Skip to main content
sharethis

สมคิด พุทธศรี


           


นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์ 'FTA Mania' แพร่ระบาดไปทั่วสังคมเศรษฐกิจโลก มาเลเซียในฐานะสมาชิกชุมชนเศรษฐกิจโลกก็มิอาจหลีกเลี่ยงปรากกฎการณ์นี้ได้เช่นกัน ด้วยการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไปแล้วทั้งสิ้น 6 ข้อตกลง และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกทั้งสิ้น 11 ข้อตกลง


'FTA Mania' ของมาเลเซียเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง เพราะในช่วงต้นทศวรรษ 2540 มาเลเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ดำเนินนโยบายการค้าที่ขัดกับปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม และมีท่าทีที่ระแวดระวังต่อการการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกภูมิภาค มิไยต้องกล่าวถึงว่า เป็นเพื่อนบ้านที่ออกมาวิจารณ์สิงคโปร์อย่างรุนแรง เมื่อครั้งที่สิงคโปร์เริ่มออกวิ่งบนถนนของข้อตกลงการค้าเสรี 

อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตเพื่อส่งออก (Export-led Growth) ภายใต้ New Economic Policy (NEP) ในปี 2513 นับเป็นการ "ปูพื้น" ให้กับถนนข้อตกลงการค้าเสรีของมาเลเซีย  NEP ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างมีนัยสำคัญ โดยการค้าระหว่างประเทศวีความสำคัญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2513 อัตราการเปิดประเทศ (Degree of Openness) คิดเป็นเพียงร้อยละ 86.9 ของ GDP ในขณะที่ปี 2548 อัตราการเปิดประเทศอยู่ที่ระดับร้อยละ 223.2 ของ GDP อัตราการเปิดประเทศที่กว้างขวางส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียมิอาจตัดขาดจากระบบเศรษฐกิจโลกได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดทั่วโลก

ที่ผ่านมานั้นมาเลเซียดำเนินนโยบายการเปิดตลาดของตนเองโดยสมัครใจ (Unilateral Liberalization) โดยการลดภาษีศุลกากรของตนเองลง ทั้งนี้มาเลเซียถือเป็นประเทศที่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากที่สุดโดยเปรียบเทียบหากใช้มาตรฐานของประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังมีบทบาทไม่น้อยในการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีบนเวที WTO อาทิ การเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ผลักดันประเด็นการเข้าถึงตลาดสินค้าหัตถอุตสาหกรรม การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มแคร็นส์ (Cairns Group) เพื่อสนับสนุนให้มีการค้าสินค้าเกษตรกรเพิ่มมากยิ่งขึ้นในตลาดโลก รวมไปถึงการบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อรองรับความตกลงทริปส์ (TRIPs) เป็นต้น

ในส่วนของการทำข้อตกลงการค้าเสรีนั้น ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นข้อตกลงหลักเพียงข้อตกลงเดียวที่มาเลเซียสนับสนุนในตอนแรก โดยมุ่งหวังว่า ด้านหนึ่ง AFTA จะช่วยกระชับความสัมพันธ์โดยพฤตินัยระหว่างภาคีอาเซียน ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง จะสามารถช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีการค้าระดับโลกได้

กระบวนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงหลังวิกฤติการณ์การเงิน 2540 เมื่อมาเลเซียดำเนินนโยบายการค้าแบบกึ่งปกป้องตนเอง (Semi protectionism) พร้อมๆกับการถอนตัวอย่างไม่เป็นทางการจากข้อเรียกร้องที่ตนเคยเรียกร้องในการเจรจารอบอุรุกวัย ในขณะเดียวกันวิกฤติการณ์ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกระบวนการเปิดเสรีภายในภูมิภาค เมื่อแต่ละภาคีหันไปดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภายในตามความเชื่อพื้นฐานของตนซึ่งขัดแย้งกันเองส่งผลให้ช่องว่างระหว่างปัจจัยเชิงสถาบันกับนโยบายการค้าของภาคีอาเซียนถูกขยายใหญ่ขึ้นอีก ภายใต้บริบทเช่นนี้กระบวนการเปิดเสรีภายใต้ AFTA คงมิอาจเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างน้อยก็ในอนาคต
อันใกล้ 

อย่างไรก็ตาม การถอยห่างออกจากปรัชญาการค้าแบบเสรีครั้งนี้ มาเลเซียต้องเผชิญกับภาวะ "ข้อกังขาทางนโยบาย" (Policy dilemma) เมื่อคู่แข่งสำคัญในอุษาคเนย์อย่างไทยดำเนินนโยบายการค้าแบบ Darwinism ไล่กวดสิงคโปร์ในการทำข้อตกลงการค้าเสรี ในขณะที่การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็กำลังบั่นทอนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของตน

ในขณะเดียวกันการจัดระเบียบการค้าโลกโดย WTO ก็ดูจะฝากความหวังไว้ไม่ได้ เมื่อผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างมวลหมู่สมาชิกองค์การการค้าโลกและการต่อต้านขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลกเป็นปัญหาที่มิอาจแก้ได้ในเร็ววัน

ที่สุดแล้วนักผลิตนโยบายของมาเลเซียก็เริ่มมีความเห็นว่า ในการธำรงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ มาเลเซียจักต้องถือการทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นยุทธวิธีหลักในการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศ มาเลเซียเริ่มเข้าสู่กระบวนการวิ่งไล่กวดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในปี 2546 โดยเริ่มต้นเจรจากับประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก

ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น การปรับเปลี่ยนมาใช้การทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นยุทธวิธีหลักในการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ก็สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของมาเลเซียเป็นอย่างดีด้วย

ในเบื้องแรกนั้นมาเลเซียเริ่มต้นด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่สุดแล้วสภาพสังคมเศรษฐกิจโลกก็ทำให้ 'FTA Mania' แพร่ระบาดสู่สังคมเศรษฐกิจมาเลเซียในที่สุด


"หากต่อต้านไม่ได้ ก็จงเข้าร่วม" ยังคงเป็นอมตะพจน์ที่ใช้ได้ดีในปัจจุบัน


ข้อตกลงการค้าเสรีของมาเลเซียที่มีการลงนามแล้ว (ปีที่ลงนาม)


ASEAN Free Trade Agreement - AFTA (2535)


ASEAN - CHINA Free Trade Agreement -ACFTA (2545)      * ลงนามในส่วน Framework Agreement


Malaysia-United States Trade and Investment Framework Agreement - TIFA (2547)


ASEAN - KOREA Free Trade Agreement -AKFTA (2548)     * ลงนามในส่วน Framework Agreement


Japan - Malaysia Economic Partnership Agreement - JMEPA (2548)


Malaysia - Pakistan (2548)                                              * ลงนามในส่วน Early Harvest Program


ข้อตกลงการค้าเสรีของมาเลเซียที่อยู่ระหว่างเจรจา (ปีที่เริ่มเจรจา)


ASEAN - India - AIFTA (2546)


Malaysia - Korea Free Trade Agreement (2547)


Malaysia - News Zealand Free Trade Agreement (2547)


ASEAN - New Zealand and Australia - AANZFTA (2547)


ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership - AJCEP (2548)


Chile - Malaysia Free Trade Agreement (2549)


US - Malaysia Free Trade Agreement (2549)


Malaysia - Australia Free Trade Agreement (2549)


Preferential Tariff Arrangement - Group of Eight Developing Countries - PTA-D-8 (2549)


Trade Preferential System-Organization of Islamic Conference - TPS-OIC (2549)


India - Malaysia Comprehensive Economic Cooperation Agreement -CECA (ยังไม่ประกาศเจรจาอย่างเป็นทางการ)


           


 


 






 


เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย


โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)


ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net