Skip to main content
sharethis

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ในห้วง 4 ปีนี้คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานของชาวมลายูมุสลิมที่ต้องการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมของตน ตลอดจนเรียกร้องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมจากรัฐไทยเท่านั้น


 


ข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ประการหนึ่งก็คือ มีกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเพื่อกอบกู้หรือสถาปนารัฐปัตตานีให้เป็นอิสระจากรัฐไทย ก่อกำเนิดและเคลื่อนไหวมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และกลุ่มขบวนการเหล่านั้นก็มีพัฒนาการทั้งแตกทั้งโตควบคู่กับปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา


 


ในช่วงต้น หลังเกิดปรากฏการณ์ "ความรุนแรงรอบใหม่' นับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พุ่งเป้าและเทน้ำหนักของผู้กำหนดเกมอยู่เบื้องหลังไปที่ "ขบวนการเบอร์ซาตู' ที่มี ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน เป็นประธาน มีการเปิดโต๊ะพูดคุยกันแบบลับๆ ในลักษณะ Peace Talk หลายครั้ง เป็นเวลานานนับปี กระทั่งนำมาสู่การจัดทำ Peace Plan หรือ "แผนสันติภาพและพัฒนาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย' ส่งถึงมือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในไตรมาสที่สามของปี พ.ศ.2549


 


ผู้ที่ร่วมลงนามในแผนสันติภาพฯ ล้วนเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนภายใต้ร่ม "เบอร์ซาตู' ทั้งสิ้น ได้แก่ อุสตาซมูฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน ประธานกลุ่มจีเอ็มพี, นายรอซี บิน ฮัดซัน รองประธานกลุ่มพูโล, อุสตาซอับดุลเลาะห์ บิน อิสมาแอล ประธานกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส และที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน ประธานเบอร์ซาตู


 


แต่แล้วกระบวนการสันติภาพก็หาได้เกิดขึ้นและเดินหน้าเป็นรูปธรรมตามแผนดังกล่าวไม่ เพราะฝ่ายความมั่นคงของไทยประเมินแล้วว่า กลุ่มขบวนการเหล่านี้ไม่ใช่ตัวจักรอันสำคัญที่ขับเคลื่อนสถานการณ์ ความรุนแรงรอบใหม่ นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนเป็นต้นมา


 


ความล้มเหลวในแง่ผลลัพธ์เพื่อยุติความรุนแรงรายวันจากการเปิดโต๊ะเจรจากับแกนนำ "เบอร์ซาตู' ทำให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยจัดกลุ่มขบวนการใต้ร่มของ "เบอร์ซาตู' ว่าเป็น "กลุ่มเก่า' ที่ไม่ได้มีอิทธิพลกับความเคลื่อนไหวและการก่อสถานการณ์ร้ายที่ยังหาจุดจบไม่ได้ในปัจจุบัน


 


โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุในห้วง 4 ปีหลังมานี้ถูกทางการไทยจัดให้เป็น "กลุ่มใหม่' ที่เรียกรวมๆ ว่า "กลุ่มก่อความไม่สงบ'


                                                                                                                              


อย่างไรก็ดี บริบทความเคลื่อนไหวทั้งในแง่ของการเจรจาสันติภาพ และการขีดเส้นแบ่งศักยภาพของกลุ่มขบวนการเท่าที่ผ่านมา ล้วนมาจากการเปิดเผยอย่างกระท่อนกระแท่นของผู้รับผิดชอบในรัฐบาลไทยทั้งสิ้น หาใช่การถอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากบุคคลใน "กลุ่มเก่า' เหล่านั้นอย่างเป็นทางการเพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้และสังเคราะห์ร่วมกันในการค้นหาทางออกของปัญหาแต่อย่างใด


 


ทั้งๆ ที่การเรียนรู้อดีตอย่างถ่องแท้ ย่อมเป็นประโยชน์อย่างเอนกอนันต์กับการหาคำตอบของปัจจุบันและอนาคต!


 


ด้วยเหตุนี้ทีมงาน "ดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน' จึงพยายามนัดพบกับบุคคลในระดับนำของ "ขบวนการในอดีต' เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้วิธีคิด ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ที่ต่อสู้กับรัฐไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งหมดนั้นน่าจะสะท้อนให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งที่ถูกละเลย แต่อาจเป็น "จุดเปลี่ยนสำคัญ' ของการถอดสลักความรุนแรงในปัจจุบันก็เป็นได้


 


และความพยายามของทีมงาน "ดีพเซาท์ฯ' ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเรามีโอกาสได้พบปะกับ "แกนนำขบวนการ' ของ "กลุ่มเก่า' รายหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐไทยเคยต้องการตัวอย่างยิ่ง โดยเราเปิดวงสนทนากัน ณ สถานที่ปิดลับแห่งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เอง...


 


 


000


 


ถ้าไม่สู้...เราก็ตาย


ในช่วงต้นของการพูดคุย เราได้สอบถามความเห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่ง "แกนนำขบวนการในอดีต' ผู้นี้ออกตัวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุร้ายนานาชนิดที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายปี เพราะไม่คิดว่าจะเป็นทางออกของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ในขณะเดียวกันเขาเห็นว่า การใช้ช่องทางการต่อสู้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจการปกครองให้กับท้องถิ่น น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้คนมลายูมุสลิมได้มีโอกาสกำหนดวิถีชีวิตและการพัฒนาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง


 


อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า จากการที่ได้สื่อสารกับ "นักรบกลุ่มใหม่' หลายๆ คน ทำให้ทราบถึงเหตุผลที่กลายเป็นแรงขับดันของการต่อสู้โดยเลือกใช้ความรุนแรง


 


"มีหลายคนเคยมาหาผม ผมถามเขาว่าจะสู้ไปทำไม เราสู้มานานก็ยังไม่ชนะ สยามมีกองทัพมหาศาล สู้ไปเราก็ตาย แต่เขาบอกกับผมว่า ถ้าไม่สู้เราก็ตาย แต่หากเลือกแนวทางต่อสู้ถึงตายก็มีเกียรติ" แกนนำขบวนการในอดีต บอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความเข้าใจถึงแนวทางของขบวนการรุ่นใหม่ซึ่งถูกกดดันปราบปรามด้วยวิธีการรุนแรง ก่อนที่พวกเขาจะใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา


 


เขาวิเคราะห์ว่า เหตุผลที่ทำให้เกิด "นับรบกลุ่มใหม่' ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มีแนวคิดรุนแรง ก็คือนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่ในอดีต และยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกระทั่งถึงปัจจุบัน


 


"ผมขอพูดตรงๆ ว่า นโยบายของรัฐบาลไทยยังไม่โดนใจพี่น้องมลายูในสามจังหวัด ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามจึงไม่ใช่ทางออก แต่รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายใหม่ๆ ที่โดนใจพี่น้องมลายู หากทำได้ก็จะแก้ปัญหาได้เอง"


 


เราถามว่า ในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลไทยก็ปรับเปลี่ยนนโยบายที่ส่งผลต่อคนในสามจังหวัดหลายประการ เหตุใดความรุนแรงจึงยังไม่ทุเลา แต่ "นักต่อสู้ทางความคิด' ผู้นี้กลับย้อนถามยิ้มๆ ว่า ก็เพราะเกิดความรุนแรงใช่หรือไม่ รัฐบาลไทยถึงยอมปรับท่าที


 


"การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลไทยมีขึ้นหลังเกิดความรุนแรงอย่างหนักในช่วงหลัง ทำให้กลุ่มใหม่ที่เคลื่อนไหวทุกวันนี้ยังอยู่ได้ ทั้งๆ ที่พี่น้องมลายูส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับความรุนแรง" เขาสรุป


 


 


"เขตปกครองพิเศษ' ไม่แก้ปัญหา


เราเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้นการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษตามที่รัฐมนตรีมหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นำเสนอ ก็น่าจะเป็นทางออกที่สามารถแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เหมือนกัน แต่ "แกนนำขบวนการในอดีต' ที่วันนี้อยู่ในวัยล่วงเลย 60 ปี กลับปฏิเสธด้วยน้ำเสียงไร้เยื่อใย


 


"เขตปกครองพิเศษแก้ไม่ได้ ซ้ำจะยิ่งสร้างปัญหาตามมา เพราะเขตปกครองพิเศษจะทำให้พวกเขา (ขบวนการแยกดินแดนรุ่นใหม่) แข็งขึ้นเป็นขั้นแรก ก่อนก้าวไปสู่การแบ่งแยกดินแดน"


 


เขาอธิบายประเด็นนี้โดยแยกเป็น 2 มิติ คือหนึ่ง เป็นที่รู้กันดีว่า นักรบกลุ่มใหม่ ที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน มีเป้าหมายเพื่อแยกดินแดนตั้งรัฐอิสระ การอนุญาตให้มีเขตปกครองพิเศษจึงเท่ากับเป็นการนับหนึ่งของกระบวนการจัดตั้งรัฐใหม่ ฉะนั้นรัฐบาลไทยไม่มีวันยอม


 


กับสอง เขตปกครองพิเศษไม่ใช่สิ่งที่ชาวมลายูในสามจังหวัดต้องการ เพราะการบริหารจัดการเขตปกครองพิเศษไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญหากมีเขตปกครองพิเศษเกิดขึ้นจริง ก็จะต้องมีการเลือกตัวผู้นำขึ้นมาบริหาร และนั่นอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งกันเองในหมู่ชาวมลายู ซึ่งแน่นอนว่าพี่น้องในสามจังหวัดไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น


 


"ทางออกที่แท้จริงคือรัฐบาลไทยต้องทำนโยบายให้ถูกใจประชาชนในพื้นที่" เขาเน้นข้อเสนอเดิมของตัวเอง


 


ต้องจัดการความรู้สึก


เราซักว่า อะไรคือนโยบายที่ถูกใจคนมลายูในสามจังหวัด "ผู้นำขบวนการในอดีต' ซึ่งต่อสู้กับรัฐไทยมาหลายสิบปี ตอบว่า จะต้องเป็นนโยบายที่สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในความรู้สึกของพี่น้องชาวมลายู


 


"ความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลอาจจะบอกว่าให้เยอะแล้ว แต่คนในสามจังหวัดบอกยังไม่ได้ให้อะไรเลย จริงหรือไม่จริงผมไม่รู้ แต่เขาพูดกันมาอย่างนี้ อย่างเรื่องการพัฒนาอะไรต่างๆ รัฐอาจจะบอกว่าทำตั้งเยอะแล้ว แต่คนในพื้นที่บอกว่ายังไม่ได้เลย มันเป็นเรื่องความรู้สึก คนมลายูรู้สึกแบบนั้น ผมคิดอย่างนั้นนะ แต่จะจริงหรือเปล่าไม่รู้ ฉะนั้นรัฐบาลไทยต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เขาเลิกรู้สึกแบบนั้น"


 


อดีตนักสู้ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ยังอธิบายว่า ความเท่าเทียมคือสิ่งที่ชาวมลายูในสามจังหวัดต้องการมากที่สุด มันคือความเท่าเทียมที่เทียบเท่ากับคนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ไม่ใช่ความรู้สึกแบบพลเมืองชั้นสอง หรือถูกมองในลักษณะเป็น "อาณานิคม'


 


"ผมก็ไม่รู้จะบอกอย่างไร แต่มันเป็นเรื่องความรู้สึก คนมลายูเขารู้สึกแบบนี้ ฉะนั้นรัฐต้องจัดการเรื่องความรู้สึก" เขาระบุ


 


ปริศนาที่น่ากลัว


แน่นอนว่าการจัดการกับความรู้สึกไม่เท่าเทียมของพี่น้องมลายูในสามจังหวัด ย่อมเป็น "กุญแจ' ที่จะไขสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวและอย่างยั่งยืน ทว่าโจทย์ใหญ่ ณ วันนี้ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการจัดการกับความรุนแรงรายวันที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย



นั่นหมายถึงว่ารัฐไทยจะต้องไขปริศนาให้ได้เสียก่อนว่า ใครคือผู้กำหนดสถานการณ์อยู่ในปัจจุบัน?


 


แต่คำตอบจาก "ผู้นำขบวนการในอดีต' ผู้นี้กลับทำให้ปริศนาดำมืดนั้น ยิ่งน่ากลัวกว่าที่คาด


 


"ผมไม่รู้จริงๆ ว่าใครที่ทำให้เกิดความรุนแรงอยู่ในขณะนี้" เขาบอกด้วยน้ำเสียงทดท้อ "ที่ผ่านมาแกนนำกลุ่มเก่าๆ หลายคนที่ยังติดต่อสื่อสารกันอยู่ ก็เคยนั่งคุยกัน และทุกคนก็สงสัยเหมือนกันว่า ใครที่สร้างสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้"


 


กระนั้น อดีตนักสู้อย่างเขาก็ยอมรับว่า เคยพบปะพูดคุยกับ "นักรบกลุ่มใหม่' อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ท่าทีที่ได้สัมผัสกลับไม่ใช่ "มิตรภาพ' ในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันพึงได้รับ แต่กลับเป็นการข่มขู่


 


"เขาเคยส่งคนมาพูดกับผม" ผู้นำขบวนการในอดีตพูดถึงระดับแกนนำของนักรบรุ่นใหม่ "คนที่มาหาผมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น มากันครั้งละ 2-3 คน มาหาผมที่บ้านตอนดึกๆ บางทีก็มาเรียกผมตอนตี 1 ตี 2 ผมก็จำต้องเปิดประตูให้ เขามาเพื่อจะบอกผมว่าไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องพูดอะไรทั้งนั้น ทุกอย่างเขาจัดการเองได้"


 


"ก่อนกลับผมให้เงินไปสองพันบาท เขาปฏิเสธ บอกให้ผมเก็บเงินของผมเอาไว้ ซึ่งมันแตกต่างจากอดีตมาก ให้แค่ร้อยเดียวก็รับแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ พวกรุ่นใหม่ไม่เคยมาขอความช่วยเหลือ หรือขอให้พวกเรารุ่นเก่าช่วยเหลืออะไรเลยซึ่งผมว่ามันแปลกมาก เพราะฉะนั้นเราไม่รู้เลยว่าพวกที่สู้อยู่เวลานี้เป็นใคร"


 


อดีตนักสู้ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน วิเคราะห์ว่า ท่าทีของนักรบรุ่นใหม่คือการ "ปราม' ไม่ให้คนใน "กลุ่มเก่า' เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะรู้ดีว่าแนวทางที่ "กลุ่มเก่า' ดำเนินการนั้นสวนทางกับแนวคิดของ "กลุ่มใหม่' ที่เลือกใช้ความรุนแรง


 


"เขารู้ว่าถ้าผมพูดอะไรออกไปจะมีผลกับพวกเขา เพราะผมมีพรรคพวกเยอะ และมีคนจำนวนมากในสามจังหวัดที่ยังเชื่อผมอยู่ เขาจึงไม่ต้องการให้ผมพูดอะไรเลย"


 


"พวกผมในขณะนี้ต้องระวังสามฝ่าย หนึ่งคือรัฐบาลไทย สองคือที่นี่ และสามคือขบวนการด้วยกันเอง แต่วันนี้ผมจะกลับเมืองไทยก็ได้ สำหรับผม ทางการไทยไม่ใช่สิ่งที่ผมกังวล แต่ผมกังวลคนกันเอง คือพวกขบวนการที่ต่อสู้อยู่นี่แหละ"


 


เขายังวิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่า การปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือในทุกทางจากขบวนการในอดีต ในแง่หนึ่งย่อมเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มแข็งของขบวนการในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ตลอดจนอาจจะมี "มือที่มองไม่เห็น' จากต่างประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเข้ามาสนับสนุนขบวนการในปัจจุบัน ซึ่งจากประสบการณ์การต่อสู้ของเขานั้นเห็นว่าทั้งสองแนวทางนี้ มีความเป็นไปได้สูง


 


ใครอยู่เบื้องหลังไฟใต้?


แม้คู่สนทนาของเราจะไม่อาจให้คำตอบได้ว่า ใครคือผู้กำหนดสถานการณ์ความรุนแรงอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ แต่เขาก็เชื่อว่า เบื้องหลังของสถานการณ์ย่อมลึกล้ำกว่าการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มคนกลุ่มเดียว


 


"ผมเชื่อว่าปัญหาปักษ์ใต้ยังแก้ไขได้ หากรัฐบาลไทยมีความจริงจังที่จะแก้ปัญหา แต่สาเหตุที่มันแก้ไม่ได้ เพราะทางการไทยไม่จริงจัง และมีคนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้"


 


เขาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่สถานการณ์ความรุนแรงดำเนินมาถึง 4 ปีเต็มแล้ว แต่รัฐไทยยังแก้ไขอะไรไม่ได้ สมมติฐานของเขาจึงมีอยู่ 2 ประการ คือหนึ่ง รัฐบาลไทยไม่พยายามแก้ไขเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง หรือสอง มีใครบางคนอยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่ดำเนินอยู่ และคนที่อยู่เบื้องหลังนั้นมีศักยภาพสูงพอที่จะต่อกรกับรัฐไทยได้ทั้งที่มีกำลังพลมหาศาล และอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน


 


แต่ดูเหมือนอดีตนักสู้อย่างเขาจะเทน้ำหนักไปยังสมมติฐานที่สอง...


 


"ถ้ากลุ่มที่ก่อการอยู่ไม่มีใครช่วย หรือไม่มีเบื้องหลังเลยจริงๆ ก็ไม่น่ากลัว และรัฐบาลไทยก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะเดี๋ยวก็น้ำมันหมด" เขากล่าวกลั้วหัวเราะ ซึ่งเป็นเสียงหัวเราะเพียงไม่กี่ครั้งตลอดการสนทนา


 


"แต่ผมวิเคราะห์แล้ว ผมเชื่อว่าต้องมีเบื้องหลังแน่นอน ลองเทียบกับสมัยผม เราพยายามกันขนาดไหน แต่ผลที่ได้กลับไม่ถึงแม้สักครึ่งหนึ่งของสถานการณ์ในวันนี้ ถามว่าเขาเก่งขนาดนั้นเลยหรือ...ผมว่าไม่ใช่ หลายคนที่ทางการไทยบอกว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการผมก็รู้จัก อย่าง สะแปอิง บาซอ (ผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังที่ถูกระบุจากทางการไทยว่าเป็นแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ) ถ้าถามผม ผมไม่มีทางเชื่อว่าเขาทำ เพราะบุคลิกเขาไม่ใช่คนที่จะใช้ความรุนแรง"


 


"หรืออย่าง เจ๊ะกูแม กูเต๊ะ (แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบตามหมายจับของรัฐบาลไทย ปัจจุบันถูกควบคุมตัวโดยทางการมาเลเซีย) เขาเคยมาพูดกับพวกผม มีการประชุมกัน เขาคิดแต่เรื่องความรุนแรง บอกว่าเอาเงินมาเพื่อให้เขาไปก่อเหตุ เขาคิดได้แค่นั้น ผมจึงไม่เชื่อว่าความคิดระดับเขาจะทำให้เกิดสถานการณ์ขนาดนี้ได้"


 


และแม้อดีตนักสู้วัยชราจะเห็นตรงกับฝ่ายความมั่นคงของไทยว่า กลุ่มที่ขับเคลื่อนความรุนแรงอยู่ในปัจจุบันคือ บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตไว้ให้คิดต่อว่า "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต พยายามเคลมว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่พวกเขาทำ แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?"


 


สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ "อดีตผู้นำขบวนการ' อย่างเขาปักใจเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีคนอยู่ "เบื้องหลัง' อย่างแน่นอน ก็คือการไม่ยอมรับความช่วยเหลือใดๆ จากขบวนการเก่าๆ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากคนในพื้นที่เอง


 


"สมัยก่อนที่ผมต่อสู้ เราต้องหาเงินกันอย่างยากลำบาก จะซื้อปืนสักกระบอก หรือจะซื้อกระสุนกันที ต้องเรี่ยไรเอากับพรรคพวกเพื่อนฝูง เมื่อก่อเหตุได้ครั้งหนึ่ง ก็ต้องหยุดไปนานเพื่อหลบหนี ทั้งยังต้องระวังไม่ให้กระทบกับพี่น้องชาวมุสลิม แต่นี่เขาไม่สนใจเลย เขาสร้างความรุนแรงได้ทุกวันโดยไม่สนใจว่าเป้าหมายเป็นใครบ้าง และไม่ต้องการการสนับสนุนอะไรทั้งนั้น ขนาดเราเสนอว่าจะช่วย เขายังไม่รับ บอกไม่ต้องมายุ่ง ทั้งๆ ที่การจะเอาชนะรัฐบาลไทยได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่ม แต่นี่เขาไม่ต้องการ แสดงว่าเขามีคนสนับสนุนที่ใหญ่โตพอสมควร"


 


แยกดินแดนแน่หรือ?


ปัญหาที่ "นักสู้ในอดีต' อย่างเขาตั้งคำถามก็คือ กลุ่มที่ก่อการอยู่ทุกวันนี้ต้องการแยกดินแดนเพื่อตั้งรัฐอิสระแน่หรือ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าการแยกดินแดนในปัจจุบันเกิดขึ้นยากมาก โดยเฉพาะหากประเทศมหาอำนาจไม่หนุนหลัง


 


และนั่นได้กลายเป็นคำถามที่ย้อนกลับไปสู่โจทย์เดิมว่า มีใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด และทำไปเพื่ออะไร?


 


สมมติฐานที่ร่วมกันตั้งในวงสนทนามี 2 ประการ คือ "ประเทศในตะวันออกกลาง' หรือ "สหรัฐอเมริกา'        


 


"ถ้าเป็นประเทศในตะวันออกกลางเข้ามาสนับสนุนหรือสั่งการอะไร พวกผมต้องรู้บ้าง เพราะหลายคนที่เป็นผู้นำอยู่ในตะวันออกกลาง ผมรู้จักดี ถ้าเขาจะเข้ามาจัดการอะไรในสามจังหวัดผมต้องรู้ หรืออย่างน้อยก็น่าจะมาหา มาปรึกษาหารือกับพวกผมบ้าง"


 


เมื่อสมมติฐานแรกตกไป จึงเหลือเพียง "สหรัฐอเมริกา' คราวนี้เขาตอบอย่างครุ่นคิด


 


"ถ้าเป็นอเมริกา ก็มีเหตุผลเกี่ยวกับทรัพยากรและแร่ธาตุในสามจังหวัด ซึ่งเชื่อกันว่ามีทั้งใต้ดินและในทะเล" เขาวิเคราะห์ แต่ก็แย้งสมมติฐานนี้เองว่า "พื้นที่สามจังหวัดน่าจะเล็กเกินไปที่อเมริกาจะต้องมาสร้างสถานการณ์อะไรที่มันใหญ่โตขนาดนี้"


 


"หรือกลไกรัฐของไทยสร้างสถานการณ์เอง เพื่อผลประโยชน์เรื่องค้าของเถื่อนและยาเสพติด" เราถาม


 


แต่ "ผู้นำขบวนการในอดีต' ตอกย้ำข้อสังเกตเดิม "มันก็มากเกินไปเหมือนกันที่รัฐไทยจะมาสร้างสถานการณ์ถึงขั้นนี้"


 


ไฟใต้ในสายตาโลก


ข้อสงสัยคาใจข้อหนึ่งซึ่งถูกยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนา คือบทบาทของประเทศเพื่อนบ้านต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลต่างประเทศเสมอ ในฐานะที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี เขาบอกว่า แม้สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้จะเป็นประโยชน์ให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้เป็นจุดแข็งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อไทย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเกรงใจต่อท่าทีของไทยไม่น้อย แม้จะยอมให้สมาชิกขบวนการต่อต้านรัฐบาลไทยลี้ภัยอยู่ในประเทศได้ แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ยอมให้ขบวนการใดใช้พื้นที่ของประเทศกระทำการที่แสดงออกโดยตรงถึงการต่อต้านรัฐบาลไทย


 


"แม้กระทั่งผมก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้ พูดผ่านสื่อก็ไม่ได้ ตราบใดที่ยังต้องอยู่ที่นี่ เมื่อใดก็ตามที่เปิดเผยตัวตน พูดจาสิ่งใดออกไปในขณะที่อยู่ในประเทศนี้ เขาไม่ยอม ผมอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้"


 


นี่คือเหตุผลที่แกนนำขบวนการในอดีตอย่างเขาต้องใช้ชีวิตอย่างเก็บตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นเหตุผลสำคัญที่เขามิยอมให้เราเปิดเผยชื่อของเขาออกไป


 


เขายกตัวอย่างกรณีทางการมาเลเซีย ส่งตัวอดีตผู้นำกลุ่มพูโลใหม่ให้ทางการไทยดำเนินคดีในช่วงปี 2541 ว่า เป็นทางออกของมาเลเซียหลังจากถูกไทยกดดัน แต่ขณะเดียวกัน ผู้ที่ถูกส่งตัวให้ทางการไทยเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาในมาเลเซีย ซึ่งนโยบายมาเลเซียจะไม่เลี้ยง "คนดื้อ' ที่ไม่สามารถควบคุมได้เอาไว้


 


"แต่หลังจากส่งตัวแกนนำกลุ่มพูโลให้ทางการไทยแล้ว มาเลเซียก็ถูกโลกมุสลิมตำหนิอย่างหนัก ถึงการส่งพี่น้องมุสลิมด้วยกันให้ไทยดำเนินคดี เชื้อพระวงศ์อาหรับพระองค์หนึ่งเคยบอกกับอดีตนายกมหาธีร์ โมฮำมัด ของมาเลเซียว่า ถ้าเลี้ยงคนปัตตานีไม่ได้ก็ให้ส่งมาให้พระองค์ จะทรงเลี้ยงเอง เพราะปัตตานีและขบวนการต่อสู้ของปัตตานีเป็นที่รู้จักดีในโลกมุสลิม หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามาเลเซียส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่ทางการไทยอีกเลย"


 


แต่หากขบวนการก่อความไม่สงบจะได้รับความช่วยเหลือจากโลกมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มอาหรับ อดีตแกนนำขบวนการในอดีตคนนี้ ก็ยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นไปได้


 


"ถ้ามีจริงผมก็น่าจะรู้บ้างในฐานะที่เคยมีสายสัมพันธ์กันมาก่อนยาวนาน ยิ่งการพูดถึงอัลกออิดะห์และเจไอ (กลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์) ก็แทบจะไม่น่าเป็นไปได้ เพราะลำพังการเอาตัวรอดก็แทบจะไม่มีที่อยู่กันอยู่แล้ว จะมาช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร บิน ลาเดน (หัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์) หนีหัวซุกหัวซุน ขณะที่เจไอก็แทบจะไม่มีฐานการสนับสนุนจากมวลชนทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซียเหลืออยู่เลย"


 


สำหรับมุสลิมมลายูปัตตานีซึ่งตั้งรกรากอยู่ในประเทศสวีเดน ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มพูโลที่ใช้เว็บไซต์และแถลงการณ์ผ่านสื่อในโลกตะวันตก ถือได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวเดียวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลไทยที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดหลังความรุนแรงระลอกใหม่ปะทุขึ้น แต่สำหรับนักต่อสู้อย่างเขากลับเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของกลุ่มพูโลซึ่งอยู่ในสวีเดน เป็นเพียงความพยายามฉกฉวยโอกาสเพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจขึ้นมาเท่านั้น


 


"พวกที่อยู่ในสวีเดนก็แทบเอาตัวไม่รอด พวกนี้พึ่งการช่วยเหลือในรูปรัฐสวัสดิการของสวีเดน ทางการไทยเคยขอให้ทางการสวีเดนจัดการกับพวกนี้ สวีเดนบอกพวกนี้ไม่มีอะไร แค่เอาตัวรอดได้ก็ลำบากแล้ว อยู่อย่างพึ่งรัฐสวัสดิการเท่านั้น"


 


เขาเล่าเท้าความไปยังอดีต ถึงที่มาที่ไปของขบวนการมลายูมุสลิมในสวีเดนให้ฟังว่า


 


"สมัยก่อนพวกนี้เป็นนักศึกษาที่ไปเรียนอาหรับ ซัมเมอร์ก็ไปรับจ้างทำสวนในสวีเดน นานๆ ไปก็ตั้งรกราก แล้วมีคนปัตตานีไปอยู่มากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้ก็น่าจะมีสักพันกว่าคน แต่ก็ไม่ได้มีความเป็นอยู่มีฐานะที่ดีพอที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการก่อเหตุที่เกิดขึ้นในขณะนี้"


 


"ฉะนั้นพวกนี้ ทั้งที่อยู่ในมาเลเซียและสวีเดน รวมทั้งการสนับสนุนของตะวันออกกลางและโลกมุสลิมอื่นๆ ผมคิดว่าแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ แทบจะไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่มันก่อเหตุอยู่ในเวลานี้ได้เลย"


 


ในสายตาของอดีตแกนนำขบวนการต่อสู้เพื่อปัตตานี เขาไม่เห็นถึงศักยภาพของคนหรือขบวนการในอดีต แต่ที่เขาจับตามองมาตลอดก็คือกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหารายหนึ่งที่ถูกทางการไทยออกหมายจับ ซึ่งขณะนี้ผู้ต้องหาคนดังกล่าวได้หลบหนีจาก จ.นราธิวาส ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย


 


"คนๆ นี้เกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน แต่ผมยังไม่รู้แน่ชัดว่าเขาอยู่ในระดับไหน แต่คิดว่าเป็นคนที่มีศักยภาพคนหนึ่ง เพราะลูกชายของเขาที่ศึกษาอยู่ในอินโดนีเซียก็เป็นถึงประธานเปอร์มิตตี แกนนำกลุ่มเยาวชนนักศึกษาที่ไปเรียนที่อินโดนีเซีย"


 


การเจรจาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง


สถานการณ์ความไม่สงบที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จนไม่อาจคาดเดาได้ถึงจุดยุติ การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการก่อความไม่สงบผุดขึ้นมาให้ได้ยินกันเป็นระยะ ล่าสุดช่วงปลายปี 2549 ดาโต๊ะ มหาธีร์ โมฮำมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เป็นตัวกลางประสานให้มีการพบปะกันระหว่างตัวแทนของทางการไทยกับอดีตผู้นำขบวนการในอดีตซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย แต่สำหรับเขา การพบปะกันครั้งนั้น แม้จะมีโรดแมพเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพ แต่มิใช่การเจรจาตกลงร่วมกัน และด้วยวิธีการเช่นนี้ เขาคิดว่าสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นจริง


 


"มหาธีร์แค่เรียกไปพูดคุย บอกว่าให้พวกเราฟังเขา การต่อสู้ของพวกเราจะชนะได้อย่างไร หากเราไม่มีพื้นฐานที่ดี เยาวชนเรายังมีการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ เศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่เรายังไม่ดีเลย มหาธีร์บอกว่าต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยต่อสู้ มีเพียงการทำเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้การต่อสู้ได้รับชัยชนะ แล้วก็เอาเอกสารซึ่งอ้างว่าเป็นข้อเสนอที่ทางการไทยร่างขึ้นมาเพื่อจะทำสิ่งต่างๆ ทั้งการให้ความยุติธรรม การพัฒนา แล้วให้พวกเราลงชื่อ พวกเราก็เซ็น แค่นั้น แต่ไม่ใช่ว่ามีการพูดคุยอะไรกับทางรัฐบาลไทย"


 


เขาบอกว่าตลอดระยะเวลาหลังเหตุการณ์ในปี 2547 มีตัวแทนรัฐบาลไทยมาหาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไร


 


"เขาฟังความเห็นเรา เราเสนอให้มีการพบปะพูดคุยกับทุกคนทุกกลุ่ม คุยกับผู้นำรุ่นเก่าอย่างพวกผมก่อน แล้วค่อยไปเจรจากับรุ่นใหม่ การเจรจาจะได้ผลควรเริ่มจากการพบปะพูดคุยกับคนรุ่นเก่าก่อน คุยกับ "ยูแว' ที่เคยต่อสู้มาก่อน ถึงแม้พวกเราจะไม่สามารถสั่งการโดยตรงกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้อยู่ แต่คนรุ่นเก่าจะรู้ว่าคนพวกนี้เป็นใคร (พวกเรา) มีพรรคพวกมีเครือข่ายสายสัมพันธ์มากในพื้นที่ มีลูกศิษย์ลูกหา มีคนที่นิยมนับถืออยู่มาก และเมื่อคนรุ่นเก่าบอกว่าไม่เอากับพวกนี้ คนก็จะเชื่อและหันมาปฏิเสธกลุ่มใหม่"


 


"แต่การคุยกับคนรุ่นเก่าไม่ควรคุยพร้อมๆ กัน ควรจะแยกพูดเป็นรายบุคคลก่อน หลังจากนั้นค่อยคุยกันทั้งกลุ่ม เพราะถ้าคุยพร้อมๆ กันทีเดียวหลายคนมันจะไม่ได้อะไร แต่ก็ยังไม่เห็นว่าทางการไทยจะทำอะไร ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาอะไรที่เป็นทางการ หรือให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เป็นเรื่องการมาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นกันเท่านั้น"


 


เขายังย้ำเช่นเดิมว่า ตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตก็คือ "ความรู้สึก' ซึ่งประชาชนมลายูปัตตานีได้รับการปลูกฝัง ถ่ายทอดต่อๆ กันมาหลายรุ่นว่าไม่รู้สึกได้รับความเป็นธรรมในสังคมไทย และไม่ว่ารัฐจะเพียรพยายาม ผลักดัน หรือทำนโยบายให้ดีเลิศเพียงใดก็ตามก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ หากไม่อาจขจัดปมแห่งความรู้สึกที่ติดลบนี้ให้ผ่อนคลายลงไป


 


คำตอบอยู่ที่รัฐไทย    


วงสนทนาในวันนั้นจบลงอย่างไม่มีพิธีรีตองอะไรนัก และแม้เราจะไม่ได้คำตอบแบบชัดๆ ว่าใครคือผู้บงการจุดไฟใต้ แต่ข้อเสนอจาก "อดีตผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน' ผู้นี้ ที่ให้รัฐไทยหันมา "เอาชนะทางความรู้สึก' กับชาวมลายูในสามจังหวัด ก็เป็นสิ่งที่จะต้องครุ่นคิดพิจารณากันให้จริงจังมากขึ้น


 


"คนที่ถูกเชื่อกันว่าเป็นแกนนำในการควบคุมขบวนการที่ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่มีพื้นฐานการศึกษาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งในประเทศเหล่านี้ไม่เคยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเลย ดังนั้น การพูดเรื่องประชาธิปไตยให้คนเหล่านี้ยอมรับจึงเป็นเรื่องยาก แต่รัฐควรแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ชาวมลายูในภาคใต้ได้มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับคนไทยส่วนอื่น อีกทั้งเพื่อแสดงความจริงใจ ผมเห็นว่าข้อเสนอหลายประเด็นของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เป็นสิ่งรัฐไทยควรจะทำเพื่อลดทอนความรู้สึกที่คนมลายูปัตตานีมองรัฐไทยในแง่ลบมาโดยตลอด"


 


นี่คือข้อแนะนำที่กลั่นมาจากประสบการณ์ต่อสู้ร่วม 4 ทศวรรษของเขา


 


คำพูดของนักปฏิวัติรุ่นเก่าสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงโจทย์สองประเด็นคือ การต่อสู้ระหว่างคนสองรุ่นในขบวนการที่เป็นเสมือนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในสงครามเพื่อตัวตนของชาวมลายูปัตตานี พวกเขาแม้จะมีเป้าหมายเหมือนกัน คือยืนยันอัตลักษณ์ของชุมชนและปิตุภูมิ แต่ก็ต้องมาต่อสู้กันเองในสงครามอัตลักษณ์นี้ด้วย


 


การต่อสู้กันเองนี้หมายความถึงการแย่งชิงภาพความเป็นตัวแทนอันชอบธรรมในสงครามเพื่อตัวตน ประชาชาติ และศาสนา นักต่อสู้รุ่นใหม่ไม่ต้องการบทบาทของ "ยูแว' นักรบรุ่นเก่า เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้เกิดภาพตัวแทนที่บิดเบือนภาพลักษณ์การต่อสู้ของตนและลดความชอบธรรมของตนในการกำหนดตีความทิศทางการต่อสู้ปฏิวัติ แต่ "อะไร' และ "ทำไม' พวกเขาจึงปฏิเสธและระมัดระวังคนรุ่นเก่ามากถึงขนาดนั้น ทำไมพวกเขาถึงกับข่มขู่คุกคามนักรบรุ่นเก่า ถึงขนาดขู่ไม่ให้ยุ่ง ไม่ให้แสดงบทบาท ไม่รับความช่วยเหลือหรือไม่รับแม้แต่คำแนะนำด้วยเจตนาดี


 


การกระทำของพวกเขาแบบนี้ทำให้นักรบรุ่นเก่าผู้นี้ถึงกับออกปากว่า "..... (เด็ก) พวกนี้ไม่มีมารยาท ไม่เคารพคนรุ่นเก่า ...."


 


ท่าทีเช่นนี้นำมาสู่โจทย์ที่สองก็คือ อะไรหรือใครคือเบื้องหลังการต่อสู้ที่รุนแรงแข็งกล้าผิดธรรมชาติของขบวนการรุ่นใหม่


 


".... พวกนี้ไม่น่ากลัว อยู่ได้ไม่นานหรอก เพราะทั้งเป็นเด็ก ไม่มีความรู้และประสบการณ์ ..... ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกแล้วจะอยู่ได้ไม่นาน" นักสู้ผู้สูงวัยกล่าวในตอนท้าย  


 


แน่นอนว่าบทสังเคราะห์ส่งท้ายว่าด้วย "ใครอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ร้าย' ย่อมเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหม่ที่น่าสนใจและรัฐไทยมิควรมองข้าม เพื่อหาวิธีการแก้ไขและจัดการความขัดแย้งได้อย่างถูกต้อง


 


หากยังต้องการให้สันติสุขในดินแดนด้ามขวานเกิดขึ้นจริง !


 


 


ที่มา : วารสารดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน ฉบับที่ 3 'สงครามความรู้สึก ปม-ลึก-ไฟใต้'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net