Skip to main content
sharethis

อานุภาพ นุ่นสง
สำนักข่าวประชาธรรม



สถานการณ์ชาวนาจากหลายพื้นที่ อาทิ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.กาฬสินธุ์ ชุมนุมประท้วงให้รัฐบาลประกันราคาข้าวเกวียนละ 8-9 พันบาท จนนำไปสู่การปิดถนนประท้วงของชาวนา จ.เชียงราย หลังจากรัฐบาลเมินข้อเสนอนั้น หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่าจากสถานการณ์ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึงตันละ 1 หมื่นกว่าบาท ที่จากเดิมมีราคาแค่ตันละ 5-6 พันบาทเท่านั้น เหตุใดกลุ่มชาวนาจากหลายพื้นที่ยังคงขายข้าวในราคาที่ถือว่าต่ำมากหากเปรียบเทียบกับราคาข้าวในตลาดโลกขณะนี้ …


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่เป็นผลให้ราคา "ข้าว" ที่พุ่งสูงขึ้นมากทั่วโลกในขณะนี้ มีสาเหตุจากหลายปัจจัย อย่างกรณี"สต๊อกข้าว" ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปีนี้ลดน้อยถอยลงเกือบ 50% เหลือแค่ 77.2 ล้านตัน จากปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2543-2544 ซึ่งมีถึง 147.1 ล้านตัน ขณะเดียวกันปัจจุบันผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกที่รองจากไทยอย่างอินเดียและเวียดนามระงับการส่งออก ขณะที่ประเทศที่มีข้าวเหลือพอส่งออกอีกเกือบ 40 ประเทศอย่างอียิปต์ บราซิล กัมพูชา ฯลฯ ก็ทำตามบ้าง เพราะกลัวข้าวไม่พอบริโภคในประเทศ


ดังนั้น หลายประเทศซึ่งต้องนำเข้าข้าวจำนวนมากในแต่ละปีก็เลยวิตกว่าจะมีข้าวไม่พอบริโภค พากันกว้านซื้อข้าวเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ ไปจนถึงสิงคโปร์และคอสตาริกา กรณีดังกล่าวเป็นผลให้กลุ่มพ่อค้าข้าวฉวยโอกาสกักตุนข้าว กองทุนระหว่างประเทศขนาดใหญ่ก็ร่วมปั่นราคาเพื่อเก็งกำไร


กรณีของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน !

ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับ
1 ของโลก ซึ่งแต่ละปี สามารถผลิตข้าวสารได้ถึง 18-20 ล้านตัน โดยประมาณ 9 ล้านตันใช้บริโภคภายในประเทศ ที่เหลือใช้ส่งออก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประมาณการณ์ว่าในปีนี้ไทยจะผลิตข้าวเปลือกได้มากกว่าเดิมเล็กน้อย คือ 30.5 ล้านตัน จาก 30.2 ล้านตันในปี 2550 ขณะที่ผลผลิตข้าวทั่วโลกในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 1.8%


อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจึงส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น แต่ถึงกระนั้นในภาคการผลิตคือชาวนาในระดับพื้นที่ต่างๆ กลับได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นน้อยมาก หลายพื้นที่ยังคงขายข้าวในราคาที่ต่ำ หลายพื้นที่ยังประสบภาวะขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตทุกอย่างกลับเพิ่มสูงขึ้น


กรณีที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าชาวนามีศักยภาพเฉพาะในการผลิตข้าวเท่านั้น ส่วนกระบวนการกำหนดราคากลับอยู่ที่โรงสี พ่อค้าและผู้ส่งออกข้าวเท่านั้น ดังนั้นแม้ราคาข้าวจะพุ่งสูงขึ้น แต่ชะตากรรมชาวนายังคงถูกโรงสีและผู้ส่งออกกดราคาไว้อยู่ดี ดังนั้นกรณีนี้จึงเป็นที่มาของการชุมนุมประท้วง และเรียกร้องให้มีการประกันราคาข้าวของชาวนาในหลายพื้นที่


นายอำพล เวียงสิมา แกนนำชาวนา จ.เชียงราย ที่ทำการชุมนุมปิดถนนพหลโยธินสายเชียงราย-พะเยา เพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคาข้าว กล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเป็นปัญหาคาราคาซังมานาน ที่ผ่านมาชาวนาเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา เพราะปัจจุบันสินค้าต่างๆ มีราคาสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนการผลิต ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงก็แพงขึ้น แต่ข้าวเปลือกกลับมีราคาขายเท่าเดิม


และผลจากการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ..ที่ผ่านมา นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน รับปากกับชาวนาว่า รัฐบาลจะซื้อข้าวเปลือกเหนียวนาปรัง ตันละ 8,000 บาท ไม่จำกัดความชื้น แต่การขายจริงกลับไม่ได้ราคาตามนั้น เพราะโรงสีข้าวหยุดรับซื้อตั้งแต่วันที่ 19 ..หลังรับซื้อได้ราวหมื่นตันในราคา 6,600-7,000 บาท แต่ขณะนี้ราคารับซื้อถูกกดต่ำเหลือ 6,150 บาท และลดลงเรื่อยๆ จนวันนี้บางแห่งรับซื้อแค่ 5,500 บาทต่อตันเท่านั้น ทำให้กลุ่มชาวนาไม่พอใจ จึงกดดันให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาด้วยการปิดถนนเพราะไม่มีทางเลือก


ขณะที่นายบุญเสริม ในวังเย็น ตัวแทนชาวนา อ.พาน จ.เชียงราย ที่กล่าวว่า เราไม่สามารถทนรับกับภาวะที่ขายข้าวราคาต่ำได้ ดูจากการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ หรือการขายปลีกในประเทศที่มีราคาสูง แต่ว่าทางต้นทางนั้นกลับขายได้ในราคาต่ำ ข้าวสารที่ขายนั้นราคา 10-20 บาท แต่ราคาข้าวเปลือกที่รับซื้อราคานั้นแสนถูก 5-6 บาทก็มี ซึ่งมันมีช่วงที่แตกต่างระหว่างราคาสองอย่างนี้มากมาย ต้นทุนที่เราแบกรับก็สูงมากปุ๋ยก็แพง ยาก็แพงอีก ต้นทุนของเรานั้นไร่ 1 ก็ตกประมาณ 4,000-5,000 บาท เวลาไปขายก็ได้น้อยลงไปอีก ทางภาคเหนือของเราผลผลิตที่ได้มันน้อยกว่าที่อื่น 1 ไร่ จะได้ผลผลิตเพียง 700-800 กิโลกรัมเท่านั้น


เช่นเดียวกับนายจำรัส ลุมมา ประธานกลุ่มเกษตรหนองแฝกพัฒนา และกลุ่มชาวนาผู้ปลูกข้าวแม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้เริ่มถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาบางรายได้เกี่ยวข้าวกันไปบ้าง และแม้ว่าราคาข้าวในท้องตลาดจะสูง แต่ชาวนาขายข้าวได้ราคาต่ำ ทางโรงสีข้าวมีการกดราคาข้าว เพราะจะมีการฮั้วกันตั้งแต่พ่อค้าที่ส่งข้าวไปให้โรงสี หากชาวนาเอาไปขายก็จะได้ราคาถูกกว่าที่พ่อค้าเอาไปขายให้ โรงสีกำหนดเลยว่าเขาไปซื้อที่ท้องนาในราคา 5.80 บาทต่อกิโลกรัม หากชาวนาเอาไปขายเองก็ได้ราคาเท่ากัน โรงสีกดราคาอยู่เรื่อยๆ อย่างเมื่อไม่กี่วันมานี้เขาให้ราคาเพียงแค่ 5.40 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ราคาที่เขาให้ลดลงทุกๆ วัน วันละ 20 สตางค์ หากเห็นว่าท้องฟ้ามันมืด ฝนจะตกราคาข้าวก็จะลดลงเรื่อยๆ เพราะว่าข้าวจะชื้น เขาไม่มีราคาขั้นต่ำที่กำหนดเอาไว้


นายจำรัส กล่าวต่อว่า ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ สวนทางกับราคาข้าวในตลาดโลกนั้น ชาวนา จ.เชียงใหม่จึงมีข้อเสนอคือ 1.ให้ประกันราคาข้าวเปลือกในราคากิโลกรัมละ 9 บาท 2.ขอให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลผลผลิตที่ได้เพื่อป้องกันการอ้างว่าข้าวมีความชื้นสูง และควบคุมเครื่องชั่งให้ได้มาตรฐาน 3.ขอให้ทางจังหวัดช่วยควบคุมราคาปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง และหาปุ๋ยราคาถูกเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับเกษตรกร และสุดท้ายขอให้ทาง ธกส.ช่วยเหลือในกรณีที่เกษตรกรมีความเดือดร้อนเรื่องหนี้สิน ให้ขยายเวลาในการชำระหนี้ โดยที่ไม่มีดอกเบี้ยเพิ่ม


ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ มิได้จำกัดพื้นที่เฉพาะภาคเหนือเท่านั้น เพราะแถบภาคอีสานก็ดูเหมือนว่ากำลังเผชิญปัญหาคล้ายๆ กัน โดยนายสำรอง โพธิ์ซก ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยคนอีสาน แกนนำชาวนา จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สั่งการให้กรมการค้าภายในดำเนินการแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยให้ ธกส.ดำเนินการรับซื้อข้าวจากชาวนาผ่านโรงสีด้วยราคาประกันตันละ 7 พันบาท โดยไม่หักค่าความชื้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวกับชาวนาเพียงวันเดียวเท่านั้น โดยรับซื้อวันที่มีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดและสื่อมวลชนเข้าไปร่วมตรวจสอบ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจจากการค้าภายในจังหวัดที่จะแก้ปัญหา ยังคงปล่อยให้โรงสีกดราคารับซื้อต่อไป
       
นายสำรอง กล่าวต่อว่า เป็นที่รู้กันในกลุ่มชาวนาว่า จ.กาฬสินธุ์ ผลผลิตข้าวเหนียวตลอดทั้งปีมีกว่าแสนตัน จะถูกส่งเข้าไปยังโรงสีใหญ่ในเขต อ.กมลาไสย เพราะเป็นโรงสีแห่งเดียวที่มีศักยภาพในการอบข้าวให้มีคุณภาพ แต่จากกรณีที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกับการทำงานเอาหน้า หวังให้มีการนำเสนอข่าวให้กับกลุ่มโรงสี แต่ในข้อเท็จจริงชาวนายังคงถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมต่อไป ในทางกลับกัน โรงสีใหญ่ด้วยกันรวมถึงตลาดกลางข้าว อ.ยางตลาด ก็จะทำให้หน้าที่เพียงไซโล ซึ่งเป็นยุ้งฉางขนาดใหญ่ที่จะรอรับผลผลิตจากชาวนา กระบวนการรับซื้อจึงขึ้นอยู่กับโรงสีใหญ่ที่จะกำหนดราคา ซึ่งเกรงว่าเมื่อถึงฤดูกาลผลิตข้าวนาปีฤดูกาลต่อไปชาวนา จ.กาฬสินธุ์ จะได้รับผลกระทบเช่นเดิม


"เราต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเข้ามาตรวจสอบคุณภาพการทำงานของโรงสี หากพบว่าโรงสีแห่งใดเป็นเพียงโรงเก็บข้าวเปลือก ให้ยุติการทำการค้า อีกทั้งต้องการให้ตรวจสอบการจ่ายภาษีของโรงสีที่ดำเนินกิจการ เพราะเชื่อว่าการรายงานปริมาณข้าวต่อรัฐบาล เพื่อเก็งกำไรในการส่งออกจะเป็นข้อมูลที่บิดเบือนความเป็นจริง นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ต้องสั่งการให้โรงสีทั่วประเทศสามารถเดินสายเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกกันได้อย่างเสรีเพื่อป้องกันปัญหาผูกขาด และลดอำนาจการต่อรองในด้านราคาจากพ่อค้าข้าวที่เอาเปรียบชาวนาด้วย" นายสำรอง กล่าว


ด้านนางกัญญา อ่อนศรี ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาชีพทางเลือก บ้านทัพไทย จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นเกษตรกรปลูกข้าวนาปีแบบเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก แต่เกษตรกรที่ทำนาปีไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้น เพราะเกษตรกรได้ขายข้าวไปหมดตั้งแต่เดือน ธ.. 2550 - .. 2551 โดยราคาข้าวเปลือกขายหน้าโรงสีที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ ข้าวราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ แต่เกษตรกรก็ไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับสูงขึ้นแม้แต่บาทเดียว มีแต่กลุ่มพ่อค้า นายทุน ผู้ส่งออก และโรงสีเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์


"ปีนี้ชาวนา จ.สุรินทร์ เจ็บหนักที่สุด เพราะขายข้าวเปลือกในราคาถูก คือ กิโลกรัมละ 7-8 บาท และเทขายหมดไม่เหลือไว้กิน จึงต้องซื้อข้าวสารกินในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ถามว่ามันคุ้มกันไหม มันเท่ากับเราเสียประโยชน์เต็มๆ แถมเทียบไม่ได้กับราคาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้นที่พูดกันว่าปีนี้ชาวนารวยขายข้าวได้ราคาก็ไม่จริง เพราะชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จปลายเดือน พ..ก็รีบขายข้าวทันที ไม่ได้กักเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรหรือรอให้ราคาข้าวสูงขึ้น พวกเราก็อยากขายข้าวให้ได้ราคาเหมือนกัน แต่เราทำไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าราคาข้าวจะพุ่งขึ้นสูงเมื่อไร เพราะไม่มีใครมาบอก ชาวนาไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลควรจะบอกข่าวหรือแจ้งให้ประชาชนรู้บ้างก็ดี พวกเราจะได้ตามทัน และวิธีที่ถูกต้องควรจะประกันราคาข้าวให้สูงขึ้นด้วย" นางกัญญา กล่าว


กรณีที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก และยิ่งในยุคที่ข้าวแพงเช่นนี้แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าชาวนาซึ่งเป็นผู้ทำการผลิตจะสามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะอำนาจในการกำหนดกลไกราคาทั้งหมดถูกผูกขาดอยู่ที่กลุ่มพ่อค้าข้าว ผู้ส่งออกฝ่ายเดียว ดังนั้นการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาในหลายจังหวัดยิ่งตอกย้ำวาทกรรมที่บอกว่า ใน พ..นี้แท้จริงแล้ว "ชาวนา" ยังเป็นกระดูกสันหลังของชาติอยู่ฤา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net