Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.เวลา 14.30 องค์การหมอไร้พรมแดน (MFS) จัดแถลงข่าว "หนึ่งเดือนหลังภัยพิบัติพายุไซโคลนนากีส: ภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุด" ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียา โดยมีแฟรงค์ สมิธธวิส ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดนสำนักงานประเทศพม่า แคซ เดอ จง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต องค์การหมอไร้พรมแดน และ มิเชล เพียร์แมนส์ องค์การหมอไร้พรมแดนสากล เป็นผู้ให้ข้อมูล


 


ทั้งนี้ องค์การหมอไร้พรมแดนเป็นหนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศเพียงไม่กี่รายที่มีโอกาสเข้าไปให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนากีสในประเทศพม่าทันทีหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยทีมแพทย์ พยาบาล และฝ่ายลอจิสติกส์ขององค์การฯ ที่อยู่ในพื้นที่กว่า 250 คน ได้เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่ถูกพายุพัดทะหล่มเสียหายอย่างหนักทั้งในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี เขตเมืองโบกาเล ลาปุตตา งาปุตตา และเปียปอน


 


แฟรงค์ สมิธธวิส ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดนสำนักงานประเทศพม่า กล่าวถึงการช่วยเหลือว่า ทีมเจ้าหน้าที่เดินทางโดยเรือและรถบรรทุกเพื่อนำอาหาร น้ำ อุปกรณ์จัดการด้านสุขาภิบาล และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ตลอดจนนำทีมแพทย์กว่า 43 หน่วย เข้าไปให้การรักษาพยาบาลในพื้นที่ประสบภัย ซึ่งจากระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาได้ทำการตรวจรักษาไปแล้วกว่า 3-4 หมื่นครั้ง และช่วยเหลือได้คนกว่า 3 แสนคน ทั้งนี้รายงานความคือหน้าล่าสุดยังไม่พบโรคระบาดในพื้นที่ประสบภัย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่


 


ระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาการช่วยเหลือยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร โดยในหลายพื้นที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจัง และการช่วยเหลือฉุกเฉินในบางพื้นที่ก็ยังเข้าไปไม่ถึง อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการฟื้นฝูในระยะยาวที่ยังรออยู่อีกมาก


 


"เราได้รับการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่นมาก" แฟรงค์กล่าวถึงการลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือซึ่งพบว่าชุมชนและคนพม่าเองได้สนับสนุนการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดส่งข้าว อาหาร และสิ่งจำเป็นต่างๆ รวมทั้งเงินบริจาค


 


อย่างไรก็ตาม แฟรงค์ แสดงความคาดหวังว่าผู้ให้บริจาครายใหญ่จากนานาประเทศจะเลิกอิดออดที่จะไม่ให้เงินในการช่วยเหลือประเทศพม่า เพราะขณะนี้คนพม่ามีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ไม่ต่างจากผู้ประสบภัยในเหตุการณ์สึนามิ และเหยื่อเหล่านี้ควรได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนเช่นเดียวกัน ส่วนการตั้งคำถามถึงเงินบริจาคที่ผ่านทางรัฐบาลทหารพม่าซึ่งอาจถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ และไปไม่ถึงผู้ได้รับความเดือนร้อน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริจาคต้องเข้ามาตรวจสอบ


 


ส่วนมิเชล เพียร์แมนส์ องค์การหมอไร้พรมแดนสากล กล่าวในกรณีที่มีข่าวทหารพม่าได้ขับไล่ผู้ประสบภัยออกจากที่พักพิงชั่วคราวว่า ไม่สามารถจะบอกได้ว่าคนทั้งหมดถูกไล่กลับ เพราะคนส่วนหนึ่งอาจต้องการกลับบ้าน แต่ภาพที่เห็นจากการลงพื้นที่ความช่วยเหลือยังคงไม่เพียงพอ ดังนั้น แม้ปัจจุบันจะมีการดำเนินการฟื้นฟูแต่การช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับบางพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไปก็ยังคงต้องมีอยู่


 


ด้านแคซ เดอ จง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต องค์การหมอไร้พรมแดน ซึ่งได้เข้าไปทำหน้าที่ฟื้นฟูจิดใจให้แก่ผู้ประสบภัยกล่าวว่า ความสูญเสียที่ผู้รอดชีวิตได้รับส่งผลกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง หลายคนยังคงมีความโศกเศร้า หวาดกลัว และวิตกกังวลในการใช้ชีวิต แต่สภาพทั่วไปในพื้นที่นักจิตวิทยาที่จะเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือในด้านปัญหาสุขภาพจิตยังน้อยมาก


 


"ในพื้นที่ประสบภัยควรมีการฟื้นฟูไม่ใช่เฉพาะบ้านเรือน แต่รวมถึงสภาพจิตใจของผู้คนด้วย" แคซกล่าว


 


แคซ กล่าวถึงการทำงานว่า สำหรับทีมขององค์การหมอไร้พรมแดนที่เข้าไปช่วยเหลือก็ได้พยายามจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพจิตใจ และในขณะนี้ได้ทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาที่เป็นชาวชาวพม่าเพื่อให้ใช้ภาษาถิ่นในการเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบภัยให้ฝ่าความเจ็บปวดทางใจไปให้ได้


 


"ผมประทับใจ ที่คนที่นี่พยายามต่อสู้กับความยากลำบากในการที่จะมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้" แคซ เดอ จง กล่าวถึงความพยายามที่จะฟื้นฟูตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันของผู้ประสบภัย เพื่อที่จะให้ได้กลับไปดำเนินวิถีชีวิตได้ดังเดิม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net