Skip to main content
sharethis

ระหว่างวันที่วันที่ 10 - 12 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมาบริษัท อีอาร์เอ็ม - สยาม จำกัด ที่ปรึกษาด้านการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมและโครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งบัวบาน ของบริษัท นิวคอสตอล(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานในพื้นที่สัมปทาน G5/43 ในอ่าวไทย ได้จัดเวทีชี้แจงโครงการครั้งที่ 1 และรับฟังความคิดเห็นกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอสิงหนคร สทิงพระและระโนด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ตำบล เทศบาล รวมถึงผู้นำชุมชน หมู่บ้านและผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่


 


โดยจัดเวทีรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย เวลา 09.00 น. วันที่ 10 มิถุนายน 2551 จัดขึ้นที่ที่ทำการประมงพื้นบ้านตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมอำเภอสทิงพระ ผู้เข้าร่วมอำเภอสทิงพระ เวลา 09.00 น. วันที่ 11 มิถุนายน 2551 จัดขึ้นที่ห้องประชุมอำเภอสิงหนคร เวลา 13.30 น. วันเดียวกันจัดที่ห้องประชุมอำเภอระโนด และเวลา 09.00 วันที่ 12 มิถุนายน 2551 จัดที่สมาคมประมงสงขลา อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา โดยนายภานุ กฤติพร กรรมการผู้จัดการโครงการจัดทำอีไอเอ เป็นผู้ชี้แจง


 


นายทวี เทพนะ รองประธานชมรมประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ สิงหนคร สทิงพระและระโนด ได้สรุปความเห็นของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่เข้าร่วมทั้ง 5 เวทีว่า ทุกเวทีชาวประมงส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นในประเด็นการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวประมงในแนวเดียวกัน โดยยืนยันว่า หากดำเนินการโครงการก็ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามที่ชาวประมงเสนอไปแล้ว หากบริษัทฯ ไม่สามารถจ่ายชดเชยได้ ก็ไม่ต้องมารับฟังความเห็นกัน ชาวบ้านก็จะเข้าไปทำประมงในพื้นที่ที่จะตั้งแท่นขุดเจาะตามปกติ แต่จะรอดูด้วยว่า บริษัทฯ จะสรุปความเห็นตามที่ชาวบ้านระบุหรือไม่


 


นายทวี กล่าวว่า ที่ชาวประมงส่วนใหญ่มีความเห็นเช่นนั้น เนื่องจากเดิมทราบว่าบริษัทฯ มีพื้นที่ดำเนินโครงการ 2.2 ตารางกิโลเมตรตามที่ได้รับการชี้แจงมาตั้งแต่ต้น แต่ต่อมาทางบริษัทฯ ระบุว่า โครงการมีแท่นทั้งหมด 4 แท่น รวมพื้นที่กันเขตเพื่อความปลอดภัยประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ห่างจากฝั่งอำเภอสทิงพระประมาณ 17 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 16 ปี เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเห็นว่า ถ้าไม่ดำเนินโครงการจะดีที่สุด แต่หากจะดำเนินการก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้คุ้มค่ากับที่ต้องสูญเสียพื้นที่ประมงไป


 


นายทวี เปิดเผยด้วยว่า พื้นที่นอกชายฝั่งตั้งแต่ 5 กิโลเมตรออกไป เป็นแนวปะการัง ซึ่งมีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ โดยเรือที่ออกไปจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว เป็นเรือท้ายตัดขนาดกว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 9 เมตร เครื่องมือประมงขึ้นอยู่กับฤดูกาล เช่น อวนปลาทู อวนปูและอวนกุ้ง เฉพาะในอำเภอสทิงพระมีประมาณ 400 ลำ มีรายได้จากการจับสัตว์น้ำวันละประมาณ 1,500 บาทต่อลำ แต่ได้เสนอขอเงินชดเชยลำละ 700 บาทต่อวัน


 


ขณะที่ตัวแทนบริษัทฯ ยังยืนยันว่า จะจ่ายเงินชดเชยให้กลุ่มชาวประมงทั้งหมดปีละ 1,100,000 บาทเป็นเวลา 3 ปีเท่านั้น โดยใช้อ้างอิงข้อมูลของศูนย์พัฒนาประมงอ่าวไทยตอนล่าง


 


สำหรับพื้นที่ดำเนินการนั้นมีรายละเอียดเบื้องต้นระบุในเอกสารประกอบการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการศึกษาและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมและโครงการพัฒนาเพื่อผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบัวบาน แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข G5/53 บริเวณอ่าวไทยา จังหวัดสงขลา โดยบริษัท นิวคอสตอล(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งแจกให้ผู้เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น ได้ระบุตำแหน่งหลุมสำรวจและแท่นหลุมผลิตรวม 8 แห่ง


 


โดยทั้ง 8 แห่งประกอบด้วย ตำแหน่งที่จะเจาะหลุมสำรวจ 4 แห่ง ได้แก่ 1.อีสเทิร์น แฟน ห่างจากฝั่ง 30 กิโลเมตร 2.เบสมินท์ ริจ นอร์ท ห่างฝั่ง 17 กิโลเมตร 3.เบสมินท์ ริจ เซาท์ ห่างฝั่ง 16.3 กิโลเมตร และ 4.สงขลา เซาท์ เวทส์ แฟน ห่างฝั่ง 24.8 กิโลเมตร


 


ตำแหน่งแหล่งผลิตปิโตรเลียมบัวบาน มี 4 แห่ง ได้แก่ 1.แท่นหลุมผลิตบัวบาน - เอ แท่นกลางบัวบานและเรือกักเก็บปิโตรเลียม ห่างฝั่ง 17.4 กิโลเมตร 2.แท่นหลุมผลิตบัวบาน - บี ห่างฝั่ง 15.7 กิโลเมตร 3.แท่นหลุมผลิตบัวบาน - ซี ห่างฝั่ง 20 กิโลเมตร และ 4.แท่นหลุมผลิตบัวบาน - ดี ห่างฝั่ง 14 กิโลเมตร


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net