พลังของการอ่าน เพดานของการวิจารณ์ (2): มาตรฐานที่ผูกขาดและความเป็นไปได้ของพลังการวิจารณ์

ความเดิมจากตอนที่แล้ว

พลังของการอ่าน เพดานของการวิจารณ์ (1): เพดานที่มองไม่เห็น, ประชาไท, 1 ก.ค. 51

http://www.prachatai.com/05web/th/home/12703

 

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2551 ที่ร้าน "เล่า" ถ.นิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ วารสาร "อ่าน" ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง "พลังของการอ่าน เพดานของการวิจารณ์"  นำการเสวนาโดย คำ ผกา นักเขียน/นักวิจารณ์ ผู้เคยมีผลงานเรื่อง "กระทู้ดอกทอง", ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักเขียน/นักวิจารณ์ จากผลงาน "อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง" ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล จากภาคประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ในตอนแรกทั้งวิทยากรและผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนกันในประเด็นของการอ่าน ว่าจะกลายเป็นการครอบงำ ปลูกฝังทางความคิดหาก ไม่มีการวิจารณ์ ขณะเดียวกันการวิจารณ์ในประเทศไทยก็ยังมีกรอบ มีเพดาน ที่ทำให้ใช้ศักยภาพจากการวิจารณ์ได้ไม่เต็มที่ จึงร่วมถกกันว่ามีกรอบหรือเพดานใดบ้างที่ทำให้การวิจารณ์ถูกบีบล้อม เราจะรวมทลายเพดานการวิจารณ์ได้อย่างไร รวมไปถึงว่าเราจะทำให้การวิจารณ์ลงมาถึงมวลชนได้อย่างไร ในตอนที่สองนี้จึงมีการแลกเปลี่ยนต่อเนื่องมาจากตอนที่แล้วในเรื่องเพดานการวิจารณ์ โดยเฉพาะการผูกขาดมาตรฐานบางอย่างในสังคม เรื่อยไปจนถึงวัฒนธรรมการอ่านของชนชั้นล่าง

 

000

 

 

เพดานอนุรักษ์นิยม:

รางวัลในความคิดตีกรอบ

 

"การห่วงเรื่องภาษาวิบัติ เรื่องเด็กแต่งนิยายมันก็กลายมาเป็นเพดานอีกแบบหนึ่ง ถึงที่สุดแล้วถ้าเราไม่เชื่อมั่นในเสรีภาพ ไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนอ่าน ไม่เชื่อการปล่อยให้มันออกมาแข่งขันกันในสนามนี้ ... แล้วการติดอาวุธ การสร้างวิจารณญาณให้กับคนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

 

"คุณคิดว่าการเขียนหนังสือมันสูงส่งมากแค่ไหนถึงไม่ให้ตลกเขียน แล้วคนเล่นตลกมันต่ำต้อยกว่าอาชีพนักเขียนยังไง ตลกถึงเขียนหนังสือไม่ได้ แล้วนักเขียนคิดว่าตัวเองเป็นใคร คนที่คิดว่าตัวเองอ่านแต่หนังสือดีๆ คุณคิดว่าตัวเองเป็นใคร"

 

"การที่หนังสือเล่มใดได้รับรางวัลมันก็เหมือนเป็นการโฆษณาความคิดชุดนั้นลงไปในสังคมอีก

ก็ยิ่งทำให้คนไม่ตั้งคำถาม"

 

000

 

คำ ผกา เล่าให้ฟังว่า "เวทีที่เคยไปพูดในคณะมนุษย์ฯ ในสมาคมนักเขียนจัด นักเขียนรุ่นใหญ่ นักวิจารณ์อะไรต่อมิอะไรเป็นห่วงกันมากับเรื่องภาษาวิบัติ ความล่มจมของวรรณคดีไทย ความหม่นหมองของงานวรรณกรรม อะไรที่มันจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ เพราะเด็กกเฬวรากที่ไหนก็ไม่รู้มาเขียนนิยายหมดเลย แล้วมันก็ไปโพสท์มีนิยายวิทยาศาสตร์ มีนั่นมีนี่ เด็กก็เข้าไปอ่านที่เด็กเขียนแล้วก็โต้ตอบกันไปมา แล้วมีสำนักพิมพ์เป็นจำนวนมากเลย ซึ่งเราก็ไม่ได้ชอบอะไรหรอก แต่ก็เป็นสำนักพิมพ์ที่หยิบเอางานที่แสนป็อบปูล่าร์เหล่านี้ออกมาพิมพ์แล้วก็ขายดี ขายดีกว่าของดิฉันจนดิฉันริษยาอีกแล้ว"

 

คำ ผกา พูดเสริมสิ่งที่เล่ามาว่า การห่วงเรื่องภาษาวิบัติ เรื่องเด็กแต่งนิยายมันก็กลายมาเป็นเพดานอีกแบบหนึ่ง ถึงที่สุดแล้วถ้าเราไม่เชื่อมั่นในเสรีภาพ ไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนอ่าน ไม่เชื่อการปล่อยให้มันออกมาแข่งขันกันในสนามนี้ "...แล้วการติดอาวุธ การสร้างวิจารณญานให้กับคนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่มันอยู่ตรงนั้นที่จะเข้าไปอ่านเข้าไปคัดกรอง ไปเลือกก็คืออำนาจของคนอ่าน นี่คือสิ่งที่ส่วนตัวคิดว่าเป็นพลังของการอ่าน แทนที่คุณจะไปห้ามว่าอย่ามาเขียนหนังสือ ตลกอย่าริเขียนหนังสือ โกรธคำ ๆ นี้มาก คุณคิดว่าการเขียนหนังสือมันสูงส่งมากแค่ไหนถึงไม่ให้ตลกเขียน แล้วคนเล่นตลกมันต่ำต้อยกว่าอาชีพนักเขียนยังไง ตลกถึงเขียนหนังสือไม่ได้ แล้วนักเขียนคิดว่าตัวเองเป็นใคร คนที่คิดว่าตัวเองอ่านแต่หนังสือดีๆ คุณคิดว่าตัวเองเป็นใคร"

 

จากนั้นคำ ผกา ก็ยังไม่ทิ้งไมค์ หันมาพูดต่อเรื่องรางวัลวรรณกรรม ว่ารางวัลมันก็จะปิดอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง "มีแต่ว่าส่งเสริมสถาบันครอบครัวไหม ทำให้เด็กไม่ติดยาไหม ทำแท้งแล้วกลับใจไหม หรือทำให้มองเห็นสิ่งงดงามเล็กๆ ท่ามกลางความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง มันมีแต่คุณค่าแบบนี้ ไม่เปิดโอกาสให้แบบอื่นเลย"

 

คำ ผกา บอกต่อว่าไม่ใช่แค่ในวงการวรรณกรรม แม้แต่ในวงการศิลปะร่วมสมัย ถ้าไม่ใช่เพื่อเชิดชูพระบารมี ก็จะต้องมาเน้นชนบทอันงดงาม ถ้าหากคุณไม่เขียนวรรณกรรมเชิดชูคนจน เชิดชูชาวนา เชิดชูหมู่บ้านอันแสนสุข คุณก็ต้องมาให้เห็นการต่อสู้ของกรรมกรในเมือง เป็นพล็อตแบบ 1-2-3-4  นักเขียนอาจจะไปไกลกว่านั้นมาก แต่รางวัลที่สามารถให้นักเขียนเหล่านี้ก็ยังอยู่ในกรอบ ในคำตอบง่ายๆ เหล่านี้ คณะกรรมการมองมันร่วมกันว่าเป็นความงามไปแล้ว กลายเป็นสแตนดาร์ดเหมือนว่าคุณเป็นลูกก็ต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ มันไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่าถ้าไม่กตัญญูจะเป็นยังไง แบบเดียวกับที่ไม่เห็นมีใครออกมาวิจารณ์หนังสือธรรมะ

 

วงเสวนาพูดคุยไปถึงเรื่องรางวัลโนเบล ทำให้ภัควดี วีระภาสพงษ์ คอลัมนิสต์และนักแปลอิสระ ซึ่งร่วมฟังด้วย ออกความเห็นว่า รางวัลเหมือนจะปิดโอกาสไม่ให้คนที่ถูกบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์รับรางวัล

 

คำ ผกา เสริมเรื่องรางวัลต่อว่า การที่หนังสือเล่มใดได้รับรางวัลมันก็เหมือนเป็นการโฆษณาความคิดชุดนั้นลงไปในสังคมอีก ก็ยิ่งทำให้คนไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมสถาบันครอบครัวต้องเข้มแข็ง ทำไมลูกต้องกตัญญู เหมือนเป็นการกดกรอบอันนั้น เซ็ทมาตรฐานให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แล้วต้องไม่ลืมว่าคนที่จะมานั่งวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ซึ่งมีอยู่น้อยแล้วก็ไม่ได้สื่อสารกับคนส่วนใหญ่ก็เชื่อในสิ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิพูด หรือเชื่อในสิ่งที่มันผ่านปากของโฆษกในวิทยุและโทรทัศน์ เพราะมีความรู้สึกกันว่าอะไรที่มันออกโทรทัศน์มันจริง มันถูกต้องในระดับนึงแล้วมันก็ยิ่งจริงๆๆ ยิ่งขึ้นไป กลายเป็นความจริงที่ถูกคัดสรร แล้วก็มีความจริงอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกกดลงไป ค่อยๆ หาย ค่อยๆ เลือนไป

 

000

 

 

การผูกขาดคุณค่าความหมาย =

การขาดหายของตัวมันเอง?

 

"เรื่องพลังของการวิจารณ์กับสังคมบางทีมันก็ตอบยากเหมือนไก่กับไข่ไม่รู้อะไรเกิดก่อนกัน  คือไม่รู้ว่าการวิจารณ์มันไม่มีพลังเพราะสังคมไม่มีเสรีภาพ หรือเพราะไม่มีพลังในการวิจารณ์จึงไม่มีพลังไปเปลี่ยนแปลงสังคม"

 

"ซึ่งหากมองในทำนองกลับกัน การที่เรามีคณะกรรมการอะไรขึ้นมาสักอย่างแสดงว่าเรากำลังขาดสิ่งนั้น เกิดความสำนึกว่าอะไรบางอย่างหายไป เช่นเรามีคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติแสดงว่าเอกลักษณ์เราไม่มีแล้ว"

 

"คนอ่านคงไม่ยอมรับอะไรตายตัวเช่นเดียวกัน อาจจะมีแรงปะทุจากข้างล่างบอกว่าจะไม่ยอมรับคุณค่าอันนี้ แต่ขณะเดียวกันแรงปะทุนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ถูกประกาศออกมา"

 

000

 

มีผู้เข้าฟัง ถามว่า ความจริงที่ถูกสร้างอยู่ในกรอบนี้มีโอกาสจะล่มสลายหรือไม่

 

คำ ผกา บอกว่า "เรื่องพลังของการวิจารณ์กับสังคม บางทีมันก็ตอบยากเหมือนไก่กับไข่ไม่รู้อะไรเกิดก่อนกัน คือไม่รู้ว่าการวิจารณ์มันไม่มีพลังเพราะสังคมไม่มีเสรีภาพ หรือเพราะไม่มีพลังในการวิจารณ์จึงไม่มีพลังไปเปลี่ยนแปลงสังคม"

 

อาจารย์สุวรรณา ที่เข้าร่วมฟังให้ความเห็นว่า หากคิดว่าการอ่านคือการซึมซับความหมาย สถาบันจะสามารถผลิตความหมายจนทำให้คนยอมรับแล้วรู้สึกว่ามันมีอำนาจ ก็จะกลายเป็นว่าการอ่านคือการยอมรับอะไรบางอย่างถ้าไม่มีการวิจารณ์ การอ่านจึงกลายเป็นการสู้กันของความหมาย

 

แต่ความคิดที่ว่าเมื่อคุณค่าถูกเผยแพร่ไปแล้วก็จะอยู่ในกรอบของคุณค่าชนิดนั้น ซึ่งหากมองในทำนองกลับกัน การที่เรามีคณะกรรมการอะไรขึ้นมาสักอย่างแสดงว่าเรากำลังขาดสิ่งนั้น เกิดความสำนึกว่าอะไรบางอย่างหายไป เช่นเรามีคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติแสดงว่าเอกลักษณ์เราไม่มีแล้ว โดยตรงนี้ คำ ผกา เสริมขึ้นมาว่า "หรือมันอาจจะไม่เคยมีก็ได้"

 

ฉะนั้นต่อให้มีวรรณกรรมเพื่อสนับสนุนคุณค่าชุดนั้น ก็ยังไม่อยากสรุปง่ายๆ ว่าคนอ่านจะยอมรับความหมายจากสิ่งเหล่านั้นง่ายขนาดนั้น

 

ชูศักดิ์ พูดในประเด็นต่อจาก อ.สุวรรณา เรื่องวรรณคดีสโมสร การที่เราตั้งวรรณคดีสโมสรแล้วให้รางวัลกับวรรณคดีแต่ละแขนง มันเป็นอาการวิตกจริตหรือเป็นความหวาดหวั่นของชนชั้นสูงที่รู้สึกว่า อำนาจในการกำหนดการอ่านมันไม่อยู่ในมือเขาอีกต่อไปแล้ว "ซึ่งมีการวิจัยกันไว้แล้วว่ามันเริ่มแพร่หลาย ชนชั้นกลางหันมาอ่านอะไรๆ กันมากขึ้น ชนชั้นสูงก็วิตก ตระหนกกัน จะมองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดจบของชนชั้นสูงหรืออำนาจที่ผูกขาดการอ่านก็เป็นไปได้ แต่เขาก็มีกลไกที่ทำให้พยุงให้มันอยู่ต่อสืบทอดกันมาได้เรื่อยๆ สิ่งนี้ทำให้แม้เราจะไม่อยากสมาทานกับมัน แต่ก็ไม่ได้จบอยู่แค่การให้รางวัล แต่มันมีกลไกอื่นที่ตามมาด้วย ทำให้แม้จะดูเหมือนว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการจบ แต่ก็ทำให้อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้"

 

อ.สุวรรณาเสริมต่อว่า "มันอาจจะไม่ใช่การจบ มันอาจเป็นแค่การเสื่อมลงก็ได้"

 

คำ ผกา แสดงความเห็นในประเด็นนี้ต่อว่า คนอ่านคงไม่ยอมรับอะไรตายตัวเช่นเดียวกัน อาจจะมีแรงปะทุจากข้างล่างบอกว่าจะไม่ยอมรับคุณค่าอันนี้ แต่ขณะเดียวกันแรงปะทุนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ถูกประกาศออกมา "มันจะไม่ใช่สิ่งที่ครูพูดออกมาในห้อง มันจะไม่ใช่สิ่งที่เด็กเรียนหนังสือมัธยมต้นที่ต้องอ่านหนังสือเหล่านี้ในฐานะหนังสืออ่านนอกเวลาจะสามารถตั้งคำถามกับคุณค่าที่มาพร้อมกับการสถาปนา ได้รับตราประทับจากองค์กรนู้น องค์กรนี้ สิ่งปะทุอันนี้ยังเบาบางอยู่มาก แล้วมันไม่มีพลังที่จะถีบขึ้นมาสู้กับพลังเซ็ทสแตนดาร์ดสำเร็จรูป ที่เราได้ยินจากโทรทัศน์ พิธีกร ดีเจ ครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ ซึ่งเหล่านี้เราเรียกเขาว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะ"

 

"ไม่รู้ว่าจะพูดอุดมคติไปหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าอยากให้ระบบคุณค่าเหล่านี้มันออกมาแข่งขันกันแล้วเรียนรู้กันเอง อย่างถ้าหากมีนักเรียนเข้าไปอ่านบทวิจารณ์ทุ่งมหาราชของอาจารย์ชูศักดิ์ แล้วเกิดการสื่อสารกันมากขึ้น ปัญหาก็คือเพราะสังคมเราขาดเสรีภาพ เราจึงไม่เกิดบทสนทนาแบบนี้ขึ้นในสังคมไทยมากพอ หรือเป็นเพราะบทสนทนาแบบนี้ไม่มากพอ เราจึงไม่สามารถทะลุเพดานแล้วสร้างสังคมที่นำไปสู่เสรีภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้" คำ ผกา กล่าว

 

มีผู้ฟังแสดงความเห็นว่าหากชีวิตคนมันเปรียบเสมือนการแสดงละครบนเวที คนในสังคมก็แสดงบทบาทของตัวเองไปด้วย เป็นไปได้ไหมว่าคนที่กำลังแสดงละครอยู่ ก็รู้ว่าเขาแสดงอยู่ ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังดูละครอยู่ รู้ว่ามันไม่ใช่ของจริง

 

000

 

 

ความคาดหวังจากอำนาจการวิจารณ์

และความจริงของการอ่านในระดับชาวบ้าน

 

"สิ่งที่ผู้กุมอำนาจรัฐไทยพยายามทำมากที่สุดคือการชะลอการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมให้มันอยู่ในความสัมพันธ์แบบมีที่สูงที่ต่ำ สิ่งนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนไม่เสมอภาคกัน ไม่มีเสรีภาพที่จะเข้าถึงอะไรก็ตาม อย่างมีวิจารณญาณ มีศักยภาพ ไม่ว่าจะทางสติปัญญา อารมณ์ หรือทางจิตใจ"

 

"มีพวกโพสท์โมเดิร์นพูดว่ามันมีอำนาจแบบเล็ดลอดเลาะเลี้ยว ในท่ามกลางรัฐที่เข้มแข็งมาก…แล้วถ้าหากว่าเราจะใช้อำนาจการวิจารณ์เป็นเครื่องบ่อนเซาะได้หรือเปล่า"

 

"ชาวบ้านเขาอ่านคู่สร้างคู่สม อ่านไทยรัฐ ศาลาคนเศร้า เรามีการสนทนากันตรงนี้หรือเปล่า ...ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่อ่าน แต่ชาวบ้านเขาเลือกที่จะอ่าน ตรงนี้ผมว่ามันเป็นประเด็นทางวัฒนธรรม"

 

000

 

รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พูดถึงประเด็นพลังการวิจารณ์กับสังคมที่มีเสรีภาพว่าอะไรเกิดก่อนกันว่า ในเมืองไทยอำนาจรัฐมันแข็งแกร่งในการที่จะสถาปนาอะไรก็ตาม มันมีกลไลของรัฐที่จะนำเอามาตรฐานเหล่านี้ไปกระจาย ที่สำคัญมากๆ คือ "แบบเรียน" แล้วเราก็สร้างคนที่คิดอยู่ในกรอบเดียวกัน โดยวิธีคิดที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ แล้วสิ่งที่ผู้กุมอำนาจรัฐไทยพยายามทำมากที่สุดคือการชะลอการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมให้มันอยู่ในความสัมพันธ์แบบมีที่สูงที่ต่ำ สิ่งนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนไม่เสมอภาคกัน ไม่มีเสรีภาพที่จะเข้าถึงอะไรก็ตาม อย่างมีวิจารณญาณ มีศักยภาพ ไม่ว่าจะทางสติปัญญา อารมณ์ หรือทางจิตใจ

 

"การสถาปนาสิ่งเหล่านี้รวมถึงรางวัลซีไรท์ มันแข็งมาก พลังครอบงำสูงมาก เราอาจจะพูดถึงเรื่องความดี ความจริง ความงามได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันถูกทำให้มีมาตรฐานเดียว เราถูกกำหนดให้เชื่อว่าอย่างนี้นะจริง อย่างนี้นะงาม ถ้าจงรักภักดีอย่างนี้นะดี" อ.สายชล กล่าว "สังคมไทยเป็นแบบนี้ถึงมีปัญหา มันไม่ทำให้เกิดอำนาจจากการอ่านหรือพลังจากการอ่าน แล้วก็ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดอำนาจของปัญญา หรืออารมณ์ความรู้สึกที่จะทำให้เราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นมนุษย์ที่อยู่ในคุกในกล่อง"

 

คำ ผกา พูดต่อว่าฉะนั้นเราจะรอให้สังคมมันมีเสรีภาพด้วยตัวของมันเองไม่ได้ "มีพวกโพสท์โมเดิร์นพูดว่ามันมีอำนาจแบบเล็ดลอดเลาะเลี้ยว ในท่ามกลางรัฐที่เข้มแข็งมาก และศักยภาพของคนที่อยู่ในรัฐซึ่งคิดว่าตัวเองเป็นลูกที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลป้อนอาหารจากพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา แล้วถ้าหากว่าเราจะใช้อำนาจการวิจารณ์เป็นเครื่องบ่อนเซาะได้หรือเปล่า"

 

คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ผู้เข้ารับฟังการเสวนา เสนอความเห็นว่า ในวงการการอ่านการเขียนบ้านเรา เรามักจะพิจารณาแต่อะไรที่เป็นมืออาชีพ (Professional) หรือ เป็นแบบชนชั้นที่มีเวลาว่าง (Leisure Class) ถ้าหากมองไปที่ชนชั้นแรงงาน (Working Class) เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเขามากพอ "ผมเห็นแบบเดียวกับที่คำ ผกา พูด ผมเคยไปทำงานเป็นพนักงานเสริฟ กลับมาบ้านก็ไม่อารมณ์ที่จะอ่านอะไรเป็นสาระ"

 

"ตรงนี้มันเกิดการอ่านการเขียนแบบชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เขาอ่านคู่สร้างคู่สม อ่านไทยรัฐ ศาลาคนเศร้า เรามีการสนทนากันตรงนี้หรือเปล่า ซึ่งคู่สร้างคู่สมอยู่มา 20-30 ปี ขายดีมาก แล้วก็พบตามร้านเสริมสวย ร้านก๋วยเตี๋ยว"  ภิญญพันธุ์กล่าว "ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่อ่าน แต่ชาวบ้านเขาเลือกที่จะอ่าน ตรงนี้ผมว่ามันเป็นประเด็นทางวัฒนธรรม"

 

"ขณะที่เรามุ่งที่จะคุยกันแบบนี้แต่ขณะเดียวกัน เราต้องคุยกับมวลชนด้วย เราต้องถามตัวเองว่าเราต้องการให้เกิดสิ่งที่เราพูดถึงจริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงแค่เราต้องการสำเร็จความใคร่ทางปัญญา ของพวกเราเองแค่นั้น" คุณภิญญพันธุ์ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท