Skip to main content
sharethis

คำพูดของเจ้าสัวซีพี "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ผ่านสื่อกระแสหลักของประเทศนี้ ทรงอิทธิพลพอที่จะทำให้เกิดกระแสใหม่ที่เกษตรกรไทยจะต้องวิ่งตาม โดยเฉพาะ "ทฤษฎี 2 สูง" ซึ่งอ้างว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย เป็นทางรอดของประเทศ แต่คนเห็นต่างก็มองว่าอาจเป็นทางล้มละลายของชาวนาก็ได้



ทฤษฎี 2 สูง คือ การขึ้นเงินเดือน-ดันราคาสินค้าเกษตร โดย นายธนินท์ เชื่อว่า การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่าราคาน้ำมัน จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ เพราะภาวะเงินเฟ้อหมายความว่า ประชาชนมีเงินแต่ซื้อของไม่ได้ ดังนั้นควรปล่อยให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามความเป็นจริงและช่วยให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นไปพร้อมๆ กัน โดยมีโมเดลความคิดมาจากรัฐบาลญี่ปุ่น


 


ทางเลือกดังกล่าวจะเป็นทางรอดจริงหรือ ? ในเมื่อยังมีกลุ่มคนที่คัดค้านทฤษฎีดังกล่าว ทั้งสามเป็นปราชญ์ด้านการเกษตร ทำเกษตรพอเพียงและมีอาชีพทำนามาค่อนชีวิต คำพูดของคนทั้งสามคนอาจไม่สามารถล้มล้าง ทฤษฎี 2 สูง ได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่า ยังมีกลุ่มเกษตรกรกลุ่มหนึ่งที่ไม่วิ่งตามกระแสที่ถูกสร้างโดยสื่อหลัก


 


นายป้อมเพชร กาพึง ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองพะเยา บ้านต๋อมดง ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา กล่าวว่า ทฤษฎี 2 สูง นับเป็นเรื่องดีสำหรับกลุ่มเกษตรที่มุ่งทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำการเกษตรตามกระแส ซึ่งต้องเท้าความว่าบ้านเมืองเราเป็นเมืองเกษตรกรรรมทำกันตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด แต่เกษตรสมัยก่อนนั้นเป็นเกษตรทำเพื่อกิน แลกเปลี่ยน การขายเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำกันในสมัยก่อน เรามักได้ยินคำว่าพริกอยู่เรือนเหนือ เกลืออยู่เรือนใต้ ผมว่ามันเป็นความงดงาม มันแสดงถึงความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน


 


"ช่วงหลังโลกมันเจริญขึ้น การทำการเกษตรก็เปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก ต้องทำเพื่อเงินทองนำเงินมาพัฒนาประเทศ เกษตรกรเราก็หลงจนกลายเป็นเบี้ยล่าง แต่ก่อนบ้านเราปุ๋ยยาไม่มีใครรู้จัก ตอนหลังมันกลายเป็นเกษตรกรรมเพื่อการค้า ปลูกอะไรบ้างแล้วขายได้ เน้นเพียงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ช่วงหลังเราก็ถูกคนข้างนอกบงการ กลายเป็นทาสของนายทุน ทุกอย่างต้องซื้อ ทั้งเมล็ดพันธุ์ น้ำมัน ต้นทุนเกี่ยวกับปัจจัยการผลิต"


 


  


 


นายป้อมเพชร กาพึง


ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองพะเยา


 


นายป้อมเพชร กล่าวต่อว่า มีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ออกมามากมาย แต่ต้องมีการลงทุน มันเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เจ้าของนากลายเป็นผู้จัดการนา โดยมีผู้ร่วมลงทุนหลายรายเข้ามา เช่น ธ...หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ญี่ปุ่นส่งรถไถนา เยอรมนีส่งยาฆ่าแมลง เกาหลีส่งปุ๋ยเคมี และอีกอย่างที่ตามมาคือ ความเสี่ยง ซึ่งเกษตรกรต้องแบกรับไว้เต็มๆ ทุกวันนี้การเกษตรมันเป็นการลงทุน มันมีความเสี่ยง เช่นถ้าเกิดภัยธรรมชาติ ฝนแล้ง น้ำท่วม เกษตรกรต้องแบกรับเอง ผู้จัดการนาก็ต้องแบกรับภาระหนี้สินมากขึ้นทุกปี ไม่รู้ว่าเกษตรกรจะมีทางรอดอย่างไร มีทางหลุดหนี้สินอย่างไร


 


"เกษตรกรมากกว่า 90% ติดหนี้สินและไม่มีทางออก ทั้งยังมาถึงเรื่องสุขภาพ คนเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น เพราะอาหารมาจากผลผลิตการเกษตร แล้วถ้ามีสารเคมี ก็จะเกิดการสะสมสารเคมี กลายเป็นพิษภัยต่อร่างกาย เมื่อ 10 ปีก่อนคนเข้าโรงพยาบาลพะเยา 500-600 คน แต่เดี๋ยวนี้ 800-1,200 คน พวกนี้ก็มาจากเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม"


 


"ทางรอดไม่ใช่การวิ่งเหมือนสิ่งที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่างซีพีบอก เราต้องสร้างทางเลือก ต้องสร้างเกษตรที่เป็นทางเลือก เป็นอิสระอย่างเช่นเกษตรอินทรีย์ อย่างตอนนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของผมสามารถขายได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงนายหน้า เวลาขายของไม่ต้องไปถึงตลาดก็มีคนมาถามซื้อ คือถ้ามาในแนวเกษตรทางเลือก เราจะเป็นอิสระจากกลุ่มทุน ไม่ต้องเป็นทาสของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ในเวลาต้องลงนาทีก็ต้องหาทุน"


 


 


นายอรุณ ชัยธิ


ปราชญ์ด้านการเกษตรท้องถิ่นเมืองพะเยา


 


 


เช่นเดียวกับนายอรุณ ชัยธิ ปราชญ์ด้านการเกษตรท้องถิ่นเมืองพะเยา ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร บ้านทุ่งร่มเย็น ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา ให้ความเห็นว่า ทฤษฎี 2 สูง ว่าเป็นเหมือนกระแสอื่น เช่นเดียวกับกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้กลุ่มเกษตรกรแห่วิ่งตาม แต่กลับต้องเสียเงินลงทุนทางการเกษตรเพิ่มขึ้น


 


"ในเมื่อต้นทุนสูงขึ้น ราคาผลผลิตสูงขึ้นมันจะมีประโยชน์อะไร ชาวนายังอยู่บนความเสี่ยงของราคา ผมว่า การทำเกษตรพอเพียงทุกอย่าง เพียงแต่เราต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบบชาวบ้านขึ้นเรื่อยๆ สมมุติถ้าเงินเดือนแพง แล้วสินค้าแพงตาม ทุกอย่างก็เท่าเดิม สิ่งที่สำคัญคือเราต้องพลิกตัวออกจากกระแส อย่างเช่น เราเป็นลูกค้าของตลาด เราต้องทำให้ตลาดเป็นลูกค้า เราต้องปลูกพืชเพื่อขายในตลาดนั้น อย่าเป็นทาสของนายทุน"


  



นายสมาน บัวจ้อย


ปราชญ์ชาวนาทุ่งลอ อ.เชียงคำ จังหวัดพะเยา


 


ด้านนายสมาน บัวจ้อย ปราชญ์ชาวนาทุ่งลอ บ้านปางมดแดง อ.เชียงคำ จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกที่แพงขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น จากปุ๋ยกระสอบละ 700 บาท ปัจจุบันกลายเป็น 1,030 บาท ราคามันสูงขึ้นทุกที อย่างนี้เกษตรกรต้องออกจากการเกษตรเชิงเดี่ยวให้ได้เพื่อความอยู่รอด เพื่อเราจะไม่ต้องเป็นทาสของกลุ่มทุน


 


"เพราะสมัยก่อน ต้นทุนการผลิตของชาวนานั้นต่ำไม่ต้องใช้น้ำมัน ใช้เพียงแรงงานของควาย พอมายุคที่สอง ชาวนาก็สนใจเทคโนโลยีมากขึ้น มีการใช้รถไถ มีการใช้น้ำมัน พอยุคที่สาม หลายคนตอนนี้กลายเป็นผู้จัดการนา จ้างคนทำนา ใช้รถตีนตะขาบเก็บเกี่ยวผลผลิตทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราวิ่งตามเขาไปอีก เราก็จะกลายเป็นทาสของกลุ่มทุนระดับบนโดยสิ้นเชิง"


 


นี่คือความเห็นของกลุ่มปราชญ์ท้องถิ่นเมืองพะเยา ซึ่งกำลังทำการเกษตรทางเลือกอยู่บนที่นาคนละ 8-9 ไร่ ส่วนบริษัทใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลับมีแนวคิดที่จะทำนาข้าวเองมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล..เปรม ติณสูลานนท์ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวด้วยเทคโนโลยี ใช้เครื่องเพาะกล้า ดำนา เหมือนวิธีการของญี่ปุ่น


 


นอกจากนั้น ยังมีแผนที่จะสร้างอาณาจักรส่งเสริมการปลูก มีแผนส่งเสริมปลูกข้าว รวม 3,000 ไร่ เขตที่มีชลประทาน จังหวัดกำแพงเพชร, พิจิตร, พิษณุโลก ในลักษณะคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ขายพันธุ์ข้าวซีพี 407 ให้เกษตรกรพร้อมเข้าไปจัดการตั้งแต่การเตรียมดิน ใส่ปุ๋ย เพาะกล้า ดำนา เก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงอย่างครบวงจร คาดว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 3, 000 ตัน สูงกว่าผลผลิตนาปรัง 2,100 ไร่ ในพื้นที่เขตชลประทาน


 


 


อ่านความคิด "ทฤษฎี 2 สูง" ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ 








เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 มิ.ย. ที่โรงแรมดุสิตธานี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาหัวข้อ "ทางเลือกสุดท้าย ทางรอดของประเทศ" ผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐ กิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารในเครือมติชน ให้การต้อนรับ ท่ามกลางข้าราชการ นักธุรกิจ และประชาชน มาร่วมฟังนับร้อยคน

นายธนินท์กล่าวในหัวข้อ "ทฤษฎี 2 สูง ทางเลือกสุดท้าย ทางรอดประเทศ?" ว่า ยืนยันว่ายุคนี้คือยุคทองของภาคเกษตร แต่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือต้องทำให้เกิด 2 สูง โดยหมายถึงการปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นตามกลไกตลาด และรัฐต้องเพิ่มรายได้หรือเพิ่มเงินค่าครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น โดยเริ่มจากเงินเดือนราชการ และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

"อย่ากังวลว่าจะทำให้เงินเฟ้อ เพราะการปล่อยให้สินค้าราคาสูงขึ้นจะทำให้ประชาชนเกิดประหยัดโดยอัตโนมัติ และสุดท้ายราคาสินค้าก็จะลงมาเอง สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการมีเงินแต่ไม่มีของจะซื้อ แม้จะให้เงินเดือนแพง แต่หากไม่มีสินค้าจะซื้อจะเป็นอันตรายยิ่งกว่า ซึ่งแนวทางนี้ดีกว่าการใช้ทฤษฎี 2 ต่ำอย่างที่ผ่านมา ซึ่งรัฐเข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำและประชาชนยังมีรายได้ต่ำ มีแต่จะยิ่งทำให้คนขี้เกียจและประเทศชาติไม่พัฒนาขึ้น" นายธนินท์กล่าว

ประธานซีพีกล่าวต่อว่า ประชาชนไทยควรต้องดูแลผู้มีบุญคุณอย่างชาวนาที่เป็นบรรพบุรุษของทุกคน  เพราะพบว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไรเกษตรกรไทยก็ยังยากจน ยิ่งหากเปรียบเทียบกับเกษตรกรญี่ปุ่นที่ร่ำรวยมหาศาล เที่ยวรอบโลกและพักโรงแรมห้าดาวได้ รัฐบาลก็ยิ่งต้องแก้ปัญหาให้เกษตรกรไทยหายจน  สินค้าเกษตรคือน้ำมันบนดินที่ไม่มีวันหมดไป โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารคน จำเป็นจะต้องดูแลให้ราคาสูง แลมองว่าแนวโน้มราคาข้าวจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นแน่ เพราะความต้องการบริโภคของโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่หากถึงที่สุดข้าวจะราคาตกลง ต้องภายหลังจากที่ราคาน้ำมันตกลงมาแล้ว หากไม่เป็นเช่นนั้นถือว่ารัฐบาลบริหารผิดพลาด

"ทำไมรัฐบาลปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัวได้ แต่ไม่ยอมปล่อยให้ราคาข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นลอยตัวบ้าง หากน้ำมันยังแพง ข้าวก็ต้องแพง ข้าวจะราคาถูกก็ต่อเมื่อราคาน้ำมันถูกลง ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล ที่จะแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรให้ต่ำลง ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายข้าวถุงธงฟ้า ทำไปทำไม การนำเงินภาษีไปแทรกแซงราคาข้าวไม่เหมาะสม ควรปล่อยให้ชาวนาได้ราคาสูงเต็มที่ เพื่อที่ชาวนาจะได้นำเงินส่วนนั้นไปจับจ่ายซื้อของในสินค้าส่วนอื่น ธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น ธุรกิจบริการก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ รัฐบาลก็จะได้ภาษีเพิ่มเข้ามามากขึ้น  ส่วนเงินที่เอาไปอุดหนุนข้าวถุงธงฟ้าก็เอาไปเพิ่มรายได้ให้คนมีรายได้น้อย หรือเพิ่มเงินเดือนให้คนเกษียณแทน" นายธนินท์กล่าว

นายธนินท์กล่าวต่อว่า หากปล่อยให้ราคาข้าวถูกจะทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลัง ปาล์ม และอ้อย ที่ล้วนมีรายได้เฉลี่ยต่อไร่สูงกว่าปลูกข้าวทั้งสิ้น เช่น ปาล์มไร่ละ 8,400 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิได้ไร่ละ 4,500 บาทเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงและทำให้ข้าวมีราคาจำหน่ายที่ดีขึ้น รัฐบาลควรสำรองข้าวเพิ่มขึ้น เช่น จากปัจจุบันมีการส่งออกข้าวปีละ 9 ล้านตัน ควรลดเหลือ 4 ล้านตัน และเก็บไว้ 5 ล้านตัน แต่ดูแลให้การขายในปริมาณที่น้อยลงแต่ได้รายได้เท่ากับ 9 ล้านตันน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

อีกทั้งไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก ควรจะจับมือกับกลุ่มผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น เวียดนาม อเมริกา จีน และอินเดีย เพื่อกำหนดราคาขายข้าวในฐานะที่เป็นผู้ผลิต อย่าให้คนกลุ่มน้อยมาเป็นคนกำหนดราคาขายแทน เชื่อว่าเรื่องนี้กลุ่มประเทศเหล่านี้จะเห็นร่วมด้วย เพราะเป็นความร่วมมือที่ทุกประเทศได้ประโยชน์ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง ไม่ใช่การร่วมมือแล้วเสียประโยชน์ ส่วนการที่รัฐบาลเร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านแหล่งน้ำและการเกษตร ซึ่งจะใช้งบฯ กว่า 3 แสนล้านบาทนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และเชื่อว่าไม่กี่ปีก็จะคืนทุน

"การดำเนินธุรกิจของซีพีไม่ใช่การผูกขาดตลาด และไม่ได้ต้องการเปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้รับจ้างผลิต จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงทางเลือกที่ตัวเองมี และให้คิดถึงวิกฤตว่าเป็นโอกาสของตัวเอง ที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรค อย่าท้อถอย ต้องหาทางพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ในส่วนของภาครัฐก็ต้องพัฒนาในด้านเทคโนโลยี เพราะโลกก้าวมาไกลการแข่งขันทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญที่สุด ต้องทุ่มเทงบฯ วิจัย เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรไทย" นายธนินท์กล่าว

หลังจากการปาฐกถาจบนายธนินท์ได้ตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมสัมมนา เมื่อถามว่า ทำไมถึงคิดว่าการปล่อยให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และปรับเงินเดือนสูงขึ้นจะทำให้ทุกอย่างไปถึงจุดสมดุลในอนาคตว่า เงินเดือน โดยเฉพาะข้าราชการถือว่าต่ำเกินไป และไม่ควรละเลยผู้เกษียณอายุด้วย ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 9 บาท ถือว่าไม่เพียงพอ น่าจะศึกษาใหม่ให้มีการปรับตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น และควรปล่อยให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตจะมีกำลังใจในการผลิต มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต ขณะที่ธนาคารพาณิชย์จะกล้าปล่อยสินเชื่อ มีทุนวิจัยศึกษาผลผลิตที่ดี และเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนจะประหยัดลงและทำให้ราคาสินค้าหยุดเพิ่มเอง ถือว่าเป็นจุดที่อุปสงค์และอุปทานจะมาเจอกัน

เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าต่างชาติจะมาปลูกข้าวในไทย นายธนินท์กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบีย น่าจะมาซื้อข้าวมากกว่าปลูกข้าว เพราะไม่รู้จะเอาที่ไหนมาปลูก คนร่ำรวยแบบนี้จะทำนาเป็นที่ไหน น่าจะเจรจาแลกเปลี่ยนเป็นซื้อข้าวถูกเพื่อแลกกับการขายน้ำมันให้ในราคาถูกด้วย หรือมาทำสัญญาว่าจะรับซื้อข้าว ไม่เชื่อว่าคนอาหรับจะมาปลูกข้าวในไทย ถ้าจะมาซื้อก็ไม่มีอะไรมากมาย ถ้าจะซื้อที่ดิน เพื่อปลูกข้าวน่าจะเป็นกัมพูชาหรือลาวมากกว่า

เมื่อถามว่าอุตสาหกรรมเกษตรที่เข้าไป จะทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไปหรือไม่ นายธนินท์กล่าวว่า "ผมเข้าไปมีแต่ทำให้เกษตรกรดีขึ้น เพราะต้องเข้าไปรับความเสี่ยง เพราะถ้าเข้าไปรับความเสี่ยง ชาวนาก็ได้ดี มีความรู้จริง เพราะราคาข้าว มันสำปะหลังที่สูงขึ้น เราไม่มีอำนาจไปบังคับเกษตรกรได้ เกษตรกรต้องเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ และซีพีเองไม่สามารถยึดตลาดทั่วไทยได้ ทำได้แค่เพียง 20-30% ก็ดีแล้ว และโลกนี้ไม่มีใครใหญ่คนเดียว เพราะเข้าไปต้องทำประโยชน์ให้ เกษตรกรถึงจะเลือก ซึ่งปีแรกที่ร่วมก็พอใจ แต่ปีที่ 2 ชักไม่พอใจ สุดท้ายเราก็ต้องเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้"

พิธีกรถามว่า คิดว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นไปถึงเท่าใด นายธนินท์กล่าวอีกว่า คาดยาก วันนี้ที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น มีประเทศยุโรปและตะวันออกกลางร่ำรวยขึ้น มีรถยนต์เต็มท้องถนน อย่างจีนแต่ก่อนมีแต่จักรยาน แต่ตอนนี้รถติดไม่แพ้ไทย เพราะคนมีเงินมากขึ้น โอกาสจะใช้รถยนต์มีมากขึ้น ทั้งจีน อินเดีย ล้วนแต่ต้องการใช้พลังงานทั้งนั้น จึงยังมองไม่เห็นฝั่ง อยู่ที่ว่าราคาแพงคือประหยัด ซึ่งที่จริงมีการใช้พลังงานมาก คือบ้าน ไม่ใช่รถยนต์ เพราะบ้านหลังใหญ่ มีการใช้ไฟฟ้า 24 ชั่วโมง ขณะที่รถยนต์แค่ขับไปทำงานแล้วจอดทิ้งไว้ ดังนั้นมันดีที่สุดที่จะมีการประหยัดพลังงานที่บ้าน

เมื่อถามว่าภาคธุรกิจเจอต้นทุนที่สูง จากราคาน้ำมันที่สูงมาก มีวิธีการประหยัดและลดต้นทุนอย่างไร ต้องหาวิธีการประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพ หาวิธีเพิ่มผลผลิตจำนวนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น อย่าคิดว่า ราคาน้ำมันจะถูกลงเท่าไหร่ แต่ต้องคิดว่าถ้าน้ำมันจะแพงอีก จะทำอย่างไร

เมื่อถามถึงประเทศไทยอยู่ในจุดที่มืดหรือสว่าง นายธนินท์ตอบว่า เราอยู่ในจุดที่มืดกำลังสว่าง ถ้าเราใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในภาวะที่น้ำมันสูงขึ้น และใช้นโยบาย 2 สูงคือ เงินเดือนข้าราชการต้องสูงขึ้น และอย่าไปแทรกแซงราคาสินค้าให้ลง แต่ควรปล่อยให้สูงขึ้น เพื่อให้รัฐรวยขึ้น เพราะหากแทรกแซงให้ราคาลง รัฐจะเสีย 2 ต่อ คือ การจัดเก็บภาษีไม่ได้และจะนำเงินไปแทรกแซงไม่ให้สูงก็ไม่ได้ด้วย เพราะหากปล่อยให้ราคาสูง พอถึงจุดหนึ่งก็จะหยุดเอง ด้านพลังงานควรหาพลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งน้ำ ลม และนิวเคลียร์ เราคงต้องปั่นไฟด้วยนิวเคลียร์ เราต้องศึกษาการตัดต่อยีนเพื่อพัฒนา แม้ว่าเรามองว่าจะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ แต่สหรัฐฯ ไม่สำคัญกว่าเราเหรอ แต่มีการพัฒนามากกว่าไทยเยอะ

เมื่อถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองมีผลกระทบอย่างไร นายธนินท์กล่าวว่า ท่องเที่ยวเสียหายแน่ มีอย่างที่ไหน ตอนนี้น้อยกว่ามาเลเซีย ท่องเที่ยวไทยเหมาะสมที่สุดใครมาก็ประทับใจ เพราะบริการจากใจจริง ซึ่งจีนมีประชากร 1,300 ล้านคน ที่กำลังรวยขึ้นหาก 100 ล้านคนมาไทย เราจะมีโรงแรมรองรับหรือไม่ ซึ่งท่องเที่ยวแจ่มใสแน่ ถ้าการเมืองสงบ ทั้งอินเดีย ยุโรป รัสเซีย ต่างก็มาไทยทั้งนั้น อาหรับก็มาไทยเพราะเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยว ซึ่งจะดีที่สุดหากการเมืองนิ่ง แต่โชคดีที่เรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราต้องเทิดทูน มีศาสนาพุทธ ที่จะทำให้ไทย ยักษ์ใหญ่ของโลกถึงซีพีด้วยว่า สิ่งที่วุ่นวายอยู่จะสงบ



ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด 


 


 


  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


รายงาน: จับตายุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของไทย


สัมภาษณ์วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เรื่องวิกฤติข้าวยากหมากแพง พืชอาหาร กับ พืชพลังงาน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net