Skip to main content
sharethis

บัณฑิต แป้นวิเศษ


 


ตั้งแต่ได้รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เสมือนกับประชาชนโดยส่วนมากจะพอคาดการณ์และเดากันได้ว่าเป็นรัฐบาลชุดนอมินี่ของรัฐบาลชุดคุณทักษิณ อย่างแน่นอนการเคลื่อนกระบวนท่าเชิงนโยบายที่ใช้รูปแบบประชานิยม โดยเปิดยุทธวิธีเชิงรุก การประชาสัมพันธ์แบบเอาใจคนจน การยึดพื้นที่เวทีสาธารณะด้านสื่อโทรทัศน์ให้กลับคืนมาเป็นของตนเองอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนผังรายการและการทำรูปแบบเนื้อหาของช่อง 11 ให้เป็นสถานีแบบอย่างสมัยที่มีช่อง ITV ในขณะเดียวกันก็จ้องล้ม คตส. และประเด็นล่าสุดที่ต้องทำให้ได้คือการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ถึงขนาดมีการตั้งกลุ่มมวลชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" (คปพร.) โดยมีประชาชนเข้าชื่อถึง 150,000 คน ซึ่งไปสอดรับกับการเข้าร่วมลงชื่อจาก สส. รัฐบาล 134 คนและสว. 30 คน รวม 164 คน เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับโดยนำเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นตัวต้นแบบ แต่ในตัวร่างแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีข้อสังเกตในส่วนมาตราที่ 14 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อความว่า


 


"บรรดาประกาศ คำสั่ง กฎ หรือการใดที่กระทำโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือสืบเนื่องจากประกาศ คำสั่ง กฎ หรือการดังกล่าว หรือองค์กรที่จัดตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้"


 


ถ้าอ่านและพิเคราะห์ให้ดีแล้วในส่วนเนื้อข้อความที่ระบุชัดเจนคือ "ที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้" การเขียนข้อความเพิ่มเติมในลักษณะนี้น่าจะเป็นการกระทำที่ต้องการแสดงจุดยืนของการกลับมาของอดีตนายกทักษิณและพรรคพวก 100 กว่าคนที่ถูกห้ามลงการเมือง เพราะชัดเจนยิ่งกว่าชัดเจนมันคือมาตรานิรโทษกรรมให้กับพรรคพวกตัวเองอย่างเห็นได้ชัด


 


บทเรียนที่ผ่านมาของการเมืองไทยกับการถลุงงบประมาณหลายหมื่นแสนล้านบาทที่ขูดรีดเอากับประชาชนผู้ต้องทนทุกข์รับวิกฤติต่างๆ จากการกระทำของพวกท่านสมาชิกผู้น่าเกลียดทั้งหลาย ได้หันมามองการอยู่กินของประชาชนเจ้าของประเทศหรือไม่


 


วิกฤติการณ์ทางการเมืองนับแต่นี้ต่อไปจะอยู่ในกระแสการเผชิญหน้าของ 3 ขั้วการเมือง คือฝ่ายต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่มีบทแฝงเร้นกับการคืนสู่อำนาจของอดีตนายกทักษิณ กับอีกฝ่ายหนึ่งคือไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูยปี 2550 ไว้ ส่วนอีกหนึ่งขั้วทางการเมืองนั้นอาจจะเป็นคนกลุ่มมากที่ไม่แสดงตัว เพราะคิดว่าจะได้รัฐธรรมนูญแบบไน เงื่อนไขผลประโยชน์ กลุ่มก๊วนการเมืองที่ต้องการแสวงประโยชน์จากประชาชน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยวางตัวเพียงแค่ผู้มองดูแล้วทำมาหากินกันต่อไป ยกเว้นทหารเข้ายึดอำนาจจึงจะออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวซึ่งเห็นได้ชัดจากการแสดงตัวปกป้องประชาธิปไตยทั้ง 2 ขั้วการเมือง คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และองค์กรเครือข่ายกับอีกปีกหนึ่งที่เป็นฝ่ายจัดตั้งของมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลใต้ชื่อ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" โดย 2 ขั้วการเคลื่อนไหวจะต้องมีการแสดงบทบาททางการเมืองในหลายรูปแบบของการเผชิญหน้ากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


และที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้คือ ภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่เอาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลสมัคร ได้ออกแถลงการณ์นัดชุมนุมใหญ่ต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ซึ่งมีเนื้อความใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1) นัดประชาชนชุมนุมใหใญ่เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2550 ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 2) ให้มีการเข้าชื่อสองหมื่นชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมืองที่แสวงหาและมีพฤติกรรม คอรัปชั่นประชาชน และ 3.) ให้ประชาชนที่จะมาเข้าร่วมได้นำสำเนาบัตรประชาชนมาแสดงความจำนงในการถอดถอนนักการเมืองที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550


 


ฉะนั้นความเปราะบางทางการเมืองต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ของการทำการปฏิวัติรัฐประหารจากทหารและกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจก็เป็นไปได้ทุกเมื่อ แต่สิ่งที่ห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้มากที่สุดและอาจจะมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยซ้ำไปคือ สถานการณ์ปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค ค่าครองชีพ ขยับตัวสูงขึ้นตามอย่างสัมพันธ์กัน แม้ว่ารัฐบาลจะมัความพยายามออกมาตรการควบคุมราคาสินค้า ลดการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานก็ตามที แต่สิ่งหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับการใช้งบประมาณของรัฐบาลและท่าน ส.ส. ส.ว. ทั้งหลายด้วยก็คือ การคิดคำนึงถึงการใช้งบประมาณไปกับการบริหารจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำประชาพิจารณ์การรณรงค์สร้างความเข้าใจและการจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแต่ละครั้งก็จะใช้งบประมาณของประเทศไปเป็นหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท และมองสภาพบ้านเมืองในขณะนี้แล้วรัฐบาลและฝ่ายเคลื่อนไหวจะต้องระมัดระวังอุบัติเหตุทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร คนที่สูญเสียมากที่สุดคือประชาชน เอางบประมาณเหล่านั้นมาแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนดีกว่าครับ อย่าสร้างประเด็นเงื่อนไข เพื่อประโยชน์พวกพ้องผองเพื่อนตนเองอีกเลยครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net