Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ สำนักข่าวประชาธรรม/
สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์ โลคัลทอล์ค


นอกจากอ้อยจะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำตาลแล้ว ปัจจุบันอ้อยยิ่งทวีความสำคัญขึ้นไปอีกเมื่อพูดถึงการนำไปผลิตน้ำมันเอทานอล อันเป็นหนึ่งในแนวทางสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อน้ำมันฟอสซิลมีราคาสูงลิ่ว และกำลังจะหมดเกลี้ยงจากโลกนี้ไปภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า


ในภาคอีสาน อ้อยเป็นพืชไร่เศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่รัฐบาลให้การส่งเสริมมานานไม่น้อยกว่า 30-40 ปี เกษตรกรจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกอ้อยเพื่อหวังเป็นรายได้เสริม นอกเหนือจากการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ลำดับภาพของเกษตรกรที่ปลูกอ้อย มีการลดและขยายพื้นที่ปลูกพัวพันอยู่กับแรงสนับสนุนทางนโยบายของรัฐบาลและตลาด แต่สัดส่วนของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ มั่งคั่งมั่งมี หรือมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จากการปลูกอ้อยขายป้อนโรงงาน กลับมีน้อยรายนัก ในขณะที่เกษตรกรหลายรายต้องจมจ่อมอยู่ในวงจรหนี้สินจนยากที่จะหลุดพ้น


ไม่เพียงเท่านั้น การส่งเสริมปลูกพืชพลังงานที่กำลังรุดไปข้างหน้าโดยไม่มีกรอบแนวทางจัดการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม ยังเป็นสิ่งที่น่าวิตกยิ่งว่าจะนำไปสู่การกัดกร่อนความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของเกษตรลงไปทุกขณะ


จากการลงพื้นที่ศึกษาการปลูกอ้อยโรงงานของเกษตรกรชาวบ้านดงดิบ ต.หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด พบว่า นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมพืชพลังงานเช่น อ้อย เพื่อการผลิตเอทานอล เป็นปัจจัยเพิ่มความต้องการการปลูกอ้อยของเกษตรกร กอปรกับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ยังให้แรงจูงใจด้านราคา เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกอ้อยไปทับพื้นที่ซึ่งเคยปลูกพืชอาหารแล้ว เช่น นาข้าว สวนผลไม้ นอกจากนี้ ป่าดิบแล้งตามหัวไร่ ปลายนา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชน เช่น ผัก สมุนไพรพื้นบ้าน เห็ดธรรมชาติ ก็น่าเป็นห่วงไม่น้อยว่าในอนาคตอันใกล้จะถูกพืชพลังงานเอทานอลรุกที่จนหมด








ประเทศไทยมีเนื้อที่รวม 320 ล้านไร่ จำแนกเป็นเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรประมาณ 131 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลัก หรือพืชสำคัญตามนัยยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมประมาณ 15 ชนิดได้ แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ทานตะวัน ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ปาล์มน้ำมัน หอมหัวใหญ่ กระเทียม ทุเรียน ลำไย สับปะรดโรงงาน กาแฟ และยางพารา ครอบคลุมพื้นที่ 41 ล้านไร่




ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ 105.5 ล้านไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ทางการเกษตร 37.43 ล้านไร่ ปลูกอ้อยโรงงาน 2.65 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานทั่วประเทศ 6 ล้านไร่


ที่มา : มูลนิธิชีววิถี (Biothai)


ลดที่นาปลูกอ้อย - เพิ่มความหวังหรือความเสี่ยง?


เกษตรกรหลายรายมีความหวังว่าพืชเศรษฐกิจซึ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล เช่น อ้อย จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่หากย้อนกลับมาพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการการเกษตรที่เป็นอยู่แล้ว จะพบว่าเกษตรกรต้องลงทุนไปไม่น้อยเลย เมื่อหักลบกลบหนี้แล้วแทบไม่ได้กำไร และบางรายถึงขั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัวเพิ่มพูนขึ้นไปอีก เป็นเหตุให้ต้นทุนด้านสุขภาพ จิตใจ สิ่งแวดล้อมในชุมชน เดินหน้าสู่ความเสื่อมทรุดลงไปเรื่อยๆ


นายพงศ์ศิริ ศรีคำเมือง ผู้ใหญ่บ้านบ้านดงดิบ หมู่ที่ 5 .หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า หมู่บ้านดงดิบมีประชากรทั้งหมด 153 ครัวเรือน มีพื้นที่ทั้งหมด 4,655 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช ดังนี้ 1. นาข้าว 1,655 ไร่ 2. พืชไร่ (อ้อย+มันสำปะหลัง) 1,892 ไร่ 3. พืชสวน (มะม่วง ลำไย) 158 ไร่ และ 4. อื่นๆ เช่น พื้นที่สาธารณะ ป่าไม้ แหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทำนาทั้งนาลุ่ม (นาทาม) และนาดอน เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เพราะชาวบ้านเริ่มขยายการปลูกพืชเศรษฐกิจ อ้อยและมันสำปะหลัง ในนาข้าวรวมแล้วประมาณ 100 ไร่


"ตั้งแต่ปี 2549 โรงงานน้ำตาลให้เงินสนับสนุนแก่เกษตรกรที่เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในนาข้าว โดยผู้ปลูกอ้อยในนาจะได้รับเงินรายละ 500 บาท/ไร่ นอกจากนี้ ในปี 2550 ยังขึ้นป้ายประกาศแนวโน้มราคาอ้อยที่จะสูงถึง ตันละ 1,000 บาท ทำให้คนหันมาปลูกอ้อยในนาฤดูกาลปลูกปี 2549/2550 เยอะขึ้น แต่พอเปิดโรงงานรับซื้อจริง กลับให้ราคาเพียงตันละ 800 บาท" นายพงศ์ศิริ กล่าว


ทั้งนี้ อ้อยและมันสำปะหลัง แบ่งพื้นขยายปลูกในนาข้าวกันอย่างชัดเจน คือ ปลูกอ้อยในนาทาม เนื่องจากอ้อยมีลำต้นสูงประมาณ 3 เมตร สามารถยืนต้นโผล่พ้นน้ำ และค่อนข้างทนน้ำท่วมได้ประมาณ 1 อาทิตย์ จึงไม่ค่อยได้รับความเสียหายมากนัก ส่วนมันสำปะหลังปลูกในนาดอน เพราะไม่สามารถปลูกในนาทามได้ เนื่องจากเป็นพืชที่ไม่เหมาะสมกับดินชุ่มชื้นมาก


นายพงศ์ศิริ กล่าวต่อว่า นาข้าวส่วนใหญ่ของหมู่บ้านดงดิบเป็นพื้นที่ลุ่ม หรือนาทาม มีน้ำท่วมตามธรรมชาติประมาณ 7-10 วัน ทุกปี ดังนั้น การปลูกข้าวในนาทามจึงมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ ชาวนาจะตกกล้าเผื่อไว้ดำนาซ้ำ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกทำการตกกล้า และเริ่มดำนาประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากนั้นจะตกกล้าเป็นครั้งที่ 2 ในก่อนเดือนสิงหาคม เพื่อเตรียมต้นกล้าสำหรับดำนาซ่อมแซมต้นข้าวที่อาจจะได้รับความเสียหายหรือตายจากถูกน้ำท่วมในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยชาวนาจะดำนาซ่อมแซมต้นข้าวที่เสียหายหลังน้ำในทามเริ่มแห้ง หรือประมาณหลังเดือนตุลาคม แล้วรอเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงปีใหม่


"เกษตรกรหลายคนอาจรู้สึกว่าปลูกข้าวในทามต้องดูแลเยอะ ได้ผลผลิตไม่ค่อยพอ เพราะปัจจุบันมีรายจ่ายในครอบครัวสูง ชาวบ้านที่มีนาทามก็เริ่มหันมาปลูกอ้อยขายให้โรงงานน้ำตาลเพราะคิดว่าจะได้ผลตอบแทนดีกว่าการทำนา" นายพงศ์ศิริ กล่าว


ด้าน นายวีระพล สรสิทธิ์ เกษตรกรบ้านดงดิบ หมู่ 5 .หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า สมัยก่อน แม้ว่านาทามจะมีน้ำท่วม แต่ข้าวก็ไม่เสียหายมากมาย สามารถเก็บเกี่ยวได้พอกินในครอบครัว เพราะต้นข้าวเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ค่อนข้างทนน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง เช่น ข้าวคำผาย สันป่าตอง ข้าวอีต่ำ ข้าวอีหอม เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ ไม่ค่อยนิยมปลูกกันแล้ว อีกทั้งยังมีสารเคมีเจือปนในน้ำเยอะ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าวน้ำท่วมตายหรือเสียหายเร็วกว่าเมื่อก่อน


ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังขยับขยายลงไปปลูกในพื้นที่นามากขึ้น โดยเฉพาะอ้อยที่เริ่มปลูกกันในนาทามมากขึ้น หลังจากที่มีโรงงานน้ำตาลในพื้นที่เข้ามาส่งเสริมเมื่อปี 2549 อีกทั้งอ้อยยังมีข้อจำกัดเรื่องดินที่มีชื้นน้อยกว่ามันสำปะหลัง ทำให้ชาวบ้านหลายคนเปลี่ยนที่นามาปลูกอ้อยกันเยอะขึ้น


"ผมเริ่มปลูกอ้อยในนาข้าวมาตั้งแต่ประมาณปี 2549 ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนกล้าเสี่ยงกันเท่าไหร่ รอคนอื่นทดลองดูก่อน แต่หลังจากที่ปลูกพบว่าได้ผลผลิตในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ คิดว่าเป็นเพราะยังไม่ชินกับการปลูกอ้อยในนา" นายวีระพล กล่าว


ต้นทุนกับหนี้สินที่ติดตามมา


ประหยัด สุริโย เกษตรกรบ้านดงดิบ หมู่ 5 .หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า การปลูกอ้อยตามฤดูกาล เรียกว่าอ้อยปี หรือ "อ้อยข้ามแล้ง" จะเริ่มปลูกในช่วงปลายพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนใหญ่จะปลูกบริเวณที่ดอน ส่วนการปลูกอ้อยนอกฤดูกาล เป็นการปลูกอ้อยในหน้าแล้ง หรือเรียกว่า "อ้อยน้ำราด" โดยเริ่มปลูกตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนมกราคม- เมษายน


"การปลูกอ้อยน้ำราด ต้องมีระบบน้ำเข้ามาช่วยในการปลูกและดูแลต้นอ้อย เพราะปลูกในช่วงหน้าแล้งที่เนื้อดินแข็งตัวแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาที่ปลูกใกล้กับแหล่งน้ำ เช่น ลำห้วย นาทาม เป็นต้น" นายประหยัด กล่าว


นายประหยัด กล่าวต่อว่า อ้อยน้ำราด หรือ อ้อยที่ปลูกในนาทามหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จะเริ่มตัดผลผลิตในช่วงเดียวกันกับอ้อยปี คือช่วงปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพราะโรงงานน้ำตาลจะเริ่มเปิดหีบรับซื้ออ้อย ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน หรือบางปีหากมีปริมาณอ้อยมาก โรงงานจะเลื่อนการเปิดหีบไปจนถึงเดือนพฤษภาคม


"อ้อยน้ำราดจะมีอายุประมาณ 7-10 เดือน ก็ต้องตัดผลผลิตขายให้โรงงานแล้ว แต่มีข้อเสียคือ มีลำต้นเตี้ย ให้น้ำหนักน้อย และมีคุณภาพความหวานของน้ำตาลน้อยกว่าอ้อยปีที่ปลูกตามฤดูกาลครบ 12 เดือน" นายประหยัด กล่าว


ด้าน นายชมภู นามพบ เกษตรกรบ้านดงดิบ หมู่ 5 .หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า เมื่อเกษตรกรตัดสินใจที่จะปลูกอ้อยในนาข้าว หมายความว่า ต้องสูญเสียพื้นที่ทำนาไปอย่างน้อย 2 ปี เพราะโดยทั่วไปอ้อยให้ผลผลิตอย่างน้อย 2 ปี โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 1 ครั้ง แต่มีเกษตรกรบางรายที่ยังสามารถตัดผลผลิตอ้อยได้ในปีที่ 3 และปีที่ 4 แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยการดูแลบำรุงต้นอ้อยเยอะมากๆ


"การปลูกอ้อยในนาข้าว หรืออ้อยน้ำราด ต้องการการลงทุนดูแลเยอะมาก เช่น ต้องสูบน้ำมาใส่แปลงอ้อย เพราะเป็นอ้อยปลูกในหน้าแล้ง เกษตรกรต้องให้น้ำเยอะในช่วงแรก จากนั้นต้องเร่งใส่ปุ๋ย ดูแลบำรุงอ้อยให้งามและเจริญเติบโต ก่อนฤดูน้ำท่วมในนาทามจะมาถึงช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน" นายชมภู กล่าว


นายชมภู กล่าวต่อไปอีกว่า ในการบำรุงต้นอ้อย เกษตรกรส่วนใหญ่รับสินเชื่อปุ๋ยจากโรงงานทั้งนั้น ซึ่งโดยปกติหากเกษตรกรบำรุงอ้อยตามสูตรมาตรฐานของโรงงาน คือ ใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง/ปี จะให้ผลผลิตอ้อยที่ตัดในปีแรกอย่างน้อยประมาณ 12 - 15 ตัน ในขณะที่หากใส่ปุ๋ยบำรุงอ้อยต่ำกว่านั้น ผลผลิตก็จะได้ประมาณ 8 - 10 ตัน/ไร่ ส่วนอ้อยที่ตัดในปีที่ 2 จะให้ผลผลิตลดลงเหลือประมาณ 10 ตัน/ไร่




ต้นทุนในการปลูกอ้อย


















ระยะเตรียมการปลูก


1. ซื้อต้นพันธุ์อ้อย


พันธุ์อ้อย 1 ไร่ มีอ้อย 800 มัด หรือ 8,000 ลำ (1 มัด = 10 ลำ) ราคา 12,000 บาท โดยอ้อย 1 ลำ จะนำมาตัดเป็นท่อนกล้าความยาว 40-50 เซนติเมตร สามารถขยายปลูกได้ประมาณ 6-8 ไร่


2. จ้างแรงงานขนกล้าพันธุ์ขึ้นรถบรรทุก มัดละ 1 บาท


3. ค่ารถบรรทุกขนกล้าพันธุ์อ้อยมาส่งที่ไร่อ้อย ถ้าอยู่ไม่ไกลจากเขตหมู่บ้านดงดิบ 2-3 กิโลเมตร จะคิดราคาขนส่งเป็นมัด มัดละ 1 บาท แต่ถ้าอยู่ไกลออกไป จะคิดค่าขนส่งเป็นเที่ยวๆ ละประมาณ 500-1,000 บาท ราคาขึ้นอยู่กับความไกลของระยะทาง


4. จ้างรถไถปรับที่ดินเตรียมปลูกอ้อย (ราคาปี 2550)




  • ครั้งที่ 1 ไถดะ เหมารถไถราคา 380 บาท/ไร่



  • ครั้งที่ 2 ไถพรวน เหมารถไถราคา 220 บาท



  • ครั้งที่ 2 ไถยกร่อง เหมารถไถราคา 250 บาท


5. การปลูกอ้อย




  • รองปุ๋ยก้นหลุม สูตร 16-16-8 ใช้จำนวน 1 กระสอบ/ไร่ หรือ เกษตรกรบางคนลงทุนเพิ่มด้วยการรองสารฟูราดาน เพื่อกันปลวก ด้วง และแมลงที่เจาะต้นอ้อย ราคาประมาณ 150 บาท/กิโลกรัม



  • จ้างแรงงานตัดกล้าพันธุ์อ้อยเป็นท่อนๆ พร้อมปลูก (เริ่มปลูกเดือนตุลาคม) จ้างคนประมาณ 5 คน /1 ไร่/วัน คิดค่าแรงวันละ 150 บาท/คน แต่ถ้าจ้างรถที่เป็นเครื่องปลูกอ้อย (สินเชื่อของโรงงาน) จะคิด 720-800 บาท/วัน (ราคาปี 2550)



  • ค่าอาหารสำหรับแรงงานปลูกอ้อย 5 คน ซึ่งผู้จ้างต้องจัดเตรียมไว้ให้จำนวน 2 มื้อ เช้าและกลางวัน รวมเป็นเงิน 300 บาท


ระยะการปลูก


1. ฉีดยาคุมเมล็ดหญ้าและวัชพืช




  • ยาคุมเมล็ดหญ้า ลิตรละประมาณ 200 บาท ฉีดได้ประมาณ 2 ไร่



  • จ้างคนฉีด 200 บาท/ไร่


2. ใส่ปุ๋ยบำรุงอ้อยรอบแรก


3. กำจัดหญ้าและวัชพืชในไร่อ้อยก่อนเข้าฤดูฝน มี 2 วิธี




  • (ราคาปี 2551) ลิตรละ 160 บาท ใช้ได้ 2 ไร่ ส่วนใหญ่เกษตรกรมักใช้วิธีนี้เพราะสะดวก รวดเร็ว



  • ค่าจ้างคนฉีดยาฆ่าหญ้า 200 บาท/ไร่ จ้างแรงงานดายหญ้า หากหญ้ามีความหนาน้อยจะใช้แรงงานประมาณ 4-5 คน/ไร่ หากหญ้ามีความหนามากจะใช้แรงงานประมาณ 10 คน


(เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า เพราะสะดวก รวดเร็ว กว่าการจ้างแรงงานดายหญ้า)


4. ใส่ปุ๋ยบำรุงอ้อยรอบที่ 2 ปุ๋ยสูตร 16-16-8 หรือ สูตร 21-78 1 กระสอบ/ไร่ ราคาประมาณ1,000-1,100 บาท/กระสอบ หรือ เกษตรกรบางคนอาจบำรุงเพิ่มเติมด้วยปุ๋ยยูเรีย 2-3 กระสอบ/ไร่ ราคา 1,100 บาท/กระสอบ


5. ฉีดยาฆ่าหญ้ารอบที่ 2 (ช่วงเดือน ส.. - ..)


6. ใส่ปุ๋ยบำรุงอ้อยรอบที่ 3 ไร่ละ 1 กระสอบ


ระยะเก็บเกี่ยว


1. ช่วงตัดอ้อย (.. - ..)




  • จ้างแรงงานตัดอ้อยมัดละ 1 บาท (1 มัด = 10-12 ลำ)



  • จ้างแรงงานขนอ้อยขึ้นรถบรรทุกตันละ 50-60 บาท หรือ จ้างแรงงานเหมาตัดพร้อมขนขึ้นรถบรรทุก ตันละ 180 บาท



  • ค่าอาหารแรงงานตัดและขนอ้อย 2 มื้อ (เช้าและกลางวัน) มื้อละ 30 บาท/คน



  • ค่ารถบรรทุกขนส่งอ้อยไปยังโรงงาน ในระยะที่อยู่ไม่ไกลจากเขตโรงงาน 15 กิโลเมตร ราคาตันละ 120 บาท หากระยะการขนส่งเกินกว่า 15 กิโลเมตรจากโรงงาน ราคาค่าขนส่งก็จะเพิ่มขึ้น


หมายเหตุ การตัดอ้อยดิบ หรืออ้อยสด โรงงานให้ราคาเพิ่ม 10-27 บาท /ตัน จากราคารับซื้อหน้าโรงงาน เพราะอ้อยสดจะให้ความหวานมากกว่าอ้อยไฟไหม้ ส่วนการตัดอ้อยไฟไหม้ โรงงานหักราคา 20 บาท/ตัน จากราคารับซื้อหน้าโรงงาน โดยให้เหตุผลว่าอ้อยที่ถูกไฟไหม้ให้ความหวานน้อยกว่าอ้อยสด นอกจากนี้ หากเกษตรกรตัดอ้อยยางเกินไป มีส่วนปลายอ่อนของอ้อยติดมาด้วย โรงงานหักราคา ตันละ 20 บาท


ขายอ้อยป้อนโรงงาน - พันธะสัญญาหนี้สิน


ต้นทุนในการปลูกอ้อยของเกษตรกร โดยส่วนใหญ่ใช้บริการสินเชื่อของโรงงานน้ำตาล เช่น กล้าพันธุ์อ้อย เช่ารถไถ ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า เงินค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ โรงงานจะบันทึกสินเชื่อต่างๆ ของเกษตรกรไว้เป็นหลักฐาน และหักบัญชีหนี้สินทั้งหมดออกจากปริมาณอ้อยที่ส่งให้โรงงาน



ชมภู กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลมีสินเชื่อปัจจัยการผลิตให้บริการแก่เกษตรกรทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกล้าพันธุ์อ้อย ค่าไถที่ดิน ค่าเช่าอุปกรณ์การเกษตร ค่าเช่าที่ดิน เงินสินเชื่อสำหรับจ้างแรงงาน ปุ๋ยบำรุงอ้อย ยาฆ่าหญ้า เป็นต้น เนื่องจากการปลูกอ้อยอาศัยการลงทุนหลายด้าน เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินทุนส่วนตัวในการลงทุนทางการเกษตร ก็ต้องอาศัยสินเชื่อต่างๆ เหล่านี้จากโรงงาน


"โรงงานจะลงบันทึกหนี้สินเชื่อไว้ แล้วจะหักออกจากผลผลิตอ้อยที่เกษตรกรส่งให้โรงงาน เมื่อหักหนี้สินเชื่อออกแล้วเหลือเงินน้อยมาก แทบไม่ได้กำไร บางคนต้องหนี้สินเพิ่มอีก เพราะขายอ้อยได้น้อยกว่าสินเชื่อที่ยืมจากโรงงาน ผมคิดว่าแนวโน้มความเป็นอยู่ของเกษตรกรไร่อ้อยไม่ค่อยจะดีขึ้นเลย บางคนทำไร่อ้อยแล้วเป็นหนี้สินจากการลงทุนจนต้องขายที่ดินด้วยซ้ำ" นายชมภู กล่าว


นอกจากนี้ นายชมภู กล่าวต่อว่า ข้อมูลสินเชื่อทุกอย่างทางโรงงานจะเป็นผู้บันทึกเอง แม้เกษตรกรจะสอบถามรายละเอียดได้ แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการบันทึกสินเชื่อที่ยืมจากโรงงานด้วยตัวเองได้ กว่าจะรู้ว่ามียอดหนี้สินรวมเป็นเท่าไหร่ ก็ต่อเมื่อส่งอ้อยให้โรงงานเรียบร้อยแล้ว


นอกเหนือจากหนี้สินเชื่อของเกษตรกรที่ทางโรงงานทำการหักบัญชีเบ็ดเสร็จแล้ว เกษตรกรยังต้องจ่ายเงินบำรุงสมาคมชาวไร่อ้อย อีกทั้งยังต้องทำสัญญาผูกมัดการส่งอ้อยกับโรงงานน้ำตาล โดยโรงงานกำหนดรูปแบบสัญญา ด้วยการหักเงินออกจากปริมาณอ้อยที่เกษตรกรส่งให้ อย่างไรก็ตาม สัญญาที่เกิดขึ้นนั้น ดูเหมือนว่าฝ่ายที่มีแต่ได้กับได้ก็หนีไม่พ้นโรงงานวันยังค่ำ












1. เงินบำรุงสมาคมชาวไร่อ้อย


โรงงานหักเงินออกจากปริมาณอ้อยของเกษตรกรแต่ละรายที่ส่งเข้าโรงงาน ตันละ 3 บาท เพื่อเป็นค่าบำรุงสมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อย


2. เงินประกันสัญญา


คือ สัญญาการประกันการส่งอ้อยของเกษตรกรแต่ละราย เป็นสัญญาการส่งอ้อยให้โรงงานแบบปีต่อปี ทั้งนี้ โรงงานหักเงินจากปริมาณอ้อย ตันละ 10 บาท หากเกษตรกรรายนั้นไม่สามารถส่งอ้อยครบ 80% ของจำนวนที่ตกลงส่งให้กับโรงงาน แต่ถ้าเกษตรกรรายนั้นส่งอ้อยครบ 80% ขึ้นไปตามจำนวนที่สัญญาไว้ โรงงานจะจ่ายเงินคืนให้ภายหลังจากปิดโรงงานแล้วประมาณ 45 วัน


3. เงินประกันกลุ่ม


คือ สัญญาการประกันการส่งอ้อยของกลุ่มโควต้า โดยปกติกลุ่มโควตาอ้อยจะมีสมาชิกกี่คนก็ได้ แต่ต้องรวมกลุ่มกันทำสัญญาส่งอ้อยกับโรงงาน 3 ปี โดยต้องส่งอ้อยให้โรงงานได้ในปริมาณไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน ทั้งนี้ โรงงานจะหักเงินล่วงหน้าของกลุ่มโควต้าไว้ ตันละ 100 บาท เพื่อเป็นค่าประกันการส่งอ้อยของกลุ่มโควต้าให้ครบตามปริมาณที่สัญญาไว้กับโรงงาน หมายความว่า หากกลุ่มโควต้าสามารถรวมตัวกันส่งอ้อยครบตามปริมาณที่ตกลงไว้กับโรงงาน ทางโรงงานจะติดต่อแจ้งให้กลุ่มโควต้ามายื่นเอกสารเพื่อขอรับเงินประกันกลุ่มคืน โดยเงินที่ได้คืนมานั้นเป็นหน้าที่ของคนในกลุ่มโควต้านำมาจัดสรรแบ่งคืนกันเอง


นายชมภู กล่าวว่า การที่โรงงานหักเงินเกษตรกรไว้ล่วงหน้า แล้วค่อยจ่ายคืนให้ทีหลัง ทำให้เกิดปัญหามากมาย สร้างความยุ่งยาก เกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะการหักเงินประกันกลุ่ม ที่เป็นการหักเงินกลุ่มเผื่อสมาชิกในกลุ่มโควต้าซึ่งไม่สามารถส่งอ้อยครบตามสัญญา


"สมาชิกในกลุ่มโควต้า แต่ละคนจะได้ผลผลิตอ้อยมาก-น้อยต่างกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะทำสัญญาปลูกอ้อยกับโรงงานไร่ละ 10 ตัน คนที่ไม่สามารถส่งอ้อยครบ 80% ตามที่ตนสัญญากับโรงงานก็จะถูกหักส่วนตัวอยู่แล้ว ตันละ 10 บาท แต่ปัญหาคือ ทางโรงงานยังมาคิดเหมาหักเงินกลุ่มไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันการส่งอ้อยของกลุ่มไม่ครบตามปริมาณที่ตกลงกับโรงงาน แล้วค่อยมาจ่ายคืนกลุ่มหลังจากที่ได้คำนวณออกมาแล้วว่ากลุ่มโควต้าส่งอ้อยครบ ทำให้สมาชิกในกลุ่มโควต้าที่ส่งอ้อยครบตามจำนวนต้องถูกหักเงินไปก่อนด้วย พอได้เงินคืนจากโรงงานสมาชิกภายในกลุ่มโควต้าก็ต้องมาจัดการแบ่งคืนกันเอง เกิดความยุ่งยาก และบางครั้งเกิดความขัดแย้งเรื่องการแบ่งเงินภายในกลุ่มอีกด้วย" นายชมภู กล่าว


นอกจากนี้ นายชมภู ยังกล่าวอีกว่า โรงงานจะจ่ายเงินประกันกลุ่มคืนแก่กลุ่มโควต้าอ้อยเป็นเช็คล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน โดยสามารถนำเช็คไปแลกเงินที่ธนาคารซึ่งระบุไว้ในเช็ค อย่างไรก็ตาม การจ่ายคืนเป็นเช็คล่วงหน้า ทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่เกษตรกรซึ่งจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่สามารถรอให้ถึงกำหนดเวลาขึ้นเงินตามที่เช็คกำหนดได้ ดังนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องยอมเสียค่าธรรมเนียมในการขอขึ้นเงินก่อนเวลา


บัตรคิวส่งอ้อยเข้าโรงงาน - กดราคาค่าอ้อยไฟไหม้


ไม่เพียงเท่านั้น ในการการส่งอ้อยขายโรงงาน เกษตรกรยังต้องเผชิญกับขั้นตอนการหักเงินสารพัดรูปแบบ เช่น การตัดอ้อยดิบ หรืออ้อยสด โรงงานให้ราคาเพิ่ม 10-27 บาท /ตัน จากราคารับซื้อหน้าโรงงาน เพราะอ้อยสดจะให้ความหวานมากกว่าอ้อยไฟไหม้ ในขณะที่การตัดอ้อยไฟไหม้ โรงงานหักราคา 20 บาท/ตัน จากราคารับซื้อหน้าโรงงาน โดยให้เหตุผลว่าอ้อยที่ถูกไฟไหม้ให้ความหวานน้อยกว่าอ้อยสด


นอกจากนี้ หากเกษตรกรตัดอ้อยยาว โดยมีส่วนปลายอ่อนของอ้อยติดมามากเกินไป โรงงานหักราคา ตันละ 20 บาท ในขณะที่กระบวนการส่งอ้อยเข้าโรงงานนั้น ทำให้เกษตรกรต้องใช้วิธีการเผาอ้อยก่อนตัดส่งให้โรงงานน้ำตาล เพื่อให้สามารถตัดได้สะดวก และได้ปริมาณอ้อยมากในเวลาที่รวดเร็วขึ้น


ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลมีระยะเวลาเปิดหีบรับซื้ออ้อยระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เมษายน หรือบางปีที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยมาก จะขยายเวลาเปิดรับซื้อไปถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ 4-5 วันแรก ของการเปิดรับซื้ออ้อย หรือ ช่วงเปิดหีบเสรี โรงงานเปิดรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรโดยไม่ต้องมีบัตรคิว ดังนั้น กลุ่มโควต้าใดที่พร้อมสามารถตัดอ้อยได้ครบตามปริมาณก่อน ก็สามารถส่งขายให้โรงงานได้ก่อน


หลังจากช่วงเปิดหีบเสรี ทางโรงงานจะจัดคิวการส่งอ้อยให้แก่กลุ่มโควต้า ซึ่งแต่ละกลุ่มโควต้าต้องมีปริมาณอ้อยของกลุ่มส่งให้โรงงานไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน ทั้งนี้ เกษตรกรจะไม่ตัดอ้อยทิ้งก่อนล่วงหน้านาน จำเป็นต้องรอระยะเวลาใกล้ถึงคิวส่งอ้อยตามที่โรงงานจัดให้ประมาณ 3 วัน จึงจะเริ่มตัด เพราะการตัดอ้อยทิ้งไว้นานเกินไป นอกจากจะทำให้อ้อยมีน้ำหนักน้อยลงแล้ว ยังมีผลทำให้ปริมาณน้ำตาลของอ้อยลดลงอีกด้วย


นายชมภู กล่าวว่า เกษตรกรกว่า 70%-80% ทำการเผาอ้อยก่อนตัด เพราะการเผาทำให้ตัดได้ง่าย และสามารถตัดได้ในปริมาณมากต่อวัน เช่น อ้อยไฟไหม้ 3-4 ไร่ ใช้จ้างแรงงาน 4-5 คน สามารถตัดอ้อยให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน หรือ โดยเฉลี่ยแล้วแรงงาน 1 คน สามารถตัดอ้อยไฟไหม้ได้ 100-300 มัด หรือประมาณ 2-6 ตัน (อ้อย 50 มัด = 1ตัน) ภายในช่วงเช้าเท่านั้น ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายมื้อข้าวที่ต้องเลี้ยงดูแรงงานอีกด้วย ในขณะที่การตัดอ้อยดิบ จะตัดลำบากกว่ามาก


"อ้อยไฟไหม้ 8 ไร่ ใช้แรงงาน 4-5 คน สามารถตัดอ้อยจนแล้วเสร็จภายใน 2 วัน ได้อ้อยประมาณ 100 ตัน แต่สำหรับอ้อยสด แม้จะขายได้ราคาดีกว่า แต่ก็ตัดลำบากมาก หากแรงงาน 1 คน สามารถตัดอ้อยสดเฉพาะในช่วงเช้าได้ประมาณ 1 ตัน ก็ถือว่าเก่งแล้ว" นายชมภู กล่าว


ลดยาเคมี ก่อนหนี้สินล้น - ผลกระทบสิ่งแวดล้อมบานปลาย


นายชมภู กล่าวว่า เชื่อว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อยากจะอยู่แบบพอเพียงเหมือนกัน แต่ตอนนี้ทำไม่ได้เพราะติดเรื่องปัญหาหนี้สิน มีหนี้เก่าอยู่แล้วยังใช้ไม่หมด เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนทำเกษตรเกิดการขาดทุน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวก็สูงขึ้น ทำให้เกิดการกู้ยืมเงินจากหลายส่วนมาหมุนเวียนใช้ เช่น หนี้ ธกส., หนี้กองทุนหมู่บ้าน, หนี้สหกรณ์การเกษตร และหนี้นายทุนนอกระบบ ทำให้มีปัญหาหนี้สินมากมาย


"ที่จริงเกษตรกรต้องลงทุนปลูกอ้อยเยอะมาก ซึ่งคิดเป็นต้นทุนต่างๆ เกือบแสนบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต้นทุนออกไปแล้ว เหลือเงินอยู่ 2-3 หมื่น/ปี บางคนก็ติดลบ เพราะมีหนี้สินเชื่อกับโรงงานมากกว่าผลผลิตอ้อยที่ขายได้ ราคาอ้อยเมื่อปี 2549 โรงงานรับซื้อตันละ 820 บาท ปี 2550 รับซื้อตันละ 800 บาท แต่ในปี 2550/2551 รับซื้อแค่ ตันละ 638 บาท ทำให้ปีนี้ผมเครียดมากเพราะปลูกอ้อยขาดทุนมาก ขายอ้อยได้ราคาต่ำเกินไป" นายชมภู กล่าว


นอกจากนี้ การลงทุนทำเกษตรที่ต้องอาศัยปุ๋ยและสารเคมีบำรุงดูแลนั้น เริ่มส่งผลให้เห็นแล้วว่าเกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม เช่น ดินเสื่อมสภาพ ดินชั้นใต้แห้งไม่ไม่ความชุ่มชื้น มีลักษณะแข็งและเป็นผง จึงไม่มีใส้เดือนมาอยู่อาศัย


"น้ำฝนชะล้างสารเคมีในดินลงสู่ลำห้วยของหมู่บ้าน ทำให้สัตว์น้ำ ปลา กบ เขียด มีแผลเปื่อยตามลำตัว ชาวบ้านไม่กล้าเก็บมากิน ต้องซื้อหาอาหารจากตลาดนอกหมู่บ้านแทน นอกจากนี้ วัว ควาย ที่กินน้ำในลำห้วย และกินหญ้าในไร่อ้อยที่ฉีดยาฆ่าหญ้าแล้วหญ้าไม่ตาย ก็แท้งลูกเยอะขึ้น อีกทั้งในช่วงที่เผาอ้อย ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มีเศษอ้อยไหม้ปลิวมาสู่บ้านเรือน แต่เกษตรกรก็จำเป็นต้องเผาเพื่อให้สามารถตัดอ้อยส่งโรงงานได้ทันเวลา" นายชมภู กล่าว


ด้านนายวีระพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ที่ทำได้ก็ต้องพยายามลดต้นทุนในการผลิต เช่น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า โดยพยายามเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพมากขึ้น มิเช่นนั้นคงไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกต่อไป



....... .... .... ....


วิถีชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยยังคงดำเนินต่อไป บนนโยบายการสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจ-พืชพลังงานของรัฐบาล ผนวกกับกลไกอันไม่เป็นธรรมของโรงงานอุตสาหกรรม มีความกังวล ความข้องใจที่ยังถูกทวงถามในใจของพวกเขาอยู่เสมอมา เกี่ยวกับกับหนี้สินที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะใช้หมด และเมื่อไหร่จะสามารถปลดเปลื้องตัวเองออกจากวงจรหนี้เหล่านี้ได้เสียที นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ทุกวี่วัน ก็กำลังเต็มไปด้วยการปนเปื้อนของสารเคมี เส้นทางสายอ้อยๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยโรงงานน้ำตาล ผนวกกับกระแสเอทานอลนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป? ลองคิดกันดู.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net