Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.51 ณ ห้องประชุม ร.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์พฤษภา" 35 และกลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจัดเสวนาเรื่อง "16 ปี พฤษภา" 35 : ความสับสนของขบวนการประชาธิปไตยหลังพฤษภา" 35" โดยมี ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวายอิ ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ชัยธวัช ตุลาฑล กองบรรณาธิการ ฟ้าเดียวกัน






อะไรคือเจตนารมณ์เดือนพฤษภา


สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจะทำความเข้าใจว่า เจตนารมณ์พฤษภาคืออะไร จะต้องเชื่อมโยงกับกรณีรัฐประหาร 19 ก.ย. จนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสมชาย มองว่าคำอธิบายกระแสหลักเกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คือการต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่อชาติประชาธิปไตย โดยคัดค้านรัฐบาลที่สืบทอดจากการรัฐประหารโดยคณะรสช.เมื่อปี 2534 เห็นได้จากเพลง "ราชดำเนิน" ที่แต่งโดยยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว รวมทั้งจากคำให้สัมภาษณ์หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 2 ปีของปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในขณะนั้นที่ว่า เหตุการณ์นี้ได้แสดงถึงพลังของประชาชน และระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่พึงปรารถนาร่วมกัน ถ้ามีใครพาไปทางอื่นคนก็จะไม่ยินยอมมากขึ้น


 


อีกคำอธิบายหนึ่งซึ่งอาจไม่ติดตลาดนัก คือพฤษภาทมิฬคือ "14 ตุลาเฟส 2" นั่นคือเป็นการต่อสู้กับเผด็จการทหารอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สมชายตั้งข้อสังเกตว่า หากอธิบายเช่นนั้นจะพบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ 19 กันยา 2549 สิ่งที่พูดมาทั้งหมดไม่ว่าชาติ ประชาธิปไตย พลังประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย แทบหาความเชื่อมโยงกับอารมณ์ความคิดเห็นที่มีต่อการรัฐประหาร 19 กันยาและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เลย ดังนั้น คำถามใหญ่คือจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร


 


สมชาย เสนอว่า หากจะกลับไปทำความเข้าใจเหตุการณ์พฤษภาอาจต้องพิจารณาข้อเสนอของ ธงชัย วินิจจะกูลที่เคยเสนอเค้าโครงการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยไว้ในการสัมมนาโครงการเปลี่ยนประเทศไทย จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ที่เสนอว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ได้เป็นเส้นตรงและตัดเป็นช่วงๆ แต่คาบเกี่ยวกัน โดยหลัง 2475 มีแกนกลางความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มคือ revolutionist กับ royalist ช่วงรอยต่อระหว่างปี 2490-พฤษภา 2535 เป็นความขัดแย้งระหว่างทหารกับการเมืองในระบบรัฐสภา และช่วงที่สามคือประชาธิปไตยแบบ 3M


 


สมชายได้ตีความคำอธิบายของธงชัยว่า พฤษภาทมิฬเป็นจุดสิ้นสุดของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างทหารกับระบบรัฐสภา เพราะจากช่วงแรกที่ทหารเป็นผู้มีบทบาทสูงในทางการเมือง ต่อมาเมื่อระบบรัฐสภาได้มีที่ทางในทางการเมืองไทยมากขึ้น ทหารจึงทำหน้าที่คอยดูแล และหลังพฤษภาทมิฬทหารมีบทบาทน้อยลงทางการเมือง


 


สถานะที่สอง พฤษภาทมิฬเป็นจุดหนึ่งของโจทย์การเมืองชุดใหม่ ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ของ 3 สถาบันทางการเมืองไทยที่สำคัญ (3M) 1.Money ธุรกิจการเมือง 2.Mass ประชาชน และ 3.Monarchy โดยนักการเมืองอยู่ในฐานะที่ "ไม่ค่อยน่าไว้วางใจ" ได้กลายเป็นปัญหาหลักที่ประชาชนต้องมีบทบาทเข้าไปควบคุม ระหว่างนั้นสถาบันกษัตริย์ก็ได้สถาปนาความชอบธรรมเหนือระบบการเมืองและมีอำนาจในเชิงธรรมะที่ทุกฝ่ายในสังคมต่างให้การยอมรับ หากพิจารณาตามนี้จะทำให้ไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์พฤษภาแบบจำกัดเพียงเรื่องของประชาธิปไตยที่ประชาชนลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหารอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำความเข้าใจไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีการสนับสนุนการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยา หรือการเรียกร้องมาตรา 7


 


การต่อสู้ภายใต้ระบอบ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"


นอกจากนี้ สมชายตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่ลองเปิดหนังสือบันทึกภาพดูพบว่าในช่วงการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง การนำรูปของสถาบันกษัตริย์มาชูถือยังมีอยู่น้อย แต่จากการสอบถามเพื่อนๆ พบว่า มีการนำรูปของสถาบันกษัตริย์มาใช้มากขึ้นช่วงที่ใกล้เกิดความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากสุดท้ายของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ถูกหล่อหลอมมี 2 ด้านทั้งเป็นการต่อสู้กับเผด็จการทหาร และเป็นการจัดการกับธุรกิจการเมืองในระบบรัฐสภาโดยประชาชนเป็นผู้ทำหน้าที่สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าด้านใดทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ทั้งสิ้น และการปฏิรูปการเมืองหลังจากนั้นจะพบว่า ในปีกของอมร จันทรสมบูรณ์ ก็เป็นการปฏิรูปการเมืองแบบ "อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือเป็นการปฏิรูปการเมืองที่มาจากข้างบนที่เชื่อในอำนาจและความชอบธรรมสูงสุดของสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การออกแบบโครงสร้างการเมืองใหม่เพื่อควบคุมนักการเมือง


 


ดังนั้น ทั้งพฤษภาทมิฬ ข้อเสนอเรื่องมาตรา 7 หรือความเป็นไปของรัฐประหาร 19 กันยา อยู่ภายใต้กรอบการเมืองไทยร่วมสมัยชุดหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง หรือพูดกันในวงเล็กๆ การเคลื่อนไหวพฤษภาจึงนำสู่ผลในบั้นปลายหลายประการ บางอย่างพูดได้ เช่นการต่อสู้กับเผด็จการ แต่บางอย่างยากต่อการพูดถึง เพราะฉะนั้น เพดานความคิดในการสถาปนาระบบการเมืองสังคมไทยอาจมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ โดยเฉพาะความพยายามที่จะสร้างสถาบันการเมืองเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาหรือความขัดแย้งต่างๆ ที่ยังดำรงอยู่ ด้วยอำนาจของคนในสังคมด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นคงต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ของอำนาจที่ครอบครองพื้นที่ในสังคมไทยมากขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นสิ่งที่เรียกว่า "พฤษภาทมิฬ" คงจบอย่างที่เพลงราชดำเนินของยืนยง โอภากุลบอกว่า "สวรรค์เบื้องบนรู้ดีเราสู้เพื่อใคร"


 


ความสำคัญของการค้นหา "เจตนารมณ์เดือนพฤษภา"


ศิโรตม์  คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวายอิ เริ่มต้นกล่าวถึงบรรยากาศการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ว่ามีความพยายามของชนชั้นนำจำนวนหนึ่งที่อธิบายว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการทะเลาะกันของสองฝ่าย หรือเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายเลวหมด จึงจำเป็นต้องมีนายกฯ คนกลางอย่างอานันท์ ปันยารชุน โดยศิโรตม์ได้หยิบยกตัวอย่างคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นซึ่งอยู่ในบทความของเขาที่เคยเขียนไว้ช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาว่า "เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเป็นความผิดของทุกฝ่าย ฝ่ายที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่บางพรรคการเมืองมีส่วนสร้างขึ้นมาก็ผิด ฝ่ายม็อบนอกสภา ซึ่งการประท้วงเกิดจากบางพรรคการเมืองก็ผิด การตัดสินใจใช้ความรุนแรงก็ผิด ต่างฝ่ายต่างแบ่งค่ายเพื่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่ง จะตีกับคนนั้น จะทะเลาะกับคนนี้เพื่อจะแก้แค้นกัน"


 


ศิโรตม์ระบุว่า เหตุการณ์พฤษภานั้นมีความหมายทางการเมือง ไม่ใช่เพียงการทะเลาะกันของชนชั้นนำ โดยเขาระบุถึงเจตนารมณ์ของเดือนพฤษภาซึ่งมีการตีความจากหลายฝ่ายใน 3 แนวทางหลักๆ คือ 1. เหตุการณ์เดือนพฤษภาเกิดขึ้นเพราะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ที่ไม่ดีและต้องการขับไล่ออกไป 2.เหตุการณ์พฤษภาเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง 3.เหตุการณ์พฤษภาเกิดขึ้นเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ต้องการให้ประชาชนปกครองตัวเองโดยตรง ให้มีกระจายอำนาจมากขึ้น มีความเท่าเทียมมากขึ้น 


 


ศิโรตม์กล่าวว่า การที่บอกว่าเหตุการณ์พฤษภาไม่มีเจตนารมณ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนบางกลุ่ม เพราะถ้าบอกว่ามันมีเจตนารมณ์ก็จะไปสู่คำถามว่าเจตนารมณ์นั้นคืออะไร และจะนำไปสู่ข้อเสนอของผู้คนที่ต้องการป้องกันการรัฐประหาร ดังเช่นข้อเสนอของกลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย (ในช่วง พ.ค. 35) ที่ต้องการให้ทหารหยุดแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในฐานะทหาร ต้องฟังคำสั่งของรัฐบาล ต้องโยกย้ายหน่วยทหารระดับคุมกำลังทั้งหมดออกจากกรุงเทพฯ แปรรูปสถานีวิทยุโทรทัศน์ของทหารให้เป็นของเอกชน ไม่ให้ทหารมีผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจการค้าโดยตรง อย่างไรก็ตาม เราพบว่าหลังเหตุการณ์ความรุนแรง ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างให้สถาบันทหารอยู่ภายใต้พลเรือนดังเช่นที่ทำกันในประเทศอื่นๆ หลังเผชิญความรุนแรง และนายชวน หลีกภัย นายกฯ และรมว.กลาโหมขณะนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในหมู่ชนชั้นนำที่จะยุติการปฏิรูปกองทัพให้หมดบทบาททางการเมือง


 


กรอบจำกัดของเจตนารมณ์เดือนพฤษภา


ศิโรตม์ กล่าวอีกว่า หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาการโต้เถียงทางการเมืองหลักๆ อยู่ในกรอบความพยายามจะทำลาย "ความเป็นการเมือง" ลงทั้งที่การต่อสู้ทางการเมืองของสังคมไทยมีคุณลักษณะที่จะนำไปสู่การต่อสู้ในระดับ "ความเป็นการเมือง" ของสังคมไทยได้ แต่คนอีกกลุ่มพยายามทำให้เงียบ เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมจึงถูกสร้าง ถูกเขียนให้อยู่ภายใต้กรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเราไม่เคยได้ยินการตีความที่ไปไกลกว่านั้น เช่น เหตุการณ์พฤษภาเป็นการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ หรือเหตุการณ์พฤษภาเป็นการขจัดทหารออกไปจากการเมืองอย่างเต็มที่


 


อีกประเด็นหนึ่งคือ ในสังคมที่เคยเกิดการฆ่าทางการเมือง หรือเกิดสงครามการเมือง ทำอย่างไรให้เหตุการณ์ที่เกิดสร้างคุณูปการกับสังคมมากที่สุด สิ่งที่หลายประเทศทำคือ การกลับไปให้คุณค่า หรือพูดถึงคนที่ตายในเหตุการณ์ว่าเขาตายเพื่ออะไร มุ่งหวังหรือมีอุดมคติอย่างไร ณ นาทีที่อยู่บนถนนราชดำเนินหรือลาน สวป.มหาวิทยารามคำแหงแล้วทั้งที่รู้ว่าจะถูกปราบ เขากำลังต่อสู้เพื่ออะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษายิ่ง


 


"ที่สุดแล้ว เจตนารมณ์ทางการเมืองของเดือนพฤษภาคืออะไร เราอาจตอบด้วยตัวเราเองไม่ได้ เพราะในทางแนวความคิดไม่มีใครตอบแทนใครได้ เราตอบแทนคนที่ตายไม่ได้ หรือแม้กระทั่งตอบแทนคนที่ชุมนุมกับเราก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน แต่กระบวนการพยายามตอบแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่เริ่มกระบวนการแบบนี้ก็เท่ากับปล่อยให้คนที่ไม่ตายที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้อาศัยเหตุการณ์นี้ไปสร้างวาระทางการเมืองที่ตัวเองต้องการเพียงแบบเดียว คือการเมืองแบบที่อาจารย์สมชายพูดว่าการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"


 


 


การเมืองของคนเล็กๆ อีกปีกหนึ่งของอุดมการณ์พฤษภา


ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวระลึกถึงนันทโชติ ชัยรัตน์ หรือปุ๋ย แกนนำของสมัชชาคนจนที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ว่า เขาควรจะได้มาอยู่บนเวทีสัมมนานี้ เพราะเขาเป็นนักกิจกรรมในรั้วรามคำแหงช่วงพฤษภาทมิฬ โดยในช่วงเหตุการณ์พฤษภา ปุ๋ยและเพื่อนๆ ได้ก่อตั้งเครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์พฤษภา 35 คนในรุ่นนี้ได้โอบอุ้มอุดมการณ์พฤษภา 35 แบบหนึ่ง ซึ่งอุดมการณ์พฤษภานี้ก็ถูกนิยามไว้หลากหลายมาก อุดมการณ์ของเขาเรียกว่า "อุดมการณ์การเมืองภาคประชาชน" โดยพวกเขาเข้ามาสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย และสมัชชาคนจนได้พูดมาตลอดคือ "ประชาธิปไตยที่กินได้" และ "การเมืองที่เห็นหัวคนจน" อันนี้ก็เป็นสิ่งที่หลังพฤษภา ปุ๋ยได้ลงไปทำงานกับชาวบ้านมาตลอด ฉะนั้นการเมืองภาคประชาชนก็ถูกนิยามหลายแบบ


 


ในช่วงที่มีการขับไล่ระบอบทักษิณ ปุ๋ยและสมัชชาคนจนก็ได้เข้าร่วม และได้ถอยห่างออกมาในระยะหลัง กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหารก็ได้เข้าร่วมต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน เป็นการต้านรัฐประหารที่อาจเรียกได้ว่ามาจากสามัญสำนึก อย่างเช่นในหมู่บ้านนั้นมีทหารเข้ามาเต็มไปหมด ทั้งปากมูน ราศีไศล สิรินธร เราพูดกันติดปากว่า ในสมัยทักษิณมี 1 กองทุน 1 หมู่บ้าน แต่ในยุคนี้มี 1 กองทหาร 1 หมู่บ้าน คนอย่างปุ๋ยได้ต่อสู้กับเผด็จการทหาร ถึงแม้ว่าชาวบ้านไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างชัดเจน แต่ว่าชาวบ้านก็ต้องต่อสู้กับทหารเพื่อปกป้องพื้นที่ของตัวเอง โดยชาวบ้านบอกว่า "รัฐธรรมนูญต้องเขียนด้วยตีน" หมายถึงร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างไร ชาวบ้านก็จะเดินขบวนเพื่อยืนยันสิทธิในการเดินขบวน


 


ประภาสกล่าวว่า ฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงอุดมการณ์พฤษภา ยังมีอีกปีกหนึ่งที่ต่างจากคนชั้นกลางอย่างในประเด็นทุจริตคอรัปชั่น การเมืองที่โปร่งใส นั่นคือ ประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน ซึ่งการเมืองของคนเล็กๆ เหล่านี้ เป็นอุดมการณ์พฤษภาอีกปีกหนึ่ง ที่คนไม่ค่อยมองเห็น


 


พฤษภาทมิฬอยู่ท่ามกลางกระบวนการสร้างจรรโลงประชาธิปไตยที่สำคัญก็คือ มาสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อประชาธิปไตยในยุคชาติชาย เกิดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น กระทั่งเกิดรัฐประหารในปี 34 ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังพฤษภาทมิฬ กระบวนการสร้างจรรโลงประชาธิปไตยที่สำคัญ คำถามการเมืองประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง มันไม่เพียงพอ ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธระบบเลือกตั้ง แต่หมายถึงการเมืองภาคประชาชนไม่ได้เข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ว่ามันขยายประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองภาคประชาชนของคนเล็กๆ เพราะในทศวรรษ 30 มีความขัดแย้งเรื่องทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ทำให้ภาคธุรกิจ แย่งชิงทรัพยากร ผมอยากจะย้ำว่ามันมีการเมืองภาคประชาชน คนเหล่านี้ ถ้าดูในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเครือข่ายต่างๆ เครือข่ายสลัมสี่ภาค สมัชชาคนจน ซึ่งตอนนั้นยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่าเครือข่ายย่อยๆ ได้เข้ามาร่วมเหตุการณ์


 


การเมืองแบบคนชั้นกลาง: การเมืองแบบกลุ่มผลประโยชน์


ประภาส กล่าวว่า การเมืองภาคประชาชนอย่างน้อยที่สุดมีอยู่สองทาง คือ หนึ่ง การเมืองภาคประชาชนแบบคนเล็กๆ ประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน สร้างประชาธิปไตยทางตรง อีกทิศทางหนึ่งก็คือการเมืองภาคประชาชนแบบชนชั้นกลาง


 


อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เราได้เห็นการคลี่คลายการเมืองภาคประชาชน ช่วงรัฐประหาร 19 กันยา การเมืองภาคประชาชนก็ได้ถูกลดทอนไปมาก แม้แต่การเมืองภาคประชาชนสำหรับชนชั้นกลางเองก็ถูกลดทอนเหลือแค่การขับไล่รัฐบาล การแย่งชิงระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม แต่สิ่งที่สำคัญคือเราไม่ได้พูดอีกนิยามหนึ่ง คือ การเมืองภาคประชาชนของคนเล็กคนน้อยมันไม่สำคัญเท่ากับคนที่มาชุมนุมกับพันธมิตรฯ การเมืองภาคประชาชนของคนเล็กคนน้อยก็ถูกกดทับโดยการเมืองแบบคนชั้นกลาง


 


ผมคิดว่าสิ่งที่นำมาสู่การลดทอน หรือ อาจจะพูดได้ว่า คำว่า แมวสีอะไรขอให้จับหนูได้ การเมืองภาคประชาชนแบบที่คนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งกำลังทำอยู่ กล่าวถึงที่สุดแล้ว มันถูกตีกรอบกลายเป็นการเมืองแบบกลุ่มผลประโยชน์ มันจึงไม่ถูกขยายไปสู่ผู้คนได้อย่างกว้างขวางแบบ 14 ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬ มันจึงอธิบายได้ไม่ยากว่า ทำไมถึงหยิบยกเรื่องบางเรื่องมาต่อสู้ มันง่ายที่จะทำให้แยกเป็นพวกเขาพวกเราดังที่รัฐเคยทำมา


 


เพราะฉะนั้นสงครามการเมืองแบบนี้มีทางเดียวที่จะชนะ คือการรัฐประหาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งชนะเท่านั้นเอง เมื่อเป็นแบบนี้จึงไม่ได้ทำให้เกิดพัฒนาการทางการเมือง กับสิ่งที่ภาคประชาชนเราผลักดันกันมา เราในที่นี้คือคนเล็กคนน้อยปีกหนึ่งในพฤษภาทมิฬ


 


ปัจจุบันเป็นสิ่งที่เรียกว่าการมืดบอดทางปัญญา โจทย์การเมืองแบบนี้มันไม่ได้สร้างปัญญา การสร้างประชาธิปไตยในมิติอื่น กฎหมายลูก องค์กรอิสระที่พูดถึงสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้เป็นโจทย์ที่ถูกพูดถึง


 


ทางออกคืออะไร ทางออกคือไม่ว่าฝ่ายไหนชนะเราก็ถูกกระทืบ หรือว่าทางออกมีอยู่ทางเดียวที่อาจารย์ใจเขียนจดหมายถึงพิภพ สมศักดิ์ สมเกียรติ


 


การเมืองมันถึงทางตันขนาดนี้เชียวหรือ ผมคงไม่มีคำตอบ


 


 


สนนท.กับบทบาทหลังรัฐประหาร


พงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2550 กล่าวว่า สนนท.ได้ร่วมหารือกับเพื่อนหลายส่วน รวมทั้งเพื่อนต่างจังหวัดว่าหลังรัฐประหารจะไปทางไหน มีบทเรียนอะไร ก่อนหน้านี้กรรมการชุดเดิมออกแถลงการณ์ค่อนไปทางสนับสนุนรัฐประหาร แต่เราพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ของ สนนท.ที่สนับสนุนประชาธิปไตยโดยตลอด ก็ยังตั้งคำถามกันอยู่ว่าหลังเรียกร้องมาตรา 7 ทำไมจึงไม่ออกแถลงการณ์คัดค้าน และในช่วงที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า สนนท.ควรถอนตัวออกจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่องนั้นคงต้องเคารพการตัดสินใจของกรรมการชุดเดิม


 


เขากล่าวด้วยว่า 1 ปีหลังการรัฐประหาร บทเรียนที่เห็นได้ชัดคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านกฎหมาย ม.นอกระบบ 3 วาระรวดโดยไม่สนใจการคัดค้าน องค์กรประชาธิปไตยอย่างคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก็ไม่เคยมาคัดค้าน กรณีโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สนนท.ก็มีส่วนร่วม และมีการคุกคามนักศึกษาที่เคลื่อนไหวโดยพ.ร.บ.ความมั่นคง


 


พงษ์สุวรรณกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการครป.หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ สนนท.นั้นมีการส่งคนมาประสานกับ สนนท. เพื่ออธิบายท่าทีในการร่วมกับพันธมิตรฯ ว่าเป็นยุทธศาสตร์ แต่ก็ไม่อาจเข้าใจได้เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ทำให้เกิดการรัฐประหารและไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย  หลังจากนั้นตนเองได้พยายามติดต่อกับนายสุริยะใสโดยตรงแต่ยังไม่เคยได้พบ ส่วนที่เขียนจดหมายถึงสุริยะใสเพื่อให้ทบทวนบทบาทหรือลาออกจาก ครป.นั้น เป็นการพยายามมองเหตุการณ์เดือนพฤษภาและองค์กรประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น อย่าง ครป. และองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ที่เริ่มมีโอกาสเติบโตหลังเหตุการณ์ว่าได้พิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภาหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาการเรียกร้องนายกฯ พระราชทานหรือการสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 50 ที่มีส.ว.จากการแต่งตั้ง นับว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์เดือนพฤษภาเลย


 


นอกจากนี้ พงษ์สุวรรณยังได้จำแนกกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนหรือภาคประชาชนว่า หลังการรัฐประหาร 19 กันยา ภาคประชาชนมีความแตกต่างกันในทางแนวคิดทางการเมือง ไม่มีเอกภาพ สามารถจัดได้เป็น 4-5 กลุ่มตั้งแต่กลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหาร กลุ่มรักทักษิณ ไปจนถึงกลุ่มที่สนับสนุน คมช.


 


 


ความอับจนทางด้านภูมิปัญญา หลังพฤษภา 35


หลังการเสวนา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ได้ร่วมแสดงความเห็นโดยตั้งคำถามถึงภาคประชาชนและนักวิชาการรุ่นหลัง 17 พ.ค. 35 ว่าเหตุใดจึงคิดว่าตัวเองมีความเป็น "ภาคประชาชน" มากกว่าพวกนักการเมือง นักกิจกรรมก่อน 6 ตุลา 2519 ก็อ้างความเป็นประชาชนเหมือนกันแต่ภายใต้ทฤษฎีมาร์กซ์ เลนิน ที่มีเรื่องชนชั้นและมีอุดมการณ์เป้าหมายบางอย่างชัดเจน แต่ภาคประชาชนหลังพฤษภาคือใครกลับไม่มีใครเคยนิยาม อย่างไรก็ตาม เขาได้คำตอบว่า หลายปีที่อ้างกัน ประชาชนเป็นเพราะอ้างไอเดียไม่ได้ ว่า ตัวเองเป็นตัวแทนของไอเดียอะไรกันแน่ พอแทน ideology ไม่ได้จึงเอาคำว่า ประชาชน มาใช้


 


โดยสิ่งที่น่าประหลาดใจและสำคัญมากคือ ความอับจนทางด้านภูมิปัญญา หลังพฤษภา 2535 ขบวนการปัญญาชนไม่มีข้อเสนออะไร โดยเมื่อเกิดการปฏิรูปการเมือง ภายใต้คนอย่างประเวศ วะสี อมร รักษาสัตย์ ซึ่งเป็นการปฏิรูปภายใต้คำขวัญการคืนอำนาจให้ในหลวง และตอนนั้นเฮละโลกันไปกับรัฐธรรมนูญ 2540 ถึงขนาดรัฐธรรมนูญแบบนี้สามารถผ่านมาตราที่ว่า ส.ส.ต้องจบปริญญาตรีก่อนไปได้ หรือที่ขานรับข้อเสนอของประเวศที่ให้ตั้งสภาที่มีอดีตนายกฯ เป็น ส.ส.แต่งตั้ง โดยเขาเชื่อว่า ถ้าข้อเสนอแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีขบวนการภูมิปัญญาที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น


 


เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาได้เกิดฉันทามติในหมู่ปัญญาชนไทยอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนคือ 1.reconciliation with the monarchy เช่น ยอมให้ประเวศชูเรื่องคืนอำนาจได้ 2.empty electoral politic หรือที่เรียกกันว่า เลือกตั้งธิปไตย แต่มีไอเดียที่มีอคติต่อนักการเมือง 3.populism ซึ่งไม่ใช่ประชานิยม แต่หมายถึงไอเดียที่ว่า มีประชาชนบางกลุ่มที่เราเคลมได้ แม้อาจไม่ถึง 1% ของทั้งหมด แต่ก็ภูมิใจที่จะอ้าง ซึ่งไอเดียเหล่านี้เพิ่งมามีในทศวรรษ 2530


 


สมศักดิ์กล่าวว่า ทำไมไอเดียอย่างเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้รับการยอมรับในหมู่คนพวกนี้ หรือทำไมพวกทหาร คมช.พูดเรื่องเผด็จการทุนนิยมโดยไม่อาย ทั้งที่คำว่าเผด็จการทุนนิยม เป็นคำของฝ่ายซ้าย ที่เขายืมคำพวกนี้ไปใช้ได้เพราะคำพวกนี้ empty (ว่างเปล่า) เนื่องจากการวิพากษ์ทุนนิยมในระยะหลังมันไม่มีข้อเสนออะไรใหม่ ถ้าไม่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์แล้วมันคืออะไร ถ้าเป็นสมัยก่อน 1980s ถ้าพูดแอนตี้ทุนนิยม มันหมายถึงสังคมนิยม จะรัสเซียหรือจีนก็ว่าไป แต่อย่างน้อยมันมีไอเดียเบื้องหลังการต่อต้านนี้ แต่หลัง 10 ปีมานี้ ไม่มีไอเดียเบื้องหลังเลย


 


อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ มองว่า ฉันทามตินี้ถูกเขย่าอย่างรุนแรง เมื่อรัฐประหาร 19 กันยาฯ แต่ไม่ได้แตกหัก นอกจากนี้ได้วิจารณ์ท่าทีการประณามการรัฐประหารที่ไม่ชัดเจนว่า อาจเพราะถูกครอบงำวิธีคิดด้วย theme ใหญ่ๆ 3 ข้อข้างต้น


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net