ระดมความเห็นเสนอโมเดล "องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน"

6 ก.ค.51  ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนแห่งประเทศไทย มูลนิธิศักยภาพชุมชนจัดการประชุมเรื่อง "การหารือเกี่ยวกับกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน : ความเห็นจากภาคประชาชน" ขึ้น เมื่อวันที่ 5-6 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ก.ค. มีการระดมความคิดเห็นในหัวข้อ "กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่ประชาชนต้องการ" มีผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน อาทิตัวแทนจากกลุ่มแรงงานย่านรังสิต สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มนักศึกษาภาคใต้เพื่อสันติภาพ มูลนิธิสื่อภาคประชาชน ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อาทิ เขมร โรฮิงยา ฉาน ไทใหญ่


อนึ่ง มูลนิธิศักยภาพชุมชน ประกอบด้วยองค์กรสมาชิก 5 แห่ง ได้แก่ เครือข่ายผู้หญิงในสลัม เกษตรรายย่อยภาคกลาง เครือข่ายประชาชนภาคใต้ ภาคอีสาน สื่อภาคประชาชน และเครือข่าย 3 แห่ง ได้แก่ เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสันติภาพ มิตรภาพรากหญ้าไทย-พม่า และกลุ่มแรงงานย่านรังสิต

 

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวถึงที่มาของการจัดการหารือว่า ในมาตรา 14 ของกฎบัตรอาเซียนนั้น ระบุให้มีการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น โดยให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เป็นผู้กำหนดบทบาท หน้าที่และโครงสร้างขององค์กร จากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้พูดคุยกัน และตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนในการยกร่างฯ

 

ชลิดา กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทย ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในความสามารถด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน คือ ศ.วิทิต มันตราภรณ์ โดยเมื่อผู้ทรงคุณวุฒิประชุมได้ข้อสรุปแล้วจะนำไปเสนอต่อรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อไป ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่จะนำเสนอข้อเสนอในส่วนของภาคประชาชน หากไม่ทำข้อเสนอออกไป ข้อเสนอที่มีจะเป็นข้อเสนอด้านเดียวจากรัฐบาล หรือเป็นแบบจากบนลงล่าง  

 

โดยการหารือในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเอเชีย (FORUM- ASIA) และคณะทำงานเรื่องยกร่างกลไกสิทธิภายใต้โครงสร้างของคณะกรรมการรณรงค์เพื่ออาเซียน (SEACA) และเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการรณรงค์ของประชาชนเอเชีย (SAPA) ซึ่งนอกจากที่ประเทศไทยแล้ว ยังมีการจัดการหารือในอีก 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า (ซึ่งจัดบริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยกลุ่มพม่าพลัดถิ่น) เพื่อระดมความคิดเห็นของภาคประชาสังคมต่อกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยผลการประชุมจากทั้ง 6 ประเทศ จะถูกรวบรวมและนำเสนอในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กลางเดือนกรกฎาคมนี้

 

สาเหตุที่มี 6 ประเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศนั้น ชลิดา กล่าวว่า เนื่องจาก 6 ประเทศดังกล่าวเป็นประเทศที่พร้อมทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ ขณะที่เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไน ประชาชนยังไม่ตื่นตัวกับกลไกสิทธิเท่าไ อย่างเวียดนามและลาวมีการปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ทำให้ถูกควบคุมโดยรัฐ เอ็นจีโอไม่เป็นอิสระเหมือนประเทศอื่นๆ การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิคงทำได้ยาก

 

สำหรับผลการประชุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมเห็นว่า กลไกสิทธิมนุษยชนควรปกป้องและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เข้าถึงได้ง่าย เป็นอิสระ และได้รับการรับรองจากรัฐ มีลักษณะข้ามพรมแดน เหนือความเป็นรัฐชาติ โดยเป็นตัวแทนกลุ่มต่างๆ ของประชาสังคมอาเซียน และเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม

 

มีโครงสร้างสองส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วยสภาสิทธิมนุษยชน และศาลสิทธิมนุษยชน

 

โดยสภาสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ด้วยการติดตามพฤติกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกอาเซียน จัดทำรายงานสิทธิมนุษยชนอาเซียน เสนอความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐสมาชิก เสนอรายงานต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสของสภาสิทธิมนุษยชนอาเซียน จัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจ และเพื่อยกระดับการปฎิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียน และสนับสนุนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนกับประชาชนในอาเซียน ให้ประชาชนมีความเข้าใจระหว่างกันและกันให้มากขึ้น

 

โดยสภาสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยคณะกรรมการชุดต่างๆ อาทิ คณะกรรมการผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและคนพิการ คณะกรรมการผู้มีความหลากหลายทางเพศ (เพศทางเลือก) คณะกรรมการต่อต้านการทรมานและถูกทำให้สูญหาย คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เป็นต้น

 

ส่วนศาลสิทธิมนุษยชนนั้น จะมีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยรับข้อร้องเรียนจากประชาชนโดยตรงในทุกภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน และไต่สวนให้ประจักษ์ จากนั้นให้ส่งคำตัดสินให้สภาสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งต่อไปยังทุกประเทศสมาชิก เนื่องจากศาลสิทธิมนุษยชนไม่มีอำนาจบังคับคดี หากรัฐประเทศนั้นๆ ไม่ทำตามคำตัดสิน ภาครัฐหรือภาคประชาชนของประเทศอื่นๆ อาจจะดำเนินมาตรการลงโทษ (sanction) ทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่ประเทศนั้นๆ  

 

ทั้งนี้ กำหนดให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาชนจากแต่ละประเทศ สามารถเสนอชื่อบุคคลที่ต้องการให้เป็นกรรมการในสภาสิทธิมนุษยชน ผู้พิพากษา และคณะลูกขุนต่อรัฐบาลอาเซียน เพื่อให้รัฐบาลรับรอง สำหรับสภาสิทธิมนุษยชนนั้น ควรมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วนของประชาสังคม ส่วนผู้พิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนกำหนดจำนวน 5-7 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี

 

ส่วนงบประมาณในการดำเนินงานของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนนั้น รัฐบาลอาเซียนและแหล่งทุนควรเป็นผู้สนับสนุน ด้านการตรวจสอบกลไกสิทธิมนุษยชนนั้น ภาคประชาสังคมอาเซียนจะเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อทำให้กลไกนี้เป็นกลไกที่ดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

 

นอกจากนี้แล้ว ที่ประชุมยังมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามความคืบหน้า และผลักดันให้ข้อเสนอได้รับการบรรจุในการยกร่างกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ ทางกลุ่มที่จัดงานจะนำข้อเสนอไปยื่นต่อเลขาธิการอาเซียน อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงที่รัฐสภา เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ความเห็นจากการประชุมด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท