Skip to main content
sharethis

ใจ อึ๊งภากรณ์ และนุ่มนวล ยัพราช


 


ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเราเห็นปรากฏการณ์สำคัญในการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทย คือการลุกฮือเพื่อต่อรองกับนายจ้างให้ยกเลิกระบบเหมาค่าแรง (Sub-Contract) โดยที่หัวหอกในการต่อสู้ครั้งนี้คือคนงานในบริษัททำชิ้นส่วนรถยนต์ (บริษัท Parts) ในย่านชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) แถวๆ จังหวัดระยอง


 


สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกลุ่มภาคตะวันออกคือ


 


1.       มีการพยายามใช้พลังต่อรองของกรรมาชีพ เพื่อเผชิญหน้ากับนายจ้างโดยตรง แทนที่จะเดินขบวนไปอ้อนวอนรัฐหรือกระทรวงแรงงานอย่างที่กลุ่มแรงงานอื่นๆ เช่นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน หรือสภาแรงงานต่างๆ ทำในอดีต ซึ่งนับว่ายังดีกว่าสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ไม่พูดถึงเรื่องนี้ และละเลยคนงานรายวันในภาครัฐโดยสิ้นเชิง


2.       ย่านอุตสาหกรรมฝั่งตะวันออก เป็นย่านอุตสาหกรรมหนัก ระยองขึ้นชื่อว่า เป็น "Detroit แห่งตะวันออก" ตามชื่อเมืองประกอบรถยนต์ในสหรัฐ คนงานที่นี่เป็นคนงานฝีมือ มีการศึกษาสูง และที่สำคัญ ทำงานในระบบอุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่เชื่อมโยงกันระหว่างโรงงานต่างๆ ดังนั้นโอกาสที่จะรวมตัวกันข้ามรั้วโรงงานมีสูง


 


ลักษณะการเชื่อมโยงกันระหว่างโรงงาน


อุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ เป็นอุตสาหกรรมหนักที่อาศัยผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมาก ทั้งในและนอกประเทศ ดังนั้นการต่อสู้ในบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์จะมีผลกระทบโดยตรงกับโรงงานประกอบรถยนต์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่สายผลิตรถ โตโยต้า ต้องปิดไปชั่วคราว เมื่อมีการงดทำโอที(ล่วงเวลา) ในโรงงานชิ้นส่วนมารูยาซึอินดัสตรี้ส์(ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเด็นนี้ยิ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นพลังต่อรองสำคัญของคนงาน เมื่อมีการใช้ระบบส่งชิ้นส่วนแบบ "Just in Time" คือบริษัทจะพยายามประหยัดทุนโดยไม่สะสมสต็อกไว้นาน ดังนั้นโดยเฉลี่ยแล้ว โรงงานต่างๆ จะมีสต็อกชิ้นส่วนสำหรับการผลิตไม่เกิน 7 วัน แต่อย่างไรก็ตาม นายจ้างก็ไม่นิ่งนอนใจ มีการพยายามเตรียมการเพื่อแก้ปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลนด้วยระบบ "Engineering Value" ที่ระบุว่าโรงงานต่างๆ ต้องใช้เครื่องจักรเหมือนกัน เพื่อให้สามารถสลับ "แม่พิมพ์" ระหว่างโรงงานได้ ซึ่งแปลว่าถ้าโรงงานหนึ่งมีปัญหา จะย้ายการผลิตชิ้นส่วนไปอีกโรงงานหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว


 


ลักษณะการผลิตดังกล่าวมีรูปแบบที่น่าสนใจสำหรับนักสหภาพแรงงานสามอย่างคือ


 


1.       เป็นการผลิตที่เชื่อมโยงพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างบริษัทต่างๆ ตั้งแต่โรงผลิตเหล็ก โรงผลิตยาง โรงผลิตชิ้นส่วน โรงประกอบรถ ระบบขนส่งทางถนน และท่าเรือที่ใช้ในการนำเข้าและส่งออก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโอกาสทองสำหรับนักสหภาพแรงงานที่จะสร้างเครือข่ายสมานฉันท์ของแรงงานที่ยิ่งใหญ่ เพื่อกดดันนายจ้าง ในภาคตะวันออกคาดว่ามีบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ถึง 9,000 บริษัท และตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เริ่มมีการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ท่ามกลางการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในปัจจุบันมีสหภาพแรงงานประมาณ 170 แห่ง


2.       เป็นย่านอุตสาหกรรมหนักมูลค่าสูง ที่อาศัยคนงานฝีมือและโครงสร้างสาธารณูปโภคสมัยใหม่ นายจ้างจะโยกย้ายการผลิตไปที่อื่นได้ยาก ไม่มีทางที่จะย้ายโรงงานไปที่ชายแดนพม่า หรือเวียดนามได้ง่าย โดยเฉพาะในเมื่อตลาดหลักของรถยนต์คือตลาดภายในของไทยเอง นายจ้างจึงต้องการความมั่นคงและเสถียรภาพในการผลิตสูง ประเด็นนี้เพิ่มอำนาจต่อรองให้ฝ่ายเรา


3.       อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่านายจ้างจะหงายท้องยอมแพ้ต่ออำนาจต่อรองของคนงาน มีการพัฒนาวิธีข่มขู่ เอาใจ ซื้อตัว บีบบังคับ และสร้างความแตกแยกในหมู่คนงานอย่างต่อเนื่อง นี่คือสภาพการต่อสู้ทางชนชั้นที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอด ในลักษณะวิภาษวิธีกลับไปกลับมา และทั้งๆที่นายจ้างต้องการเสถียรภาพในการผลิต และอาจจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการสูงสำหรับแรงงานบางส่วน แต่ยังมีการใช้ระบบเหมาค่าแรงในปริมาณสูง เช่นที่ โตโยต้า 70% ของคนงานไม่ใช่พนักงานประจำที่มีความมั่นคงในการทำงาน ในขณะที่ผู้นำแรงงานของสหภาพโตโยต้า กลายเป็นผู้นำประเภท "หมูอ้วน" ที่จงรักภักดีต่อบริษัท และมีชีวิตที่สบายจากการเอื้อเฟื้อของบริษัท ในกรณีแบบนี้นักสหภาพที่จงรักภักดีต่อบริษัท อาจออกไปกดดันให้คนงานในบริษัทชิ้นส่วน ยกเลิกการต่อสู้เพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปได้


 


รูปแบบการต่อสู้กับระบบเหมาค่าแรง


รูปแบการต่อสู้ที่ผู้นำแรงงานก้าวหน้าในภาคตะวันออกใช้ ต่างจากรูปแบบเดิมๆ ในขบวนการแรงงานไทย ที่มีแต่การเดินไปที่กระทรวงแรงงานเพื่ออ้อนวอนความเมตตาจากคนอย่าง "ป้าอุ" ซึ่งไม่เคยได้ผลอะไรทั้งสิ้น สาเหตุของความอ่อนแอในการต่อสู้ในอดีตเป็นเพราะรัฐบาลและนักการเมืองเป็นคนของนายทุน และนายทุนต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำไรด้วยระบบเหมาค่าแรง พวกนี้จึงต้องการปกป้องระบบนี้ไว้ ประเด็นนี้ไม่ต่างจากประเด็นคนงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายในไทย เพราะสภาพผิดกฎหมายคือสภาพที่นายจ้างและรัฐต้องการ เพื่อกดค่าแรง ดังนั้นการขอร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ตราบใดที่กรรมาชีพไม่ออกมาสำแดงพลังทางเศรษฐกิจ


 


การสำแดงพลังทางเศรษฐกิจของคนงานในภาคตะวันออกวิธีหลักที่ใช้กัน เพื่อต่อสู้กับระบบเหมาค่าแรงคือ การงดทำโอ ซึ่งเป็นวิธีตัดการผลิตในรูปแบบที่ไม่ต้องเข้ากรอบกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และมันมีผลด้วย เพราะเราเห็นผลกระทบกับโรงงานประกอบรถยนต์อย่างที่กล่าวไปแล้ว


 


แน่นอนก่อนที่จะถึงขั้นงดทำโอ คนงานต้องมีการจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน และต้องมีการพัฒนาการศึกษาทางการเมืองและในเรื่องกฎหมาย ดังนั้นการต่อสู้เพื่อขยายสหภาพแรงงานท่ามกลางการพยายามเลิกจ้างแกนนำของสหภาพโดยนายจ้าง เป็นการต่อสู้ที่สำคัญ การรวมตัวกันของนักสหภาพแรงงานภาคตะวันออกในเดือนมิถุนายน เพื่อชุมนุมหน้าโรงงาน มารูยาซึ หลังจากที่มีการเลิกจ้างสามแกนนำ ซึ่งเป็นผู้ก่อการจัดตั้งของสหภาพคนสร้างฝัน ประเทศไทย ทำให้มีการรับคนงานสามคนนี้เข้าไปทำงานอย่างรวดเร็วภายในสามวัน


 


การต่อสู้เพื่อยกเลิกหรือลดการเหมาค่าแรง จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องพร้อมๆ กัน โดยสหภาพแรงงานของพนักงานประจำ และสหภาพแรงงานหรือกลุ่มคนงานของคนงานเหมาค่าแรง บางครั้งคนงานเหมาค่าแรงอาจมีมากกว่าหนึ่งบริษัทในโรงงานเดียวกันด้วย เพราะในระบบเหมาค่าแรง นายทุนจะอ้างว่าลูกจ้างเหมาค่าแรงเป็นลูกจ้างของ "บริษัทหางาน" ประเด็นนี้สร้างปัญหาทางกฎหมาย เพราะทำให้คนงานที่ทำงานในโรงงานเดียวกัน บางครั้งในหน้าที่เดียวกันด้วย ต้องแยกกันอยู่คนละสหภาพ การตั้งสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรมที่ไม่เจาะจงบริษัท ก็ไม่แก้ปัญหานี้เพราะคนงานเหมาค่าแรง ถือว่าเป็นคนงานภาคบริการ คือบริษัทที่จ้างเขา อ้างว่าให้บริการกับโรงงาน ไม่ได้ทำงานอุตสาหกรรมการผลิต


 


กฎหมาย ดาบสองคม


นักสหภาพแรงงานและสมาชิกเลี้ยวซ้ายคงเข้าใจดีว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุน และกฎหมายส่วนใหญ่ร่างมาโดยนายทุนเพื่อนายทุน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นตัวอย่างที่ดี แต่เราไม่สามารถทิ้งไว้แค่นี้แล้วหันหลังให้กฎหมาย อย่างที่ สาวิทย์ แก้วหวาน พูดในเวทีเรื่องกฎหมายแรงงานในเดือนมิถุนายน ในแง่หนึ่งเราคงเข้าใจความรู้สึกของคุณสาวิทย์ที่จะปฏิเสธกฎหมายนายทุน และแน่นอนเราจะไม่คล้อยตามผู้นำแรงงานน้ำเน่า เจ้าหน้าที่แรงงาน หรือองค์กรเอ็นจีโอแรงงานจากสหรัฐ ที่ต้องการต้อนเราเข้าไปในคอกของการยึดติดกับกฎหมาย ไม่ออกมาสู้แบบนัดหยุดงาน ซึ่งทำให้คนงานเสียเปรียบตลอด แต่กฎหมายมันเป็นดาบสองคม


 


การต่อสู้กับระบบเหมาค่าแรงในอดีต เช่นการต่อสู้ที่ ไทยยาซิโร่ ในปี ๒๕๔๗ และอีกหลายที่ในภาคตะวันออก ซึ่งได้ชัยชนะระดับหนึ่ง นำไปสู่การแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเห็นในฉบับล่าสุดที่ออกมามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โดยมีการระบุว่าคนงานเหมาค่าแรงต้องได้ค่าจ้างสวัสดิการเท่ากับคนงานประจำ ประเด็นนี้เอง เป็นประกายไฟที่ให้ความมั่นใจกับนักสหภาพในภาคตะวันออก ที่จะเดินเข้าไปถามนายจ้างว่าจะปรับค่าจ้างสวัสดิการเมื่อไร และเมื่อนายจ้างไม่ตอบตรงๆ ก็มีการลุกฮือต่อสู้ เช่นในกรณีโรงงาน สมบูรณ์โซมิค ในเดือนพฤษภาคม๒๕๕๑ มีการหยุดงานทันทีหนึ่งวันนอกกรอบกฎหมาย แล้วหลังจากนั้นงดโอสองวันร่วมกัน ทั้งคนงานประจำและคนงานเหมาค่าแรง ผลคือได้บรรจุคนงานเหมาค่าแรงทั้งหมด 180คน เป็นคนงานประจำ


 


มีการลุกขึ้นสู้พร้อมกับช่วงการออกกฎหมายแรงงานใหม่ในหลายที่ เช่นที่ โยโรซึ ซึ่งหยุดทำโอ และกดดันให้นายจ้างรับคนงานเหมาค่าแรงทั้งหมด 280 คนเข้าไปเป็นคนงานประจำ ที่ เซนโกเบน ก็มีการต่อสู้จนบรรจุคนงานเหมาค่าแรง 50 คนเป็นแรงงานประจำ และล่าสุดที่ มารูยาซึ ซึ่งกดดันให้นายจ้างรับคนงานเหมาค่าแรงเข้าไปเป็นคนงานประจำ 300 คน ส่วนที่ General Motors ยังไม่มีการบรรจุเป็นแรงงานประจำ แต่มีการปรับสวัสดิการคนงานเหมาค่าแรงให้เกือบเท่ากับคนงานประจำแล้ว


 


กฎหมายเป็นดาบสองคมในอีกแง่คือ ถ้าเราไม่รู้กฎหมาย เราจะเปิดช่องให้นายจ้างเล่นงานเราได้ แต่ถ้าเราเข้าใจขั้นตอนของกฎหมาย เราจะทราบว่าเราต้องสู้แบบไหนถึงจะหลีกเลี่ยงกับดักของมัน เช่น การงดโอ นายจ้างเอาผิดคนงานประจำไม่ได้ แต่สำหรับคนงานเหมาค่าแรงอาจถูกเลิกจ้างถ้าไม่ยื่นข้อเรียกร้องก่อน และนักสหภาพภาคภาคตะวันออกจะระวังไม่ให้การต่อสู้ถึงจุดข้อพิพาทแรงงาน เพราะถ้าถึงจุดตรงนั้นฝ่ายรัฐจะเข้ามาแทรกแซงได้ และโดยปกติฝ่ายรัฐกับนายจ้างจับมือกัน เห็นได้จากการที่อดีตเจ้าหน้าที่แรงงานบางคน ไปเป็นที่ปรึกษานายจ้างในการล้มสหภาพเป็นต้น


 


ก้าวข้ามความแตกแยก


ปัญหาสำคัญอันหนึ่งในการต่อสู้กับระบบเหมาค่าแรง คือการหลีกเลี่ยงความแตกแยกระหว่างสหภาพแรงงานพนักงานประจำกับคนงานเหมาค่าแรง ในหลายกรณี เมื่อสู้ร่วมกันจะชนะได้เร็ว และเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย เพราะระบบเหมาค่าแรงช่วยนายจ้างกดค่าแรงและสวัสดิการของคนงานประจำ และช่วยทำให้สหภาพอ่อนแอ ดังนั้นความสามัคคีเป็นเรื่องใหญ่


 


แต่ในบางกรณีสมาชิกสหภาพคนงานประจำ จะถูกนายจ้างกล่อมเกลาให้ยกเลิกข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงเป็นพนักงานประจำ ยุติการต่อสู้ แล้วทอดทิ้งเพื่อนพี่น้องที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม การกระทำแบบนี้สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงในหมู่คนงาน กรณีบริษัท นากาตันไทย ในปี 2548  หรือ โทเออิเดนชิ ในปี 2549 เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของความขัดแย้งแบบนี้


 


เราจะขยายการต่อสู้อย่างไร?


การต่อสู้กับระบบเหมาค่าแรง ไม่ต่างจากการต่อสู้ของสหภาพแรงงานในเรื่องอื่นๆ ตรงที่ ชัยชนะวันนี้ อาจถูกปล้นไปโดยนายจ้างในอนาคตได้ เช่นอาจบรรจุคนงานเหมาค่าแรงทั้งหมดวันนี้ แต่ในอนาคตอาจรับคนงานแบบนี้มาอีกเป็นต้น ในด้านกลับ โรงงานที่พ่ายแพ้ก็มีสิทธิชนะนายจ้างในอนาคตได้ การต่อสู้แบบสหภาพแรงงานในระบบทุนนิยมมันไม่มีวันสิ้นสุด และตราบใดที่เรามีทุนนิยมเราต้องพร้อมจะสู้


 


แต่สิ่งที่จะช่วยให้ชัยชนะของคนงานมีลักษณะถาวรมากขึ้น คือการกระจายมาตรฐานการจ้างงานดีๆ ที่เราได้มาในพื้นที่หรือภาคหนึ่ง ไปสู่ทุกส่วนของสังคม ในกรณีระบบเหมาค่าแรงเราจะพบในพื้นที่อื่นๆ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นการตัดเย็บเสื้อผ้า หรือในรัฐวิสาหกิจ และภาครัฐทั่วไป ดังนั้นเราต้องหาทางสร้างศึกกับนายจ้างร่วมกันในหลายๆ ส่วน คำถามคือเราจะประสานการต่อสู้อย่างไรถ้าไม่มีพรรคการเมืองของภาคประชาชน? เพราะโครงสร้างสภาแรงงาน หรือแม้แต่สมาพันธ์แรงงาน ก็ไม่เอื้อกับการต่อสู้แบบนี้ เนื่องจากมันต้องอาศัยนักสหภาพที่มีความคิดก้าวหน้าทางการเมือง อย่าลืมด้วยว่าระบบเหมาค่าแรง เป็นระบบโปรดของพวกเสรีนิยม ที่ต้องการทำลายความมั่นคงในการทำงานเพื่อเพิ่มกำไร


 


บทเรียนจากสหรัฐอเมริกาสมัย 1930 คือนักต่อสู้ในสภาแรงงาน C.I.O. ซึ่งสามารถขยายการจัดตั้งสหภาพแรงงานไปสู่ภาคใหม่ๆ ของเศรษฐกิจ โดยเน้นการจัดตั้งและนำตนเองของคนงานรากหญ้า แทนผู้นำหมูอ้วนระดับสูง มักจะมีการประสานงานกัน และทำงานเป็นทีม เพราะส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐ การทำงานเป็นทีมใหญ่แบบนั้น ถ้าเอามาใช้ในไทย จะเปิดโอกาสให้ขยายการต่อสู้และการผูกมิตรสมานฉันท์ จากโรงงานชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ไปสู่ท่าเรือ ระบบขนส่ง และคนงานเหมาค่าแรงในบริษัทประกอบรถยนต์อีกด้วย และสามารถขยายสู่ภาครัฐ


 


นอกจากนี้การทำให้มาตรฐานการจ้างงานและสวัสดิการมีความถาวรมากขึ้น ต้องอาศัยการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อแก้กฎหมายแรงงาน และเพื่อนำรัฐสวัสดิการมาใช้อีกด้วย ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องการเมืองที่ต้องอาศัยพรรคของภาคประชาชนในการต่อสู้ร่วมกับสหภาพแรงงาน


 


 






ขอขอบคุณ คุณบุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกที่ให้ข้อมูลเรื่องการต่อสู้กับระบบเหมาค่าแรงสำหรับบทความนี้ ส่วนทัศนะทางการเมืองในบทนี้เป็นทัศนะของผู้เขียน


 


ดาวน์โหลดหนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้ายฉบับประจำเดือนกรกฎาคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net