Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าเราฝ่าข้ามเรื่องราวเก่า ๆ และมองไปสู่โลกข้างหน้าในอนาคต เรากับกัมพูชาควรจะต้องจับมือกันเพื่อพัฒนาปราสาทเขาพระวิหารให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของคนในภูมิภาคนี้ และอย่างน้อยปราสาทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ ""บ่ออารยธรรม" ของบรรพบุรุษสยามในอดีต วันนี้บางทีไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ความเป็น "ญาติทางวัฒนธรรม" ของประชาชนทั้งสองฝ่ายจะต้องจบลงเหมือนเมื่อครั้งที่กรณีปราสาทเขาพระวิหารเคยเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศมาแล้ว

 "ในเรื่องของนโยบายโลก ข้าพเจ้าขออุทิศประเทศนี้ให้แก่

นโยบายของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี"

                                                                 

ประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวลท์

                                                                คำกล่าวในพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง

                                   4 มีนาคม 1933

 

หากพิจารณาความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะเห็นได้ว่าไทยกับเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ มีประวัติศาสตร์ร่วมกันทั้งในเชิงบวกและลบเป็นระยะเวลาอันยาวนานได้แก่ กรณีไทย-พม่า หรือในมุมมองทางประวัติศาสตร์ก็คือ ความสัมพันธ์อยุธยา-หงสาวดี กรณีไทย-ลาว หรือในมุมมองทางประวัติศาสตร์ก็คือ ความสัมพันธ์อยุธยา/รัตนโกสินทร์-ล้านช้าง และกรณีไทย-กัมพูชา หรือในมุมมองทางประวัติศาสตร์ก็คือ ความสัมพันธ์อยุธยา/รัตนโกสินทร์-เขมร

เรื่องราวของราชอาณาจักรในพื้นที่แถบนี้เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแยกจากกันได้ยาก เพราะว่าที่จริงแล้ว ผู้คนในภูมิภาคมีความสัมพันธ์กันในด้านต่าง ๆ มาช้านาน จนกระทั่งเมื่อเกิดระบบ "รัฐสมัยใหม่" (

Modern State) ขึ้นแล้ว จึงมีการแยกพื้นที่แต่ละส่วนออกเป็นประเทศ อันส่งผลให้ความผูกพันในทางชาติพันธุ์ ความเกี่ยวพันทางวัฒนธรรม มีเส้นแบ่งของความเป็นประเทศเกิดขึ้น เช่นที่เห็นในโลกสมัยใหม่ปัจจุบัน พัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมืองเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า ความเป็นญาติของผู้คน 2 ฝั่ง แม่น้ำโขง หรือแม่น้ำเมยในวันนี้ ต้องถูกแยกออกจากกันด้วยความเป็นชาติที่เกิดจากความเป็น "รัฐประชาชาติ" ที่สวมทับลงบนพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในแต่ละส่วน

แต่หากมองในบริบทของความเป็นชาติพันธุ์ หรือในกรอบของวัฒนธรรมแล้ว จะเห็นได้ถึงการทับซ้อนระหว่างปัจจัยดังกล่าวกับความเป็นรัฐอาณาเขต ที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตน

ดังนั้นหากมองปัญหานี้ให้กรอบของ "ภูมิวัฒนธรรม" เราอาจจะเห็นได้ว่า ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของความเป็น "ไทย" ที่เกิดขึ้นนั้น เราถูกสวมทับด้วยวัฒนธรรมเขมรมาตั้งแต่พัฒนาการในประวัติศาสตร์ และว่าที่จริงแล้วก็อาจจะก่อนที่ผู้คนในแถบนี้จะสามารถรวบรวมกันจนถึงราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเสียอีก เพราะในช่วงระยะเวลาดังกล่าวศูนย์กลางของความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอยู่ที่ราชอาณาจักรของเขมร

ต่อมาเมื่อศูนย์อำนาจบนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาย้ายจากสุโขทัยมาสู่อยุธยา การนำเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามาเป็นองค์ประกอบของสังคมอยุธยาก็เห็นเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็น "สมมติเทพ" หรือ "สมมติเทวราช" ตลอดรวมถึงประเพณีในราชสำนัก เช่น ในรูปของคำราชาศัพท์ต่าง ๆ เป็นต้น

ดังนั้น ชนชั้นนำของไทยในอดีต จึงเติบใหญ่ขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมเขมร และทั้งยังแสดงออกอย่างชื่นชม จนอาจกล่าวได้ว่า การรับวัฒนธรรมเช่นนี้ได้ทำให้เกิด "กระบวนการทำให้เป็นเขมร" ขึ้นในราชสำนักไทย จนหลายต่อหลายครั้งเราไม่ค่อยอยากที่จะยอมรับกับเรื่องราวเช่นนี้

ในอีกด้านหนึ่ง ความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมเขมรในราชสำนักอยุธยา เป็นผลผลิตของสงคราม โดยเขมรซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงครามนั้น มีระดับทางวัฒนธรรมที่สูงกว่า และได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้แก่อยุธยาซึ่งเป็นผู้ชนะ ซึ่งว่าที่จริงแล้วก็เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ส่วนของโลกก็คือ ผลจากการเป็นผู้ชนะในสนามรบทางทหาร แต่กลับเป็นผู้แพ้ในสนามรบทางวัฒนธรรม และรับเอาวัฒนธรรมของผู้แพ้มาเป็นของตนอย่างไม่เคอะเขิน

ซึ่งความสัมพันธ์ในช่วงอยุธยาก็เป็นไปในลักษณะดังกล่าว เพราะอยุธยาได้ทำสงครามใหญ่กับเขมรถึง 3 ครั้งคือ ในสมัยของพระเจ้าอู่ทอง พระราเมศวร  และพระเจ้าสามพระยา  ซึ่งในกรณีหลังได้ทำให้ราชอาณาจักรเขมรถึงกับการล่มสลายในปี พ.ศ. 1974 และต้องย้ายเมืองหลวงหนีทัพอยุธยาไปยังเมืองละแวก เมืองอุดงมีชัย และเมืองพนมเปญในท้ายที่สุด สำหรับการเสียกรุงในปี พ.ศ. 1974 นั้นก็เทียบเคียงได้กับการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 แต่ก็ดูเหมือนเป็นอะไรที่ไทยเราไม่ค่อยอยากจะพูดถึง เพราะเรื่องราวเช่นนี้ทำให้เราเป็น "ผู้ร้าย" ในสายตาของเพื่อนบ้าน ไม่แตกต่างกับพม่าที่เป็น "ผู้ร้าย" ในประวัติศาสตร์ไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผลจากการสานต่อวัฒนธรรมจากเขมร สู่อยุธยาและต่อมาในสมัยรัตโกสินทร์นั้น ทำให้อาจกล่าวได้ว่าในพัฒนาการของประวัติอารยธรรมไทยแล้ว อยุธยาก็คือ "ผู้สืบสาน" วัฒนธรรมเดิมของเขมรนั้นเอง อย่างน้อยลักษณะของสถาปัตยกรรมก็บ่งบอกถึงการสืบทอดดังกล่าว เช่นพระปรางค์องค์ประธานของวัดไชยวัฒนาราม หรือแม้กระทั่งชื่ออำเภอนครหลวง ก็คือ จุดที่ตั้งที่ประทับริมน้ำของพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา ซึ่งคำว่า "พระนครหลวง" นี้เป็นคำเรียกเมืองหลวงของเขมรแด่เดิม (นครวัด-นครธม)

หรือถ้าไปวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ก็จะได้เห็นปราสาทนครวัดจำลองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งแต่เดิมพระองค์มีพระราชประสงค์จะย้ายปราสาทตาพรหมเข้ามาไว้ในไทย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และในขณะเดียวปราสาทหลังอื่น ๆ ก็ใหญ่เกินไปเกินกว่าจะชักลากเข้ามา จึงได้สร้างปราสาทดังกล่าวแทน

เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชนชั้นนำไทยชื่นชอบอะไรที่เป็นเขมร แต่ใน "ความชอบ" ก็มี "ความชัง "แฝงอยู่ เช่นเรื่องราวของพิธีปฐมกรรมที่มีตัดเศียรของพระนักสัตถา เพื่อนำมาล้างพระบาทของพระนเรศวร ซึ่งก็มีการค้นคว้าในยุคต่อมาว่า กรณีปฐมกรรมที่คนไทยเรียนรู้จากหนังสือประวัติศาสตร์ไม่เป็นความจริง เพราะพระนักสัตถาเสด็จหนีไปลี้ภัยอยู่ในลาว อันเป็นเรื่องราวที่แตกต่างประวัติศาสตร์ของสำนัก "ชาตินิยมไทย" ที่ถูกสั่งสอนกันมาอย่างยาวนานในหนังสือแบบเรียนของไทย จนทำให้เรามองเพื่อนบ้านด้วยสายตาของความหวาดระแวง หรือไม่ก็ด้วยความรู้สึกว่าเพื่อนบ้านเป็น "ภัยคุกคาม" (threat perception) จนเราไม่ค่อยอยากคบกับผู้คนบ้านใกล้เรือนเคียง ทั้งที่ในอดีตและพัฒนาการในประวัติศาสตร์นั้น พวกเขากับเราล้วนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมา

แน่นอนว่าในเรื่องราวของความสัมพันธ์เช่นนี้จึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ มีทั้งสงครามและสันติภาพ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้คนในยุคหลัง ๆ ว่า พวกเขาจะหยิบเอาอะไรขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการมองย้อนอดีต ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากปัญหาความสัมพันธ์ไทย-พม่า ที่ถูกทับซ้อนด้วยอดีตของสงครามอยุธยา-หงสาวดี ซึ่งเรามักจะหยิบขึ้นมาทุกครั้งในเวลาที่เราต้องการสร้างความรู้สึก "ชาตินิยมไทย" ในโลกสมัยใหม่

ว่าที่จริงแล้ว ไม่เคยมี "สงครามไทยรบพม่า" ปรากฏในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด กล่าวในทางรัฐศาสตร์ก็คือ ไทยถือกำเนิดเป็น "รัฐสมัยใหม่" ก็คงในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญได้แก่ การกำเนิดของเส้นเขตแดน อันเป็นแนวคิดทางรัฐศาสตร์ที่เป็นผลมาจากการกำเนิดของรัฐประชาชาติในยุโรป และด้วยเส้นเขตแดนที่สยามต้องลงนามความตกลงกับผู้แทนของเจ้าอาณานิคม ก็บ่งบอกถึงการเกิดขึ้นของ "รัฐอาณาเขต" ของสยาม (Territorial State)ซึ่งก็มีองค์ประกอบภายในได้แก่ ประชากร รัฐบาล และดินแดน อันส่งผลให้เกิดความเป็น "รัฐอธิปไตย" ในความหมายของการเป็นประเทศเช่นปัจจุบัน และขณะเดียวกับพม่าก็ถือกำเนิดในบริบทของความเป็นประเทศ ก็เมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ในกรอบคิดทางรัฐศาสตร์เช่นนี้ จึงเป็นไปได้ที่จะมี "สงครามไทยรบพม่า" ในความเป็นจริงของการเมืองระหว่างประเทศในอดีต

สิ่งที่ปรากฏเป็นจริงจึงได้แก่ปัญหาสงครามระหว่างเจ้ากรุงศรีอยุธยากับเจ้ากรุงหงสาวดี หรืออาจจะเรียกในรูปแบบของยุคนั้นว่าเป็น "สงครามนครรัฐ" ซึ่งก็คือสงครามระหว่างนครรัฐอยุธยากับนครรัฐหงสาวดี (คล้ายกับสงครามระหว่างนครรัฐของยุคกรีก) แต่การสร้างทับซ้อนระหว่างนครรัฐแบบเก่ากับรัฐสมัยใหม่เช่นปัจจุบัน จึงเป็น "กระบวนการสร้างจินตนาการ โดยอาศัยประวัติศาสตร์เป็นตัวเดินเรื่อง แล้วผู้คนในยุค   หลัง ๆ ก็รับเอาเรื่องราวของคำอธิบายเช่นนี้เข้ามาเป็น "จินตนาการชาติ" และมีแบบเรียนของหนังสือประวัติศาสตร์หลาย ๆ เล่มช่วยตอกย้ำกระแสคิดเช่นนี้

กระบวนการสร้างจินตนาการชาติในด้านหนึ่งก็เป็นส่วนสำคัญของการสร้างความรู้สึก "ชาตินิยม" ให้แก่ผู้คนภายในชาติ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อการมองปัญหาความสัมพันธ์เรากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ดังได้กล่าวแล้วว่า หลายต่อหลายครั้ง ความชังเข้ามาบดบังความชอบ เช่นเดียวกับที่หลายต่อหลายกรณี ความรู้สึกถูกสร้างว่า ไทยใหญ่กว่าเพื่อนบ้านรอบ ๆ ตัวเรา และเพื่อนบ้านจะ "ทรยศ" เวลาเราเกิดปัญหา เช่นพวกเขาเป็นกบฏเวลาศูนย์อำนาจที่อยุธยาเกิดความปั่นป่วน และพวกเขาก็ไม่จงรักภักดีต่อเรา เป็นต้น (ซึ่งก็ไม่แน่นักว่าพม่าเองจะมองเราด้วยสายตาเช่นที่เรามองเพื่อนบ้านเล็ก ๆ เช่นนี้ด้วยหรือไม่) หรือถ้าจะกล่าวด้วยภาษาง่าย ๆ ก็คือ เรามักจะเห็นเพื่อนบ้านด้วยสายตาแบบ "มองไม่ขึ้น" อะไรทำนองนั้น!

ในอีกด้านหนึ่งประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านก็ถูก "กด" ด้วยประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สยามต้องเสียดินแดนให้แก่เจ้าอาณานิคม แม้เราจะได้ดินแดนคืนมาในช่วงสงครามระหว่างสยามกับฝรั่งเศส (พ.ศ. 2483-84) ก่อนการกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณของกัมพูชา และไชยบุรีของลาว

การได้ดินแดนคืนของสยามในปี 2484 นั้น เราได้พิมพ์เอกสารออกแจกจ่ายและประกาศด้วยว่า เราได้ปราสาทเขาพระวิหารคืนมาด้วย แต่แล้วในที่สุด เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สยามจำต้องรับข้อกำหนดกติกาของระบบระหว่างประเทศ แล้วเราได้คืนดินแดนที่ได้มาด้วยการสงครามให้แก่เจ้าอาณานิคมเดิม แม้การเมืองไทยยุคหลังสงครามโลกจะมีทัศนคติว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของเรา จนในท้ายที่สุดกลายเป็นคดีความระหว่างประเทศ และไทยเป็นฝ่ายแพ้ จนต้องยอมรับว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา ซึ่งไทยได้แสดงจุดยืนในลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอดหลังจากการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี 2505 แล้ว

ในยุคสงครามเย็น ปราสาทเขาพระวิหารไม่ได้มีนัยสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย มากเท่ากับความกลัวคอมมิวนิสต์ การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลฝ่ายขวาด้วยการรัฐประหารในกัมพูชามีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคของผู้นำไทย อย่างน้อยก็มีแนวร่วม "กรุงเทพ-พนมเปญ" ไว้สนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสงครามอินโดจีน หรือแม้ในยุคสงครามต่อต้านเวียดนาม แนวร่วม "ไทย-เขมรแดง" ก็แสดงออกอย่างเข้มแข็งในการต่อสู่กับเวียดนามทั้งในเวทีการทูตและเวทีการรบ

จวบจบสงครามเย็นสงบลง ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาก็ค่อย ๆ ปรับตัวสู่สถานการณ์ใหม่ที่ไม่มีคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม แม้จะมีปัญหาบางประการเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เช่น กรณีเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ แต่ก็มิได้ทำให้แนวโน้มของพัฒนาการความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นต้องถูกทำลายลง ดังจะเห็นได้ว่านับจากปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ไทยกับกัมพูชาได้ทำความตกลงในเรื่องสำคัญ ๆ รวมแล้ว 17 ฉบับ ในขณะเดียวกันก็มีการเยือนกัมพูชาของพระราชวงศ์ฝ่ายไทยจากปี 2535-2549 ถึง 12 ครั้ง และนายกรัฐมนตรีไทยเดินทางเยือนกัมพูชาจากปี 2544-51 รวม 6 ครั้ง

เรื่องราวเช่นนี้ล้วนแต่บอกให้เห็นถึงพัฒนาการเชิงบวกของความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง และพัฒนาเช่นนี้ก็กำลังถูกท้าทายจากปัญหาตกค้างที่แทบจะถูกลืมไปแล้วก็คือ ปัญหาเขาพระวิหาร แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาในแบบเดิมที่ว่า "เขาพระวิหารเป็นของใคร" หากเป็นเรื่องของการเป็นมรดกโลก

บางทีวันนี้ถ้าเราฝ่าข้ามเรื่องราวเก่า ๆ เช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้น และมองไปสู่โลกข้างหน้าในอนาคต เรากับกัมพูชาควรจะต้องจับมือกันเพื่อพัฒนาปราสาทเขาพระวิหารให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของคนในภูมิภาคนี้ และอย่างน้อยปราสาทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ ""บ่ออารยธรรม" ของบรรพบุรุษสยามในอดีต

วันนี้บางทีก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ความเป็น "ญาติทางวัฒนธรรม" ของประชาชนทั้งสองฝ่ายจะต้องจบลงเหมือนเมื่อครั้งที่กรณีปราสาทเขาพระวิหารเคยเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศมาแล้วเช่นในอดีต!

             

หมายเหตุ : บทความนี้คัดมาจากจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 38 (เมษายน 2551)

 

 

อ่านต่อ
สุรชาติ บำรุงสุข [2]: การเมืองเรื่องมรดกโลก: วิกฤตการณ์เขาพระวิหาร
สุรชาติ บำรุงสุข: ไทย-กัมพูชา : โอกาสและวิกฤต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net