนย้ายข้าวเปลือกข้าวสาร ปี 2551 เพื่อให้มีการขนย้ายข้าวข้ามจังหวัดได้ เพื่อให้ชาวนาได้ประโยชน์เต็มที่จากราคาข้าวที่โรงสีประกาศรับซื้อ เพราะชาวนาจะสามารถเลือกขายข้าวให้แก่โรงสีได้ทุกจังหวัด



โดยมีรายงานข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้าวเปลือกเจ้าที่อยู่ในมือชาวนาประมาณ 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยจะทยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนปลายเดือนพ.ค.ไปจนถึงต้นเดือนก.ค. ทั้งนี้หากรัฐบาลจะเข้าไปรับซื้อข้าวทั้งหมดในราคาตันละ 14,000 บาท คาดว่ารัฐบาลจะใช้เงินในการรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าอย่างเดียวประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท


 


ทั้งนี้นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า การที่รัฐออกมากำหนดแทรกแซงราคาข้าว โดยกำหนดรับซื้อข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวขาวตันละ 1.4 หมื่นบาท ข้าวเหนียวตันละ 9 พันบาท และข้าวหอมมะลิตันละ 1.9-2 หมื่นบาทนั้น รัฐไม่น่าจะดำเนินการได้ เพราะการรับซื้อข้าวเปลือก รัฐจะต้องแบกภาระการสีแปรสภาพข้าว รวมถึงภาระสถานที่จัดเก็บ จึงสงสัยว่ารัฐออกมาดำเนินการเช่นนี้เพื่อหวังเพิ่มเครดิตให้ตัวเองหรือไม่



ทั้งที่สมาคมได้เสนอให้รัฐดูแลราคาข้าวผ่านการขายรัฐต่อรัฐ หรือให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกหาตลาดข้าว และให้มีการซื้อข้าวขายข้าวระหว่างโรงสีและผู้ส่งออก ในราคาตันละ 2 หมื่นบาท ส่วนการซื้อข้าวระหว่างโรงสีและชาวนาให้อยู่ในอัตราตันละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย


 


นายประสิทธิ์ได้กล่าวในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง "วิกฤติข้าวเอเชีย โอกาสข้าวไทย จริงหรือ ?"ว่า ราคาข้าวที่กำลังลดลงขณะนี้ นอกจากสาเหตุด้านการตลาดแล้ว ยังเกิดจากฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ความชื้นสูงขึ้นเฉลี่ยที่ 20-30% โรงสีจึงกำหนดตัดราคาความชื้นเปอร์เซ็นต์ละ 200 บาท ทำให้ชาวนามีรายได้ลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว


 


ชาวนาต้องเผชิญกับกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ย โดยปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 (ยูเรีย) ปี 2549 ราคาตันละ 11,000 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 18,000 บาท สารเคมียาปราบวัชพืชฆ่าหญ้า ปี 2549 ราคาแกลลอนละ 400 บาท ปี 2551 ราคาแกลลอนละ 850 บาท ดังนั้นชาวนาจะไม่ได้ประโยชน์จากราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น และหากราคาข้าวปรับตัวลดลง ก็จะทำให้ชาวนาเข้าสู่ภาวะเดิมที่ต้นทุนสูงกว่าราคาขาย ซึ่งสิ่งที่ชาวนาต้องการ คือ อยากให้รัฐดูแลต้นทุนการผลิตประกอบกับข้อมูล



ส่วนทางด้านผู้ส่งออกชี้ว่าเป็นแค่จิตวิทยาดันราคา โดยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีที่รัฐออกมาแทรกแซงราคาข้าว น่าจะส่งผลเชิงจิตวิทยามากกว่าจะเป็นผลต่อราคาตลาดอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นเหมือนการเปิดรับจำนำ กดดันให้โรงสีให้รับซื้อข้าวในราคาสูง


 


อย่างไรก็ตามราคาข้าวขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว หลังจากที่การซื้อขายข้าวระหว่างไทยและมาเลเซียได้ข้อสรุป ทำให้ราคาข้าวสารปรับตัวเพิ่มขึ้นทันทีตันละ 2,000 บาท และจะส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกในที่สุด



 


ปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การกำหนดแทรกแซงราคาขณะนี้จะได้ประโยชน์น้อย เพราะราคาข้าวเพิ่มขึ้นอยู่แล้วขณะนี้ รวมถึงปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาดมีเพียงเล็กน้อยแล้ว ส่วนการกำหนดราคาข้าวเหนียวน่าจะเป็นผลเพื่อลดแรงกดดันการประท้วงราคาข้าวเหนียวตกต่ำมากกว่า


 


ทางด้านโรงสีจี้รัฐสร้างสมดุลกระบวนการข้าว โดยนายปราโมทย์กล่าวอีกว่า การขายข้าวของผู้ส่งออกให้มาเลเซีย ในปริมาณ 2 แสนตัน ราคาตันละ 950 ดอลลาร์ (ข้าวขาว 5%) ถือว่าเป็นตัวกระตุ้นการส่งออกข้าวไทย แต่เชื่อว่าจะกดราคาข้าวในประเทศให้ต่ำลง เนื่องจากราคาขายดังกล่าว ตันละ 950 ดอลลาร์ หักค่าใช้จ่ายแล้ว จะอยู่ที่ประมาณตันละ 940 ดอลลาร์ ที่ผู้ส่งออกจะได้รับและเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ตันละ 25 ดอลลาร์ หักกำไรมาตรฐานขั้นต่ำประมาณตันละ 50 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาท ผู้ส่งออกจะขายข้าวได้ตันละประมาณ 20,000 บาท  และทำให้โรงสีสามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้ในราคาตันละ13,000-14,000 บาท


 


อย่างไรก็ตาม หากราคาซื้อขายในประเทศ ไม่เป็นไปตามราคาดังกล่าว ถือว่าอาจมีการเล่นเกมของผู้ส่งออก มีการลักไก่ซื้อข้าวในประเทศไว้ก่อนก็ได้ จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลกระบวนการซื้อขายข้าว ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้ชัดเจน เพราะก่อนจะถึงข้าวนาปี ถือว่าเป็นการวัดฝีมือการบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะหากบริหารไม่ได้ อาจถูกทุบราคาเหลือตันละ 8,000-9,000 บาท ได้ เมื่อถึงเวลานั้นถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดี


 


เรียบเรียงมาจาก: รัฐทุ่ม4หมื่นล้านแทรกแซงข้าว (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - 14 .. 2551)


 


 


 


UN เตรียมจัดประชุมวงแผนการคุมราคาอาหาร


12 .. - นายบัน คี-มูน (Ban Ki-moon) เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้บรรดาผู้นำรัฐบาลประเทศทั่วโลก ให้มีความร่วมมือขั้นสูงสุด เพื่อรับมือกับวิกฤตอาหารที่กำลังแผ่ขยายออกไปทั่วโลกในเวลานี้



ทั้งนี้ UN ได้จัดเตรียมการจัดการประชุมระดับสูง ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ในประเด็นความมั่นคงทางด้าน อาหาร ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 3-5 มิ.ย. นี้ โดยในประชุมจะมีการพยายามผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อควบคุมกลไกราคาอาหารในตลาดโลก


 


อัตราเงินเฟ้อพุ่งในจีน ประชาชนโดนผลกระทบเรื่องอาหารแพง


12 .. 2008 - สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงานว่า ดัชนีผู้บริโภคในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนมีนาคม โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของจีน พุ่งสูงถึงร้อยละ 8.7 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบเกือบ 12 ปี


 


อัตราเงินเฟ้อในจีนเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2007 ซึ่งเป็นผลจากราคาอาหารที่แพงขึ้นและสูงเป็นประวัติการณ์ 22.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนที่แล้ว โดยที่รัฐบาลจีนพยายามควบคุมราคาเนื้อหมู, เมล็ดพันธุ์พืช และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมทั้งใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าอีกหลายอย่าง


 


ราคาอาหารแพงลิบลิ่วสร้างความวิตกกังวลต่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เพราะชาวจีน ส่วนใหญ่ที่ยากจนเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด นอกจากราคาอาหารจะแพงแล้ว ราคาพลังงานและวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสร้างความกดดันให้กับบรรดาผู้ผลิตที่จะต้องขึ้นราคา และกลายเป็นภาระของผู้บริโภค


 


สหภาพแรงงานในประเทศบูร์กินา ฟาโซ ประท้วงตามนัด


13 .. 2008 - สหภาพแรงงานในประเทศบูร์กินา ฟาโซ พร้อมใจกันหยุดงานประท้วง (strike) เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ตั้งแต่วันอาคารที่ผ่านมา เพื่อเป็นการประท้วงภาวะค่าครองชีพในประเทศพุ่งสูงขึ้นธนาคาร, โรงเรียน และสถานที่ราชการบางแห่งต้องหยุดทำการ ส่วนภาคธุรกิจ ร้านค้า และภาคการขนส่งสาธารณะยังคงเปิดทำการปกติ ทั้งนี้การหยุดงานเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองในรอบห้าสัปดาห์ โดยกลุ่มสหภาพแรงงานได้พยายามต่อรองค่าแรง สวัสดิการ บำนาญต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ


 


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 300 คนได้ทำการประท้วงและเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในกรุงอูกาดูกู (Ouagadougou) และเมืองใหญ่อันดับสองอย่าง โบโบ-ดูลัสซู (Bobo-Dioulasso) และมีการนัดหยุดงานประท้วงในครั้งนี้


 


สืบเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชนบูร์กินา ฟาโซ เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหารหรือน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดการจลาจลย่อมๆ ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา - ทั้งนี้กระแสคลื่นความไม่พอใจของประชาชนสืบเนื่องจากภาวะวิกฤติค่าครองชีพเริ่มลุกลามในเขตแอฟริกันตะวันตก ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันรัฐบาลของสาธารณะรัฐคองโก เพิ่งที่จะตัดสินใจลดภาษีอาหารพื้นฐาน เช่น ข้าว, ธัญพืช เหลือ 5% จาก 18%


 


พรรคคอมมิวนิสต์สองสายในอินเดีย จับมือประท้วงวิกฤตอาหาร


15 .. 2008 - พรรคคอมมิวนิสต์สองสายในอินเดีย the Communist Party of India-Marxist (CPI-M) และ the Communist Party of India (CPI) ได้ประชุมร่วมมือกันที่จะเป็นพันธมิตรในการต่อสู้รับมือกับภาวะวิกฤตอาหาร - ทั้งนี้เนื่องจากราคาข้าว นม และอาหารพื้นฐานในอินเดียถีบตัวสูงขึ้น อันเป็นภาระหนักแก่คนจนในประเทศอินเดีย


 


คาดว่าการออกมาร่วมมือกันของสองพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีนักของรัฐบาลผสมของอินเดีย ที่ยังไม่มีรูปธรรมชัดเจนในการแก้ปัญหานี้


 


…….


ที่มา:


UN food task force meets for first time (AFP via - 12 May 2008)


China's inflation rises to almost 12-year high (AP via - 12 May 2008)


Burkina strike over prices receives mixed support (By Mathieu Bonkoungou, Reuters - 13 May 2008)


Kerala Communists spar over food scheme (New Kerala - 15 May 2008)


 


 






 


ข่าว-บทความ-รายงาน ประชาไท: วิกฤตอาหาร


 


 


วิกฤตอาหาร: บทบาทและมุมมองของธนาคารโลก


ประมวลสถานการณ์ ภาวะวิกฤตอาหารประจำสัปดาห์ (4 - 10 พ.ค.2551)


โซมาเลีย ระอุ! ประท้วงวิกฤติราคาอาหารพุ่งสูงอีกประเทศ


ประมวลสถานการณ์ประท้วง ภาวะวิกฤตอาหารประจำสัปดาห์ (27 เม.ย. - 3 พ.ค. 51)


วิกฤตอาหาร โอกาสทองบนความเสี่ยงของ "ชาวนา" จับตาทุนใหญ่เกษตรผูกขาดพันธุ์ข้าว


ข้าวแพง ชาวนาได้ประโยชน์จริงหรือ!


เซเนกัลประท้วง สู้ไม่ไหวราคาอาหารพุ่งสูง


รายงาน: จับตายุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของไทย


สุดทน! ประชาชนฮอนดูรัส- มองโกเลีย ประท้วงค่าครองชีพพุ่งสูง


แรงงานบังคลาเทศหยุดงานประท้วง เนื่องจากราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น


"เฮติ" จลาจล หลังราคาอาหารพุ่งสูง


คนงานในบูร์กินา ฟาโซเตรียมนัดหยุดงานทั่วประเทศเดือนหน้า ประท้วงค่าครองชีพพุ่ง


คนรวย คนชั้นกลางอิ่มหมีพีมัน ..แต่คนจนกลับต้องจำใจกินดิน!


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net