Skip to main content
sharethis

ความคืบหน้ากรณีทนายอดีตนักการเมืองนำถุงขนมใส่เงิน 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา ล่าสุดคณะองค์พิพากษาไต่สวนข้อเท็จจริงได้อ่านผลไต่สวนกรณีดังกล่าวแล้ว


 


เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 25 มิถุนายน นายมงคล ทับเที่ยง รองประธานศาลฎีกา นายวีรพล ตั้งสุวรรณ และนายอิศเรศ ชัยรัตน์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง คดีดำ ลอ.1/2551 หมายเลขแดงที่ 4599/2551 ความแพ่ง ระหว่างนายอนันต์ วงศ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกา ผู้กล่าวหา และนายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายความ และนายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 เรื่องละเมิดอำนาจศาล


 


คดีนี้สืบเนื่องจากนายอนันต์ เลขานุการศาลฎีกา ทำหนังสือบันทึกลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ถึงนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนาน 2551 เวลา 09.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งวันดังกล่าวนายอนันต์ เลขานุการศาลฎีกา ไปตรวจดูความเรียบร้อยที่ศาลฎีกาฯ หลังจากนั้น ม.ล.งฐิติพงศ์ ชมพูนุช นิติกรประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เข้ามาสอบถามเรื่องที่ทนาย พ.ต.ท.ทักษิณ นำสิ่งของ ซึ่งเป็นถุงกระดาษสีขาวปิดสกอตเทปใสมิดชิด มาให้เจ้าหน้าที่ว่าจะรับไว้ได้หรือไม่ เมื่อเปิดถุงแล้วพบธนบัตร 1,000 บาท จำนวน 2 ตั้ง ตั้งละ 10 มัด รวมประมาณ 2 ล้านบาท นายอนันต์จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ส่งคืน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางมาถึงศาลเพื่อรายงานตัว


 


จากการไต่สวน ม.ล.ฐิติพงศ์ได้ความว่า ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางมาถึง นายธนา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ น.ส.ศุภศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แจ้งต่อ ม.ล.ฐิติพงศ์ ว่าให้ไปพบ เพื่อจะปรึกษาคดี ม.ล.ฐิติพงศ์ จึงไปพบที่ห้องพักทนายความ ซึ่งภายในห้องมีเพียง 2 คน โดย ม.ล.ฐิติพงศ์ นั่งโต๊ะตรงข้ามกับนายธนา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งได้หยิบถุงกระดาษส่งให้ พร้อมบอกว่า "ระยะนี้ต้องมาติดต่อบ่อย เห็นใจเจ้าหน้าที่ เลยเอาของมาฝาก ให้ไปแบ่งกัน" จากนั้น ม.ล.ฐิติพงศ์ ได้เดินไปหานายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ แต่ไม่อยู่ เนื่องจากไปประชุมที่รัฐสภา จึงไปพบนายอนันต์ ที่ตรวจงานอยู่ นายอนันต์สั่งให้เปิดถุง เมื่อพบว่าเป็นเงินจึงสั่งให้คืนเจ้าของไป เพราะการรับถุงไว้น่าจะเป็นการไม่ชอบ อาจละเมิดอำนาจศาล และเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน โดยมีการถ่ายรูปธนบัตร และถุงไว้เป็นหลักฐาน


 


จากการไต่สวนนายธนา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 อ้างว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เวลา 21.00 น. นายบุญชาญ อักษรสุวรรณ ได้นำเงินจำนวน 2 ล้านบาท ที่ได้ซื้อบ้านผู้ถูกกล่าวหาในราคา 5.3 ล้านบาท มาให้ และเตรียมนำเงินดังกล่าวไปฝากธนาคารในวันรุ่งขึ้น โดยให้ภรรยาซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณหญิงพจมาน นำเงินบรรจุใส่ถุงกระดาษปิดผนึกมิดชิด หลังจากก่อนหน้านี้ให้ภรรยาไปซื้อช็อกโกแลต และห่อในลักษณะเดียวกัน เพื่อเตรียมมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลในวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องรายงานตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เพื่อเป็นการตอบแทนที่เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่างๆ ในคดี ขณะที่วันเกิดเหตุได้นำถุงขนมวางไว้ที่นั่งด้านหลังเบาะรถ ส่วนห่อเงินใส่ไว้ที่กระโปรงหลังท้ายรถ แต่ตนหยิบถุงผิดไป เมื่อทราบจึงแจ้งให้นายพิชิฏทราบ เพื่อทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ โดยนายพิชิฏ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้โทรศัพท์หา ม.ล.ฐิติพงศ์ พร้อมกล่าวคำขอโทษ แต่ ม.ล.ฐิติพงศ์ แจ้งว่าได้ทำบันทึกถึงผู้บังคับบัญชาแล้ว


 


คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า นายธนารู้หรือควรรู้ว่าในถุงมีเงินอยู่หรือไม่ ซึ่งในการไต่สวน ม.ล.ฐิติพงศ์ ให้การว่า นายธนาเป็นผู้หยิบถุงเงินที่ปิดมิดชิดมอบให้โดยไม่แจ้งว่าเป็นสิ่งใด ก่อนจะเปิดพบเป็นเงิน ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้ส่งคืนไป โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลนำถุงส่งคืนกับมือนายธนา พร้อมถามว่า รู้หรือไม่ว่าข้างในมีอะไร นายธนาตอบว่ารู้ และเดินกลับไป โดยไม่มีท่าทีอิดเอื้อนตอบกลับ ซึ่งเป็นพิรุธ เห็นว่า หากเป็นไปตามที่นายธนากล่าวอ้าง ว่าหยิบถุงผิดไป โดยคนขับรถเป็นผู้นำถุงผิดมาให้ตน โดยไม่มีการตรวจสอบก่อน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าของสองสิ่งลักษณะห่อเหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติว่าจะมีการหยิบผิด และเมื่อเจ้าหน้าที่ทักท้วงก็ต้องเปิดดู และตรวจสอบสิ่งของ แต่กลับไม่ดำเนินการ อีกทั้งหากนายธนาจะนำช็อกโกแลตมามอบให้จริงก็ควรจะนำไปมอบให้ที่เคาน์เตอร์อย่างเปิดเผย เพื่อความบริสุทธิ์ใจ จึงเชื่อว่านายธนารู้อยู่แล้วว่าในถุงกระดาษดังกล่าวมีเงิน 2 ล้านบาท


 


คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อว่า นายพิชิฏ และ น.ส.ศุภศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2 มีส่วนรู้เห็นหรือให้ความร่วมมือในการกระทำของนายธนา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 หรือไม่ จากการไต่สวนพบว่าพฤติการณ์ของนายพิชิฏชัดแจ้งว่ามีส่วนร่วม ถือเป็นตัวการร่วม ส่วน น.ส.ศุภศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แม้เป็นเสมียนทนายความ แต่ก็ร่วมรู้ในเหตุการณ์ โดยเป็นผู้เรียก ม.ล.ฐิติพงศ์ ให้ไปพบนายธนา พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่า น.ส.ศุภศรี มีส่วนร่วมรู้เห็นกับนายธนา และแบ่งหน้าที่กันทำ จึงฟังได้ว่า ทั้งนายพิชิฏ และ น.ส.ศุภศรี เป็นตัวการร่วมกับนายธนา


 


ลงโทษสถานหนักไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง


คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า ทั้งสามกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่าการนำถุงกระดาษใส่เงิน 2 ล้านบาท ให้ ม.ล.ฐิติพงศ์ ถือว่าเป็นเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาฯ กระทำการอันมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่อาจเชื่อมโยงเป็นประโยชน์ในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ซึ่งกระทำการร่วมกันจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพานิชย์ มาตรา 31 (1) มาตรา 33 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามเป็นการกระทำที่อุกอาจท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุดของประเทศ


 


อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมายย่อมตระหนักดีว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนละ 6 เดือน ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงานนั้น ให้นายอนันต์ เลขานุการศาลฎีกา ผู้กล่าวหาคดีนี้ ไปดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป


 


ออกหมายจับ"ธนา"มาบังคับคดี


ส่วนนายธนา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำสั่งออกไปเป็นเวลา 7 วัน อ้างว่าปวดศีรษะ ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุเพียงพอ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และให้ออกหมายจับนายธนา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มาบังคับคดีตามคำสั่งศาลต่อไป


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชิฏเดินทางมาศาลพร้อมกับ น.ส.ศุภศรี และทีมทนายความและผู้ติดตามประมาณ 10 คน โดยระหว่างรอฟังคำสั่ง นายพิชิฏมีสีหน้าท่าทางสดชื่น ไม่แสดงอาการเครียดหรือวิตกกังวลแต่อย่างใด ทั้งยังพูดคุยกับ น.ส.ศุภศรี พร้อมกับตบหลังให้กำลังใจ นอกจากนี้นายพิชิฏยังพูดคุยกับผู้สื่อข่าวอย่างเป็นกันเองว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การกระทำนั้นเกิดจากนายธนาเป็นผู้ดำเนินการเองโดยตลอด นายธนานั้นเป็นญาติของคุณหญิงพจมาน นอกจากนี้นายพิชิฏยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงคดีที่ดินรัชดาภิเษกด้วยว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีมทนายความ มั่นใจว่าตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำครั้งนี้


 


ทนายสาวร่ำไห้ถูกส่งเรือนจำทันที


ภายหลังศาลมีคำสั่งจำคุก นายพิชิฏ และ น.ส.ศุภศรี มีสีหน้าท่าทางอาการเครียด นัยน์ตาแดง โดย น.ส.ศุภศรี ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวทั้งสอง พร้อมให้ถอดเครื่องประดับทรัพย์สินมีค่าและอุปกรณ์สื่อสารฝากญาติไว้ ขณะเดียวกันนายพิชิฏได้ให้ทีมทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดต่อศาลฎีกา โดยไม่ยอมเปิดเผยจำนวนเงิน แต่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เกิดขึ้นภายในบริเวณศาลฎีกา ดังนั้นคำสั่งของศาลฎีกาจึงเป็นที่สุด ให้ยกคำร้องประกันตัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงสวมกุญแจมือนายพิชิฏ นำตัวขึ้นรถตู้ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ระหว่างทางนายพิชิฏตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงคดีที่ดินรัชดาภิเษกสั้นๆ ว่า คดีมีทีมทนายความคนอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว ส่วน น.ส.ศุภศรี ถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง บางเขน ในเวลา 18.00 น.


 


นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เรือนจำจะปฏิบัติกับผู้ต้องขังในคดีนี้เหมือนกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ ทั้งเรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังชายจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้ต้องขังเข้าถึงเรือนจำเจ้าหน้าที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือและสอบประวัติ จากนั้นจะส่งตัวเข้าสู่แดนแรกรับ เพื่อรอการจำแนกไปคุมขังในแดนที่ใช้คุมขังนักโทษต้องคดีที่มีโทษจำคุกเล็กน้อย ส่วนผู้ต้องขังหญิงจะส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา หลังจากเรือนจำได้รับตัวผู้ต้องหาจากศาลสามารถคุมขังได้ตามคำสั่งของศาล ส่วนคดีอื่นๆ อาจจะมีการดำเนินคดีเพิ่มเติม ต้องรอการพิจารณาในชั้นศาล


 


นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมารยาท สภาทนายความ กล่าวว่า หลังจากได้คำสั่งจากศาลฎีกาแล้ว ก็จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมารยาทสภาทนายความ เพื่อพิจารณาโทษของทั้งสาม โดยโทษคดีละเมิดอำนาจศาลมีสถานเดียวคือ การลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ


 


คตส.เช็กบิลคดีอาญา"แม้ว"เพิ่ม 3 คดี


นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แถลงหลังการประชุมใหญ่ คตส. ว่าที่ประชุมได้พิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ของ 1.สำนักงานกฎหมายสมพร แอนด์ แอสโซซิเอท 2.นายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความผู้รับผิดชอบคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ 3.คณะบุคคลวิวิต วอน บริษัทแชมเปอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับปรึกษา โดยนางปราณี พงษ์สุวรรณ รวมมูลค่า 100 ล้านบาท ที่ คตส.ได้เคยมีมติสั่งอายัดทรัพย์จำนวนดังกล่าวไว้ ซึ่งพิจารณาแล้วน่าเชื่อว่า ทั้ง 3 รายทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ ซึ่งเงินดังกล่าวจึงถือเป็นค่าตอบแทนที่สุจริต โดย คตส.จะดำเนินการแจ้งให้สถาบันการเงินทราบ และเพิกถอนการอายัดทรัพย์จำนวนดังกล่าว ภายในวันที่ 26 มิถุนายนนี้


 


ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ์ กรรมการ คตส.ในฐานะอนุกรรมการไต่สวน กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้แก่ตน ครอบครัว และพวกพ้อง แถลงว่า ที่ประชุม คตส. มีมติให้ชี้มูลในคดีอาญาแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีที่คงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป โดยจะยื่นฟ้อง 2 กระทงผิดมาตรา 100 ของกฎหมาย ป.ป.ช. มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง และยังคงถือหุ้นดังกล่าวไว้ทั้ง 2 ครั้ง ผ่านบุตรและพี่น้อง โดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ไม่มีความเกี่ยวข้อง


 


2.กรณีการเอื้อประโยชน์ ในการแก้ไขสัญญาลดค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือให้แก่บริษัทเอไอเอส ไม่พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนสั่งการ แต่กลับพบว่ามี 2 กรณีที่เกี่ยวข้อง คือ การปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) 4,000 ล้านบาท และการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต 49.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมติ คตส.สรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังถือหุ้นสัมปทานของชินคอร์ป และแปลงสัมปทานจริง ผิดมาตรา 152, 157 ของกฏหมายอาญา โดยมีหลักฐานว่า เป็นผู้สั่งการให้กลไกของรัฐ ศึกษาการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และให้คณะรัฐมนตรี มีมติให้ตรากฎหมายเป็นพระราชกำหนด ให้เก็บภาษีและลดค่าสัมปทานจากบริษัทเอกชนลง ส่อเจตนาชัดเจน อีกทั้งการลดค่าสัมปทานก็ทำโดยการแก้ไขสัญญา ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่แจ้งไว้ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย จึงเห็นควรให้กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดทางอาญา


 


"เรื่องนี้ได้ทำมาตั้งแต่การพิจารณาคดียึดอายัดทรัพย์แล้ว เพราะมีหลักฐานเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน โดยคดีนี้ได้ส่งฟ้องทางแพ่งไปแล้ว แต่ขณะนี้ คตส.มีมติให้ฟ้องในทางอาญาไปด้วย ไม่ใช่ตาตี ตาเหลือก ตั้งหลักฐานขึ้นมา ในช่วงสุดท้าย แต่ความจริงมีข้อมูลตั้งแต่คดียึดทรัพย์แล้ว" นายแก้วสรรกล่าว


 


ศาลปกครองคุ้มครองบอร์ดอภ.


วันเดียวกัน นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนคดีดำ 909/2551 มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ให้ปลดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม


 


ซึ่งคดีนี้ นพ.วิชัย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ดร.จงดี ว่องพินัยรัตน์ ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง นายชำนาญ พิเชษฐพันธ์ คณะกรรมการ (บอร์ด) อภ. ร่วมกันยื่นฟ้อง ครม. และนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา เรื่องกระทำการโดยไม่ชอบโดยไม่มีอำนาจ กรณีที่นายไชยา ลงนามหนังสือลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 ถึงเลขาธิการ ครม. และวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 เสนอ ครม.ให้คณะกรรมการ อภ. ชุดของ นพ.วิชัย พ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่ขณะนั้นนายไชยา ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 182 แล้วนับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2551 เนื่องจากนายไชยาถูก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่า มีความผิดเกี่ยวกับการถือครองหุ้นเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด


 


ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หนังสือที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เสนอ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีมติให้ผู้ฟ้องทั้ง 5 คนและกรรมการ อภ. อื่นอีกรวม 8 คนพ้นจากตำแหน่งประธานและกรรมการ อภ. และแต่งตั้งประธานและกรรมการ อภ.ชุดใหม่ จำนวน 14 คน ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ให้เหตุผลว่า ประธานและกรรมการ อภ. จำนวน 14 คน มีกรรมการลาออกจำนวน 6 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้การบริหารงานของ อภ. ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงขอเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ประธานและกรรมการที่เหลือพ้นจากตำแหน่ง และผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีมติในการประชุม ครม. วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ว่ารับทราบและอนุมัติตามที่เสนอนั้น เห็นว่า การที่กรรมการ อภ.ลาออกจำนวน 6 คน เป็นกรณีที่พ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระด้วยการลาออกเอง ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 2 เสนอให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 แต่งตั้งกรรมการเข้าแทนที่ได้ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ฟ้องทั้งห้า และกรรมการอื่นรวม 8 คนพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่ากรรมการที่เหลือ 8 คน มีความบกพร่องแต่อย่างใดในขณะที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีมติดังกล่าว


 


ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสองอ้างถึงคดีที่ผู้ฟ้องที่ 1 ถูกฟ้องซึ่งเป็นปัญหาว่าศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ให้ อภ.จ่ายเงินค่าตอบแทนกับ พล.ท.นพ.มงคล จิวสันติการ จำนวน 1,140,965.34 บาท กรณีผู้ฟ้องที่ 1 บอกเลิกสัญญาจ้าง พล.ท.นพ.มงคล นั้นเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 จึงไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้นมติของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องทั้ง 5 คน และกรรมการอื่นรวม 8 คน พ้นจากตำแหน่งจึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตำแหน่งประธานและกรรมการ อภ.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งผู้ฟ้องที่ 1-5 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการ อภ.เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ดังนั้นหากปล่อยให้เนิ่นช้าออกไปย่อมจะทำให้วาระการดำรงตำแหน่งเหลือน้อยหรือสิ้นสุดลง หากให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเสียหายยากแก่การเยียวยาในภายหลัง อีกทั้งการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับเพื่อไม่ให้คำสั่งตามมติของผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีผลต่อไปก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะแต่อย่างใด เพราะ พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรมฯ ได้บัญญัติให้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการกำกับดูแล อภ.ไว้โดยชัดเจนอยู่แล้ว



ศาลจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 เรื่องแต่งตั้งประธานและกรรมการอื่นใน อภ.ที่มีมติให้ประธานและกรรมการอื่นใน อภ.จำนวน 8 คน พ้นจากตำแหน่ง และอนุมัติแต่งตั้งประธานและกรรมการอื่นใน อภ.ชุดใหม่จำนวน 14 คน และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 เรื่องแต่งตั้งกรรมการอื่นใน อภ.เพิ่มเติม และตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งประธานและกรรมการอื่นใน อภ. ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น


 


ไชยาเตรียมยื่นอุทธรณ์ 27 มิ.ย.


นายไชยากล่าวว่า ยังไม่เห็นคำสั่งของศาลปกครอง แต่หากคำสั่งออกมาแบบนี้คงต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม จะให้ทนายความเตรียมรวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งหมด เพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองอีกครั้งในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เมื่อศาลมีคำสั่งเช่นนี้ บอร์ดชุดใหม่ที่เพิ่งแต่งตั้งคงต้องหยุดพักงานไปก่อน แต่หากเมื่อคดีสิ้นสุดแล้วศาลตัดสินว่าตนไม่ผิด ก็จะเป็นไปได้ที่บอร์ดชุดใหม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายกลับเช่นกัน


 


ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า คำสั่งศาลที่ออกมานี้ ยืนยันว่า ตลอดการทำงานของบอร์ดชุดเดิมที่ผ่านมา ได้ทำในสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งยังมีผลงานการดำเนินงานที่ดีมาก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะรัฐมนตรี จะสั่งปลดบอร์ดชุดเก่าและตั้งบอร์ดชุดใหม่จะทำแบบไม่มีเหตุผลไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎหมายองค์การเภสัชกรรม กฎหมายพนักงานรัฐวิสาหกิจ


 


ด้านนายถิรชัย วุฒิธรรม ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองที่ให้ นพ.วิชัย อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม โดยนโยบายต่างๆ ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้วางไว้ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามนโยบายที่บอร์ดชุดเดิมได้วางไว้


 


ส่วนกรณีเขาพระวิหารนั้น ศาลปกครองมีคำสั่งนัดไต่สวนคู่ความ เพื่อพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวคดีให้เพิกถอนการลงนามคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชา การขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ในวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 10.00 น.


 


ที่มา: http://www.komchadluek.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net