เกย์-กะเทย แนะปรับปรุงคำถามคัดคนบริจาคเลือด ระบุเสี่ยง HIVไม่เกี่ยวกับเพศ แต่เกี่ยวกับการใช้ถุงยาง

เนื่องในวันผู้บริจาคโลหิตโลก 2551 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มิ.ย. 51 เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ (THQN) ร่วมกับคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (TNCA) และคณะที่ปรึกษาชุมชนชายที่มีความหลากหลายทางเพศ (M-CAB) ได้ยื่นหนังสือต่อศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ สนับสนุนการคัดกรองเลือดสะอาด โดยปราศจากอคติทางเพศต่อเกย์และกะเทย ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

 

โดยหนังสือระบุว่า จากกรณีที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ไม่ยอมรับกลุ่มชายรักชาย (เกย์) และผู้หญิงข้ามเพศ (กะเทย, สาวประเภทสอง) ในการเป็นผู้บริจาคโลหิต ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากเป็นการตีตราบาปให้กับกลุ่มชายรักชายและผู้หญิงข้ามเพศแล้ว ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ที่มีการประชาสัมพันธ์ว่า "การนำโลหิตไปช่วยชีวิตผู้ป่วยนั้น โลหิตทุกยูนิตต้องผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรองเชื้อต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการมาเรียบร้อยแล้ว"

 

ทั้งนี้ การหารือในเวทีต่างๆ พบว่า คำถาม 2 ข้อ ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติใช้เพื่อคัดกรองผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ คือ ท่านหรือคู่ของท่านมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศกับผู้อื่นหรือไม่ และ ท่านหรือคู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ นั้นแสดงให้เห็นทัศนะเก่าๆ ที่เชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ประจำไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และเป็นโรคเฉพาะกลุ่มชายรักชายและผู้หญิงข้ามเพศเท่านั้น เพราะการติดเชื้อ HIV รายใหม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เราเป็นประชากรกลุ่มใด แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงคือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยไม่ว่าจะกับใครก็ตาม

 

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ (THQN) ร่วมกับคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (TNCA) และคณะที่ปรึกษาชุมชนชายที่มีความหลากหลายทางเพศ (M-CAB) จึงเรียกร้องให้ปรับปรุงคำถามใหม่ เพื่อแสดงความจริงใจในการคัดกรองเลือด ให้ถูกต้องและตอบโจทย์การมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศก่อนมาบริจาคเลือด 11 วัน แสดงความรับผิดชอบในการไม่ผลักไสไล่ส่งใคร ให้ไปเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV เพราะความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ประจำ ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV แสดงความเป็นกาชาด โดยยึดหลักการกาชาดสากล ในความไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฎิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่าง และแสดงความใจกว้างและเป็นมืออาชีพ โดยพร้อมจะเรียนรู้ต่อปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในสังคม

 

 

 

 

 

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ (ThQN) ร่วมกับ

คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (TNCA)

คณะที่ปรึกษาชุมชนชายที่มีความหลากหลายทางเพศ (M-CAB)

159  อาคารเดอะบีช เรซิเด้นท์ ชั้น8  ซ.โชคชัยร่วมมิตร (ถ.รัชดาภิเษก 19) 

ถ.วิภาวดีรังสิต  ดินแดง  กทม.  10320

 

จดหมายเปิดผนึกถึง

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

"สนับสนุนการคัดกรองเลือดสะอาด โดยปราศจากอคติทางเพศต่อเกย์และกะเทย"

จากกรณีที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ไม่ยอมรับกลุ่มชายรักชาย (เกย์) และผู้หญิงข้ามเพศ (กะเทย, สาวประเภทสอง) ในการเป็นผู้บริจาคโลหิต ซึ่งปรากฎข่าวตามหน้าหนังสือพิมม์ และสื่อชนิดต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากจะเป็นการตีตราบาปให้กับกลุ่มชายรักชายและผู้หญิงข้ามเพศแล้ว ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ที่มีการประชาสัมพันธ์ว่า "การนำโลหิตไปช่วยชีวิตผู้ป่วยนั้น โลหิตทุกยูนิตต้องผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรองเชื้อต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการมาเรียบร้อยแล้ว"

 

            เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คนทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในแวดวงด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการรับบริจาคและใช้โลหิตที่ได้จากการบริจาค, ด้านการรณรงค์ในประเด็น HIV/AIDS และ ด้านสิทธิมนุษยชน ได้มีการประชุมกันในหลายๆ เวที ซึ่งผลที่ได้คือทำให้สามารถเข้าใจและเห็นร่วมกันได้อย่างชัดเจนในประเด็นมากขึ้น เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่เคยระบุในข้อพึงปฎิบัติให้กีดกันการรับบริจาคเลือดจากชายรักชายและผู้หญิงข้ามเพศ เป็นต้น

 

            การหารือในเวทีต่างๆ ทำให้เห็นปัญหาที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเป็นกังวลและแบกรับไว้ คือ การสรรหาเลือดสะอาดให้กับผู้ป่วยโดยใช้วิธีการตรวจคัดกรองเชื้อต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการทุกยูนิต แต่ ด้วยวิทยาการที่มีอยู่บนโลกนี้ การตรวจหาว่าเลือดมีการติดเชื้อ HIV นั้น ทำได้หลังจากมีการรับเชื้อไปแล้ว 11 วัน ดังนั้น ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจึงต้องคัดกรองผู้ที่มาบริจาคโลหิตว่า จะต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการจะไปรับเชื้อ HIV มาภายใน 11 วันก่อนการมาบริจาคเลือด โดยปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติใช้คำถามคัดกรองผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ 2 ข้อ คือ ท่านหรือคู่ของท่านมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศกับผู้อื่นหรือไม่ และ ท่านหรือคู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ (เน้นไปที่กลุ่มชายรักชายและผู้หญิงข้ามเพศ)

 

            คำถาม 2 ข้อดังกล่าว แสดงให้เห็นทัศนะเก่าๆ ที่เชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ประจำ (คู่แต่งงาน) ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และเป็นโรคเฉพาะกลุ่มชายรักชายและผู้หญิงข้ามเพศเท่านั้น แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติแล้วว่า การติดเชื้อ HIVไม่ใช่เป็นโรคเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และ สถานการณ์การติดเชื้อ HIVรายใหม่ในเมื่องไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในคู่ประจำ (คู่แต่งงาน) เพราะการติดเชื้อ HIV รายใหม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เราเป็นประชากรกลุ่มใด แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงคือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยไม่ว่าจะกับใครก็ตาม

           

            จากที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าคำถามทั้ง 2 ข้อนั้น ไม่ถูกต้อง ไม่ตอบโจทย์ และไม่เป็นประโยชน์ในการคัดกรองเลือดสะอาดให้กับผู้ป่วยแต่อย่างใด จึงควรปรับปรุงคำถามเพื่อคัดกรองผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อHIV จากการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 11 วันก่อนมาบริจาคเลือดเสียใหม่ เพื่อ

 

1.แสดงความจริงใจในการคัดกรองเลือด ให้ถูกต้องและตอบโจทย์การมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศก่อนมาบริจาคเลือด 11 วัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเลือดสะอาดในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยอย่างแท้จริง

 

2.แสดงความรับผิดชอบในการไม่ผลักไสไล่ส่งใคร ให้ไปเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV รายใหม่ เพราะปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ประจำ (คู่แต่งงาน) ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV

 

3.แสดงความเป็นกาชาด โดยยึดหลักการกาชาดสากล ในความไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฎิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่าง และ สันติภาพยั่งยืนระหว่างประชากรทั้งมวล

 

4.แสดงความใจกว้างและเป็นมืออาชีพ โดยพร้อมจะเรียนรู้ต่อปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในสังคม ด้วยการรับฟังอย่างจริงใจในการนำกลับไปพัฒนาระบบให้บริการ

 

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ (ThQN), คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (TNCA), คณะที่ปรึกษาชุมชนชายที่มีความหลากหลายทางเพศ (M-CAB) ขอยืนยันการสนับสนุนศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในการคัดกรองเลือดสะอาดโดยปราศจากอคติทางเพศต่อชายรักชายและผู้หญิงข้ามเพศ ด้วยวิธีการปรับปรุงคำถาม ที่ใช้คัดกรองผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 11 วันก่อนมาบริจาคเลือดเสียใหม่ ซึ่งองค์กรเครือข่ายฯ ยินดีที่จะเข้านำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมและทำกิจกรรมร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จนกว่ากรณีดังกล่าวจะมีแนวทางในการแก้ไขที่เห็นผลร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท