พระไพศาล วิสาโล : ปาฐกถาธรรม "ก้าวข้ามความโกรธ รื้อถอนความรุนแรง"

อานุภาพ นุ่นสง/สำนักข่าวประชาธรรม เรียบเรียง


พระไพศาล วิสาโล กล่าวปาฐกถาธรรมเรื่อง "ก้าวข้ามความโกรธ รื้อถอนความรุนแรง" เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี การมรณภาพของพระสุพจน์ สุวโจ ณ สถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

000000000000

วันนี้พวกเราได้มาเพื่อระลึกถึงพระสุพจน์ สุวโจ ซึ่งเป็นที่รักและเคารพของพวกเรา แม้ว่าท่านจะจากไปได้ 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีความระลึกถึง และสิ่งที่พวกเราพร้อมใจร่วมทำในวันนี้ก็คือ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับท่าน เราถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ยังอยู่สามารถที่จะบำเพ็ญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปได้ และขณะเดียวกันเราก็มีความตั้งใจที่จะทำให้การจากไปของท่านนั้น มีความหมายต่อผู้ที่ยังอยู่ด้วย สิ่งที่เราจะทำได้สำหรับผู้ที่จากไป นอกจากบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลให้กับท่านแล้วก็คือ ทำให้การจากไปของท่านนั้นบังเกิดประโยชน์ บังเกิดกุศลให้เกิดขึ้นกับผู้ที่ยังอยู่ต่อไป ทำให้การตายของท่านนั้นสามารถที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามในสันติสุข

ซึ่งถ้าเราทำเช่นนี้ได้ ก็ถือว่าได้ทำให้การจากไปของพระสุพจน์นั้นมีความหมาย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าเศร้าโศกอย่างเดียว แต่สามารถที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามขึ้นได้ เหมือนกับต้นไม้ที่เมื่อยังอยู่ก็เป็นประโยชน์แก่โลก แก่สรรพชีวิตไม่ว่าจะให้ผลไม้ ให้ร่มเงา และเมื่อต้นไม้นั้นโค่นล้มก็ยังได้เป็นปุ๋ย ยังได้ก่อให้เกิดชีวิตใหม่ๆ ให้เจริญงอกงามขึ้น ก็เท่ากับว่าการจากไปนั้นไม่ใช่เป็นการสูญเปล่า แต่ว่าเกิดความเจริญงอกงามเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เป็นประโยชน์แก่โลกได้อันนี้คือหน้าที่ของผู้ที่ยังอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์จะได้ผ่านไป 3 ปีแล้วหลายคนก็อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมคนดีๆ อย่างพระสุพจน์ถึงต้องจบชีวิตไปในลักษณะนี้ นี่คือความสงสัยที่หลายคนต่างพยายามที่จะหาคำตอบ บางคนอาจให้คำตอบว่ามันเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม บางคนอาจให้คำตอบหรืออธิบายว่ามันเป็นเรื่องของวิบากกรรมในอดีตชาติ หรือบางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นความประจวบเหมาะของเหตุปัจจัย เหมือนกับต้นไม้มันจะเกิดขึ้นมาได้ก็คือปัจจัยที่มันมาประจวบเหมาะกัน เช่น แสงแดด อากาศ ความชื้น เมล็ดพันธุ์

แต่ไม่ว่าจะอธิบายด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือจริงๆแล้วคำถามที่สำคัญนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ว่าทำไมท่านสุพจน์ถึงถูกกระทำอย่างนั้น แต่ความสำคัญคือทำไมเขาถึงทำเช่นนั้นกับท่านสุพจน์ สองคำถามนี้ต่างกัน คำถามแรกว่าทำไมท่านสุพจน์ถึงถูกกระทำอย่างนั้น แล้วไม่ว่าจะได้คำตอบอย่างไร ท่านก็ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ อาจจะเพียงทำให้เราหายสงสัย หรืออาจทำให้เรายังเกิดความศรัทธาในเรื่องของธรรมมะอยู่ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถทำให้ท่านฟื้นขึ้นมาได้ แต่คำถามที่สองสำคัญกว่าคือคำถามที่ว่าทำไมเขาทำเช่นนั้นกับท่านสุพจน์ สำคัญกว่าเพราะว่าเพราะถ้าเราตอบไม่ได้มันก็หมายความว่าเหตุการณ์เช่นนี้ก็ยังจะเกิดขึ้นเรื่อยๆไป อาจจะมีคนอื่นตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเช่นนี้อีก แต่ถ้าเราสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมเขาทำเช่นนั้นกับท่านสุพจน์เราก็จะเห็นหนทางที่จะป้องกันแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

การที่จะตอบว่าทำไมเขาทำเช่นนั้นกับท่านสุพจน์เราต้องมองให้ทะลุ เพราะจริงแล้วเขาในที่นี้อาจไม่ใช่คน 2 คน อาจไม่ใช่ที่ตัวบุคคลด้วยซ้ำอาจเป็นเหตุปัจจัยอะไรอีกมากมายที่เป็นแรงผลักดันเป็นปัจจัยตัวการที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ขึ้น ถ้าเรามองให้ทะลุ ก็จะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน มันไม่ได้เป็นที่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีเหตุปัจจัยอื่นอีกมากที่เป็นแรงผลักดันให้คนเหล่านั้นได้ก่อความรุนแรงขึ้น และคนเหล่านั้นอาจเป็นแค่เบี้ยในบรรดาเหตุปัจจัยอีกมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นวันนี้ได้เป็นโอกาสที่เราจะได้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ขึ้น ดังที่เราทราบดีว่าได้ผ่านมา 3 ปีแล้ว

แต่จนบัดนี้ยังไม่สามารถหาคนผิด หรือหาตัวการที่สำคัญได้ สิ่งเหล่านี้มันบอกให้เราได้รู้ว่าปัจจัยที่นำไปสู่การเสียชีวิตของพระสุพจน์นั้น เป็นปัจจัยที่ใหญ่เกินกว่าที่เราจะมองอย่างทั่วถึง ถ้าจะว่าไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นภาพสะท้อนของระบบหรือโครงสร้างขนาดใหญ่ไม่ใช่กระทำแต่พระสุพจน์เท่านั้นแต่กระทำกับคนอื่นด้วย เพราะว่าท่านสุพจน์ก็ไม่ได้มีเรื่องพิพาทบาดหมางกับใครแต่ว่าสิ่งที่เป็นแรงผลักดัน กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นประการแรก ก็คือความโกรธ ความโลภของผู้คน ซึ่งมันได้เกิดขึ้นมาเป็นความรุนแรง ที่ซึมลึกและแผ่กว้าง

สังคมไทยในเวลานี้มันมีความรุนแรงที่แผ่กว้างมากขึ้นจนพระภิกษุสงฆ์ต้องตกเป็นเหยื่อ มันสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ ที่ไม่สามารถสาวหาตัวผู้ทำผิดหรือตัวการ มันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบใหญ่ของกลุ่มอิทธิพล ที่สามารถครอบงำกลไกลรัฐตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ และยิ่งกว่านั้นยังสามารถใช้กลไกลรัฐปกป้องผลประโยชน์ของตนได้

ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งเกี่ยวพันกับกรณีท่านสุพจน์ มันไม่ได้เป็นความขัดแย้งของบุคคล ของสังคม ซึ่งไม่ได้เป็นความขัดแย้งของรายบุคคล แต่เป็นการพยายามเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์ ซึ่งเหล่านี้เป็นความเกี่ยวพันของผู้มีอิทธิพล ซึ่งในปัจจุบันได้เติบใหญ่กว้างขวางมากขึ้น จนกระทั่งสามารถใช้กลไกรัฐปกป้องหรือขยายผลประโยชน์ของตนได้ ทั้งเรื่องของการคอร์รัปชั่นนโยบาย หรือออกนโยบายที่จะมาพัฒนาผลประโยชน์ของตนท่ามกลางความทุกข์ของผู้อื่น หรืออย่างที่เห็นได้ง่าย คือการใช้เส้นสายแต่งตั้งคนของตนให้เข้าไปเป็นใหญ่ในระบบราชการ การติดสินบนของเจ้าหน้าที่โดยกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือที่ชัดเจน คือการใช้อำนาจผิดอย่างโจ่งแจ้ง เช่น ลอบสังหารผู้ที่ขัดขวางผลประโยชน์ อย่างเช่นตระกูลวัดอักษรนั่นก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เป็นการเติบใหญ่ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล ความรุนแรงนี้แผ่กว้างขึ้นอันนำไปสู่การจากไปของท่านสุพจน์

สิ่งเหล่านี้ทุกวันนี้มันได้ผนึกกันจนกระทั่งการเป็นเครือข่าย ผนึกผสาน และสืบทอดกันมาจนเป็นระบบที่ฝังลึก อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับระบบและโครงสร้างของประเทศอีกมากมาย เช่น ระบบเศรษฐกิจกระตุ้นให้เกิดกระแสบริโภคนิยม หรือกระตุ้นให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทางด้านทรัพยากร ที่ไหนมีทรัพยากรดีๆ เช่น ที่ดิน ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันก็เอื้ออำนวยให้กลุ่มนายทุนสามารถใช้ประโยชน์ หรือมาฮุบเอาผลประโยชน์นั้น หรืออย่างกรณีที่บ้านกรูดบ่อนอก ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจปัจจุบันมันเอื้ออำนวยให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ และนำไปสู่การกำจัดขัดขวางผู้ที่พยายามทัดทาน ท้วงติง

การเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้สะท้อนถึงโครงสร้างการพัฒนาที่ไม่ยุติธรรม โครงสร้างการพัฒนาที่เอาเปรียบชาวบ้านที่เป็นคนเล็กคนน้อย แต่ว่าเกื้อประโยชน์ ให้แก่ผู้ที่มีอำนาจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม มันเกี่ยวพันธ์กับโครงสร้างอำนาจและระบบการเมือง ซึ่งทุกวันนี้อำนาจได้มากระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มหนึ่ง เป็นอำนาจของความรุนแรง มันรุนแรงเพราะนำไปสู่การเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอ เช่น กดราคาพืชผลทางการเกษตร หรือทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดิน มีการแย่งชิงทรัพยากรสาธารณะ เช่น แหล่งน้ำ ป่าไม้ ที่ดิน หรือแม้กระทั่งเบียดบังงบประมาณของรัฐเพื่อสนองผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย แทนที่จะเอางบประมาณไปใช้เพื่อที่จะช่วยเหลือคนยากคนจน ส่งเสริมด้านสาธารณะสุข ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ก็เอางบประมาณไปใช้เพื่อผลิตอาวุธ เพื่อซื้ออาวุธ หรือสร้างโครงการต่างๆมากมาย ที่เรียกว่าเมกะโปรเจกต์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนน้อยเท่านั้น

โครงสร้างเหล่านี้เป็นโครงสร้างความรุนแรง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่พวกเราที่มาในที่นี้ก็คงจะทราบดี เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และโครงสร้างแบบนี้มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนใช้ความรุนแรงกับประชาชน ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือบางทีเจ้าหน้าที่ดีๆ ที่จะพยายามทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้น ก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะว่าถูกเจ้าหน้าที่ท่านอื่นขัดขวางไม่ให้ทำความผิดให้ปรากฏ บางทีก็ถูกย้าย บางทีก็ถูกกำจัด จนกระทั่งในปัจจุบันเป็นกติกาที่ไม่ได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ดีๆ ก็ต้องสงบปากสงบคำ ต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ที่มีเป็นจำนวนมาก สามารถที่จะก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนคนส่วนน้อยได้ ประชาชนคนที่ยากจนได้ หรือบางทีก็เปิดไฟเขียว ให้ผู้ที่มีอิทธิพลลงมือเอง

อันนี้ คือความรุนแรงที่ทำให้ถึงขั้นล้มตาย ปัจจุบันเราทราบดีอยู่แล้วว่าผู้มีอิทธิพลซึ่งมีอาวุธอยู่ในมือ และก็มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในมือนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโควตาอำนาจในเมืองไทยไปแล้ว เวลาพูดถึงการเมืองไทยก็ต้องพูดถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลเพราะว่าเขาไม่ได้อยู่ใน อยู่นอกการเมือง แต่ว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบรัฐสภา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระดับภูมิภาค หรือระดับชาติ และคนกลุ่มนี้มีการเชื่อมกับโครงสร้างการพัฒนาในปัจจุบันอย่างแน่นแฟ้น เพราะว่าการพัฒนาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา คนชอบเข้าอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งได้ผลักภาระมาให้ภาคเกษตรกรรมมาโดยตลอด เช่น สร้างเขื่อน เช่น เขื่อนปากมูลนั้น ชาวบ้านที่ต้องทำกินหากินยังชีพกับปลานั้น ก็ต้องเป็นฝ่ายที่เสียสละเพื่อให้เขื่อนนี้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของคนในเมืองแท้ๆ แต่ว่าทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน และทำให้ระบบนิเวศวิทยาเสื่อมโทรม

อย่างที่บอกไปแล้วว่าทั้งหมดนี้เชื่อมโยงแนบแน่นกับระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาในปัจจุบัน การพัฒนาแบบใช้สมดุลก็คือ ไปช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมบริการ มากกว่าภาคอุตสาหกรรม มันทำให้นักธุรกิจประกอบการในท้องถิ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว จนบางกลุ่มได้จับรวมตัวเป็นผู้มีอิทธิพล อิงอาศัยกลไกลรัฐเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตน โดยทั้งเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยสามารถมีอิทธิพลเหนือกลไกลรัฐได้ นี่คือสภาพที่อธิบายได้ว่า ปัจจุบันมันเกิดโครงสร้างความรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลมีอำนาจทำตามอำเภอใจได้ ซึ่งโครงสร้างนี้ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของท่านสุพจน์ รวมทั้งคนอื่นๆด้วย ตลอดจนแกนนำอย่างเจริญ วัดอักษร

กล่าวได้ว่า ตอนนี้เมืองไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนหนึ่งเป็นของผู้มีอิทธิพล และส่วนหนึ่งเป็นของประชาชน ที่ไม่สามารถทนถูกกระทำ เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นการประทุของความรุนแรงซึ่งเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่พอใจที่ตนเองต้องถูกกระทำหรือถูกปิดบังผลประโยชน์จากโครงสร้างแบบนี้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง

3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างความรุนแรง เป็นภาพสะท้อนของปฏิกิริยาจากประชาชนที่ไม่ยอมทนรับเป็นเหยื่อกับโครงสร้างความรุนแรงนี้ อีกทั้งความรุนแรงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีพจรคนไปแล้ว อาชญากรรม การฆ่าฟันนั้นเกิดขึ้นทั่วไปทุก 2 ชั่วโมงก็ยังมีคนไทยตายเพราะความรุนแรง ยังไม่นับบุคคลที่บาดเจ็บเพราะความรุนแรงนั้นเนื่องจากอาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงของสามีภรรยา ความรุนแรงในโรงเรียน นักเรียนทุบตีกันมีการถ่ายวีดีโอคลิป หรือบางครั้งครูก็สั่งให้นักเรียนเข้าไปทำร้ายนักเรียนด้วยกันเพราะไม่พอใจนักเรียน อย่างที่เป็นข่าวเมื่อ 3-4 วันก่อน ความรุนแรงระหว่างโรงเรียนที่ไม่กินเส้นกัน ทุบตีกันทำร้ายกันถึงตาย ความรุนแรงบนท้องถนน เหล่านี้คือบรรยากาศแห่งความรุนแรงที่เป็นผลมาจากโครงสร้างความรุนแรงที่

ปัจจุบันนี้คนใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ถ้าไม่ทำร้ายคนอื่นก็ทำร้ายตัวเอง ทั้งหมดนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม หรือบรรยากาศของความรุนแรง กระทั่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้มีการจัดอันดับความสงบสุขของประเทศต่างๆทั่วโลก ที่เขาเรียก Global Sheet Index คือเขาดูจากสถิติการเกิดอาชญากรรม การเข้าถึงอาวุธ หมายถึงอาวุธปืนเถื่อนก็ดี มีดก็ดี ระเบิดก็ดี หรืองบประมาณทหารมีการคอร์รัปชั่น มีการล่วงสิทธิมนุษยชน ปรากฏว่าที่เขาจัดมี 120 กว่าประเทศนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่105 แปลว่าประเทศไทยนี้รุนแรงมากกว่าเอธิโอเปียและฮูกันดาด้วยซ้ำ

พอนึกภาพออกไหม ยูกาดาและเอธิโอเปียที่เขามีสงครามกัน ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้รุนแรงยิ่งกว่านั้น นี่คือสภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย แล้วก็ประชาชนที่ต้องตายโดยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลย ที่ไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งกับใครเป็นส่วนตัว แต่ต้องตายมีมาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการป่าวประกาศว่าสังคมไทยเป็นเมืองพุทธ สังคมไทยเป็นเมืองที่รักสันติรักความสงบ ท่ามกลางการประกาศว่าสังคมไทยเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันอาจจะสะท้อนให้เห็นว่าชาวพุทธเรามีการสอนและการปฏิบัติพุทธศาสนาที่ต้องผิดพลาดคลาดเคลื่อนอะไรบางอย่าง ไม่เช่นนั้นไม่น่าจะมีการฆ่ากันอย่างมากมายขนาดนี้

อาจเป็นเพราะคนไทยสนใจศีลธรรมระดับบุคคล คือสนใจว่าฉันทำตัวให้ดี ฉันไม่สนใจสังคม มองข้ามศีลธรรมในระดับของชาติ สังคมจะฆ่ากันผู้คนจะฆ่ากันอย่างไรฉันไม่สนใจ แต่ฉันขอทำตัวให้ดีก็แล้วกัน ฉันขอรักษาศีลเป็นส่วนตัวก็แล้วกัน แต่เอาเข้าจริงๆ ศีลที่รักษาเป็นศีลที่ค่อนข้างแคบคือไม่ฆ่า ไม่ตบยุง แต่ก็อนุญาตให้มีการฆ่ากันได้อย่างการฆ่าตัดตอนเพราะเขาเป็นผู้ค้ายา เพราะฉะนั้นพวกนั้นก็จะถูกฆ่าตัดตอน ฉันก็ยินดีในใจหรือบางครั้งก็แสดงอาการสนับสนุนออกนอกหน้า ถึงแม้ฉันไม่ตบยุง ไม่เหยียบมด แต่ว่าอนุโมทนาให้มีการฆ่ากัน

นี่ใช่ไหมที่เป็นการรักษาศีลของชาวพุทธไทยในปัจจุบัน ก็คือว่าสนใจแต่ศีลธรรมส่วนบุคคล จะไม่สนใจว่าสังคมนั้นมีการละเมิดศีลกันอย่างไรบ้าง

ทุกวันนี้เราปล่อยให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง และสังคม เป็นแหล่งสงเคราะห์ความรุนแรงให้แพร่หลาย ทำให้กลไกลรัฐมีอำนาจที่ล้นเหลือ ขาดการสงสัย ทำให้ระบบการเมืองเอื้อต่อผู้มีอิทธิพล ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและทัดทานอำนาจการเมือง พวกเราช่วยกันสนับสนุนให้โลกเห็นผิดคิดเอาความเป็นใหญ่ และส่งเสริมการเอารัดเอาเปรียบมันแผ่ขยายเพิ่มพูนมากขึ้น

พูดอย่างซี้ซั้ว เรากำลังปล่อยให้โทสะ โมหะ ฝังรากลึกในโครงสร้างสังคม จนผลักไสให้ผู้คนข่มเหงเขนงร้ายกัน จนกระทั่งการฆ่ากันกลายเป็นเรื่องธรรมดา ใช่หรือไม่ว่ารัฐมีส่วนส่งเสริมให้การปฎิปักษ์เกิดขึ้นทุกหัวระแหงด้วยการสนับสนุนโครงสร้างความรุนแรงนี้เอาไว้ และเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แต่การสนับสนุนโครงสร้างความรุนแรง แต่ไปสนับสนุนการฆ่ากันหรืการทำร้ายกัน เพียงเพราะว่าอีกฝ่ายไม่ใช่พวกของตนหรือว่าเป็นเพราะอีกฝ่ายนั้นสนับสนุนนักการเมืองที่ตนเองไม่ชอบ การที่จะพูดว่าการรักษาศีล 5 คือการรักษากายวาจาให้ดีนั้นยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องรวมถึงการขยายไปสู่การบัญญัติโครงสร้างของความรุนแรงด้วย

ที่อาตมาพูดมาทั้งหมดนี้เป็นการพูดแบบรวบรัด แต่เป็นการพูดถึงโดยปรารภการตายของท่านสุพจน์ นี่เป็นการมองในแง่เดียว คือมองว่าการตายของท่านในภาวะที่เป็นปรากฏการณ์ ที่เป็นภาพสะท้อนความรุนแรง แต่ที่จริงแล้วเราควรจะมองเพื่อที่ว่าพิจารณาถึงท่านสุพจน์ในฐานะเป็นบุคคลที่เรารักและผูกพัน ซึ่งตรงนี้เป็นการกระทบอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องความรู้สึกส่วนตัว ที่อาตมาพูดมาข้างต้นเป็นการมองถึงท่านสุพจน์ ถึงการตายของท่านในการที่เป็นภาพสะท้อนความรุนแรงในสังคมภาพกว้าง ซึ่งเราอาจมองเช่นนั้นโดยที่เราไม่รู้จักท่านสุพจน์เลยก็ได้

แต่สำหรับพวกเราหลายคนที่รู้จักท่านสุพจน์ดี เราไม่อาจจะมองได้เพียงเท่านั้น เราจะต้องมองการตายของท่านในหน้าที่ เป็นบุคคลที่เรารักและผูกพันซึ่งตรงนี้เป็นเหตุการณ์ที่กระทบความรู้สึกของเราอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเรารับรู้เช่นนี้ เมื่อเรามองเช่นนี้ก็อดไม่ได้ที่จะเสียใจ ทนไม่ได้ที่จะเศร้าโศก ทนไม่ได้ที่จะโกรธแค้นเพราะว่าเราต้องสูญเสียคนที่เรารักไป อย่างไรก็ตามก็ควรพิจารณาว่าความโกรธแค้นตัวบุคคลหรือโกรธแค้นคนที่ทำให้ท่านสุพจน์ต้องจากไปนั้นมันไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา เพราะโกรธแค้นไปก็ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรดีขึ้น และอีกอย่างการที่ท่านจากไปไม่ใช่เป็นเพราะตัวบุคคลใดคนหนึ่งเป็นส่วนตัวเท่านั้น อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่ามันเชื่อมโยงกับโครงสร้างแห่งความรุนแรง มันเป็นโครงสร้างแห่งการทำลายล้างโดยแท้ และโครงสร้างแบบนี้เราโกรธไปก็ไม่มีประโยชน์ มันไม่อาจจะแก้ปัญหาได้ เว้นแต่เราจะลงมือทำอะไรซักอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราทำด้วยความโกรธเราก็ทำได้อย่างมากแค่โค่นล้มของเดิม และของใหม่ที่ขึ้นมาแทนที่อาจเลวร้ายกว่าเดิมก็ได้

เราได้เห็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง โครงสร้างสังคมมากมายในหลายประเทศทั่วโลก 100-200 ปีที่ผ่านมา มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่อภิธรรมเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าที่จีน เวียดนาม กัมพูชา ฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งหลายๆ ที่ แต่สิ่งที่เราค้นพบคือว่า ของเดิมที่ถูกโค่นล้มไปแต่ของใหม่ที่มาแทนที่ก็อาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ในหลายประเทศในอัฟริกามีการโค่นล้มระบบของเจ้าอาณานิคมคือชาวอังกฤษที่กดขี่เบียดบังประชาชน แต่เมื่อมีโครงสร้างอันใหม่ที่เกิดขึ้นมาโดยมีชาวอัฟริกันด้วยกันเป็นผู้นำประเทศ แต่กลับกดขี่ประชาชนยิ่งกว่าเก่า

อย่างที่ประเทศซิมบับเวในปัจจุบัน ผู้นำซึ่งเป็นทรราช ก็คือผู้นำที่เคยร่วมกระบวนการปลอดปล่อยประเทศให้เป็นเอกราชจากอาณานิคมฝรั่ง จากจักรวรรดินิยม จากเมื่อปลอดปล่อยได้แล้วตัวเองก็กลับกลายมาเป็นทรราชเสียเอง เป็นมา 27 ปีแล้วก็ไม่ยอมหนี ไม่ยอมไป ทั้งๆ ที่ประชาชนยากจนลงไปทุกที อันนี้ก็เป็นเพราะว่าการโค่นล้มระบบที่กดขี่บีฑานั้นไม่ได้แปลว่าโค่นของเก่าของใหม่จะดีกว่าเดิม ของใหม่อาจเลวร้ายกว่าเดิมก็ได้โดยเฉพาะถ้าทำด้วยความโกรธ ทำด้วยความเกลียด

ในทางพุทธศาสนา เรื่องเหตุที่ไม่พึงปรารถนา เกิดความสูญเสีย เกิดการกระทำ เกิดความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการสูญเสียคนรัก หรือว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดีเราควรมีท่าทีสองด้าน อันที่หนึ่งคือท่าทีต่อเหตุปัจจัยภายนอก ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ใครทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น และจะแก้ไขป้องกันอย่างไร นี่คือท่าทีต่อเหตุปัจจัยภายนอก เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็ต้องสาวหาตัวว่าใครทำ และจะป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงได้อย่างไร แต่ถ้าจะให้พอต้องมีท่าทีต่อตัวเราเองด้วย หมายความว่ากลับมามองตัวเอง ว่าเราทำอะไรผิดพลาดหรือไม่ หรือถ้าเราไม่มีอะไรผิดพลาดเลย เราวางใจผิดพลาดไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเกิดความโกรธ ความเกลียดขึ้นหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นก็แสดงว่าพิษภัยกำลังเกิดขึ้นในใจเราแล้ว เรากำลังวางใจผิดพลาดแล้ว

นี่คือท่าทีสองอย่างที่เราควรใส่ใจตลอดเวลา คือ มองไปข้างนอกว่ามีความผิดพลาดตรงไหน ใครทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น ใครทำให้เกิดปัญหาขึ้น ทำไมเขาด่าว่าเรา ทำไมเขากลั่นแกล้งเรา แต่เท่านี้ไม่พอ เราต้องมาดูที่ใจเราด้วยว่าใจเรานั้นเป็นอย่างไร เพราะบ่อยครั้งถ้าเราไม่ดูจิตใจของเรา เราก็อาจจะทำให้ความโกรธสะสมขึ้นในใจของเรา เมื่อมีคนกลั่นแกล้งเรา และมีคนทำให้ผู้ที่เรารักสูญเสียไป เมื่อมีคนมาแย่งชิงทรัพยากรอันเป็นที่รักของเราไป เรามีความโกรธ และเราลืมดูใจของเราความโกรธนั้นก็จะเผาผลาญจิตใจของเรา

สำหรับประเด็นคนอื่นที่เป็นส่วนเลวร้ายที่สมควรได้รับการลงโทษ หรือว่าถูกจัดการเพราะวิธีการนี้มันทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ง่าย และก็ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นเพราะความโกรธนั้นเพียงแค่ความโกรธ ไม่ว่าจะโกรธด้วยเรื่องใดก็ตาม โกรธเพราะเค้ารักนักการเมืองที่เราไม่ชอบก็สามารถที่จะนำไปสู่การฆ่ากันได้ทั้งที่เป็นเพื่อนกัน อันนี้คือโทษของความโกรธ เพราะความโกรธเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันพร้อมที่จะเห็นคนอื่นเป็นศัตรูได้ง่ายๆเพียงเพราะว่าเขาคิดไม่เหมือนเรา เขามีสีผิวไม่เหมือนเรา เขานับถือศาสนาต่างจากเรา ทั้งหมดนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความโกรธ เมื่อมีความโกรธแล้วเรามักจะหาเหตุผลมารองรับว่าสมควรต้องโกรธ ความโกรธนี้มันฉลาดมันจะไม่ยอมอยู่เฉยๆ แต่มันจะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าความโกรธเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความโกรธเป็นสิ่งที่ชอบธรรม และเมื่อเป็นความชอบธรรมที่เราโกรธแล้วนั้น เราก็สามารถทำร้ายคนอื่นได้อย่างไม่รู้สึกผิด เพราะว่าฉันเป็นฝ่ายถูกแกเป็นฝ่ายผิด เพราะฉะนั้นจะทำร้ายแกทำอย่างไรกับแกก็ได้ เพราะว่าแกผิดฉันถูก

เหมือนอย่างกรณี 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 ที่มีการทำร้าย ไปฆ่านักศึกษา ไปเผาผู้ที่ยังไม่ตาย ก็ทำด้วยความโกรธด้วยที่ว่าฉันเป็นฝ่ายถูก ฉันเป็นฝ่ายพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แกเป็นฝ่ายที่ปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ว่าความโกรธก็จะหาเหตุผลมารองรับว่ามันเป็นฝ่ายถูก

การก่อการร้ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ฆ่าผู้บริสุทธิ์ หรือว่าฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ที่ก่อการร้ายนั้นก็มีเหตุผลว่า สิ่งที่ตนทำนั้นถูกเพราะแกเป็นฝ่ายผิด เมื่อมีการเกิด 11 กันยาขึ้น ประชาชนในอเมริกาทั่วโลกก็มีความโกรธแค้นว่า ทำไมถึงฆ่าผู้บริสุทธิ์เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยหาเป้า หาตัวการว่าใครเป็นคนทำและเมื่อพบหรือเชื่อว่ากลุ่มบินลาเดน และตาลีบันเป็นตัวการเหตุการณ์ 11 กันยา ทางประธานาธิบดีบุช ก็ส่งทหารเข้าไปทำสงครามกับอัฟกานิสถาน เพื่อตอบโต้ข้อหาว่าเขาทำร้ายคนบริสุทธิ์ แต่การเอากองกำลังเอากองทัพไปรุกรานอัฟกานิสถาน ก็ทำให้คนบริสุทธิ์จำนวนมากต้องตาย แต่เขาก็ไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เสียหายอะไร เพราะว่าบินลาเดนฆ่าคนบริสุทธิ์ ความโกรธก็สามารถทำให้เราฆ่าคนได้ในนามความชอบธรรม เราโกรธเขาที่เขาฆ่าคนบริสุทธิ์ แต่เราเองอาจทำเช่นนั้นในนามความถูกต้องได้ ที่คืออุบายของความโกรธที่อ้างความชอบธรรม และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับความรุนแรงทุกประเทศ ฝ่ายที่ถูกกระทำก็มีความรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะโกรธ เพราะว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ถ้าเราไม่ดูใจของเราเราก็อาจจะทำเช่นนั้น ใช้วิธีการเช่นนั้นกระทำกับผู้อื่นได้เหมือนกัน อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

การที่เราจัดการกับความโกรธเราต้องมีสติ เพราะสติทำให้เรารู้จักความชอบธรรม อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของเรา และไม่ทำให้เรากลายเป็นยักษ์เป็นมารเหมือนอย่างเขาเหมือนอย่างคนที่เราเกลียด และถ้าเรารู้จักการให้อภัย มันก็สามารถทำให้เราระงับความโกรธได้

ทำไมเราต้องให้อภัย เพราะจริงๆแล้วมนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา ความโกรธ ความเกลียด เกลียดตัณหาต่างๆ ที่ชักนำให้เค้าลงมือสังหารผู้ที่เรารักนั่นแหละคือตัวการที่แท้จริง และถ้าเราปล่อยให้ความโกรธความเกลียดเกิดขึ้นในใจ เราก็จะเป็นเหมือนคนเหล่านั้น คนที่เราเกลียดเพราะเราก็จะใช้ความรุนแรงกับเขา และถ้าเราตระหนักถึงความจริงข้อนี้เราก็จะพบว่าคนเหล่านั้นคือคนที่น่าสงสาร ควรแก่การให้อภัย เราควรจะเห็นด้านดีหรือความดีของเขาด้วย เพราะความโกรธมันจะทำให้เราเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูที่เลวร้ายไปหมด ฉะนั้นเราควรให้อภัยเพราะมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การให้อภัยเป็นการช่วยทำให้เราหลุดออกจากนรก มีนรกขุมหนึ่งซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่ตายแล้วแต่เกิดขึ้นกับคนที่ยังอยู่ คือนรกแห่งความพยาบาท ซึ่งมันจะคอยเผาผลาญผู้คนเอาไว้

อาตมานึกถึงคนคนหนึ่งซึ่งเขามีบทเรียนที่น่าสนใจ คนนี้เขาเป็นชาวเวียดนาม เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เขาเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเพราะว่า มีภาพเขาตอนที่เขาอายุ 12 กำลังวิ่งเนื้อตัวเปลือยเปล่าร้องไห้ เพราะทหารอเมริกันขับเครื่องบินทิ้งระเบิดนาปาล์มทำลายหมู่บ้านของเขา ผู้หญิงคนนี้ชื่อคิมฟุค เขาต้องเข้าโรงพยาบาลถึง 14 เดือน ผ่าตัดถึง 17 ครั้ง เขารอดชีวิตมาได้ขนาดที่น้อง 2 คนตาย เขารอดมาได้แต่เก็บความโกรธแค้นเอาไว้ แม้แผลที่กายเขาจะหายไปแล้วแต่แผลที่ใจเขาไม่เคยหายเลยเต็มไปด้วยความโกรธ และเหตุการณ์ก็ผ่านไป 25 ปี ต่อมาเขาได้เปิดใจในประเทศอเมริกา เพื่อไปพูดให้ประชนได้เห็นถึงภัยของสงครามว่าสงครามนั้นมันทำลายผู้คนอย่างไรบ้าง แต่ตอนนั้นเขาบอกว่าเขาสามารถให้อภัยทหารอเมริกันได้แล้ว เขาไปเพื่อที่จะเล่าว่าสงครามนั้นมันก่อเกิดความเจ็บปวดกับผู้คนอย่างไรบ้าง คนที่ฟังก็คืออดีตทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม และเมื่อเขาพูดจบเขาบอกว่า ถ้าหากทหารคนที่ทิ้งระเบิดนาปาล์มที่หมู่บ้านของเขายังอยู่ เขามีคำพูดบางอย่างที่อยากจะบอกคนคนนั้น ปรากฏว่านักบินที่ทิ้งระเบิดนาปาล์มใส่บ้านเขานั้นมาฟังด้วย นักบินคนนั้นก็เลยเขียนจดหมายน้อยขึ้นไปบนเวทีเพื่อให้ผู้หญิงคนนั้นรู้ว่าคนที่เขารอคอยพบตัวอยู่นั้นกำลังนั่งฟังเขาอยู่

เมื่อคิมฟุคได้รู้ว่าทหารอเมริกันที่ทิ้งระเบิดใส่บ้านของเขาอยู่ในที่ประชุมนั้น เขาบอกว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์และอดีตได้ แต่เราควรพยายามทำสิ่งดีๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่เขาไม่มีความโกรธต่อทหารอเมริกันคนนั้นอีกต่อไป เมื่อคิมฟุคลงจากเวที ทหารอเมริกันคนนั้นซึ่งตอนนี้เป็นนักเผยแพร่ศาสนาก็เข้ามากอดเขาและบอกว่าผมขอโทษ ผมขอโทษ คิมฟุคก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ฉันให้อภัย

คิมฟุคได้อธิบายต่อมาว่า เขาเคยเกลียดเคยโกรธคนคนนี้ซึ่งเขาไม่รู้จักเพราะมาทำลายหมู่บ้าน และชีวิตของเขา แต่เขาพบว่ายิ่งเขาเกลียดมากเท่าไรเขาก็ยากที่จะมีชีวิตอย่างเป็นสุขได้ เพราะถ้าเก็บความโกรธความเกลียดเอาไว้มันสามารถฆ่าเขาได้ ยิ่งมีความเกลียดในจิตใจเขาก็แทบทนอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ สุดท้ายเขารู้ว่าวิธีเดียวที่เขาทำได้คือการให้อภัย และเธอพบว่าเธอมีหัวใจอ่อนโยนขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้เขาอยู่ได้โดยไม่ต้องเกลียด นี่คือตัวอย่างของคนที่ซึ่งสามารถเอาชนะก้าวข้ามความโกรธได้ เพราะรู้ว่า ความโกรธไม่สามารถทำให้เธอเป็นผู้เป็นคน แต่เมื่อเอาชนะความโกรธได้ นอกจากพบศัตรูแล้วยังพบว่าเขาสามารถเป็นมิตรกับเธอได้ และเธอก็ได้มีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง

มีอีกรณีหนึ่งที่อาตมาอยากจะเล่าให้ฟัง กรณีนี้เป็นการสูญเสียคนรักเขา ชื่อ อาคิม เรื่องนี้เกิดที่อเมริกาลูกเขาอายุ 20 ปี เป็นเด็กขยันเรียนหนังสือและช่วยพ่อแม่ทำงานด้วยการส่งพิชซ่าไปตามบ้าน แล้ววันหนึ่งก็ถูกฆ่า คนที่ฆ่าเป็นเด็กอายุ 14 ปี ชื่อโทนี่ เป็นเด็กที่ฆ่าเพราะคะนอง เพราะติดยา และร่วมแก๊งอันธพาลในกรุงนิวยอร์ก ในที่สุดโทนี่ก็ถูกจับติดคุกกระบวนการยุติธรรมอย่างเมืองไทย แต่เมื่อพ่อของผู้ตายได้รู้ประวัติของโทนี่เขาก็ตกใจ

พ่อของโทนี่ก็ติดยา พ่อเขาเป็นอันธพาล แม่คลอดเขาตอนที่อายุ 15 ปี และแม่ก็เลี้ยงดูโทนี่ไม่ได้ ตัวโทนี่ถูกล่วงเกินทางเพศเมื่ออายุ 6 ขวบ เขาก็เลยรู้ว่าโทนี่เป็นเหยื่อของความรุนแรงเช่นเดียวกัน เป็นเหยื่อความรุนแรงเพราะไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่เลย และถูกรังเกียจ กระทำย่ำยีทั้งที่อายุ 6 ขวบและเช่นนั้นเขาต้องติดคุกถึง 25 ปี เพียงเพราะความคะนองชั่วแล่น เขาก็เลยรู้ว่าเขาไม่สามารถจะโกรธโทนี่ได้ เพราะว่าโทนี่กับลูกเขาตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน คือตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเหมือนกัน เขาได้ตั้งมูลนิธิทาริกันนิกาไม่แน่ใจนะ ทาริคือชื่อลูกเขา เขาตั้งชื่อทาริกันนิกาขึ้นมาตามชื่อลูก เพื่อรณรงค์ปลูกฝังให้เยาวชนตะหนักถึงโทษของความรุนแรง เพราะฆาตกรจริงๆที่ฆ่าลูกเขาตายนั้น มันไม่ใช่โทนี่แต่มันคือความรุนแรงทีแพร่ระบาดไปในหมู่เยาวชน กลุ่มอันธพาลต่างๆ ที่ร่วมกันบ่มเพาะค่านิยมความรุนแรงและความคะนอง นี่คือตัวการที่ฆ่าลูกชายเขาไม่ใช่โทนี่

นี่คือการเปลี่ยนความโกรธความเกลียดให้เป็นพลังสร้างสรรค์ หรือความตายให้เป็นชีวิตใหม่ ซึ่งไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ถ้าเรามีความโกรธความเกลียดอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้เท่าทันความโกรธและก็สามารถก้าวข้ามความโกรธได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะปัจจุบันวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงกำลังแพร่ระบาดไปทั่วสังคมไทย อย่างที่ได้บอกไปแล้ว ความรุนแรงนั้นแพร่ระบาดไปทุกระดับชั้นของการเมือง เวลานี้การเมืองกำลังร้อนแรงและแบ่งขั้ว เพียงแค่คิดไม่เหมือนกันก็สามารถที่จะโจมตีใส่ร้ายให้เป็นศัตรูของชาติได้ทั้งที่เคยเป็นเพื่อนเป็นมิตรกันมาก่อน ภาวะอย่างนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราไม่ควรมองคนอื่นว่าเขาทำผิดหรือไม่ถูกเท่านั้น แต่เราควรกลับมาดูใจเราด้วยว่าใจเราวางไว้ถูกหรือเปล่า หรือว่าใจเราก็วางไว้ผิดเหมือนกันคือเต็มด้วยความโกรธความเกลียด

ในยุคนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้เท่าทันมีสติ แม้เราจะให้อภัยคนที่คิดต่างจากเราหรือคนที่ทำร้ายไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราควรมีความอดทนมีความใจกว้างกับความแตกต่างเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กันคนที่ไม่ใช่พวกของเรา แม้เขาจะคิดต่างจากเราแต่เราสามารถที่จะเรียนรู้และอยู่กับเขาได้เพราะเขาจะอยู่กับเราไปอีกนาน ที่จริงแล้วอย่าว่าแต่คนที่คิดต่างจากเราเลย แม้ตัวเราเองยังคิดเปลี่ยนกับไปกลับมาหรือบางทีก็คิดขัดแย้งในตัวเอง ถ้าเราโกรธเกลียดคนที่คิดต่างจากเราเราก็ควรเกลียดตัวเราด้วย เพราะเราเองก็คิดกลับไปกลับมา มีความคิดที่แตกต่างไปจากเมื่อวานนี้เหมือนกัน เราควรที่จะมองไกลและกว้าง มองไกลคือมองให้เห็นว่าคนที่เราเกลียดตอนนี้วันหน้าก็อาจเป็นเพื่อนกัน หรือคนที่เกลียดในวันนี้เมื่อวานก็เคยร่วมมือกันมาก่อน และถึงที่สุดแล้วไม่ว่าจะเกลียดแค่ไหนแต่ก็ต้องอยู่ร่วมแผ่นดินนี้ไปจนตาย

ถ้าเราจะสู้กับวัฒนธรรมความรุนแรง เราต้องสู้กับความโกรธความเกลียด ต้องใช้สติ เมตตา และให้อภัย ไม่เช่นนั้นวัฒนธรรมความรุนแรงก็จะแผ่ขยายรุกรานและขยายเข้ามา แม้แต่ในพื้นที่ของวัดยังเป็นพื้นที่ที่สงบสุขไม่ได้ ดั่งกรณีที่เราได้ประจักษ์กรณีพระสุพจน์ เป็นต้น จริงๆ แล้วการที่ความรุนแรงระบาดไปในวัดเป็นหน้าที่ของทุกคนโดนเฉพาะชาวพุทธ ที่ละเลยบทบาททางพุทธศาสนาดังที่บอกไปแล้วชาวพุทธชอบปฏิบัติธรรมส่วนตัว การทำเช่นนั้นต้องถือว่าเป็นการละเลยบทบาทและหน้าที่ของชาวพุทธ เพราะหน้าที่ของชาวพุทธนั้นไม่ใช่แค่รักษาตัวให้ดี พุทธศาสนามี 2 บทบาทมี 2 มิติ อันที่1 คือพัฒนาให้เกิดปัญญาจนพ้นทุกข์อันนี้เป็นมิติในเชิงลึก อันที่ 2 คือทำให้สังคมเจริญงอกงาม มีสันติสุข อันนี้คือมิติเชิงกว้าง พุทธศาสนามีทั้งความลึกและความกว้าง ลึกทำให้คนรู้เท่าทันตนเองจนเห็นสัจธรรม และสามารถเผชิญความทุกข์ได้ และพุทธศาสนาในเชิงกว้างคือทำให้สังคมเกิดสันติสุข พุทธศาสนาไม่ใช่ลึกอย่างเดียวแต่กว้างด้วย กว้างคือประการแรกสามารถนำคำสอนของพระพุทธองค์ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและในทุกหนแห่งได้

ศาสนาพุทธไม่ใช่การทำความดีรักษาตัวในห้องพระอย่างเดียว แต่สามารถนำเอาธรรมะมาใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกหนแห่งได้ จะใช้ในการทำมาหากินก็ได้ ใช้ในชีวิตบนท้องถนนก็ได้ ใช้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมก็ได้ นั่นคือเราสามารถนำหลักธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในสังคม เช่น นำไปสร้างสรรค์สังคม ช่วยเหลือผู้คน ให้มีความทุกข์น้อยลง หรือมีความสุขมากขึ้น หรือนำหลักธรรมทางศาสนาไปใช้ในการจัดระเบียบทางสังคม นี่คือมิติทางสังคมของพระพุทธศาสนา ความกว้างของพระพุทธศาสนา หมายความว่า สามารถจะนำธรรมไปใช้ได้กับทุกที่ ทุกหนแห่ง

แต่ปัจจุบันนี้ เราทำให้ความหมายของพระพุทธศาสนามีความแคบลง เป็นเพียงแค่การศึกษาให้พ้นทุกข์ ซึ่งการทำเช่นนี้ ก็ทำให้พื้นที่ทางธรรมในสังคมหดแคบลง หากคุณจะเป็นคนดีได้ก็เป็นได้เฉพาะแต่ในบ้าน ถ้าคุณออกนอกบ้านก็เป็นคนดีไม่ได้แล้ว ต้องแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบ ต้องเห็นแก่ตัว ในวันนี้ อย่าว่าแต่ในบ้านเลย แม้แต่อยู่ในวัดยังรักษาศีลลำบากเลย เพราะอบายมุขมันมีเยอะแยะ เหล้าเอย การพนันเอย บางครั้งพระยังรักษาศีลให้ครบ 8 ข้อยังไม่ได้เลย กลางวันยังต้องฉันมาม่าเลยก็มี สิ่งนี้เกิดขึ้นไปทั่ว นั่นคือพื้นที่ทางธรรมมันหดแคบลง ทั้งพระในวัดและฆราวาส ทุกวันนี้คุณจะทำความดีได้ คุณต้องทำเฉพาะในบ้าน ทำความดีกับพี่ ทำความดีกับน้อง ทำความดีกับลูก ออกนอกบ้านไปคุณก็ทำความดีไม่ได้แล้ว คุณต้องเห็นแก่ตัว ต้องหนีภาษี เป็นต้น

เหล่านี้คือปัญหาไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของสังคมไทย แต่เป็นปัญหาเจาะจงของชาวพุทธ การที่เราปล่อยให้โครงสร้างความรุนแรงและระบบบริโภคนิยมได้ระบาดไปทั่วประเทศ ก็เท่ากับเราทำให้พื้นที่ของอธรรมมันขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งชาวพุทธกำลังจะไม่มีที่อยู่ เราปล่อยให้เกาะของเราถูกน้ำท่วม และน้ำก็กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ชาวพุทธต้องช่วยกันขยายพื้นที่ทางธรรมให้กว้างขวางขึ้น ด้วยการออกไปทำงานเพื่อสังคม ให้อานุภาพของธรรมไปปรากฏสู่สายตาของสังคมมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ด้วยการเทศน์ แต่ด้วยการทำให้ดู แล้วช่วยให้สังคมหลุดพ้นจากอำนาจของทุนนิยมและความรุนแรง ซึ่งหากจะทำเช่นนั้นได้ ต้องเริ่มต้นด้วยการรื้อถอนโครงสร้างอำนาจของความรุนแรงให้ได้ จะต้องท้าทาย คัดค้านโครงสร้างความรุนแรง ร่วมทั้งโครงสร้างที่คอยเบียดบัง เบียดเบียนผู้คนด้วยบริโภคนิยม ทุนนิยม

เราจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องรักษาใจของเรา ถ้าเราไม่พร้อมที่จะรื้อถอนโครงสร้างความรุนแรง ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านความโกรธในใจเราได้ เราก็จะไม่สามารถก้าวข้ามความรุนแรงในสังคมไปได้

ฉะนั้นการรื้อถอนความรุนแรงในสังคม ต้องเป็นไปพร้อมๆ กับการก้าวข้ามความโกรธของเราไปให้ได้ และถ้าเราทำทั้ง 2 อย่างนี้ได้ เราก็สามารถป้องกันไม่ให้คนดีๆ อย่างพระสุพจน์ หรือคุณเจริญ วัดอักษร สูญเสียไปได้ แต่ถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น กรณีเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก แม้แต่กระทั่งพระพุทธศาสนาก็จะไม่มีที่ยืนทางสังคม และก็อาจจะกลายเป็นเพียงแค่ลัทธิพิธีธรรมดาๆ เท่านั้นเอง.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท